ความรู้ทางธุรกิจ(3)บทเรียนธนาคารกสิกรไทย

ในช่วงกึ่งทศวรรษที่ผ่านมา  การพัฒนาบุคคลกรของธุรกิจไทย ถือเป็นช่วงข้ามผ่านจากยุคสงครามเวียดนามถึงปัจจุบัน  ภาพที่ชัดเจนที่ธนาคารกสิกรไทย   ถือเป็นกรณีศึกษาเดียวที่ควรศึกษาก็ว่าได้

ทุนการศึกษาของเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี กับธนาคารกสิกรไทยแล้ว  มีบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างกัน

ธนาคารกสิกรไทยเป็นธุรกิจไทยแห่งแรก(กสิกรเปิดโครงการาวปี2509 เอสซีจีปี2516) ที่ให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจอย่างเปิดกว้างไม่จำกัดเฉพาะพนักงานตนเอง ความเคลื่อนไหวของทุนที่ว่าด้วยแหล่งการศึกษาของธนาคารกสิกรไทยมีพลวัตร เป็นดัชนีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมของธุรกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อาจจะเป็นเพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาธุรกิจธนาคารเผชิญความผันแปรอย่างคาดไม่ถึง

ธนาคารกสิกรไทยตั้งขึ้นด้วยแรงบันดาลใจการบริหารด้วยมาตรฐานค่อนข้างสูง   ผมสรุปขึ้นมาเอง จากปรากฏการณ์ข่างเคียง  หนึ่ง–กลุ่มตระกูลล่ำซำ ผู้ถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจบริหารธนาคาร  มีบทเรียนความสัมพันธ์กับธุรกิจต่างประเทศมานยาวนานตั้งแต่ระบบสัมปทานป่าไม้ จนถึงค้าข้าว  ตั้งแต่ยุคอาณานิคมโดยเฉพาะความสัมพันธ์กับ W.R. Loxley แห่งลอนดอน ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมากลายเป็นหน่อของการธุรกิจการค้าเป็นธุรกิจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งนอกจากกิจการธนาคาร—บริษัทล็อกซเลย์   สอง—ผู้บริหารคนสำคัญในช่วงต้นของธนาคาร—เกษม ล่ำซำ (2491-2505) มีความพร้อมมาจากการศึกษาการธนาคารจากอังกฤษ เป็นผู้วางรากฐานธนาคารที่ว่าด้วยความมั่นคงในสถานการณ์แห่งความไม่แน่นอน

ธนาคารแห่งนี้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดในยุคบัญชา ล่ำซำ( 2505-2535) จากการเพิ่มทุนครั้งแรกในรอบ 16 ปี ตั้งแต่ตั้งกิจการจาก 5 ล้านบาทเป็น 20 ล้านบาท (ปี2505) จนถึงการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (2518)

ปี 2508 ธนาคารกสิกรไทยเริ่มต้นขยายสาขาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว บางปีขยายสาขาถึง 26 สาขา จนปี 2519 มีจำนวนสาขามากเป็นอันดับ 2 ของทุกธนาคารในประเทศไทย  ที่สำคัญในปี2510 เป็นธนาคารแห่งแรกๆที่ให้ความสำคัญเปิดสาขาต่างประเทศในซีกโลกตะวันตกเป็นพิเศษ ทั้งที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร ตามมาด้วยฮัมบรูก และนิวยอร์ค(ปี2512)  ถือว่าเป็นช่วงเดียวกันที่ธนาคารกสิกรไทย ตระกูลลำซำ มีโครงการธุรกิจร่วมทุนกับตะวันตกมากกว่าใครๆ เป็นที่น่าสังเกตว่ามีลักษณะผสมผสาน จากธุรกิจชั้นนำจากสหราชอาณาจักร ไปสู่สหรัฐอเมริกา   จากร่วมทุนกับ Firestone USA(2505), Dole  USA(2509), Armitage Shanks UK (2512), CastrolUK(2515) ว่าไปแล้วเป้นส่วนหนึ่งของขบวนการลงทุนจากโลกตะวันตกสู่โลกตะวันออก ถือเป็นยุคการขยายผลิตภัณฑ์จากกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมสู่การผลิตสินค้าผู้บริโภค เพื่อปัจเจกชนและไลฟ์สไตล์มากขึ้น

ที่สำคัญที่ควรกล่าวถึงเป็นพิเศษคือการร่วมทุนกับ Banker Trust แห่งสหรัฐฯ ก่อตั้งกิจการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ความภูมิใจของบัญชา ล่ำซำ ไม่ใช่เพียงการสร้างเครือข่ายการเงิน หากอยู่ที่การร่วมสร้างองค์กรธุรกิจที่มีบุคคลากรคุณภาพ ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลและความเชื่อของผู้นำธนาคารกสิกรไทย จึงเป็นต้นแบบการสร้างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจของตระกูลล่ำซำ ในอีก3 ปีต่อมา

บัญชา ล่ำซำ เป็นผู้ให้ความสำคัญด้านการศึกษาอย่างมาก อาจจะมาจากบทเรียนอีกด้านของความผู้นำและนักกิจกรรมของจุฬาฯที่ประสบความล้มเหลวในการเรียน จากนั้นไปศึกษาวิชาการเคมีที่University of Michigan,Ann Arbor    ถือเป็นAmerican connection คนสำคัญยุคใหม่ของไทย ที่สะท้อนมาสู่ธุรกิจในเวลาต่อมา

ผมคิดเสมอว่า อิทธิพลและแรงบันดาลใจข้างต้น อาจไม่มีน้ำหนักหรือแรงกระตุ้นมากพอ สำหรับแผนการใหญ่ในการสร้างบุคคลากรคุณภาพ

แนวคิดหรือหลักฐานจากนี้ เป็นความพยายามของผม  เพื่อเชื่อมโยงให้มีมิติและรูปธรรมมากขึ้น  มาจากบทบาททางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ เป็นตำนานของดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์    ซึ่งบังเอิญเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับตระกูลลำซำ  ในฐานะน้องชาย น้อม ลำซำ ซึ่งเป็นมารดาของบัญชา ลำซำ นับว่าเป็นเรื่องบังเอิญมากขึ้นไปอีก  ดร.ป๋วย เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศในช่วง(2502 – 2514) เป็นช่วงความพยายามพัฒนากติกาธนาคารพาณิชย์ไทยด้วย และเป็นช่วงเดียวกับบัญชา ลำซำ กำลังพัฒนาธนาคารกสิกรไทยอย่างเต็มกำลัง

“ดร.ป๋วยก็มีบทบาทสำคัญในการยกร่างพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505……     มีการริเริ่มส่งนักเรียนทุนไปศึกษาต่างประเทศเป็นจำนวนมาก”ข้อมูลบางตอนในชีวิประวัติผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

นอกจากดร.ป๋วย ดำเนินการ “ได้เสริมสร้างความมั่นคงให้เกิดแก่ระบบการธนาคารพาณิชย์” จากพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505แล้ว โครงการนักทุนศึกษาต่อต่างประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกัน ควรมีความเชื่อมโยงและมีอิทธิพลต่อบัญชา ลำซำไม่มากก็น้อย ในสถานการณ์ที่มีปัจจัยต่างๆเสริมจากที่กล่าวมาแล้ว

แม้ว่าดร.ป๋วย ผ่านการศึกษาจากอังกฤษ และในยุคต้นของการทำงาน แต่เมือเข้าสู่สงครามเวียดนาม    การส่งนักเรียนศึกษาต่อต่างประทศเพื่อสร้างพนักงานธนาคารกลางในอนาคตนาสนใจในหลายมิติ ที่สำคัญสะท้อนถึงการมองการณ์ไกลและมองภาพกว้างของสังคม

เรื่องราวของ วิจิตร สุพินิต เริงชัย มะระกานนท์ ศุภชัย   พาณิชภักดิ์  โอฬาร ไชยประวัติ  ไชยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ และเอกกมล คีรีวัฒน์  เป็นภาพสะท้อนอย่างเป็นรูปธรรม

ประการแรก พวกเขาคือนักเรียนรุ่นแรกๆ ต่อมาเป็นบุคคลสำคัญของภาคการเงินการคลังของสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงเมื่อ3ทศวรรษที่แล้ว  ในจำนวนนี้สามคนไดเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงผันแปรอย่างยิ่ง— วิจิตร สุพินิจ( 2533 –  2539 )  เริงชัย มะระกานนท์(2539 – 2540) ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์( 31 ก.ค. 2540 -2541)       อีกจำนวนหนึ่งออกไปโลดโผนในฐานะผู้บริหารธนาคารพาณิชย์   รัฐมนตรีเศรษฐกิจ  รวมทั้งบทบาทในระดับโลก– ศุภชัย   พาณิชภักดิ์ เคยเป็นผู้จัดการธนาคารทหารไทย รัฐมนตรีพาณิชย์ รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการองค์การค้าโลก   ส่วนโอฬาร ไชยประวัติ   เป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ในช่วงโลดโผนจากความรุ่งเรื่องสู่การเผชิญวิกฤติ  ก่อนมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีท่ามกลางวิกฤติการณ์ทางการเมือง  อีกคนที่ควรกล่าวถึง เอกกมล คีรีวัฒน์ ในฐานะผู้บุกเบิกหน่วยงานกำกับตลาดหุ้น แม้สุดท้ายเป็นนักการเมือง ก็คงมีบทบาทอย่างเงียบๆ

ประการที่สอง  เป็นตัวแทนการมองแหล่งการศึกษาอย่างหลากหลายเชื่อมโยง ทั้งจากยุโรป สู่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น( ระบุปีที่จบการศึกษาและชื่อย่อสถาบันการศึกษา  เชื่อว่าผู้อานรู้จักดี)  วิจิตร สุพินิจ( UK- Manchester2509  USA – Yale2515) เริงชัย มะระกานนท์( Japan -Keio 2510 UK-   LSE 2513)  ศุภชัย   พาณิชภักดิ์  (Netherlands-Erasmus University2506-2516) โอฬาร ไชยประวัติ ( USA–Wharton 2509,MIT 2513)  ไชยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์(USA – William college2512, MIT2516)  และเอกกมล คีรีวัฒน์ ( USA-Dartmouth2508, Harvard  2515)

คงต้องยอมรับว่า สายตาของนักวางแผนที่มองภาพใหญ่ของสังคม ย่อมมองผลสำเร็จในระยะยาวมากกว่าธุรกิจ

ธนาคารกสิกรไทยเริ่มให้ทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจ(MBA) ตั้งแต่ปี2509 ภายหลังบัญชา ล่ำซำ เข้าบริหาร จนถึงปัจจุบันให้ทุนไปแล้วประมาณ 200คน ในยุคแรกๆ นักเรียนทุนทั้งหมด เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ   และเป็นทีทราบกันดี ผู้ผ่านการศึกษายุคต้นๆ ต่อมาเป็นผู้บริหารธนาคารที่มีบทบาทโดดเด่น อย่างน้อยที่สุดพวกเขาหลายคน (รวมทั้งปัจจุบัน) ไดกล่าวขึ้นสูงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่มาตั้งแต่ 2-3 ทศวรรษที่แล้ว

พอมายุคบัณฑูร ล่ำซำ (ตั้งแต่ปี 2535) ยุทธ์ศาสตร์นั้นได้ปรับเปลี่ยน ตั้งแต่ปี2536 ครึ่งหนึ่งของนักเรียนทุนส่งไปเรียนที่ยุโรปและญี่ปุ่น นอกจากนี้วิชาการที่เคยเน้น การบริหารทั่วไป บัญชีและการเงิน ก็ปรับแนวใหม่ ไปสู่การตลาด และธุรกิจระหว่างประเทศ มากขึ้น

หากศึกษาระเบียบการให้ทุนปีล่าสุด(2555)  พบข้อมูลที่สำคัญสอดคล้องกับแนวคิดของบทความชุดนี้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ตั้งแต่วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นต้นมา สังคมธุรกิจไทยยอมรับการศึกษาวิชาการด้านธุรกิจในประเทศ พัฒนาถึงขั้นรองรับหรือตอบสนองความต้องการได้พอสมควรแล้ว

ปีนี้ ธนาคารกสิกรไทยให้ทุนสำหรับปริญญาโทต่างประเทศ จำนวน 5 ทุนและในประเทศ 9 ทุน แม้ว่าการเปลี่ยนแนวคิดมาให้ความสำคัญการเรียนในประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เป็นความเชื่อมั่นระบบการศึกษาที่พัฒนาไปมาก โดยเฉพาะสถาบันสำคัญ 2 แห่ง จุฬาฯและธรรมศาสตร์ มาจากการพัฒนาหลักสูตรบริหารธุรกิจที่ถือว่ามีมากทีสุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ในบรรดาทุนการศึกษาในประเทศ มีความเจาะจงเฉพาะ 16 หลักสูตร ของจุฬา 9หลักสูตร ธรรมศาสตร์ 6หลักสูตร (มี AIT มาแจมด้วย2 หลักสูตร) ทั้งนี้เป็นหลักสูตรภาคภาษาไทยจำนวน9 หลักสูตร   ภาคภาษาอังกฤษ7 หลักสูตร ที่น่าสนใจมีการขยายความรู้จากวิชาการด้านบริหารธุรกิจสู่วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย (ซึ่งในประวัติศาสตร์พัฒนาสังคมธุรกิจไทย วิชาการด้านวิศวกรรมมีบทบาทมาก จะขออรรถาธิบายในตอนต่อไป)

สำหรับทุนการศึกษาต่างประเทศ ยังคงให้ความสำคัญในวิชาบริหารธุรกิจในสหรัฐอยู่จำนวน2ทุน  ขณะที่มีความพยามยามกระจายไปในอังกฤษ ญี่ปุ่นและจีนอีก 3ทุน  เมื่อแยกตามสาขาวิชา ธนาคารกสิกรในยุคปัจจุบันยังเชื่อว่าสหรัฐและอังกฤษ เป็นแหล่งความรู้ทางธุรกิจที่มีมิติซับซ้อนโดยเฉพาะด้านการเงิน ตลาดทุน  การบริหารความเสี่ยง และ Financial engineering  ส่วนในญี่ปุ่นและจีนนั้นให้ความสำคัญด้าน การเงิน(ญี่ปุ่น)  การจัดการทั่วไป และการตลาด

ธนาคารกสิกรไทยไม่ว่ายุคไหน  ถือเป็นตัวแทนภาพรวม  ว่าด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคมธุรกิจไทยกับระบบธุรกิจโลกที่ควรเพ่งพิจารณาเสมอ

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: