ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ผมเป็นคนหนึ่งที่คิดว่า ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล   มีความเหมาะสมในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

ไม่เพียงเขามีความพร้อมด้วยความรู้และ ประสบการณ์พื้นฐานที่จำเป็นในตำแหน่งสำคัญนี้เท่านั้น หากมีประสบการณ์ในภาคเอกชน  ย่อมจะทำให้ผู้กำกับนโยบายแห่งรัฐในยุคทุนนิยมนั้น มองภาพอย่างสมดุลมากขึ้น

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งเขาคือคนรุ่นเดียวกับผู้มีบทบาททางสังคม และการเมืองยุคปัจจุบัน  ยุคความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดกันอย่างมากยุคหนึ่ง นอกจากเขาจะมองเห็นภาพใหญ่แห่งการเปลี่ยนเปลงทางสังคมแล้ว ยังสามารถมี บทสนทนากับผู้นำกลุ่มต่างๆในยามจำเป็นด้วย 

กระแสนักเรียนสหรัฐฯ

ประสาน ไตรรัตน์วรกุล  เป็นคนไผ่เรียน จึงเสียเวลาสำหรับการศึกษามากกว่าคนรุ่นเดียวกัน แม้ว่าจะเริ่มต้นทำงานช้ากว่าปกติ    แต่เขาก็มากับกระแสคลื่นนักเรียนที่จบการศึกษาจากสหรัฐฯ เริ่มมีบทบาทในสังคมธุรกิจไทยในยุคต่อเนื่องจากอิทธิพลยุคสงครามเวียดนาม

ขั้นที่สอง (2525-2540) ตลาดหุ้นไทย เปิดตลาดและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมามีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาในตลาดนี้ด้วย

กิจการในเครือข่ายธนาคารก็มองเห็นโอกาสนี้ด้วยเช่นกัน   เร็วบ้าง ช้าบ้างแล้วแต่การมองโอกาสของแต่ละธุรกิจครอบครัว ขณะเดียวก็มีกฎ และระเบียบว่าด้วยการบริหารธนาคารที่เข้มงวดขึ้น  รวมไปถึงข้อกำหนดว่าด้วยกิจการในตลาดหุ้น โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างธุรกิจ และการเปิดเผยข้อมูล ก็ทำให้เครือข่ายธุรกิจครอบครัวของธนาคาร จำต้องใช้เวลาปรับตัว บางทีก็สูญเสียโอกาสไปบ้างเช่นกัน

การระดมทุนครั้งใหญ่ครั้งนี้ถือเป็นที่น่าสนใจอย่างมาก  สำหรับธนาคารระบบครอบครัวที่พัฒนาในโมเดลที่อ้างถึง ถือเป็นจุดสูงสุดของเครือข่ายธนาคารครอบครัวก็ว่าได้ ว่าไปแล้วเครือข่ายธนาคารครอบครัว มีความพร้อมและโอกาสมากว่าธุรกิจอื่นใดในสังคมเวลานั้น  เป็นก้าวสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งครั้งใหญ่

วิกฤติเศรษฐกิจในปี2540     กระทบเครือข่ายธุรกิจธนาคารอย่างมากมาย สร้างผลกระทบเชิงทำลายที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับผลกระทบเชิงทวีคูณในช่วงก่อนหน้านั้น

เครือข่ายระบบธนาคารครอบครัว ยิ่งใหญ่เกินว่าระบบเศรษฐกิจจะรองรับได้   แต่เมื่อเกี่ยวกับระบบการเงินระดับสากลด้วย อำนาจรัฐที่เคยโอบอุ้มระบบธนาคารไทยมาแล้วหลายครั้ง มิได้กระทำได้อีก” (จาก โมเดลระบบธนาคารครอบครัว)

พวกเขาคือนักบริหารรุนใหม่ ที่ไดรับโอกาส เข้ามาบทบาทสำคัญในแกนกลางสังคมธุรกิจไทย ผมมักเรียกว่า “สังคมธนาคาร” เช่น   ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ (MBA Stanford 2513)   เข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคใหม่ ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2517 และชุมพล ณ ลำเลียง (MBA Harvard 2512) เป็นทีมบริหารยุคแรกของทิสโก้ บริษัทเงินทุนที่ร่วมทุนระหว่าง Bankertrust, USA กับธนาคารกสิกรไทย ก่อนจะมามีบทบาทบริหารการเงินของเอสซีจี อย่างยาวนาน  

ส่วนอีกฟากหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานของรัฐในการควบคุมกลไกของระบบเศรษฐกิจและการเงิน  คนหนุ่มรุนใหม่ก็มีบทบาทเป็นที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน   เช่น  โอฬาร ไชยประวัติ ( Economics MIT 2513) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการการเงินในปี2523 ก่อนจะลาออกมาอยู่ธนาคารไทยพาณิชย์ในปี 2525     ชัยวัฒน์ วิบูลสวัสดิ์ (Economics MIT2516) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการในปี 2529 และฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ปี 2531 ก่อนจะมาเป็นผู้ว่าการฯช่วงวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ (2540-1)   หรือ เอกกมล คีรีวัฒน์    

ประสาร เข้ามาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในปี2526   ถือเป็นยุคคนหนุ่มเหล่านั้นแล้ว แม้ว่าเขาจะมาที่หลัง แต่บทบาทก็โดดเด่นขึ้นในเวลารวดเร็ว มีโอกาสทำงานในหน่วยงานสำคัญ   โดยเฉพาะฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพณิชย์ และสถาบันการเงิน ใช้เวลาไม่นาน ก็ก้าวขึ้นเป็นรองผู้อำนวยการฝ่าย

เอกกมล คีรีวัฒน์   คือบุคคลที่ควรกล่าวถึงเป็นพิเศษ  ว่ากันว่า เป็นคนที่ประสารนับถืออย่างมาก ไม่เพียงฐานะรุ่นพี่ที่ Harvard หากเป็นหัวหน้างานที่สนับสนุนเขาอย่างเต็มที่  

เอกกมล คีรีวัฒน์ มีอายุมากกว่าประสาร 8 ปี    ในฐานะเป็นคนเรียนหนังสือเก่งมาก จึงได้ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย (ทุนสำหรับนักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาไปเรียนปริญญาตรีและโทต่างประเทศ) จบปริญญาตรีระดับเกียรตินิยมด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Dartmouth College (หนึ่งในสมาชิกIvy League) ก่อนจะไปเรียน MBA (Finance) ที่Harvard Business School (HBS)

บทบาทที่โดดเด่นที่ควรสนใจของเอกกมล ก็คือในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ในช่วงปี 2528-2531

“ปี 2528 เอกกมล เป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ ในยุคที่ปัญหาของระบบธนาคารไทยเกิดขึ้นอย่างมาก   กล่าวได้ว่าเป็นยุคที่ชื่อของเข้าไปอยู่ในสังคมของวงการธุรกิจนี้อย่างเต็มที่ ไม่มีใครไม่รูจักคนที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาธนาคารพาณิชย์ ในช่วง 3ปีนั้นทั้งทางลึกและกว้าง เขาเป็นคนที่มียุทธวิธีแก้ปัญหาที่แยบยลมากคนหนึ่ง   โดยใช้วิธีการหลายรูปแบบ

จากนั้นมา ชื่อของเขาจะมักวนเวียนอยู่ท่ามกลางความผันแปรของระบบธนาคารพาณิชย์   โดยคาดหมายกันว่าจะเข้าไปเป็นผู้บริหารเพื่อแก้ปัญหา” บทความของผมเองเคยเขียนถึง เอกกมล คีรีวัฒน์   เมื่อปี2541

ในช่วงเวลานั้น ประสารเป็นหัวหน้าหน่วย มีบทบาทในเชิงลึกและสนับสนุนการทำงานของเอกกมล   แม้ว่าประสารมีตำแหน่งเพียงหัวหน้าหน่วย แต่ชื่อของเขาก็ปรากฏในสื่อ  เป็นที่รู้จักพอสมควรแล้ว

เมื่อเอกกมล   ในฐานะผู้มีความรอบรู้ตลาดทุน และมีเครือข่ายอย่างกว้างขวางในวงการธุรกิจหลักทรัพย์   เขามีบทบาทสำคัญในผลักดันกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับใหม่  จึงได้รับแรงสนับสนุนในวงการอย่างกว้างขวาง ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.)คนแรก(ปี 2535-2538)

“ในเวลา 3 ปีในตำแหน่งเลขาธิการกลต. ในฐานะบุกเบิก นับว่าได้สร้างให้หน่วยงานเป็นองค์กรที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยมากทีเดียว โดยเฉพาะในช่วงธารินทร์ นิมานเหมินทร์ เพื่อนของเขาเป็นรัฐมนตรีคลัง และพรรคพวกอีกหลายคนเป็นผู้มีอิทธิพลในตลาดหลักทรัพย์ ในยุคตลาดทุนไทยกำลังเติบโตอย่างมาก  ผลงานสำคัญ ก็คือการสร้างความฮือฮาในการีจัดการกับการปั่นหุ้น ในหลายกรณี” อีกตอนหนึ่งของข้อเขียนที่อ้างข้างต้น

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เคยกล่าวว่า การทำงานในกลต.ถือเป็นไฮไลท์ในชีวิตของเขา  อาจจะหมายถึงการก้าวกระโดดจากตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่าย ซึ่งมีประสบการณ์ในธนาคารแห่งประเทศไทยเพียง 9 ปี ได้ก้าวขึ้นเป็นรองเลขาธิการ กลต. คนแรก

ไฮไลท์สำคัญกว่าน่าจะเป็นตอนต่อจากนั้น  เขาพ้นเงาของเอกกมลไป หลังจากเอกกมลเผชิญแรงกดดันทางการเมืองอย่างหนักต้องลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการกลต.ในปี 2538 ประสารก็ยังอยู่ในตำแหน่งรองเลขาธิการ มีความสำคัญในฐานะมีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานบริหารองค์กรใหม่นี้มากที่สุด โดยเฉพาะการเรียนรู้ประสบการณ์จากรุ่นพี่ท่ามกลางความผันแปรทางการเมือง ตามมาด้วยประสบการณ์ของตนเอง ว่าด้วยความผันแปรทางเศรษฐกิจ ในช่วงวิกฤติการณ์สำคัญของสังคมไทย

จากนั้นประสารก็ก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการกลต. ในฐานะคนหนุ่มด้วยวัยเพียง 47 ปี เท่านั้น และสามารถทำงานภายใต้สถานการณ์ต่างๆได้ตามเวลาที่ต้องการ

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ถือว่าทำงานในกลต์.มากกว่าทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย  จึงถือได้ว่าประสบการณ์ในฐานะนักบริหาร ในตลาดทุนมีคุณค่ามากทีเดียว 

บริหารธนาคารไทย

แม้ว่าเส้นทางใหม่ของเขาจะมีร่องรอย  Harvard connection    แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่าประสบการณ์ใหม่ในฐานะผู้บริหารธนาคารไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ด้วยประสบการณ์ที่ต่างไปจากเดิม จากการแก้ปัญหาของระบบ ไปสู่การวางยุทธ์ศาสตร์ระยะยาว

แม้ว่าบัณฑูร ลำซำ  เป็น HBS Class 1977ขณะที่ประสาร อยู่ใน HBS Class 1978 แต่เขาก็มีอายุมากกว่าบัณฑูร 1 ปี ย่อมถือว่าเป็นคนรุ่นเดียวกัน การพบกับครั้งแรกในที่ Harvard คงต่อเนื่องมาถึงความสัมพันธ์ในฐานะทำงานในหน่วยงานที่ต้องมีความสัมพันธ์กันต่อเนืองมา

บัณฑูร เป็นนักบริหารรุนใหม่ของธนาคารไทย มีความมุ่งมั่นและเชื่อว่าธนาคารไทยสามารถแข่งขันกับธนาคารระดับโลกได้ ความพยายามในการการเปลี่ยนแปลงธนาคารกสิกรไทย จากระบบธนาคารครอบครัว สู่ความธนาคารลักษณะสากลมากขึ้นในตลอดช่วง2 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะผ่านอุปสรรคมากมาย แต่เขาประสบความสำเร็จไม่น้อย ทั้งยังเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับระบบธนาคารไทยด้วย

ประสารเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยในช่วงสำคัญอีกช่วงหนึ่ง ช่วงที่ผ่านวิกฤตการณ์อันยากลำบากที่สุดของระบบธนาคารไทยไปแล้ว แต่สิ่งจากนั้นก็คือการวางยุทธ์ศาสตร์อย่างเหมาะสม ในกระบวนการนี้เขาได้มีส่วนรวม เคียงบ่าเคียงไหล่กับบัณฑูร  

มุมมองในอดีตของผู้กำกับและตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย ย่อมกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะ มุมมองว่าด้วยการสนับสนุนส่งเสริมธนาคารไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ในฐานะส่วนหนึ่งของระบบธนาคารโลก

 รุ่น14 ตุลา

ผมจำได้ว่าเอกกมล คีรีวัฒน์ เคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับประสารไว้เรื่องหนึ่งอย่างตื่นเต้น  เขาบอกว่า Harvard ตัดสินใจรับประสารเข้าเรียนนั้นด้วยเหตุผลอีกมิติหนึ่งที่สำคัญ ในฐานะเขามีประสบการณ์นอกเหนือจากการเรียน โดยเฉพาะในฐานะเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ในยุคการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยของไทยในช่วงปี 2516  

ประสารเองก็ยอมรับเรื่องนี้และบอกด้วยว่า เขายังมี  “บทสนทนา”กับเพื่อนพ้องในยุค 14 ตุลาดมอยู่เสมอ คนรุ่นเดียวกับเขาในฐานะผู้นำนักศึกษาในช่วงการเคลื่อนไหวในช่วงตุลาคม 2516 นั้น ยังมีบทบาททางการเมืองในยุคปัจจุบันด้วย พวกเขากระจายไปอย่ากลุ่มต่างๆ ซึ่งมีความขัดแย้งกันมากขึ้น นักวิเคราะห์เชื่อกันว่า สังคมไทยกำลังอยู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกช่วงสำคัญช่วงหนึ่ง

ในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ย่อมไม่อาจจะอยู่นอกภาพใหญ่ทางสังคม  เศรษฐกิจและการเมืองได้   เช่นเดียวกับ“บทสนทนา”ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างมากมายในหัวเมืองและชนบทดังมากขึ้น ภาพใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ ในฐานะอ้างอิงของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยย่อมกว้างขวางจากเดิม

ผมเชื่อว่าว่าบทเรียนสำคัญที่ผู้ว่าการฯคนใหม่ให้ความสนใจมีอย่างน้อย 2ช่วงสำคัญ ว่าด้วยการบริหารในสถานการณ์ของความผันแปร    เชื่อกันว่าผู้คนพุ่งความสนใจเป็นพิเศษในช่วงวิกฤติการทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2540-2   ซึ่งส่งกระทบต่อธนาคารแห่งประเทศไทยมากพอสมควร ปรากฏการณ์สั่นไหวขององค์กรมีให้เห็นอย่างชัดเจน รวมทั้งการเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯถึง 3 คนในช่วงเพียง 2-3 ปีเท่านั้น ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วย    

สำหรับผมคิดว่ามีอีกช่วงหนึ่งน่าสนใจยิ่งกว่า เป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทยอีกช่วงหนึ่ง ดูจะมีร่องรอยบางสิ่งบางอย่างเทียบเคียงกับปัจจุบัน นั่นคือยุค ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ปี 2502-2514) คนสำคัญที่สร้างธนาคารแห่งประเทศไทยให้เข้มแข็ง ท่ามกลางสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย  โดยเฉพาะสร้างกติกาให้ธนาคารไทยพัฒนาไปในทางที่ก้าวหน้า มีบทบาทสำคัญในการตรากฎหมายธนาคารพาณิชย์ในปี2505 ซึ่งยังเป็นกฎหมายพื้นฐานจนถึงปัจจุบัน   รวมทั้งเรื่องพัฒนาบุคลากร โดยให้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ ถือเป็นเตรียมความพร้อมของการสร้างทีมงานในอนาคต ด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล

สังคมไทยเวลานั้นอยู่ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งระดับภูมิภาค  จากสงครามเวียดนาม กระทบมาถึงสังคมไทยจากเมือง สู่ชนบท   ความขัดแย้งทางความคิดและการเมืองที่ซ่อนตัวอย่างเงียบๆ  ก่อนจะปะทุเป็นสงครามระหว่างขบวนการคอมมิวนิสต์ กับรัฐไทย  ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีที่มาจากทหาร จากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  ต่อเนื่องถึงจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ไม่อาจจะเรียกได้ว่าประชาธิปไตยเต็มใบ

 ด้วยสมมติฐานและแนวความคิดข้างตน ผมเชื่อว่าขณะนี้ คงไม่มีใครเหมาะสมกว่า  ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล 

—————————————————————————————————————————————

 ประวัติ–ประสาร  ไตรรัตน์วรกุล

เกิด

วันที่  20  สิงหาคม  พ.ศ. 2495

 การศึกษา

DBA. Harvard University, U.S.A. 2524

MBA.  Harvard University, U.S.A. 2521

Master of Engineering in Industrial, Asian Institute of Technology

Engineering and Management 2519

 วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาไฟฟ้า (เกียรตินิยมอันดับ 1)  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2517

ประสบการณ์ทำงาน

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

–กรรมการผู้จัดการ(2548-2553)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) (2535-2546)

–เลขาธิการ (2542-2546)

–กรรมการ กลต. (2541-2542)

–รองเลขาธิการ ( 2535-2542)

ธนาคารแห่งประเทศไทย ( 25262535)

–เศรษฐกรฝ่ายวิชาการ หัวหน้าหน่วยฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ และรองผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน

 ประสบการณ์อื่น

 กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ผู้ทรงคุณวุฒิ

 ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิ “อานันทมหิดล”

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: