ความพยายามขยายธุรกิจระดับภูมิภาคของไทยเบฟ เป็นเรื่องราวที่มีสีสัน และครึกโครมอย่างมาก สำหรับสังคมธุรกิจไทย ขณะเดียวกัน บทสรุปว่าด้วยยุทธศาสตร์ธุรกิจไทยในทำนอง“เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ใหม่ AEC” หรือ “ขยายตลาดแบรนด์เบียร์ช้าง -โออิชิ สู่ตลาดภูมิภาค” อาจหยาบและง่ายเกินไป
เรื่องราวและความเคลื่อนไหวอันคึกคักของไทยเบฟหรือกลุ่มทีซีซีที่สิงคโปร์ ถือเป็นมหากาพย์ตอนใหม่ ในพื้นที่และพรมแดนใหม่ที่ไม่คุ้นเคยของเจริญ สิริวัฒนภักดี และกลุ่มทีซีซี ย่อมเป็นเดิมพันที่สูงอย่างไม่เคยประสบมาก่อน
ว่าไปแล้วไทยเบฟไปปักหลักที่สิงคโปร์ จะถือเป็นความบังเอิญอย่างหนึ่งที่ควรกล่าวถึงก็ได้
“บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“ไทยเบฟ”) ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยในปี 2546 โดยมีจุดประสงค์เพื่อรวมกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเบียร์และสุราชั้นนำของไทยที่เป็นของผู้ถือหุ้นและผู้ร่วมทุนรายอื่นๆ เข้ามาเป็นกลุ่มบริษัท ต่อมาในปี 2549 ไทยเบฟได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (“SGX”) ภายหลังจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ไทยเบฟได้ขยายขอบเขตธุรกิจจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปสู่ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหาร เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า เพิ่มประสิทธิผลในช่องทางการขนส่งรวมถึงกระจายความเสี่ยงของกิจการ” คำอธิบายว่าด้วยความเป็นมาอย่างเป็นทางการของไทยเบฟ(http://www.thaibev.com )มีบริบทที่ซ่อนอยู่ควรกล่าวถึงบางประเด็น
— หลังจากวิกฤติการณ์ปี 2540 เจริญ สิริวัฒนภักดีจำต้องทิ้งธุรกิจธนาคารและการเงิน ซึ่งถือเป็นภาระอย่างมากในช่วงก่อนหน้านั้น ขณะที่ธุรกิจเดิม—เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังสามารถสร้าง “เงินสด”อย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงวิกฤติ เมื่อวิกฤติการณ์คลีคลาย จึงพยายามสร้างความเข้มแข็งในธุรกิจเดิม ขณะเดียวพยายามมองไปข้างหน้าอย่างมีแผนการ เขายังเชื่อมั่นในทางเลือกสำคัญ–นำกิจการเข้าตลาดหุ้น
—เบื้องหลังการตั้งไทยเบฟ ถือเป็นขั้นตอนเริ่มต้นของความพยายามเข้าตลาดหุ้นไทย ด้วยลงทุนทั้งทางตรงและอ้อมอย่างมาก จะเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายแรกของไทย ที่สามารถเข้าตลาดหุ้นได้ ท่ามกลางการคัดค้านอย่างแข็งขันของนักเคลื่อนไหวประเภทผู้กำกับคุณธรรมในสังคม ในที่สุดแผนการใหญ่จึงสะดุด
—ในช่วงเวลาเดียวกันที่เจริญ สิริวัฒนภักดี มีความพยายามเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างไม่ลดละ ซึ่งค้นพบมีหลายวิธี จากช่วงนั้น(2544 ) ถึงปัจจุบัน กลุ่มทีซีซีมีกิจการในตลาดหุ้นถึง 4 บริษัท ด้วยวิธีเข้าซื้อและครอบงำกิจการในตลาดหุ้นที่เรียกกันว่า backdoor listing
หนึ่ง-ปี 2544 กลุ่มทีซีซี ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทเบอร์ลียุคเกอร์ นอกจากจะรุกเข้าธุรกิจอุตสาหกรรม และสินค้าคอนซูเมอร์ ถือเป็นการขยายเส้นทางธุรกิจใหม่ครั้งแรกๆ (บริษัทนี้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย)แล้ว แม้มิใช่กิจการในกลุ่มไทยเบฟ แต่มีความชำนาญที่ว่าด้วยการผลิตและจัดเหน่ายสินค้าคอนซูเมอร์ อื่นๆที่มิใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สอง–ปลายปี 2548 เข้าซื้อบริษัทโออิชิ กรุ๊ป ของตัน ภาสกรนที ด้วยเงินลงทุนมากกว่า3,000 ล้านบาท ขณะนี้เครื่องดื่มแบรนด์โออิชิ เป็นสินค้าหลักของเครื่องดื่มที่มิใช่แอลกอฮอล์ของไทยเบฟไปแล้ว
สาม-ปี 2550 เข้าซื้อกิจการอาหารสยาม
“บริษัทอาหารสยาม (Siam foods) ก่อตั้งในปี2513 ณรงค์ ศรีสะอ้าน มีบทบาทสำคัญ ทั้งในฐานะผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมีนโยบานสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรแล้ว ยังร่วมทุนด้วยตนเองด้วย กิจการพัฒนาไปด้วยดี เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นในปี 2528 ณรงค์ ศรีสะอ้าน มีประสบการณ์ในวงการธนาคารมา 44 ปี (2497 – 2541) มีบทบาทอย่างมากในยุคบัญชา ลำช่ำ ดำรงตำแหน่งรองประธานบริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด เป็นตำแหน่งสุดท้าย หลังจากเกษียณยังมีบทบาทต่อเนื่อง แม้อายุมากแล้ว ในฐานะกรรมกาบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ ประธานกรรมการบริษัท แอ๊ดวาน อะโกร จำกัด (มหาชน) และเป็นกรรมการอิสระบริษัท ทรู คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) และแล้วมาดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในปี2546 ในช่วงเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ จากนั้น เข้าซื้อกิจการบริษัทอาหารสยาม(มหาชน)ในปี2549 โดยตั้งบริษัทตนเองเข้าซื้อก่อนจะขายให้กลุ่มไทยเจริญในปีต่อมา” ผมเคยเขียนไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แม้ว่าปัจจุบันอาหารสยามอยู่ในกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมของทีซีซี แต่การผลิตสินค้าสำเร็จรูปจากนี้ไป ควรผ่านระบบจัดจำหน่ายของไทยเบฟด้วย
ในแผนการนำไทยเบฟเข้าตลาดหุ้นไทย มีแผนสำรองเข้าตลาดหุ้นที่สิงคโปร์ไว้ด้วย มีการวิเคราะห์กันว่า เจริญ สิริวัฒนภักดี เริ่มมีสายสัมพันธ์กับสิงดโปร์อย่างแท้จริง ตั้งแต่ ปี 2546 จากกรณีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีการร่วมทุนครั้งใหญ่กับ CapitaLand แห่งสิงคโปร์ CapitaLand เป็นกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ในเครือ Temasek Holdings (กิจการลงทุนของกระทรวงการคลัง สิงคโปร์) ธุรกิจหลักคือโครงการที่พักอาศัย เพื่อการค้าและอุตสาหกรรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น สถาบันการเงินและกองทุน ในกว่า 50 เมืองใหญ่ทั่วโลก
“ภายหลังจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ไทยเบฟได้ขยายขอบเขตธุรกิจจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปสู่ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหาร”ข้อความที่ตัดตอนมาจากบทแนะนำบริษัทของไทยเบฟในตอนต้นๆ กล่าวถึงแนวทางสำคัญของกิจการหลังจาการเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ แต่เท่าที่พิจารณาจากข้อมูลของไทยเบฟเองเช่นกัน (จาก info graphic ประกอบ) พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์ที่ว่าดำเนินอย่างเชื่องช้า
ตลาดหุ้นสิงคโปร์ มีบุคลิกและบรรยากาศที่แตกต่างออกไป ขณะที่สังคมธุรกิจไทยจะพยายามท่องคาถา “เตรียมตัวรับ AEC” แต่ในภาคปฏิบัติที่เป็นจริง ธุรกิจสิงคโปร์ดำเนินแผนการอย่างเป็นจริงเป็นจังมาระยะหนึ่งแล้ว ไทยเบฟ เป็นหลักทรัพย์ใหญ่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ แม้ว่ากำลังท่องคาถาเดียวกันในสังคมไทย แต่มีประสบการณ์ตรงที่สิงคโปร์ เป็นประสบการณ์ที่เป็นแรงกดดันที่สำคัญด้วย
Fraser and Neave หรือ F&N ธุรกิจเกาแก่ของสิงคโปร์ กิจการรายใหญ่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ มีบางสิ่งบางอย่างคล้ายกับกลุ่มไทยเจริญหรือทีซีซี และมีอีกบางสิ่งบางอย่างที่ไทยเบฟอยากจะเป็น F&N มีธุรกิจที่สำคัญอย่างน้อย สองประเภท เหมือนกลุ่มทีซีซี คือ เบียร์ และอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่มีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่เข้มแข็งมากกว่าที่ไทยเบฟมี
F&N ในฐานะธุรกิจระดับภูมิภาค มากด้วยประสบการณ์และบทเรียน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้ขยายฐานธุรกิจในหลายประเทศ ขณะเดียวกันสร้างความสัมพันธ์ และมีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจระดับโลกทีเข้ามาทำตลาดในภูมิภาคด้วย
เมื่อเดือนกรกฎาคม ไทยเบฟ สร้างปรากกฎการณ์อันตื่นตะลึง สามารถเข้าถือหุ้นมากกว่า20% ใน F&N ได้สำเร็จ นอกจากเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของธุรกิจไทยแล้ว ยังได้จุดกระแส และปรากฏการณ์ใหม่ ว่าด้วยเกมธุรกิจอันดุเดือด เข้มข้นในระดับภูมิภาค เป็นที่น่าติดตามอย่างยิ่ง
ที่สำคัญเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่นอกเหนืออิทธิพลของเจริญ สิริวัฒนภักดี ในฐานะบุคคลสำคัญที่มีความคุ้นเคย และเข้าใจเส้นสนกลในสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง กลไก และความสลับซับซ้อนของธุรกิจภูมิภาค เป็นพรมแดนใหม่อย่างแท้จริง
ประชาชาติธุรกิจ 19 สิงหาคม 2555