ชุมพล ณ ลำเลียง(1)

“หากถามผมว่า ผู้นำนักธุรกิจคนใด แสดงบทบาทเชิงตัวแทน การปรับตัวของธุรกิจไทย ในช่วง3-4ทศวรรษสำคัญที่ผ่านมาได้อย่างน่าทึ่ง   ก็คงยกให้ ธนินท์ เจียรวนนท์” (จากเรื่อง ธนินท์ เจียรวนนท์ ” ) ขณะเดียวกัน หากมีคนถามว่า “มืออาชีพ”หรือลูกจ้างคนใด แสดงบทบาทเช่นนั้น ในช่วงใกล้เคียงกัน ผมก็คงตอบได้ทันทีว่า ชุมพล ณ ลำเลียง

————————————————————————————————————————————————

หมายเหตุ

หลังจากบทความชุดนี้ตีพิมพ์ขึ้นในช่วงชุมพล ณ ลำเลียง ฉลองครบรอบวันเกิดอย่างเงียบๆ และหลังจากนั้นไม่กีวัน SingTel ก็ปะกาศการลาออกจากประธานของเขา–SingTel Group’s Chairman Chumpol NaLamlieng to Step Down

————————————————————————————————————————————————-

ข้อเขียนหลายชิ้นที่ผ่านมาได้พาดถึงเขามาบ้าง แต่ไม่ให้ภาพต่อเนื่อง  โดยเฉพาะช่วงต่อเนื่องหลังจากบทบาทการบริหารที่เครือซิเมนต์ไทย(เอสซีจี)  จึงถือโอกาสนี้ร่ายยาวเรื่องราวของเขา ในฐานะภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัตรของสังคมธุรกิจไทยช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา  อาจจะนับว่าเป็นความพยายามครั้งใหม่ของผม ในฐานะผู้เขียนเรื่องราวของคนๆนี้หลายครั้ง สู่ประเด็นที่กว้างขวางขึ้น พยายามเชื่อมโยงกับบริบททางสังคมมากขึ้น ในฐานะชุมพล ณ ลำเลียง มีโอกาสทำงานต่อเนื่องยาวนานที่สุดคนหนึ่ง จากยุคสงครามเวียดนาม ผ่านวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่ ซึ่งไม่มีภาพแน่ชัด   โดยพยายามจะตอบคำถามว่า คนอย่างชุมพล ณ ลำเลียง สามารถเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสังคมธุรกิจไทยในปัจจุบันและที่กำลังมาถึง  โดยแสดงบทบาทต่อไปอย่างไรหรือไม่

ชุมพล  ณ ลำเลียง ใช้เวลา 33 ปีทำงานในบทบาทสำคัญรวมทั้งผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี (2526-2548) ก่อนจะก้าวลงจากตำแหน่ง แต่ยังเป็นกรรมต่อเนื่องจนทุกวันนี้ ไม่เพียงเท่านั้นเขาเป็นเพียงหนึ่งในสองเท่านั้น เป็นกรรมการทั้งธนาคารไทยพาณิชย์และเอสซีจี (อีกคนคือ ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา) กิจการหลักของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันเป็นกรรมการในบริษัทระดับโลกอย่างSingTel แสดงภาพความขัดแย้งของสังคมไทยอย่างมาก แต่นั้นไม่สำคัญเท่ากับเป็นที่รู้กันว่า นับวันเขามีบทบาทที่กว้างขวางขึ้น

เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี คือองค์กรธุรกิจเก่าแก่ที่อยู่ยงคงกะพัน จะเข้าสู่องค์กรศตวรรษอีก 2 ปีข้างหน้า ในฐานะเป็นอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศในยุคอาณานิคม ด้วยการผลิตปูนซิเมนต์เพื่อสร้างความมั่นคงในการสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ๆในยุค Westernization of Siam เป็นสัญลักษณ์และตัวแทนของโครงสร้าง สถาบันและอำนาจทางสังคมต่อเนื่องมาด้วย   ในยุคต้นอุตสาหกรรมแรกในประเทศ บริหารโดยชาวต่างชาติ กรณีนี้เป็นชาวเดนมาร์ก ถือว่าชาติที่อยู่ตรงกลางระหว่างอาณานิคมใหญ่ๆในยุคนั้น   เอสซีจีบริหารโดยชาวเดนมาร์กมายาวาน ถึง60 ปี ก่อนจะเข้าสู่ยุคคนไทย ประวัติศาสตร์ช่วงนั้นให้ความภาพ การประนีประนอมและการต่อสู้ของรัฐไทยกับระบบอาณานิคมได้อย่างดี

ชุมพล   ณ ลำเลียง มาจากครอบครัวธรรมดาในสังคมไทย บิดาของเขาเคยทำงานในบริษัทฝรั่งในประเทศไทย ต่อมามีกิจการเล็กๆ แต่เขามีโอกาสในการเล่าเรียนอย่างดี ในฐานะผลผลิตจากสหรัฐฯ  เขากลับมาเมืองไทยในยุคสงครามเวียดนาม ในช่วงอิทธิพลสหรัฐฯกำลังแผ่ทั่วภูมิภาคนี้ พร้อมๆกับบทบาทนักเรียนอเมริกันที่เข้ามาสู่วงการธุรกิจไทยอย่างคึกคัก

ประเทศไทยได้รับอิทธิพลโดยตรงจากปรากฏการณ์ครั้งสำคัญนี้  เกิดการพัฒนาอย่างมากในด้านสาธารณูปโภค  ระหว่างเมืองกับหัวเมืองและชนบทบางพื้นที่ การเข้ามาของการลงทุนจากต่างประเทศ และการเติบโตของธุรกิจท้องถิ่น เปิดโอกาสเกิดกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้า เพื่อสนองพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่เริ่มเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง(Critical Mass) ใช้สินค้าเพื่อความสะดวกสบายแบบตะวันตกมากขึ้น กระแสการตื่นตัวรับสินค้าสมัยใหม่   กว้างขวางกลายเป็นการตลาดที่คุ้มต่อการลงทุน ดูเหมือนเป็นกระแสที่มาพร้อมกับการตื่นตัวทางการเมือง

กระแสการลงทุนจากตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนโดยตรงในเมืองไทย โดยมองว่าเป็นย่านความเจริญใหม่ทางเศรษฐกิจ  กลุ่มที่เคยมาลงทุนก่อนสงครามโลกครั้งที่สองหวนกลับมา แล้วขยายการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าพื้นฐาน    กลุ่มธุรกิจที่มาใหม่ลงทุนตั้งโรงงานครั้งแรกในเมืองไทย มีบุคลิกพิเศษ ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งแต่ฟิล์มถ่ายรูป   อาหารสำเร็จรูป  และฟาสฟูดส์   ไปจนถึงกางเกงยีนส์     ขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจจากญี่ปุ่น เข้าร่วมทุนกับนักลงทุนไทย  โดยเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์ สิ่งทอและสินค้าคอนซูเมอร์   กลุ่มธุรกิจไทยเหล่านี้ พยายามขยายตลาด เริ่มเชื่อมโยงกับชุมชนหัวเมืองมากขึ้นๆ

เบื้องหลังของปรากฏการณ์อันน่าตื่นเต้น มาจากแรงกระตุ้นของการช่วยเหลือทางการทหาร ทางเศรษฐกิจและแหล่งเงินกู้จากสหรัฐฯ   เอสซีจีในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อการผ่องถ่ายอำนาจจากผู้บริหารชาวเดนมาร์กไปสู่คนไทยนั้น เป็นช่วงการปรับตัวสู่ระยะการขยายตัวครั้งใหญ่ด้วยเงินกู้จากสหรัฐฯ  ตามมาด้วยการปรับโครงสร้างการบริหารครั้งสำคัญ

ชุมพล ณ ลำเลียง ในฐานะนักเรียน MBA Harvard Business School  เข้ามาเมืองไทย ด้วยความร่วมมือกับสถาบันการเงินของสหรัฐฯ มีเป้าหมายขยายเครือข่ายในภูมิภาคนี้ ระยะหนึ่งจึงเข้ามาเอสซีจี บางคนบอกว่าแรงบันดาลใจของคนธรรมดาในสังคมไทย มักเป็นเช่นนี้เสมอ ในความพยามเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจของสังคมไทย ซึ่งมีพื้นที่และโอกาสจำกัดเสมอมา

เอสซีจีเวลานั้นถือเป็นองค์กรที่มีจัดการที่ทันสมัย เป็นแหล่งรวมนายช่างหรือวิศวกรชั้นดีของประเทศ ที่พยายามเข้ามาทำงานที่ที่มีรายได้สูงกว่าทั้งระบบราชการ รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนในเวลานั้น  นั่นคือภาพที่ชาวเดนมาร์กสร้างไว้เป็นสิ่งอ้างอิงของมืออาชีพจากยุโรปที่มีค่าจ้างแพงกว่าคนไทย  ในขณะเดียวกัน เอสซีจีเป็นธุรกิจผูกขาดที่สามารถตั้งราคาสินค้าและกำหนดส่วนต่างได้เองอย่างแนบเนียน

น้อยคนนักจะรู้ว่าระยะนั้น ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ   กำแพงการผูกขาดเริ่มถูกบั่นทอนเมือรัฐเริ่มเปิดให้รายใหม่ตั้งโรงงานปูนซีเมนต์มาแข่งขันได้บ้าง  ความต้องการปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสงครามเวียดนาม  เพิ่มแรงบีบคั้น กำแพงกีดกั้นนำเข้าปูนซีเมนต์จากต่างประเทศอาจจะพังทลายลงได้ในบางช่วงบางเวลา  ในเวลานั้นเอสซีจีไม่มีเงินทุนของตนเองมากพอในการขยายกิจการ  ผู้ถือหุ้นใหญ่(สำนักงานทรัพย์สินฯ)ไม่มีเงินเพียงพอจะเพิ่มทุนจำนวนมาก   ในขณะเดียวกัน ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่กำลังสาละวนกับการสร้างอาณาจักรของตนเอง ท่ามกลางการขยายตัวทางธุรกิจทั่วด่าน  ส่วนธนาคารในเครือเดียวกัน– ธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อในการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ด้วยความพยายามจะขยายเงินทุนให้มากขึ้นด้วย และขยายเครือข่ายธุรกิจให้มากขึ้น  ทางเดียวที่เหลืออยู่ของเอสซีจี  คือการใช้เงินจากต่างประเทศ ด้วยมีความสัมพันธ์กับระบบธนาคารต่างประเทศมาแต่ต้น  ธนาคารต่างชาติจึงมีข้อมูลบเกี่ยวกับเอสซีจีมากพอ จึงเป็นกิจการแรกสามารถกู้เงินต่างประเทศได้จำนวนมาก

การกู้เงินจาก  IFC มิใช่เพียงเงินก้อนใหญ่สำหรับการขยายงานเท่านั้น ยังเป็นบัตรผ่านสำคัญสู่การกู้เงินต่างประเทศจากสถาบันการเงินอื่นๆได้อีกอย่างต่อเนื่อง   ในเวลานั้นการขยายการผลิตปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างอื่นๆเริ่มมีเครือข่ายกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างกลุ่มโรงงานครั้งใหญ่ที่แก่งคอย  เป็นแผนการสกัดกั้นคู่แข่งรายแรกที่น่าสนใจ(บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงเกิดขึ้นในปี 2512 โดยก่อสร้างโรงงานใหญ่ที่ แก่งกคอย สระบุรี)   ความสำเร็จครั้งนั้นถือเป็นช่วงต่อยุทธ์ศาสตร์สำคัญในการสร้างความเป็นได้เปรียบในการแข่งขัน  รักษาความเป็นผู้นำทางธุรกิจในระยะผ่านจาการผูกขาดสู่ยุคการแข่งขันอย่างจำกัด

ชุมพล   ณ ลำเลียง รู้สถานการณ์นั้นดี  ตั้งแต่ปี 2510ในฐานะลูกจ้างของ IFC(  International Finance  Corporation ) หน่วยงานสนับสนุนเงินกู้ของเอกชน ถือเป็นหน่วยงานสังกัดธนาคารโลก มีสำนักงานที่สหรัฐฯ เขามีส่วนร่วมในทีมศึกษาโครงการให้เงินกู้และลงทุนในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย   ชุมพล เคยเล่าว่าเขาเป็นบุคคลที่ไม่มีใครรู้จักในสังคมไทย ไม่มีส่วนได้เสียกับโครงการ จึงได้รับมอบหมายงานนี้  เป็นที่แน่ชัดว่าไม่เพียงเขาเข้าใจเรื่องราว ในระยะสำคัญของเอสซีจีได้อย่างดี  เมื่อเขาตัดสินใจเดินทางกลับเมืองไทยใยปี2512  ร่วมงานกับBanker trust สถาบันการเงินสหรัฐฯ กำลังขยายเครือข่ายสู่ภูมิภาคนี้  ก่อตั้งบริษัทเงินทุนทิสโก้ในประเทศไทย  ด้วยการระดมทีมนักเรียนสหรัฐฯที่จบการศึกษาด้านการเงินและการบริหารธุรกิจ  เช่น บันเทิง ตันติวิท หรือ ศิวะพร ทรรทรานนท์       Banker trust ร่วมทุนกับธนาคารกสิกรไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์กับเครือข่ายธุรกิจทรงอิทธิพลในสังคมไทยอย่างจริงจังมากขึ้น  ในฐานะผู้อยู่แวดวงทางการเงิน มี่ความชำนาญเงินกู้ของเอกชนด้วยที่เรียกว่า  corporate finance   เข้าย่อมรู้สถานการณ์ของแวดวงธุรกิจไทย รวมทั้งที่เอสซีจีได้อย่างดี

เมื่อเข้าร่วมงานกับเอสซีจีในปี2515    ถือเป็นช่วงสำคัญของปรับโครงสร้างใหม่เป็นเครือซิเมนต์ไทย ชุมพล   ณ ลำเลียง ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายการเงินคนใหม่ มีบทบาทในการจัดระบบแผนกงานใหม่ด้วยการวมหน่วยงานบัญชี การเงินและคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน รวมทั้งวางระบบบัญชีใหม่ให้สอดคล้องกับระบบสากลที่เจ้าหนี้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้

การบริหารกู้เงินต่างประเทศ เริ่มต้นด้วยกู้เงินต่างประเทศเพื่อขยายกิจการ ขยายการลงทุนครั้งใหญ่ครั้งสำคัญมาตั้งแต่ในปี 2512  จาก IFC  จนวน  18  ล้านเหรียญสหรัฐฯ(IFC  เข้ามาถือหุ้นในเอสซีจีประมาณ 6% )   โดยมีภาระในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามเงื่อนไข ไม่เพียงเท่านั้นเอสซีจียังต้องการเงินกู้ต่อเนื่อง ชุมพล เข้าใจบทบาทและหน้าที่อย่างดี  เป็นไปตามภาวะตลาดการเงินในต่างประเทศที่เปิดกว้างขึ้น  เอสซีจีมีความคล่องตัวมากขึ้น จากแหล่งในตลาดเงินกู้สหรัฐฯ มายุโรป และญี่ปุ่น  ในที่สุดกลายเป็นยุทธ์สาสตร์สำคัญของเอสซีจี ขยายธุรกิจ สร้างความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจ ด้วยใช้เงินกู้   ขณะนั้นดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศถูกกว่าในประเทศไทย  ยุทธ์ศาสตร์นี้ถือเป็นจุดแข็งในช่วงนั้น  แต่กลายเป็นจุดอ่อนในเวลาต่อมา

ความเข้าใจสถานการณ์และสังคมธุรกิจไทยเวลานั้น เป็นเรื่องอ้างอิงสำคัญจากนี้    “สังคมธนาคาร”ก่อตั้งขึ้น หมายความว่า สังคมธุรกิจไทยขยายตัวด้วยโอกาสที่กว้างขวางขึ้นอย่างไม่ปรากฏมาก่อน แต่ทั้งนี้ทั้งนี้อยู่ภายใต้แรงขับเคลื่อนของระบบธนาคารไทย ระบบธนาคารครอบครัว กลายเป็นแกนกลางของสังคมธุรกิจไทย ผมเคยอรรถาธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ The Fall of Thai Banking 2548    โดยแบ่งระยะสำคัญไว้สองช่วง

ช่วงที่หนึ่ง( 2505-2525 )  ระบบธนาคารครอบครัวสถาปนาขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ  ด้วยการนำเงินฝากจากสาธารณะชน เข่าไปลงทุนและสนับสนุนกิจการในเครือข่ายและพันธมิตรอย่างกว้างขวาง   โดยแบ่งย่อยเป็น 3 ระยะ   หนึ่ง-ลงทุนในกิจการที่สนับสนุนธุรกิจธนาคารโดยตรง เช่น ประกันภัย  ประกันชีวิต และคลังสินค้า  สอง-ลงทุนในกิจการเครือข่ายครอบครัว และพันธมิตรอย่างกว้างขวางตามสถานการณ์ในเวลานั้น  เช่น ธนาคารกรุงเทพสนับสนุนการค้าส่งออก สิ่งทอ กับเครือข่ายชาวไทยเชื้อสายจีนและเครือข่ายชาวจีนโพ้นทะเล  ส่วนธนาคารกสิกรไทย มีความสัมพันธ์กับนักลงทุนของตะวันตก  โดยเฉพาะจากสหรัฐฯมากเป็นพิเศษ ก่อตั้งกิจการร่วมทุนในประเทศไทยจำนวนมาก   สาม-เพื่อขยายโอกาสของระดมเงินทุนมากขึ้น  ระบบธนาคารครอบครัวก่อตั้งกิจการการเงินชั้นรองขึ้นตามกระแสที่รัฐจำเป็นต้องเปิดกว้างในช่วงหนึ่ง  เครือข่ายการเงินใหม่ได้เปรียบเครือข่ายการเงินอื่นที่ไม่มี่ธนาคารถือหุ้นโดยตรง  ขณะเดียวสร้างฐานระบบธนาคารครอบครัวให้ขยายใหญ่ มากขึ้น

ในเวลานั้นผู้บริหารรุ่นใหม่หรือเรียกกว่า “มืออาชีพ”เริ่มปรากฏชัดในสังคมธุรกิจไทย  อาจจะถือว่า เริ่มต้นมาจากคนไทยที่ทำงานอย่างเงียบๆและเก็บตัวกับบริษัทต่างชาติในประเทศไทย   จากนั้นพวกเขาพาเหรดมาที่เอสซีจี เป็นภาพคึกโครม และน่าสนใจขึ้น แต่สถานการณ์นั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วพอสมควร  คนรุ่นใหม่ผ่านศึกษาที่ดี  โดยเฉพาะมีความรู้ด้านการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ หรือการเงิน จากตะวันตกส่วนใหญ่มุ่งสู่แวดวงการเงินมากขึ้น   นักเรียนสหรัฐฯ รุ่นชุมพล  ไม่ว่า ธารินทร์ นิมามานเหมินทร์(จากธนาคารต่างชาติ เขามาบริหารธนาคารไทยพาณิชย์)  ศิวะพร ทรรทรานนท์(ทิสโก้)   เอกมกมล คีรีวัฒน์(ทำงานที่ธนาคารแห่งประทศไทย มีบทบาทกำกับสถาบันการเงินและธนาคาร) หรือ ปรีดิยาธร เทวกุล(ธนาคารกสิกรไทย) ล้วนอยู่แวดวงหรือเกี่ยวกับธุรกิจที่มีธนาคารเป็นศูนย์กลางทั้งสิ้น  ดูเหมือนมีเพียง ชุมพล  ณ ลำเลียงเท่านั้น เดินสวนกระแสนั้น จากสังคมธนาคารสู่ดินแดนใหม่

 แม้ว่าบทบาทของพวกเขามีมากขึ้นอย่างมากในระยะที่สอง ในความพยายามอยู่รอดของระบบธนาคารครอบครัวไทย    แต่คงไม่มีใครโลดโผน ตื้นเต้นและเร้าใจ เท่ากับชุมพล ณ  ลำเลียง  ทั้งที่ทำงานในองค์กรมิใช่ธนาคาร แต่มีบทบาทต่อสังคมธุรกิจไทยอย่างสำคัญและน่าทึ่ง

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: