เขตอุตสาหกรรมลุ่มเจ้าพระยา(1)

เรื่องน้ำท่วมเขตอุตสาหกรรมลุ่มเจ้าพระยา กับการคุกคามเมืองหลวง—กรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่ควรวิตกวิจารณ์กันอีกครั้งหนึ่ง

“เขตอุตสาหกรรมลุ่มเจ้าพระยา” เป็นชื่อที่ผมตั้งขึ้นมาเอง ตั้งใจสะท้อนถึงภาพความขัดแย้งที่น่าสนใจ จากวิกฤติการณ์นำท่วมครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมา อาณาบริเวณนี้กำลังถูกดัดแปลงครั้งใหญ่ ด้วยการลงทุนสร้างระบบป้องกันครั้งใหญ่ โดยมี่คำอ้างอิงที่ฟังแล้วไม่ใครเถียง “สร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างชาติ” แต่ภาพที่ขัดแย้งกลับซับซ้อนมากขึ้น   ปรากฏการณ์ย้ายภาคการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ ออกจากลุ่มเจ้าพระยา ยังคงดำเนินต่อไป

“”โซนี่-เอคโค่”ย้ายรง.พ้นอยุธยา ไม่เชื่อมือรัฐ “เอาอยู่” แก้น้ำท่วม”หัวข้อข่าว เรียกความสนใจได้อย่างดี (มติชนออนไลน์ 7 สิงหาคม 2555 )  “มีโครงการที่ขอลงทุนพื้นที่ใหม่ 2 โครงการ คือ บริษัท โซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตกล้องถ่ายรูปดิจิตอล ผลิตชุดเลนส์ และชิ้นส่วนสำหรับกล้องถ่ายรูปดิจิตอล เงินลงทุน 5,772 ล้านบาท เดิมตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) จ.พระนครศรีอยุธยา ย้ายไปตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี  และบริษัท เอคโค่ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตรองเท้าและชิ้นส่วนชื่อดังจากเดนมาร์ก เงินลงทุน 331 ล้านบาท เดิมตั้งอยู่ที่นิคมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา ย้ายไปตั้งอยู่ที่ อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี เป็นการขอลงทุนพื้นที่ใหม่รวม 6 บัตรส่งเสริม จาก 7 บัตรส่งเสริม ทำให้เหลือการลงทุนในนิคมสหรัตนครเพียง 1 บัตรส่งเสริมเท่านั้น

 “การย้ายออกจากพื้นที่การลงทุนเดิมน่าจะมาจากความไม่มั่นใจในมาตรการป้องกันน้ำของพื้นที่เดิม โดยเฉพาะเอคโค่ย้ายการลงทุนไปพื้นที่ใหม่เกือบทั้งหมด” ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้ข่าว และยอมรับกับสื่อมวลชน อ้างอิงจากผลการประชุมของบีโอไอที่ให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุน โดยให้ความสำคัญกับเรื่องเชื่อมโยงกับวิกฤติการณ์นำท่วม ด้วยบทสรุปที่เป็นตรรกะ และต่อเนื่องจากกรณีทำนองเดียวกันได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้าแล้วบ้าง

“จากวิกฤติการณ์ ภาพสำคัญภาพหนึ่งปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน ในเขตที่ราบลุ่มเจ้าพระยา เพียงบางส่วน (เฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่เผชิญปัญหาน้ำท่วมทั้งหมด) แต่สะท้อนภาพรวมมี “โรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของธุรกิจญี่ปุ่นมีจำนวน 300 กว่าโรง” อ้างจากข้อมูลขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นตามรายงานข่าวสำนักงานข่าวเอพี” ผมเคยสรุปไว้เมื่อปีที่แล้ว (จากเรื่อง หนึ่งในภาพสะท้อน พฤศจิกายน 2554)

ท่ามกลางพื้นที่เกษตรกรรม  “อู่ข้าวอู่นำ” ปรากฏพื้นที่เล็กๆประหนึ่ง  “เกาะแก้วพิสดาร” เป็นภาพที่แทบมองไม่เห็น ท่ามกลางทุ่งนาเขียวขจี นิคมอุตสาหกรรมผุดขึ้นกลางทุ่งนา เชื่อมด้วยเครือข่ายระบบถนน ในวิกฤติการณ์นำท่วมครั้งใหญ่ นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ราบลุ่มด้านเหนือเมืองหลวงทุกแห่ง เผชิญปัญหาอย่างหนัก กิจกรรมการผลิตหยุดชะงักอย่างสิ้นเชิงเป็นเวลาหลายเดือน

นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ทุ่งนา กรุงเก่า เริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อสองทศวรรษทีแล้ว  จากนโยบายการส่งเสริมการลงทุน   ภายใต้การลงทุนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจ ของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค)( ก่อตั้งปี2532) นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน (2532) และ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร (2537) พื้นที่รวมกับประมาณ 5 พันไร่   เป็นช่วงเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมของเอกชนเกิดขึ้นที่นี่ด้วย

สวนอุตสาหกรรมโรจนะ เป็นนิคมอุตสาหกรรมของเอกชน นอกจากให้ภาพชัดเจนมากขึ้น บทบาทใหม่ของชุมชนเกษตรกรรมลุ่มเจ้าพระยาแล้ว  ยังให้ภาพความความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น ระหว่างชุมชนเกษตรที่ราบลุ่มภาคกลางกับธุรกิจอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น  จัดตั้งขึ้นในปี 2531 มีพื้นที่มากกว่าหนึ่งหมื่นไร่

“เท่าที่พิจารณาโครงสร้างผู้ถือหุ้น มีความสัมพันธ์กับ Sumitomo Warehouse แห่งญี่ปุ่นอย่างซับซ้อน ในฐานะกิจการมีเครือข่ายทั่วโลก ทั้งในสหรัฐ และยุโรป แต่ให้ความสำคัญมากที่เอเชีย มีเครือข่ายทั้งในสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ใต้หวั่น และโดยเฉพาะในประเทศจีน มีกิจการในหลายเมืองสำคัญ

Sumitomo Warehouseเป็นธุรกิจใหญ่ในญี่ปุ่นในด้านคลังสินค้า และการบริหารขนส่งสินค้า แม้ว่าจะถือหุ้นสวนอุตสาหกรรมโรจนะประมาณ 30% แต่มีอิทธิพลต่อบริษัทมากถึงขั้นระบุไว้เป้นความเสี่ยงทางธุรกิจอันดับต้น “Sumikin Bussan Corporation(กิจการในเครือ Sumitomo )เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท โดยเป็นตัวแทนการจัดจำหน่ายที่ดินรายใหญ่ของบริษัท ซึ่งมีสัดส่วนการขายผ่านปีละประมาณ 70-80 ของการขายที่ดิน ทั้งนี้ Sumikin ได้รับผลตอบแทนในรูปของค่านายหน้าจากการขายที่ดิน ในอัตราร้อยละ 4 ของยอดขายที่ดิน  ดังนั้นความเสี่ยงจากการที่ Sumikin อาจยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับบริษัท จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท อย่างมีนัยสำคัญ”(อ้างจากรายงานประจำปี2553) เป็นที่ชัดเจนว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้  รวมทั้งที่อื่นๆในอาณาบริเวณใกล้เคียง(หลายร้อยแห่ง)คือโรงงานของธุรกิจญี่ปุ่น” (อิทธิพลญี่ปุ่น  พฤศจิกายน 2554 )

นอกจากนี้ได้รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมนวนคร   ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรก(เริ่มต้นในปี 2514) ในพื้นที่รอยต่อปทุมธานีกับกรุงเทพฯ แม้เป็นภาพที่แตกต่างออกไป เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับเมืองหลวงและอุตสาหกรรม   แต่มีบทสรุป ว่าด้วยการพัฒนาในพื้นที่เกษตรกรรมอย่างมากมายเช่นเดียวกัน   นิคมอุตสาหกรรมนวนครมีพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ เป็นที่ตั้งโรงงานของบริษัททั้งในและต่างประเทศรวมกันมากกว่า 200 บริษัท

ภาพที่ชัดเจนของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในพื้นทีที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ที่ควรอ้างอิงอีกครั้ง

“หนึ่ง-อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย เกิดขึ้นจากขบวนการย้ายฐานของอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นเป็นสำคัญ   สอง-เริ่มต้นฐานการผลิตเพื่อป้อนตลาดใหญ่ในประเทศไทยซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในอาเซียน มียอดขายทะลุ 7แสนคันต่อปีแล้ว   สาม-สินค้ารถยนต์และชิ้นส่วน กลายเป็นสินค้าส่งออกสูงสุดอันดับสองของไทย (มากกว่าหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯมาตั้งแต่ปี 2550) เป็นรองแค่สินค้าคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ส่วนยางพาราและข้าวอยูอันดับ4และ5 (ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์) สี่—แม้ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์มียอดส่งออกน้อยกว่า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แต่ถือว่ามีความสำคัญและอิทธิพลต่อสังคมไทยมากกว่ามาก ในฐานะเป็นเครือข่ายการผลิตที่เชื่อมโยง (Supply chain) ยาวที่สุด   มีผู้เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ่อมจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานอย่างเดียวนับแสนคน” (อ้างแล้วข้างต้น)

จากนั้น ควรมาถึงบทสรุป และความเข้าใจพื้นฐานของปรากฏการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นๆ  การเติบโตของสังคมเมืองที่อ้างอิงกับการขยายเครือข่ายถนน  สังคมเมืองมิใช่มีเพียงบ้านจัดสรรตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่มีสมมุติฐานตั้งอยู่บนพื้นที่สูงและไม่เผชิญปัญหาน้ำท่วม  หากมีภาคการผลิตและบริการเป็นเครือข่ายที่สัมพันธ์กันไม่ว่าจะเป็นโรงงาน นิคมโรงงานการผลิต เครือข่ายการค้าเดิมและสมัยใหม่ รวมทั้งภาคบริการอื่นๆ ซึ่งมาจากแนวคิดชุดเดียวกันกับการสร้างชุมชนใหม่ด้วยบ้านจัดสรรที่อ้างอิงกับถนน  โดยมองข้ามความรู้ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ ความเป็นพื้นทีราบลุ่มแวดล้อมและต่อเนื่องกับเมืองหลวงเก่า หลายยุค ที่อ้างอิงกับพื้นที่บริเวณนี้ต่อเนื่อง หลายศตวรรษที่ผ่านมา  ในฐานะศูนย์กลางสังคมเกษตรกรรม

ผมเคยคาดการณ์ไว้แล้วเช่นกัน  จากวิกฤติการณ์ครั้งนั้น จะเกิดปรากฏการณ์ตอบสนองที่น่าสนใจ

ด้านหนึ่ง-การสร้างระบบสาธารณูปโภคใหม่ ด้วยการลงทุนครั้งใหญ่ เพื่อหวังลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ครั้งต่อไป  มุ่งไปที่ลดความเสี่ยงในเชิงเศรษฐกิจและธุรกิจ  อีกด้านหนึ่ง-จะมีกระแสการเคลื่อนย้าย ภาคการผลิตและบริการออกจากพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา  มาจากความเสี่ยงทางธุรกิจที่เพิ่งค้นพบ  ผมเคยแสดงความประหลาดใจว่า กิจการในตลาดหุ้นทั้งหลายที่ตั้งในบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ไม่เคยรายงานความเสี่ยงจากอุทกภัยไว้เลยแม้แต่น้อย

ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหว สองกระแส อย่างที่คาดการณ์อย่างชัดเจน

รัฐบาลพยายามประกาศและวางระบบป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ด้วยจัดสรรงบประมาณอย่างมากมาย   นั่นเป็นสิ่งเท่าที่ทำได้ ในความพยายามสร้างมั่นใจกับนักลงทุน

เท่าที่ประเมิน  แม้หลายฝ่ายเชื่อว่าโอกาสที่นำจะท่วมนิคมอุตสาหกรรมจากนี้ไป มีความเป็นไปได้น้อยลง  อย่างไรก็ตาม มีปรากฏการณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไปอีกด้านหนึ่งด้วย  นั่นคือการย้ายภาคผลิต  และการลงทุนใหม่  ไปยังพื้นที่ใหม่  มิใช่ในพื้นที่อ้างอิงเดิม ที่มีปัญหาจากนำท่วมหรือพื้นที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมในปี2554

เป็นปรากฏการณ์ที่ควรตีความให้กว้างและลึกมากขึ้น

หนึ่ง-ในภาพกว้าง ผมเชื่อว่ามาจากความเข้าใจในความขัดแย้งระหว่าง ประวัติศาสตร์  ธรรมชาติ กับพัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้งของสังคมสมัยใหม่

สอง-การสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมอย่างขนานใหญ่ ไมว่านิคมอุตสาหกรรม ชุมชนเมืองและอื่นๆ  มีความสัมพันธ์โดยตรงกับพื้นที่รับน้ำจะลดลงอย่างมาก โอกาสและความเสี่ยงน้ำท่วมในบริเวณที่ไม่ระบบป้องกันจะสูงขึ้นอีก   และความเสี่ยงกับระบบป้องกันที่ไม่แข้งแรงกจะเพิ่มขึ้นด้วย

มิติที่สาม-ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก  โดยเฉพาะกับนิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรม

นิคมอุตสาหกรรมมิใช่ “เกาะแก้วพิสดาร”มีแต่โรงงานและเครื่องจักร หากมีคนเป็นส่วนประกอบสำคัญ ผมเคยประเมินไว้ว่า อุตสาหกรรมญี่ปุ่นมาปักหลักที่ราบลุ่มเจ้าพระยา มีปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ –มีแรงงานที่มีคุณภาพแรงงานที่พร้อมจะเคลื่อนย้ายจากระบบการผลิตกาเกษตรมาสู่ภาคการผลิต และเป็นแรงงานที่อยู่กับที่อย่างถาวร

การปกป้องนิคมอุตสาหกรรม  การปกป้องโรงงานและเครื่องจักร โดยไม่ได้ปกป้อง(ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก)ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานและครอบครัว ที่อาศัยบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยา    แม้น้ำไม่ท่วมนิคมอุตสาหกรรม กิจกรรมการผลิตย่อมไม่สามารถเป็นไปได้

นี่คือสิ่งที่สำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกมองข้าม

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: