“Our characters complement each other. Even though I was born in Europe, I have as asian flexibility . While Dr. Chaijudh was born in Asia, his character has some German toughness’
จีออร์จีโอ แบร์ลิงเจียรี หรือ ยอร์ยอแบร์ลิงเจียรี (Giorgio Berlingiere) กล่าวถึงตัวเองกับเพื่อนรัก-นายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต ไว้นานแล้ว
“ครั้งหนึ่งบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ได้สัญญาสร้างโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในหลวงได้เสด็จมาทรงเป็นองค์ประธานทำพิธีเปิด พระองค์ได้ตรัสถามนายแพทย์ชัยยุทธว่า ทำไมตั้งชื่อบริษัทอิตาเลียนไทย แทนที่จะเป็นไทยอิตาเลียนเพื่อให้สมกับเป็นบริษัทที่ตั้งในประเทศไทย หมอชัยยุทธได้กราบทูลชี้แจงว่า บริษัทนี้ตั้งขึ้นไม่มีอะไรเลย ต้องพึ่งพาชาวอิตาเลียนทั้งหมด เมื่อก้าวหน้าก็ไม่ต้องการเปลี่ยนชื่อ ถือเป็นการให้เกียรติชาวอิตาเลียนที่มีบุญคุณต่อบริษัท” เสียงเล่าขานจากพนักงานของอิตัลไทยกรุ๊ป และบ่อยครั้งจากปากหมอชัยยุทธเอง
ความสัมพันธ์ระหว่างนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต กับจีออร์จีโอ แบร์ลิงเจียรี เริ่มต้นอย่างไร
ปริศนานี้มีการเล่ากันอย่างผิดๆ ถูกๆ หรือไม่ก็ขาดรายละเอียดที่สำคัญไป
“ผมรู้จักมิสเตอร์แบร์ลิงเจียรีมา 35 ปี แล้ว เขาก็ตายไป 4 กว่าปีแล้ว ทำงานร่วมกันมาเกือบ 32-33 ปี โดยการแนะนำของคุณประสิทธิ์ นฤทธิรางค์กูร ตอนนั้นท่านเป็นกงสุลอยู่ในเวียดนามใต้ ฝรั่งเศสก็อยู่…” นายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต เปิดเผยรายละเอียดเรื่องนี้ครั้งแรกกับผม
น.พ.ชัยยุทธเล่าต่อไปว่า น้องเขยของเขา-เผด็จ ศิวะทัต ทำธุรกิจกู้เรือ ซึ่งได้สัญญาจากกรมเจ้าท่าในการกู้เรือจำนวน 5 ลำที่จมอยู่บริเวณปากน้ำ โดยน.พ.ชัยยุทธ เป็นผู้ค้ำประกันสัญญาดังกล่าว ทั้งยังสนับสนุนกิจการนี้ด้วยการจ่ายเงินล่วงหน้าให้ประมาณ 1 ล้านบาท
“ทีแรกน้องเขยผมไปร่วมกับญี่ปุ่นเป็นเพราะอะไรไม่ทราบได้ ญี่ปุ่นไม่มาก็เลยไปร่วมกับฮ่องกง ก็ทำไปกู้ไม่ขึ้นสักลำไม่ขึ้นก็ไม่ได้เงิน งานกู้เรือไม่เหมือนอย่างอื่น No cure No pay ภาษาบริหารเขาบอกไม่ได้เงิน จึงอยู่ในฐานะลำบากไม่รู้จะทำอย่างไร…”
ประสิทธิ์ นฤทรางกูร เป็นนักเรียนอัสสัมชัญเช่นเดียวกัย น.พ.ชัยยุทธ ก่อนเขาจะมาจากฮานอย อ่านหนังสือพิมพ์พบว่า บริษัท มาริโอ เอ็ม โคลัมโบ แห่งประเทศอิตาลีซึ่งเป็นซับคอนแทค บริษัทฝรั่งเศสรับจ้างกู้เรือที่โดนพวกเวียดกงระเบิดจม ประกาศว่าได้กู้เรือตามสัญญาเสร็จแล้ว และกำลังจะส่งเครื่องมือกลับอิตาลี เครื่องมือเป็นทุ่นใหญ่ยกของได้ 450 ตัน จะส่งกลับ คุณประสิทธิ์บอกว่าจากเมืองญวนไปอิตาลีมันต้องผ่านเมืองไทย อาจจะเป็นโอกาสที่เราจะไปติดต่อกับเขา…” หมอชัยยุทธเล่าเหตุการณ์เมื่อ 30 กว่าปีก่อนอย่างละเอียดเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
“คุณเผด็จบอกว่าดี อ้ายเรามันหมดท่าแล้ว…ผมเป็นคนเขียนจดหมายไป เพราะทางโน้นเขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ได้แต่ฝรั่งเศส มิสเตอร์แบร์ลิงเจียรีเขาเป็นผู้จัดการ เขาก็เข้ามา ทำอยู่ปีเศษก็กู้เสร็จ 5 ลำ”
เมื่อกู้เรือเสร็จ น้องเขยของเขาก็ทำธุรกิจของตนเองต่อไป ส่วนหมอชัยยุทธนั้นเพียงเวลาปีเศษก็ได้สร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับแบร์ลิงเจียรี “เมียของเขาชอบเมืองไทย เขาก็คิดจะตั้งอิตัลไทยฯ” น.พ.ชัยยุทธเล่า
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความร่วมมือที่ยาวนานมาจนถึง 30 ปี
แบร์ลิงเจียรีนั้นสมปรารถนาที่อยู่เมืองไทยตลอดกาล เขาเสียชีวิตเมื่อ 1 ธันวาคม 2524 โดยเขาได้ทำฌาปนกิจดุจคนไทยที่โบสถ์ดอนบอสโก บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เมื่ออายุ 59 ปี
หมอชัยยุทธอายุมากกว่าแบร์ลิงเจียรี 1 ปี
เมื่อเขาทำงานอยู่ในตึกอิตัลไทยบนถนนเพชรบุรี แบร์ลิงเจียรียึดมุมตึกชั้นที่ 15 ทิศตะวันนออก ในขณะที่หมอชัยยุทธอยู่มุมตึกทิศตะวันนตกชั้นเดียวกัน
เมื่อมีธุระ หมอชัยยุทธ มักจะเป็นฝ่ายไปหา หมอชัยยุทธเรียกแบร์ลิงเจียรีว่า “นายห้าง” เหมือนพนักงานของอิตัลไทยทุกคน…
นายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต เกิดที่ นครปฐม เมื่อปี 2464 ในครอบครัวที่มีธุรกิจโรงสี โรงน้ำแข็ง แต่ถูกส่งมาเรียนที่กรุงเทพฯ ที่อัสสัมชัญ ก่อนจะเข้าเรียนแพทย์ที่ศิริราช จนจบ เขาบอกกับผมว่า “พ่อบอกให้เรียนหมอก็เรียน ไม่ได้ชอบอะไร”
เขาจึงรักษาคนอยู่เพียง 11 เดือน ก็ลาออกมาทำธุรกิจของครอบครัว
ในที่สุดพรหมลิขิตหักเหมาพบแบร์ลิงเจียรี และเขาพบว่างานที่ถนัดที่สุดคือธุรกิจก่อสร้าง!
แบร์ลิงเจียรีมาทำงานแต่เช้าบางครั้งก็ก่อน 7 โมง ก่อนพนักงานจะมาทำงานกันด้วยซ้ำ แต่เวลาบ่ายประมาณ 4 โมงเย็นก็กลับบ้าน เขาทำงานด้วยความสุข วันหยุดสุดสัปดาห์ก็เดินทางไปพักผ่อนตามโรงแรมหรือสถานที่ตากอากาศซึ่งเป็นของอิตัลไทย ว่ากันว่าด้วยอุปนิสัยเช่นนี้ของเขา แบร์ลิงเจียรีจึงตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม
ส่วนหมอชัยยุทธ ทำงานหนัก แทบไม่มีวันหยุด เดินทางไปต่างจังหวัดบ่อย เขาบอกว่า ปกติเขามาทำงานประมาณ 8 โมงเช้า กว่าจะเลิกก็เลย 2 ทุ่ม
หมอชัยยุทธ ได้รับการยอมรับจากบรรดาวิศวกรอิตัลไทยแขนงต่างๆ ว่า มันสมองเป็นเลิศ นั่งประชุม “ขุนพล” โดยที่เขาไม่มีพื้นความรู้ด้านวิศวกรรมมาก่อนเลย แต่สามารถไล่เบี้ยและเรียนรู้ได้เร็วมาก
“คุณหมอคิดทันวิศวกรไม่ว่าเก่งขนาดไหน ใครที่คิดจะหลอกนั้นเห็นจะยาก” อดีตพนักงานอิตัลไทยกล่าว
ว่ากันว่าหมอชัยยุทธ คือเจ้าของตำนาน รถแทรกเตอร์สองคันที่เสียพร้อมกันให้ใช้ได้ 1 คัน โดยสับเปลี่ยนอะไหล่กัน ว่ากันว่าหมอชัยยุทธอีกนั่นแหละลงมือปฏิบัติเป็นตัวอย่าง
หมอชัยยุทธทำงานหนัก หน้าเป็นมันเยิ้ม ผมเผ้ายุ่งเหยิงอยู่ต่างจังหวัด ในขณะที่นายห้างแบร์ลิงเจียรีทำงานด้วยความสุข สบายๆ ในห้องแอร์…
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2524 ตำนานของนักธุรกิจสองชาติที่สร้างอิตัลไทยกรุ๊ปก็ปิดหน้าลง
น.พ.ชัยยุทธเล่าว่า เพราะการตายอย่างกะทันหันของเพื่อนรัก-แบร์ลิงเจียรี เขาจึงเสียใจมาก
“ถ้าเขาไม่มาทำงานเช้าบางทีเขายังไม่ตาย…” หมอชัยยุทธพูดถึงเพื่อนด้วยความอาลัยและเล่ารายละเอียดวันที่เขาจากไปให้ฟังว่า
“วันนั้นเขามาทำงานก่อน 7 โมงเช้า เพราะเขาอยู่ใกล้ๆ ที่ทำงาน อยู่ซอยไปดีมาดี แล้วเขาไปในห้องน้ำก็หัวใจวาย โดยไม่มีใครรู้ ตามธรรมดาสัก 7 โมงกว่าๆ จึงจะมีคนมาทำงาน เป็นประจำตอนเช้า เลขาของเขาก็จะมาชงกาแฟให้ พอชงกาแฟก็เข้าไปในห้องก็ไม่เจอ มองไปในห้องน้ำปรากฏว่าปิดก็นึกว่าอยู่ในห้องน้ำ เขาก็ออกมาเอากาแฟวางไว้ ประมาณ 7.40 น. เขาก็เอะใจธรรมดาไม่น่าจะเข้าห้องน้ำนาน ก็เปิดดู…ความจริงนายห้างเข้าไปผูกเนคไท มือกำลังจับเนคไทอยู่เลย…” น.พ.ชัยยุทธเล่าเสียงเครือ
ตึกอิตัลไทย บนถนนเพชรบุรี ห้องทำงานของ น.พ.ชัยยุทธมีสองห้อง ปกติห้องทำงานในห้องใหญ่ ซึ่งมีเอกสารกองเต็มโต๊ะ หมอชัยยุทธบอกว่าถ้าต้องการความเงียบสงบเป็นพิเศษ จะมาทำงานในห้องเล็กซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม
ในห้องนี้มีสิ่งสะดุดตาคือ ภาพถ่ายขนาดใหญ่ บนฝาผนัง 2 ภาพ ภาพแรกเป็นภาพถ่ายคู่ระหว่าง น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต กับภรรยา ม.ร.ว.พรรณจิต ส่วนอีกภาพหนึ่งคือ จีออร์จีโอ แบร์ลิงเจียรี…
ปรับปรุงเพียงเล็กน้อยจากงานเขียนเดิมในนิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2529