ไม่ว่าจะเดินทางมาไกลเพียงใด แต่ร่องรอยมักย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นเสมอ ขณะเดียวกันภาพปัจจุบันย่อมมีความหมาย โดดเด่น และแตกต่าง เมื่อเปรียบเทียบกับภาพอดีต
ประวัติศาสตร์ปตท.มีจุดเริ่มต้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทย ท่ามกลางภาวะเผชิญความท้าทาย ความผันแปร มีทั้งความล่มสลายและโอกาสใหม่
โอกาส
โอกาสใหม่ มักมาจากวิกฤติการณ์เสมอ ผมมักอ้างอิงช่วงประวัติศาสตร์สำคัญ คือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง–สงครามเวียดนาม วิกฤติการณ์นำมันของโลกเกิดขึ้นครั้งแรกในราวปี2516 ต่อเนื่องวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่สองในราวปี 2521-2 ความผันแปรประดังสังคมไทย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ธุรกิจและอุตสาหกรรม
ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ตุลาคมในปี2516 และ2519 การลดค่าเงินบาทติดๆกัน (รวมทั้งมีการเพิ่มค่าด้วย) ตั้งแต่ช่วงปี2514 ถึง 2517 โอกาสใหม่ชั่ววูบมาจากการเปิดสถาบันการเงินชั้นรอง (2515-2519) โดยมีเรื่องราวของ พร สิทธิอำนวย (2518-2524) เป็นตัวชูโรง ของวิกฤติการณทางเศรษฐกิจครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ควรกล่าวถึงควบคู่ไปในช่วงการก่อตั้งปตท.คือความเคลื่อนไหวสวนกระแสวิกฤติของเครือข่ายสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยเฉพาะเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สะท้อนความเป็นไปของอุตสาหกรรมไทยในช่วงเกือบศตวรรษ และที่สำคัญมีความเชื่องโยงกับปตท.อย่างไม่น่าเชื่อ
ความเคลื่อนไหวของสำนักงานทรัพย์สินฯเองในยุคพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ เป็นผู้อำนวยการ มีความคึกคักเป็นพิเศษ เข้าไปถือหุ้นในกิจการใหม่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่น และอุตสาหกรรมเกิดใหม่ของไทย
ถือเป็นช่วงก้าวกระโดดของปูนซิเมนต์ไทยหรือเครือซิเมนต์ไทยอย่างแท้จริง เริ่มต้นด้วยการเงินกู้ก้อนใหญ่จาก IFC หน่วยงานของธนาคารโลก (2514) เพื่อการลงทุนขยายกิจการครั้งใหญ่ รวมทั้งการขยายธุรกิจออกจากปูนซีเมนต์ด้วย
ในช่วงปี 2521 เมื่อปตท.ก่อตั้งขึ้น เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจีได้เริ่มบทบาทสำคัญ คือการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ด้วยการซื้อหรือครอบงำกิจการ(Acquisition) ไม่ว่ากรณีสยามคราพท์– จุดเริ่มต้นอุตสาหกรรมกระดาษ โรยัลซีรามิค –จุดเริ่มต้นธุรกิจวัสดุก่อสร้างครบวงจร รวมทั้งร่วมทุนกับKubota (2521) เป็นจุดเริ่มความสัมพันธ์ที่ตามมาเป็นขบวนกับธุรกิจญี่ปุ่นและ กรณีFirestone (2525) จุดเริ่มต้นเข้าแทนที่ธุรกิจตะวันตกซึ่งกำลังถอนการลงทุนจากไทย หลังสหรัฐฯพ่ายแพ้สงครามเวียดนาม
กรณีปตท.เป็นต้นแบบและบทเรียนใหม่ของความพยายามเข้ามามีบทบาทแทนต่างชาติ ควรจะมีความหมายกว้างกว่านั้น
กิจการไทย
แม้ว่าธนาคารสยามกัมมาจลหรือไทยไทยพาณิชย์ก่อตั้งมาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่อยู่ภาวะจำกัดตัวเองมากๆ ธนาคารไทยเกิดขึ้นอย่างจริงจังหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากระบบธนาคารอาณานิคมล่าถอยไป รัฐไทยถือว่าเป็นโอกาสสำคัญ แทบจะเรียกว่าปิดประตูสำหรับธนาคารต่างชาติไปเลยจากนั้น ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมสำคัญบางประเภท มีความเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันไป
ปูนซิเมนต์ไทย แม้ว่าจะก่อตั้งโดยราชสำนักไทยในยุคอาณานิคมเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงอาศัยผู้บริหารต่างชาติมาคลอด 60 ปีแรก เรื่องสำคัญมีอยู่ว่า ก่อนจะปรับตัวครั้งใหญ่ในช่วงสงครามเวียดนาม ด้วยโอกาสใหม่อย่างกว้างขวางตามที่กล่าวมาตอนต้น ก่อนหน้านั้นได้ปูนซิเมนต์ไทยได้ ผ่านเหตุการณ์สำคัญ เปลี่ยนผ่านจากยุคผู้บริหารต่างชาติมาเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ (2515)
ส่วนกิจการพลังงานโดยเฉพาะน้ำมัน แม้เป็นกิจการมีความสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงของสังคมเป็นพิเศษ ใช้เวลานานมากทีเดียว กว่าจะเปลี่ยนมือจากต่างชาติมาอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐไทย ว่าไปแล้วเป็นกระแสลมพัดแรงระดับภูมิภาค เกิดก่อนหน้ากรณีปตท.ไม่นานนัก เช่น Pertamina แห่งอินโดนิเชียก่อตั้งขึ้นในปี2511 และ Petroans แห่งมาเลเซีย ในปี 2517 ผู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ในตอนต้นๆของปตท.เข้าใจกันดีว่า Pertamina มีส่วนช่วยปตท.ในยุคก่อตั้งด้วย
ธุรกิจต่างชาติ
ผู้ค้าน้ำมันต่างชาติเข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ยุคอาณานิคม ฐานะชิ้นส่วนสำคัญของระบบการค้าทรงอิทธิพลของโลก โดยยังเหลือบทบาทอยู่ไม่น้อยอยู่ถึงปัจจุบัน
“เชลล์เริ่มเข้ามามีบทบาทในราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ เมื่อครั้งเรือเอส เอส มิวเร็กซ์ ซึ่งเป็นเรือที่สร้างขึ้น เพื่อบรรทุกน้ำมันโดยเฉพาะ บรรทุกมันก๊าด เข้ามาจอดเทียบท่า ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2435“ข้อมูลของเชลล์แห่งประเทศไทยเองระบุ (http://www.shell.co.th/ ) ขณะที่คู่แข่งอีกรายให้ข้อมูลประวัคติศาสตร์เช่นเดียวกัน (http://www.esso.co.th ) ““เอสโซ่”เป็นหนึ่งในบริษัทที่ดำเนินกิจการกลั่นและค้าน้ำมันครบวงจรชั้นนำของไทย มีประวัติอันยาวนานเป็นที่น่าภาคภูมิใจ โดยบริษัทในกลุ่มของเรา คือ บริษัทสแตนดาร์ดออยล์แห่ง นิวยอร์กได้เริ่มดำเนินการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2437 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5” ส่วนรายที่3– Caltex เข้ามาเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในราวปี2479
บทความชุดนี้ไม่ได้ตั้งใจศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงนั้นอย่างละเอียด เพียงพยายามเชื่อมโยง ความเข้าใจช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์ โดยประเมินอย่างคร่าวๆว่า เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีลักษณะสากล อาศัยเครือข่ายและเทคโนโลยี่ระดับโลก จึงจำเป็นต้องพึ่งพาต่างชาติ แม้ว่าธุรกิจผ่านเหตุการณ์ต่างๆของสังคมไทยมาอย่างผกผัน จากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถึงสงครามโลกครั้งที่สอง และต่อจากนั้น แต่ยังคงอิทธิพลอย่างยาวนาน “ธุรกิจการนำเข้าน้ำมันก๊าด น้ำมันเบนซิน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อีกนานาชนิดดำเนินไปได้ด้วยดี จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทบริษัท เอเซียติก ปิโตรเลียม (สยาม) มีอันต้องปิดกิจการชั่วคราว จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง รัฐบาลไทยได้ติดต่อขอให้เชลล์กลับเข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทยอีกครั้ง” ข้อมูลของเชลล์ (อ้างแล้ว) เท่าที่จำได้เคยอ่านเอกสารเก่าการก่อตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ของไทยในช่วงสงครามโลกครั้งหนึ่ง ต้องนำเข้าน้ำมันโดยใช้บริการของบริษัท เอเซียติก ปิโตรเลียม (สยาม)
ในช่วงสงครามเวียดนาม โดยเฉพาะ Shell และEsso นอกจากเป็นผู้ค้าปลีกน้ำมัน ยังมีบทบาทครอบคลุมมากขึ้น Shell เข้าถือหุ้นในกิจการโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ในปี2511 และเริ่มต้นสำรวจหาปิโตรเลียม ปี 2522 และอีก 2ปีต่อมาได้ค้นพบแหล่งน้ำมันในเชิงพาณิชย์แห่งแรกของไทย ที่อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ขณะที่ Esso เริ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันในปี 2514
ขณะนั้นประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมัน 3 แห่ง นอกจากEsso ก็มีไทยออลย์ (ก่อตั้งปี 2504) เป็นของเอกชน ชาวจีนโพ้นทะเล—เชาวน์ เชาว์ขวัญยืน และโรงกลั่นบางจากของทหาร ซึ่งปล่อยให้ไทยซัมมิตของเจซีฮวงนักธุรกิจใต้หวันเช่าดำเนินการ
ในเวลานั้นสังคมไทยใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่จากบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาครัฐว่าด้วยการผลิตไฟฟ้า แม้ว่ากองทัพไทยจะเป็นเจ้าของโรงกลั่นน้ำมันมาช้านาน และมีสถานีบริการอยู่บ้างแต่ถือว่าไม่ประสบความความสำเร็จ
“สภาพของไทยจริงๆ เป็นการจัดหาน้ำมันจากในประเทศโดยซื้อจากโรงกลั่นมีเอสโซ่ บางจาก ไทยออยล์ พอขาดแคลนน้ำมันก็มีเรื่องที่จะต้องนำเข้ามา …แต่เราไม่มีทักษะในเรื่องการจัดหาและในเรื่องของเครือข่ายในการหาน้ำมัน” สถานการณ์วิกฤติการณ์นำมันช่วงปตท.ก่อตั้ง จากบทสัมภาษณ์ของวิเศษ จูภิบาล (สัมภาษณ์ “โครงการศึกษาวิจัยและจัดทำประวัติการพัฒนาพลังงานของประเทศไทย” วิเศษ จูภิบาลผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กุมภาพันธ์ 2544 –กระทรวงพลังงาน)
วิเศษ จูภิบาล เป็นผู้บริหารปตท.คนสำคัญ เข้ามาทำงานตั้งแต่ยุคก่อตั้ง ต่อมาเป็นผู้นำในช่วงการเปลี่ยนผ่านสำคัญจากรัฐวิสาหกิจ( ในฐานะผู้ว่าการ)เป็นบริษัทจำกัด(ผู้จัดการใหญ่)เพื่อระดมทุนครั้งใหญ่โดยเข้าตลาดหลักทรัพย์(ปี2542-2546)
“พอมีปัญหา บริษัทต่างชาติ เช่น คาลเท็กซ์ เชลล์ ก็ไม่ส่งน้ำมันมา คือทุกอย่างไม่เจตนาที่จะไม่มาแต่ปริมาณจะต้องจัดสรรไปในพื้นที่ที่เขาคิดว่าได้ราคาดี …. ช่วงนั้นที่วิกฤตหนักก็คือน้ำมันเตา ส่วนน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซลเป็นเรื่องปกติ เพราะช่วงนั้นบ้านเรา การใช้ยังไม่ค่อยมาก แต่ไฟฟ้าใช้น้ำมันเตามากที่สุด” วิเศษ จูภิบาลให้ภาพที่ชัดเจนขึ้นอีก
ถือเป็นจังหวะเวลาสำคัญของการเข่ามามีบทบทของรัฐอย่างที่ควรจะเป็น
ประสบการณ์จากต่างชาติ
การเกิดขึ้นอย่างฉุกละหุกของปตท. ย่อมต้องการทีมงานที่มีประสบการณ์และความสามารถ ว่าไปแล้วถือเป็นช่วงเวลาสังคมไทยมีบุคลากรอยู่บ้าง
บทเรียนทำนองเดียวกัน อาจมองกลับไปที่เอสซีจี แม้ว่ามีผู้บริหารเป็นชาวต่างชาติ—ชาวเดนมาร์ก อยู่นานทีเดียว (2456-1515) แต่ดูเหมือนว่าระบบบริหารนั้นไม่ได้เตรียมบุคลากรไว้เพียงพอ เพื่อตอบสนองกับโอกาสใหม่จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในช่วงต้นของยุคคนไทย เอสซีจีจำเป็นต้องมีทีมงานที่มีประสบการณ์กว้างขวางกว่าเดิม
นั่นคือการเข้ามาของจรัส ชูโตจากEsso พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา จากShell ในฐานะวิศวกรผู้มีประสบการณ์ในการบริหารเครือข่ายจัดจำหน่าย อมเรศ ศิลาอ่อน ผู้มีประสบการณ์การตลาดจากShell และชุมพล ณ ลำเลียง ด้านการเงิน จากบริษัทเงินทุนทิสโก้ (กิจการร่วมทุนระหว่างBanker trust กับธนาคารกสิกรไทย)
ผู้มีประสบการณ์จากกิจการต่างชาติในประเทศไทย เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญ ให้เอสซีจีเติบโตก้าวกระโดดในช่วง 2-3ทศวรรษต่อมา ปรากฏการณ์เริ่มต้นเกิดขึ้นก่อนปตท.ประมาณหนึ่งทศวรรษ
เช่นเดียวกับทีมงานรุ่นบุกเบิกของปตท. มีองค์ประกอบสำคัญ จากผู้มีประสบการณ์ในบริษัทน้ำมันต่างชาติ นอกจากมองเห็นปรากฏการณ์ที่เอสซีจี เป็นสิ่งอ้างอิงแล้ว ยังถือว่าที่ปตท.เป็นจุดเชื่อมต่อโดยตรงกับประสบการณ์เดิมของทีมงานบุกเบิก
โดยเฉพาะ เลื่อน กฤษณกรี โสภณ สุภาพงษ์ เข้ามาตั้งแต่เริ่มต้น ประเสริฐ บุญสมพันธ์ ตามมาในปี 2525 ในฐานะผู้บริหาร รุ่นบุกเบิกโดยอาศัยประสบการณ์จากธุรกิจต่างชาติ– Esso โดยมีทองฉัตร หงส์ลดารมย์ เป็นผู้ว่าการปตท.คนแรก และมีศิรินทร์ นิมมานเหมินทร์ ผู้เชี่ยวชาญการเงิน รวมอยู่ด้วย
ถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวมากๆ (ตอนหน้าจะเล่าเรื่องอย่างละเอียด—ว่าด้วยทีมบุกเบิก)