จากเป้าหมายธุรกิจ สู่ยุทธศาสตร์

แม้ว่าแรงบีบคั้นหรือแรงจูงใจที่กล่าวถึงในกรณีต่อไปนี้ อาจไม่ได้เริ่มจากสายตาเชิงยุทธศาสตร์ แต่สุดท้ายหวังว่ากระบวนการทดลองว่าด้วยการศึกษาอันคดเคี้ยวและมีต้นทุน จะเข้าสู่ร่องรอยที่ควรเป็นไป

 

 

ยุทธ์ศาสตร์ ศึกษาฝรั่ง สู้ฝรั่ง เมื่อ100ปีที่แล้ว ดำเนินมาจนถึงสังคมไทยได้ปรับโฉมหน้า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (2475) และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (2488) จนมาถึงระบบอาณานิคมยุคใหม่ (ที่บางคนเรียก) หรือโลกาภิวัฒน์ ที่มากับเครือข่ายบริษัทระดับโลก

เช่นเดียวกับ ชนชั้นนำของไทยในยุคต่อมา มีองค์ประกอบหลากหลากมายขึ้น จาก สมาชิกราชวงศ์ สู่ขุนนางและพ่อค้าที่มีความใกล้ชิด พวกเขามีโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของตนเองอย่างกว้างขวาง  โดยสิ่งที่สำคัญคือกลุ่มคนเหล่านี้มีความรู้แบบตะวันตก  แนวทางการสร้างบุคคลกรที่มีคุณภาพตอบสนองสังคมทำนองนั้น ดำเนินต่อเนื่องจากรัชสมัยรัชการที่ 5 จากยุทธศาสตร์ทางการเมือง มีทางแยก แตกแขนงออกไปมากขึ้น โดยเฉพาะเชื่อมโยงกับสังคมธุรกิจไทย ต่อมากลายเป็นฐานสำคัญของสังคมโดยรวม

วิศว จุฬาฯ

 

ความรู้ด้านวิศวกรรม เริ่มบทบาทในสังคมไทย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นเดียวกัน  แม้ว่าจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ก่อตั้งเป็นทางการตั้งแต่ปี 2459 แต่การเรียนการสอนด้านวิศวกรรมพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า จนมาถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง( ปี 2481) หลักสูตรระดับปริญญาตรีอย่างแท้จริงจึงเกิดขึ้น โดยรับผู้จบการศึกษามัธยมเช่นปัจจุบัน และผ่านการสอบคัดเลือก

ในเวลานั้น นอกจากหน่วยงานการทหารและราชการที่สำคัญเช่น กรมรถไฟ และกรมชลประทาน ที่ต้องการผู้มีความรู้ด้านวิศวกรรมแล้ว  คงมีแต่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย เป็นตัวแทนของธุรกิจใหญ่  ธุรกิจนี้ก่อตั้งปี2456 ช่วงแรกอันยาวนาน บริหารโดยชาวเดนมาร์ก และอาศัยความรู้ด้านวิศวกรรมจากช่างชาวเดนมาร์ก จนถึงช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงปกครอง (ราวปี 2484) จึงผู้มีความรู้ด้านวิศวกรรมที่เป็นคนไทย เข้ามามีบทบาทบ้าง ซึ่งพวกเขามาจากหน่วยงานอื่นของรัฐ อาทิ กองทัพเรือ การรถไฟ กรมชลประทาน และล้วนมีการศึกษาด้านวิศวกรรมมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น

โดยถือว่าเป็นช่วงเดียวกัน( ปี2485) ผู้จบการศึกษาระดับปริญญารุ่นแรกของวิศว จุฬาฯ ได้ผ่านการศึกษาอย่างเป็นระบบที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สามารถเข้าทำงานที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ได้จำนวน 3 คน

กระนั้นก็ดี กว่าวิศวกรชาวไทยผู้จบการศึกษาจากจุฬาฯจะได้รับการยอมรับจากผู้บริหารชาวเดนมารกของปูนซิเมนต์ไทย ก็ผ่านไปอีกหลายปีทีเดียว ในช่วงผมค้นคว้าประวัติปูนซิเมนต์ได้เคยเล่าเรื่องราวสนุกเรื่องหนึ่งให้ผู้บริหารกลุ่มใหญ่ของเครือซิเมนต์ไทย  แล้วมีเสียงเฮฮากันพอสมควร ก็คือเรื่องนี้

ราวปี 2496 ผู้บริหารชาวเดนมาร์กได้เสนอต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อริเริ่มโครงการให้ทุนนักเรียนไทยไปเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ระดับปริญญาตรีทีเดนมาร์ก โดยอ้างว่าวิศวกรจากจุฬาฯไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ โดยเฉพาะในการติดตั้งเครื่องจักรโรงงานซีเมนต์ที่กำลังขยายการผลิต ในเวลานั้นถือเป็นเทคโนโลยี่ระดับสูง เขาเน้นว่าวิศวกรจากจุฬาฯ มีความสามารถเพียงแค่การติดตั้งเครื่องจักรโรงสี    ตามแผนการผู้ได้รับทุนศึกษาวิศวกรรมที่เดนมาร์ก ต้องฝึกงาน สะสมประสบการณ์ที่โรงงงานในยุโรปด้วย

เรื่องต่อจากนั้นดูสนุกขึ้น  เมื่อผู้จบการศึกษาจากแผนการที่เร้าใจ กลับมาทำงานราวปี 2502 ปรากฏว่าอิทธิพลวิศว จุฬาฯ ครอบคลุมบริษัทปูนซิเมนต์ไทยไปมากแล้ว ต่อมาบุคคลคนนั้นก็ไม่ได้แสดงบทบาทโดดเด่นอย่างที่ผู้บริหารชาวเดนมาร์กคาดหวัง

ในช่วงสงครามเวียดนามและอิทธิพลของสหรัฐ โดยเฉพาะการขยายเครือข่ายธุรกิจระดับโลกมาสู่ภูมิภาคนี้

สินค้าใหม่ตอบสนองผู้บริโภคฐานกว้าง ล้วนมาจากการค้นคว้าทางด้านวิทยาศาสตร์   กระแสการบริหารแบบอเมริกันมีอิทธิพลต่อสังคมธุรกิจไทย อย่างที่ผมเคยกล่าวมาถึงมาแล้ว  โดยเฉพาะหลักสูตร MBA    และที่น่าตื่นเต้นมากขึ้นไปอีก เมื่อความรู้วิศวกรรมบวกกับ MBA กลายเป็นสูตรสำเร็จของผู้บริหารที่ดี ตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นมา

ความจริงแล้วโมเดลว่าด้วยวิศวกรรมบวก MBA มิได้มีเฉพาะเมืองไทย หากในโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐ ถือว่าเป็นโมเดลสำคัญ แม้กระทั่งปัจจุบัน หลายคนอ้างว่าผู้บิหารกิจการใหญ่ระดับโลก (เท่าที่ดูคือกิจการในสหรัฐ) มีความรู้ระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมมากว่าด้านบริหารธุรกิจ   และแนวโน้มยังเป็นเช่นนั้นมาหลายทศวรรษ

ตรรกะของเรื่อง อ้างกันมาจากพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มีบทบาทอย่างมากในโลกธุรกิจสมัยใหม่ ไม่ว่าในการค้นคิดผลิตภัณฑ์  และเป็นส่วนผสมไปทุกธุรกิจที่ว่าด้วยระบบงาน  หากไม่นับกิจการด้านอุตสาหกรรม สื่อสาร เทคโนโลยี หรืออินเตอร์เน็ตแล้ว แม้แต้ธนาคารหรือธุรกิจค้าปลีก ก็อาศัยความรู้ด้านเทคโนโลยีมากกว่าอดีตมากมายนัก

จากนี้เชื่อว่า จะเป็นการแสวงหาความสมดุล  ระหว่างบทเรียนความรู้ด้านวิศวกรรม การค้นพบสิ่งใหม่ๆ และต่อยอดเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม   กับการติดตามโมเดลของโลกตะวันตกของระดับธุรกิจอย่างเข้มข้นต่อไป

โรงเรียนนานาชาติ

 

การปรากฏขึ้นของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยอย่างเป็นระบบนั้นเพียงทศวรรษมานี้ และเป็นสิ่งที่น่าทึ่งของระบบการศึกษาไทยที่ปรับตัวเข้าสู่ระดับโลก แม้ว่าประเทศไทยมีโรงเรียนนานาชาติมาแล้วกว่า 50 ปี แต่อยู่ในวงแคบๆ แต่มีการก่อตั้งโรงเรียนชนิดนี้กันมากในช่วงรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน

เป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง ประเทศไทยเป็นแห่งเดียวในโลกที่มีโรงเรียนนานาชาติเกิดขึ้นอย่างครึกโครม เป็นแห่งเดียวในโลกที่โรงเรียนเอกชนชั้นนำของอังกฤษถึง 3 แห่ง (ความจริงก่อนหน้ามี 4แห่ง แต่ขัดแย้งถอนตัวออกไป) เปิดเครือข่ายของตนเองในประเทศไทย ประเทศที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ประเทศที่มิได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และเป็นประเทศที่มี “ความล้มเหลว” ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างมากด้วย

คงไม่มีประเทศใดในโลกที่โรงเรียนนานาชาติเติบโตอย่างมากมายเท่าประเทศไทย ในช่วงเวลาประมาณสองทศวรรษ เกิดขึ้นมากกว่า 70 แห่ง ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นในช่วง 50 ปี ของการเกิดขึ้นของโรงเรียนนานาชาติ มีในประเทศไทยประมาณ 10 แห่งเท่านั้น

ศักราชใหม่เริ่มต้นในปี 2534 ด้วยนโยบายเปิดเสรีโดยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ผู้มีประสบการณ์ในฐานะนักเรียนประจำที่Dulwich Collegeแห่งอังกฤษ โรงเรียนแห่งนี้กลายเป็นโรงเรียนจากอังกฤษรายแรกของโลก ที่เปิดสาขาในต่างประเทศที่เลือกประเทศไทย (แต่โรงเรียนนี้ละ ต่อมาเผชิญปัญหาขัดแย้งกับนักลงทุนชาวไทย ต้องถอนชื่อหรือแบรนด์เนมดังออกไป) จากนั้นไม่นานโรงเรียนจากอังกฤษอีก 3 แห่งก็พาเหรดตามกันมา

ความหมายในมุมกว้าง นอกจากเป็นยุคที่นโยบายของรัฐตอบสนองยุทธศาสตร์ของสังคมธุรกิจไทยอย่างมากยุคหนึ่ง  ในมิติสำคัญมาจากอิทธิพลของสังคมธุรกิจระดับโลก   มาจากแรงต้านของการคุกคาม และแรงจูงใจในการสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจในระดับที่กว้างขึ้นกว่าในพื้นที่ประเทศไทย  แต่ในอีกด้านที่น่าทึ่งคือ การเติบโตของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย สามารถดึงดูดนักลงทุนใหม่ๆเข้าสู่ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนในหลายประเทศในโลก เข้ามาขยายเครือข่ายในประเทศไทย

โรงเรียนนานาชาติใหม่ได้กระจายไปทั่วประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะกรุงเทพ ไปในเมืองทั้งที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่หรือเมืองที่มีชุมชนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลตะวันออก  เชียงใหม่ และภูเก็ต

หลักสูตรนานาชาติ

 

นี่ก็คงเป็นเรื่องมหัศจรรย์อีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ( ระบบการเรียนการสอนที่สื่อสารโดยใช้ภาษาอังกฤษ)ในปัจจุบันมากกว่า 100 หลักสูตร กระจายออกไปอย่างหลากหลายสาขา ไม่จำกัดเฉพาะหลักสูตรด้านบริหารธุรกิจอย่างที่ผมเขียนไว้ในตอนต้นๆ

ทั้งนี้อาจจะเชื่อว่า ฐานผู้เรียนระดับมัธยมมีจำนวนมากพอจะเข้าศึกษา  มากกว่ามาจากโรงเรียนนานาชาติ นั่นคือปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งมหาวิทยาลัยทีเปิดหลักสูตรนานาชาติมองไปถึง –โรงเรียนมัธยมโดยเฉพาะในกรุงเทพฯจำนวนมาก เปิดหลักสูตรใหม่ที่เรียกว่า”สองภาษา” อย่างขนาดใหญ่ในช่วงทศวรรษมานี้เช่นกัน

ผมไม่แน่ใจนักว่า ปรากฏการณ์บางเรื่องบางตอน  โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของหน่วยงานรัฐ ไม่ว่ามหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนมัธยม เป็นความเคลื่อนไหวทางยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงกับพัฒนาการสังคมธุรกิจไทย หรือเป็นเพียงแค่ความเข้าใจอย่างจำกัด ว่าด้วยภาษาอังกฤษและโอกาสทางธุรกิจ(ที่เป็นความรู้ใหม่อันตื่นเต้นของหน่วยงานรัฐ)อย่างที่ผมเคยวิจารณ์อย่างเข้มข้น

หนึ่ง –สังคมไทยเป็นสังคมที่มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในทุกระดับของการศึกษาในระบบมานานแล้ว การศึกษานอกระบบ การเรียนการสอนภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสำคัญมากที่คนไทยต้องจ่ายเพิ่มเติมเสมอ เป็นเรื่องน่าประหลาดใจมากที่สินค้าชนิดนี้ ดูเหมือนเป็นเพียงชนิดเดียวที่ไม่รับประกันคุณภาพ เช่น มาตรฐานสินค้าทั่วไป ยิ่งการเรียนล้มเหลวมากเท่าใด ยิ่งมีการเรียนมากขึ้น และจ่ายเพิ่มมากขึ้นๆ

 

การลงทุนและความเชื่อในพลังของการใช้ภาษาอังกฤษ ในสังคมยกระดับสูงขึ้นอีก ระบบโรงเรียนของไทยปรับตัวครั้งใหญ่ ด้วยความพยายามมีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมากขึ้น ในหลักสูตรที่เรียกกันว่า โรงเรียนสองภาษา ที่สำคัญผู้ปกครองต้องจ่ายเงินมากขึ้น

 สอง –เรียนรู้เข้าใจคุณค่าภาษาอังกฤษอย่างแท้จริง จนถึงวันนี้สังคมไทยยังประเมินคุณค่าภาษาอังกฤษค่อนข้างเกินจริงไปมาก แท้จริงคุณค่าภาษาอังกฤษมีลักษณะสัมพัทธ์ คุณค่ามีมากขึ้นเมื่อคนไทยจำนวนมากใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่สังคมไทยจากนี้ไปคนใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้มีน้อยลงอย่างชัดเจน คุณค่าของมันจึงลดลงด้วย ความพยายามของระบบการศึกษาที่เปิดสอนภาษาอังกฤษ โดยหวังเพียงความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษนั้น เป็นเป้าหมายที่แคบและสายตาสั้น บทสรุปที่ผมเสนอมาแล้ เมื่อ7 ปีที่แล้ว โดยเชื่อว่ามีบางชิ้นส่วนได้สะท้อนภาพอย่างน่าสนใจถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้เชื่อว่าหลังจาก มหาวิทยาลัยของรัฐมีความรู้กว้างขวาง  จากการศึกษาในเชิงอุดมคติ  ไปสู่เข้าใจในเป้าหมายทางธุรกิจแล้ว  แม้จะเป็นกระบวนการเรียนรู้อันคดเคี้ยว วกวน  แต่ในที่สุดจะสามารถปรับตัว มียุทธศาสตร์เชื่อมโยงกับสังคมไทยโดยรวม ซึ่งก็คือ แนวทางสำคัญ ตอบสนองสังคมธุรกิจไทยในระยะยาว

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: