แม้ว่าปตท.เกิดขึ้นจากการรวมองค์กรเก่าของรัฐ แต่ภายใต้ความเชื่อมโยง ด้วยการบริหารของทีมงานใหม่ จึงกลายเป็นองค์กรบุคลิกใหม่ มีความเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น
แม้ว่าเมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ปตท.มีบทบาทค่อนข้างจำกัด แต่ถือว่าได้สร้างรากฐานสำคัญขององค์กรเพื่อดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือการสร้างทีมงาน ในเวลาต่อมาทีมงานในยุคบุกเบิก ล้วนมีบทบาทอย่างสำคัญ ไม่เพียงเป็นผู้ว่าการยุคต่อมาๆของปตท.เท่านั้น ยังออกไปสู่ภายนอก มีบทบาททั้งในแวดวงพลังงาน ไปจนถึงวงการอื่นๆอย่างน่าสนใจ
บุคคลที่ควรยกขึ้นมาเป็น กรณีศึกษา(ซึ่งไม่อาจกล่าวถึงบุคคลสำคัญอื่นๆได้อย่างครอบคลุม) ควรเป็นภาพสะท้อนความเป็นไปของปตท.
ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์
ดร.ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ นับเป็นผู้บริหารคนแรกๆของยุคเปลี่ยนผ่านจากระบบราชการเข้มข้นสู่องค์กรจัดการที่ทันสมัยในคราบของรัฐ จากประสบการณ์ในฐานะนักวิชาการ มีการศึกษาด้านวิศวกรรมโยธา มีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศมาบ้าง หลังจากจบการศึกษาในระดับสูง ที่สำคัญเขามีประสบการณ์การสร้างหน่วยงานใหม่ของรัฐ เป็นองค์กรที่ต้องการประสิทธิภาพในการจัดการมากกว่าระบบราชการ
ในฐานะผู้ว่าการคนแรก–การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(ก่อตั้งปี2515) ซึ่งมีความหมายทั้งภารกิจในการสร้างระบบคมนาคมใหม่ (ทางยกระดับในในเขตเมืองหลวง) เพื่อตอบสนองการเจริญเติบโตของกรุงเทพฯ ซึ่งไม่สามารถดำเนินตามปกติของระบบราชการ ขณะเดียวเป็นองค์กรของรัฐแบบใหม่เน้นการจัดการแบบเอกชน ว่าไปแล้วเป็นแนวคิดเช่นเดียวกัน กับการเกิดขึ้นของปตท.
“ตอนนั้นผมทำงานเป็นผู้ว่าการทางพิเศษ ทำงานใกล้ชิดท่านนายกฯ เกรียงศักดิ์เรื่องทางด่วน ท่านให้ผมมาทำงานที่ ปตท. ซึ่งผมบอกว่าผมเป็นวิศวกรอาวุโสโดยการฝึกอบรมไม่ได้เรียนมาทางปิโตรเลียมท่านก็บอกว่าไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่การจัดการมากกว่า” (อ้างจาก สัมภาษณ์ “โครงการศึกษาวิจัยและจัดทำประวัติการพัฒนาพลังงานของประเทศไทย”ดร. ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ อดีตผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย7 ธันวาคม 2543)
ในช่วง8 ปีของการบุกเบิกปตท. ทองฉัตร มีความภูมิใจในการวางรากฐานสำคัญ หนึ่ง–การเปลี่ยนภาพพจน์ของ ปตท. ให้เป็นที่ยอมรับจากตลาดผู้บริโภค ถือเป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน สอง- มีบทบาทในฐานะแกนกลางของนโยบายและกระบวนการทางอุตสาหกรรมใหม่ เกี่ยวข้องกับก๊าซธรรมชาติ เริ่มตั้งแต่ จัดหา พัฒนา ลงทุนไปจนถึงการวางรากฐานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และสาม-การพัฒนาตลาดก๊าซหุงต้ม ด้วยพยายามขยายตลาดออกสู่ต่างจังหวัด
หากไม่นับการมาของอาณัติ อาภาภิรม ในฐานะผู้ว่าการปตท.คนที่สองแล้ว ผู้ว่าการคนถัดๆมา อีก 3ทศวรรษ ล้วนอยู่ในยุคบุกเบิกทั้งสิ้น
อาณัติ อาภาภิรม เข้ามาในฐานะตัวแทนของรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ ในช่วงพยายามกำกับบทบาทปตท.ให้มีอยู่อย่างจำกัดในโครงสร้างความมั่งคั่งใหม่ จากระบบเศรษฐกิจใหม่ในยุค “โชติช่วงชัชวาล” ถือเป็นช่วงที่น่าสนใจ (จะกล่าวถึงเป็นการเฉพาะในตอนต่อๆไป)
เลื่อน กฤษณกรี
เลื่อน กฤษณกรี เป็นผู้ว่าการปตท.คนที่สาม ซึ่งสร้างความต่อเนื่องต่อจากยุคทองฉัตร และทำให้ปตท.กล่าวไปสู่บทบาทที่สำคัญ และกว้างขวาง โดยเฉพาะให้กลายเป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขามของธุรกิจน้ำมันต่างประเทศ
ในฐานะเป็นเพื่อนกับทองฉัตร จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยรุ่นเดียวกัน เลือน กฤษณกรี มีบทบาทสำคัญยุคบุกเบิกธุรกิจค้าปลีกนำมัน เป็นบทบาทที่ต่อเนื่องและท้าทายจากประสบการณ์เคยเป็นผู้จัดการฝ่ายขยายปลีกของเอสโซ่ สแตนดาร์ดมาก่อนจะเข้ามาปตท. ถือได้ว่ายุคของเขา(2533-2538) เป็นยุคที่ปตท. ก้าวขึ้นสู่ผู้นำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันอย่างแท้จริง (ในปี2536)
โสภณ สุภาพงษ์
ส่วนภารกิจที่สำคัญในยุคต้น ว่าด้วยการจัดหาพลังงาน ผู้มีบทบาทสำคัญแม้ไม่ใช่ผู้ว่าการปตท.คนถัดๆมา แต่ก็เป็นผู้มีบทบาทในแวดวงพลังงานคนหนึ่ง –โสภณ สุภาพงษ์
เขามีประสบการณ์ในเอสโซ่มา 11 ปี ก่อนมาเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการดานจัดหาน้ำมัน ของปตท. ซึ่งถือเป็นภาระกิจเฉพาะหน้าที่สำคัญในยุคเริ่มต้น จนมาถึงยุคของความผันแปรของกิจการการกลั่นน้ำมันในประเทศ
“จากนั้นในปี2528 เขาซึ่งถือเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุด ก็เข้าในบริหารกิจการที่รับโอนมาจากต่างประเทศ และเริ่มศักราชที่เป็นโรงกลั่นน้ำมันแห่งชาติแห่งแรกขึ้นมา ในช่วงปลายของรัฐบาลเปรม” (จากเรื่อง โสภณ สุภาพงษ์ หนังสือ “อำนาจธุรกิจใหม่” ปี 2541ของวิรัตน์ แสงทองคำ)
โสภณ สุภาพงษ์ ถือเป็นผู้สร้างบริษัทบางจากปิโตรเลียม ในฐานะผู้บริหารคนแรก สามารถนำพากิจการน้ำมันครบวงจรของไทยอีกรายหนึ่ง เข้าสู่ตลาดอย่างดีพอสมควรโดยใช้เวลาเพียงทศวรรษเดียว แม้ว่าในปลายยุคของเขามีปัญหามากมายแต่กิจการก็ยังอยู่ถึงวันนี้
ศิรินทร์ นิมมานเหมินทร์
ศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ ก่อนมาอยู่ปตท.เขาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารเอเชีย ด้วยมองว่าขอบเขตของงานที่เขาควรรับผิดชอบในปตท. กว้างขวาง ขณะที่ระบบต่างๆยังต้องสร้างกันอีกมาก เป็นเรื่องท้าทายสำหรับคนหนุ่มวัย 30 ต้น ๆ
“ด้านการเงินได้มือดีๆมา ก็คือ คุณสุวรรณ วลัยเสถียร ตอนนั้นเพิ่งมาจากธนาคารโลก รุ่นหลังก็มีคุณศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ ทางสภาพัฒน์แนะนำมา แต่ไม่ได้มาจากสภาพัฒน์ คนที่แนะนำ มาให้คือคุณพิสิฎฐ์ ภัคเกษม”ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ ให้สัมภาษณ์ไว้ถึงงานด้านการเงินที่ควรกล่าวถึงเป็นพิเศษ (อ้างจากเอกสารของ”โครงการศึกษาวิจัยและจัดทำประวัติการพัฒนาพลังงานของประเทศไทย”อ้างแล้วข้างต้น)
ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร เป็นนักกฎหมายผู้มีบทบาท และเกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวกรณีทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในยุครัฐบาลทักษิณด้วย จนหลายคนลืมไปแล้วว่า ก่อนเริ่มอาชีพที่ปรึกษากฎหมายและภาษีอย่างจริงจัง เขาเคยทำงานปตท.ในฐานะคนมีโปรไฟล์การศึกษายอดเยี่ยม จบกฎหมายเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากจุฬาฯ และต่อด้วยจาก Harvard และ Gorge Washington เคยทำงานที่ธนาคารโลก (2519) ก่อนมาเป็นรองผู้ว่าการฝ่ายบริหารปตท.คนแรก (2522-2524)
ไม่ทราบแน่ชัดถึงบทบาทช่วงสั้นๆของสุวรรณ วลัยเสถียร แต่การมาของศิรินทร์ นิมมานเหมินทร์ ถือเป็นไฮไลท์ นอกเหนือบทบาทโดยตรงว่าด้วยการจัดการในเรืองน้ำมันและก๊าชธรรมชาติ
ศิรินทร์ นิมมานเหมินทร์ แม้เรื่องราวของเขามักอยู่ใต้ร่มเงาอันโดดเด่นของพี่ชาย( ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ) แต่ความเป็นจริง เรื่องราวของเขามีสีสันไม่น้อย
“อิทธิพลความคิดส่งผ่านในรุ่นต่อๆมา ธารินทร์ และศิรินทร์ บุตรชายทั้งสองของไกรสีห์ จึงได้รับการส่งเสริมในเรื่องการศึกษาอย่างดียิ่ง เริ่มจากโรงเรียนมงฟอร์ดที่เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นโรงเรียนต่างจังหวัดที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ภายใต้การอุปถัมภ์ของคริสตจักร ที่เติบโตมากับบุคลิกของเมืองเชียงใหม่ที่มีลักษณะสากลมากกว่าหัวเมืองอื่นๆตั้งแต่สนธิสัญญาเบาริ่ง
ธารินทร์ และศิรินทร์ได้รับการแนะนำจากครูสอนศาสนาได้เรียนระดับมัธยมเพื่อวางรากฐานภาษาอังกฤษที่ Woodstock School โรงเรียนประจำชั้นยอดที่อินเดีย จากนั้นก็ข้ามไปเรียนที่สหรัฐที่โรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในสหรัฐ The Choate (ปัจจุบันชื่อChoate Rosemary Hall) ในช่วงก่อนปี2510 ฐานการศึกษาระดับพื้นฐานที่ดี ธารินทร์ จึงผ่านศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ โดยจบปริญญาตรีจากHarvard University และMBA ,Stanford University ส่วนศิรินทร์ จบปริญญาตรีจากChicago Universityก่อนมาเรียนMBA ,Stanford University ต่อมาพวกเขาคือเป็นคนไทยไม่กี่คนทีเริ่มต้นทำงานในต่างประเทศ โดยธารินทร์เคยทำงานธนาคารสหรัฐในฟิลิปปินส์ ส่วนศิรินทร์ เคยทำงานบริษัทค้าหุ้นในญี่ปุ่น ก่อนจะเติบโตในรวดเร็วในหน้าที่การงานในประเทศไทย”โปรไฟล์ของศิรินทร์มักเทียบเคียงกับธารินทร์(จากหนังสือ “หาโรงเรียนให้ลูก” 2548 โดยวิรัตน์ แสงทองคำ)
“เมื่อครั้งที่ผมเข้ามาทำงานที่ ปตท.ในระยะแรก ผมพบกับปัญหาเรื่องการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมหนักใจที่สุดในตอนนั้น คือ เราได้รับมอบหมายให้หาเงินมาซื้อน้ำมัน 65,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นจำนวนเงินในตอนนั้นเฉลี่ยประมาณ 2.2 ล้านเหรียญต่อวัน เงินจำนวนนี้เป็นเงินที่เราต้องหามาให้ได้ภายใน 1 เดือนเพื่อนำมาซื้อน้ำมันที่ท่านรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ติดต่อซื้อกับ ชีค ยามานี เอาไว้แล้ว ซึ่งถ้าหากเราหาให้ไม่ได้ เมื่อถึงเวลาเอาน้ำมันมาแล้ว ไม่มีเงินให้เขารัฐบาลก็เสียหน้า ตอนนั้น ปตท.เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นใหม่ ๆ เงินก็ไม่มีอยู่ในกระเป๋าเลย เมื่อผมบอกเรื่องนี้กับรองผู้ว่าศิรินทร์ ท่านรองลมแทบใส่ แต่ผมเองก็ยังเชื่อว่า ผมกับรองศิรินทร์ต้องหาเงินจำนวนนี้มาได้ ตอนนั้นก็ไปกู้ญี่ปุ่นมาจำนวนหนึ่ง ผมยังจำได้ว่า ผมได้บอกกับรองศิรินทร์ว่า คุณมีน้ำมันอยู่ในกระเป๋าถึง 65,000 บาร์เรล แล้วน้ำมันก็เหมือนทองคำในตอนนั้น ไม่ต้องกลัวว่าจะกู้เงินไม่ได้ แล้วในที่สุดเรื่องมันก็จบลงอย่างง่าย ๆ ไม่ได้อะไรน่าหนักใจ เราก็หาเงินกู้ได้ไม่ยาก” ทองฉัตรกล่าวถึงบทบาทของศิรินทร์ ไว้อย่างตื้นเต้น(จากบางตอนเรื่อง ดร.ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ ผมสร้าง ปตท.จากไม่มีอะไรเลย นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2530—ผมเป็นบรรณาธิการในช่วงนั้น) ขณะเดียวกันอดีตผู้ว่าการปตท.อีกคน(วิเศษ จูภิบาล)กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ “คุณศิรินทร์ นิมมานเหมินทร์ เป็นผู้ช่วยว่าการทางด้านการเงิน บังเอิญเขาเคยมีความสัมพันธ์กับทางธนาคารมาก่อน ก็กู้เงินมาจากญี่ปุ่น”
หลังจากอยู่ที่ปตท.มาประมาณ10ปี ศิรินทร์ นิมมานเหมินทร์ ก็ก้าวเข้าสู่วงการธนาคาร– กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ (2535-2542)
เรื่องราวของผู้ว่าการปตท. คนต่อๆมา ผู้มาจากทีมงานสำคัญในยุคบุกเบิก ไมว่า พละ สุขเวช วิเศษ จูภิบาลและประเสริฐ บุญสัมพันธ์ จะกล่าวถึงอีกมาก ในตอนๆต่อไป
ผู้บริหารปตท.
ผู้ว่าการการ
ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์
2522-2530
อาณัติ อาภาภิรม
2530 -2533
เลื่อน กฤษณกรี
2533 รักษาการผู้ว้าการ
2534-2538
พละ สุขเวช
3538-2542
——————————-
วิเศษ จูภิบาล
2542 – 2544 ผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
2544 – 2546 กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
——————————
กรรมการผู้จัดการใหญ่
ประเสริฐ บุญสัมพันธ์
2546-2554
ไพรินทร์ ชูโชติช่วงถาวร
2554-