เรื่องราวปตท.น่าสนใจมากขึ้นๆเป็นลำดับ ไม่เพียงสะท้อนความเป็นไปของธุรกิจไทยที่เติบโตอย่างมหัศจรรย์ ยังสะท้อนความความเป็นไปของสังคมไทยในภาพใหญ่ หลายมิติ
เรื่องราวปตท.จะมีมากกว่า 5 ตอน เป็นซีรีย์ชุดใหม่ของความพยายาม ศึกษา ปรากฎการณ์ จากข้อมูล ข่าวสารต่างๆอย่างพรั่งพรู เป็นบทสรุปจากข้อบกพร่องในข้อเขียนชุดใหญ่–โฉมหน้าใหม่ธุรกิจไทย โดยขาดเรื่องราวสำคัญ เป็นจิ๊กซอร์ชิ้นใหญ่ แม้ว่าผมเคยเขียนถึงปตท.มาบ้าง ให้ภาพเพียงกว้างๆ
ในฐานะองค์กร กำลังจะก้าวสู่ปีที่ 35
ปี 2521 ( 29 ธันวาคม )จัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.) ในฐานะรัฐวิสาหกิจใหม่ภายใต้สถานการณ์อันยุ่งยากอย่างต่อเนื่อง สังคมไทยเผชิญวิกฤติการณ์น้ำมันถึงสองครั้งในช่วงไม่ถึง 10 ปี ด้วยการควบรวมกิจการรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ คือองค์การเชื้อเพลิง และ องค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย
ปตท.เกิดขึ้นในยุครัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ว่ากันว่าเป็นเกิดขึ้นค่อนข้างฉุกละหุก ภายใต้โครงสร้างถูกควบคุมโดยบริษัทนำมันต่างชาติ แต่ไม่สามารถนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้เพียงพอกับความต้องการ “เพื่อสร้างความสามารถและอำนาจในการจัดหาน้ำมัน สำรองและจัดจำหน่าย เป็นช่วงเวลาเดียวกันภาคพื้นอาเซียนและทั่วโลก จะเห็นว่าเป็นช่วงเดียวกันกับที่มี “กิจการน้ำมันแห่งชาติ” เกิดขึ้นเพื่อต่อรองกับบริษัทต่างชาติ” บทสนทนาบางตอนจากผู้บริหารปตท.ในยุคก่อตั้งที่พอจำได้
ผู้บริหารคนสำคัญคนแรก ดร.ทองฉัตร หงส์ลดารมย์ เข้ามาทำงานได้อย่างดี ในการรวมกิจการ-องค์การเชื้อเพลิง ซึ่งเดิมสังกัดกระทรวงกลาโหม กับองค์การก๊าซธรรมชาติฯ สังกัดกระทรวงการคลัง ซึ่งมีพันธะสัญญากับบริษัทต่างชาติ อันเนื่องมาจากการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย
ปี 2527ก่อตั้งบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ ดูเผินๆเกี่ยวข้องกับปตท.ไม่มากนัก แต่แท้ที่จริงเป็นข้อต่อสำคัญมาก มีความเชื่อมโยงกันอย่างยาวนานตั้งแต่ปตท.ก่อตั้งมาจนถึงยุคใหม่
การก่อตั้งบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ ถือเป็นจุดตั้งต้นสำคัญยุคใหม่ ด้วยความเชื่อของผู้มีอำนาจยุคนั้น ทั้งการสร้างโมเดลการสร้างระบบเศรษฐกิจ การสะสมความมั่งคั่งใหม่
“แผนแม่บทโครงการปิโตรเคมีของรัฐ ซึ่งก่อตั้งบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด(National Petrochemical Corporation Ltd.หรือ NPC) เมือปี 2527 มีเป้าหมายสร้าง Petrochemical Complexขั้นต้นของอุตสาหกรรม โดยนำก๊าซธรรมชาติที่เพิ่งถูกขุดขึ้นจากอ่าวไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ตามความหวังอัน”โชติช่วงชัชวาล”
ทั้งนี้อยู่ภายใต้ยุทธ์ศาสตร์อันหนักแน่นมั่นคงยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยมี ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญผลักดันอย่างแข็งขัน โดยคัดเลือกผู้ร่วมทุนฝ่ายเอกชนที่บุกเบิกทางการค้าและการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมา 4 ราย เข้าร่วมโครงการปิโตรเคมีแห่งชาติ โดยปตท.ถือหุ้นจำนวนมากกว่ารายอื่นในฐานะ ผู้มีตำแหน่งทางยุทธ์ศาสตร์ในการดูแลและจัดการเรื่องพลังงานของรัฐ”(จากเรื่องปตท.ที่น่าทึ่ง ตุลาคม 2553) ไม่มีใครคาดคิดว่ายุทธ์ศาสตร์เดิมจะพลิกผัน บทบาทปตท.ยุคใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายในอีกสองทศวรรษ กลายเป็นเจ้าของเครือข่ายธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดแทนเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี)
ในช่วงเวลาเดียวกัน ปตท.จัดตั้งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(ปตท.สผ ) เพื่อดำเนินการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม ถือว่ามีความสำคัญทั้งโมเดลกิจการ และการเข้าสู่วงจรตั้งต้นสำคัญของอุตสาหกรรม
จากจุดเริ่มต้นในฐานะHolding company เข้าถือหุ้นในกิจการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันดำเนินการโดยบริษัทต่างชาติ จนพัฒนาตนเองกลายเป็นผู้ดำเนินการทังหมด (operator) ในเวลาต่อมา อีกด้านหนึ่งปตท.ถือหุ้น 100% ในปตท.สผ ถือเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ เวลาต่อมาเป็นโมเดลที่น่าสนใจ เมื่อปตท.สผ.นำกิจการเขาตลาดหุ้นในปี2541 ถือเป็นบทเรียนความสำเร็จสำคัญในการระดมทุนจากตลาดทุน เป็นการชิมลางก่อนปตท.จะเข้าสู่ตลาดหุ้นในเวลาต่อมา
ปี2536 ปตท.ประกาศว่าสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกผลิตภัณฑ์น้ำมัน เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เป็นความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในโมเดลการสร้างกิจการน้ำมันแห่งชาติ ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันภายใต้โครงสร้างมีทั้งอำนาจได้จากรัฐว่าด้วยจัดหาพลังงานเพื่อความมั่นคงแล้ว ยังมีเครือข่ายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สามารถเอาชนะกิจการน้ำมันต่างชาติที่ปักหลักในประเทศไทยมานาน มากกว่าร้อยปี
ทศวรรษของบริษัทใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ปี 2544 แปรสภาพรัฐวิสาหกิจ มาเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยปฏิบัติตามกฎหมายพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 โดยรับโอนกิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ความรับผิดชอบ พนักงาน ลูกจ้าง และส่วนธุรกิจทั้งหมด(1 ตุลาคม 2544)
“พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ปี 2542 ตราขึ้นในสมัยชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นจุดเริ่มต้นที่ยังมองไม่เห็นภาพชัดเจนของยุคใหม่ของปตท.
“เป็นเครื่องมือของรัฐเมื่อมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะของรัฐวิสาหกิจจากรูปแบบเดิมที่เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐ … โดยการกระจายหุ้นที่รัฐถือไว้ให้แก่ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนและการบริหารจัดการในกิจการที่รัฐวิสาหกิจเดิมดำเนินการอยู่ได้ต่อไปในอนาคต” บางตอนของหมายเหตุ ท้าย พรบ.นี้ว่าไว้” ผมเคยสรุปเหตุการณ์สำคัญไว้แล้ว (อ้างแล้ว) เป็นที่รู้กันว่าปลายทางอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์
ในช่วงปลายปี 2544 ปตท. ได้เข้าซื้อขายหลักทรัพย์ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงแรกดำเนินไปอย่างเป็นจังหวะและมีความสำคัญ
“ในปี 2544 นอกจากจะได้รับการบันทึกเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ของการพัฒนาขององค์กรแล้ว ยังเป็นปีแห่งความสำเร็จระดับชาติ เมื่อปตท.สามารถระดมทุนจากตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศได้ตามเป้าหมาย กว่า 30,000 ล้านบาท และไดรับการประกาศให้ได้รับรางวัลการกระจายหุ้นยอดเยี่ยมแห่งปี หรือ The Best IPO of the Year โดยกี่สำรวจของนิตยสารไฟแนนซ์เอเชีย” สารจากประธานกรรมการปตท. ( มนู เลียวไพโรจน์ ) จาก รายงานประจำปี 2544
“หุ้นปตท.เป็นหุ้นเด่นที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นที่สนใจของนักลงทุน โดยมีมูลค่าประมาณ 517,445 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ11 ของมูลค่าตลาด” สารจากประธานกรรมการ (เชิดพงษ์ สิริวิชช์) รายงานประจำปี 2546
“ในปี 2547 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากวิกฤติครั้งใหญ่ที่ยืดเยื้อพอสมควร การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในรอบสองทศวรรษ เช่นเดียวราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้น ปตท.ขยายตัวจากสินทรัพย์ระดับ 3แสนล้านบาทในปี2545 เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาทในปี2547 จากกำไรประมาณ 24,000 ล้านบาท ในปี2545 เพิ่มเป็นประมาณ 90,000 ล้านบาทในปี 2548-9 ขณะเดียวกันราคาหุ้นจากไม่ถึง 50 บาทในวันเข้าตลาดหุ้นในปลายปี 2545เพิ่มขึ้นทะลุ400 บาทในปี 2547 “(จากงานเขียนของผม—อ้างแล้ว)
สอดคล้องกับบทวิเคราะห์และรายงานของปตท.เอง
“การใช้นำมันในขยายตัวสูงสุดตั้งแต่ปี 2521 ที่ระดับ 82.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบ(ดูไบ) ที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในรอบ 20 กว่าปี จาก 26.8เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 33.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7หรือ 6.9 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล กล่าวกันว่าปี 2547 เป็นปีที่เกิดวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่ 3“ สถานการณ์ปิโตรเลียม รายงานระจำปี2547
“เศรษฐกิจโลกในปี 2548 ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับกำลังการผลิตดึงราคาน้ำมันโลกให้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์… ปี 2548 เป็นปี่ปตท. ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานอย่างดียิ่ง อันเป็นผลจากการที่ปตท.เข้าไปลงทุน ปรับโครงสร้างหนี้ และปรับโครงสร้างบริหาร ทั้งใน ปตท.และบริษัทในกลุ่มปตท. ตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา” สารจากคณะกรรมการ (ลงนามโดย เชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานกรรมการ และประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการและเลขานุการ) รายงานประจำปี2548
ปตท.มีรายได้ทะลุหลักล้านล้านบาทเป็นกิจการแรกของไทย เป็นการเติบโตประมาณ10เท่าเพียงทศวรรษเดียว ไม่เพียงเป็นความมหัศจรรย์( ดูข้อมูลท้ายบทความ) หากถือว่าเป็นจังหวะก้าวกระโดดสำคัญ ในการขยายตัวด้วยโมเมนตัมแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ปตท.สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนอีกมาก นอกจากเข้าตลาดหุนครั้งแรกกว่า 30,000 ล้านบาทแล้ว ยังออกตราสารทางการเงิน(หุ้นกู้ ) จนถึงปัจจุบัน ปตท.ระดมทุนไปแล้ว เป็นเงินบาทมากกว่า 200,000 ล้านบาท เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอีกเกือบหนึ่งพันล่านเหรียญสหรัฐฯ และเงินเยนของญี่ปุ่นอีก36,000 ล้านเยน
“โอกาสทางธุรกิจว่าด้วยยุคทองของกิจการด้านพลังงานเปิดกว้างขึ้น จากผลประกอบการที่ดี ได้กระตุ้นและเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์เดิมจากกิจการพลังงานที่ดูแลความมั่นคงในประเทศ ไปสู่ความทะเยอทะยานเป็นกิจการพลังงานระดับโลก” ผมเคยสรุปเอาไว้เมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น แต่ความเป็นไปในปัจจุบันขยายจินตนาการไปมากกว่านั้นมาก
ข้อมูลทางการเงินปตท.(2542-2554)
(ล้านบาท)
2542 2543 2544 2545 2546
สินทรัพย์ 199,156 229.854 391,216 298,988 324,331
รายได้ 234,921 375,527 386,415 396,551 489,713
กำไร -6,260 12,280 21,565 24,352 37,580
2547 2548 2549 2550 2551
สินทรัพย์ 487,226 651,223 753,192 891,524 885,193
รายได้ 644,693 926,269 1,213,985 1,508,129 2,000,815
กำไร 62,666 85,521 95, 582 97,800 51,705
2552 2553 2554
สินทรัพย์ 1,103,590 1,229,109 1,402,412
รายได้ 1,586,174 1,898,682 2,428,164
กำไร 59,548 101,504 125,225
ที่มา :รายงานประจำปี