สินอุตสาหกรรม

ตำนานของสถาบันการเงินแห่งนี้กำลังจะปิดฉากลงในไม่ช้า แต่เบื้องหลังคือเรื่องราวสะท้อนภาพการเปลี่ยนผ่านครึ่งศตวรรษของกลุ่มธุรกิจไทยสำคัญกลุ่มหนึ่งไว้

 

ธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะผู้หุ้นใหญ่( ประมาณ 38%) ในบริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม (พร้อมกิจการหลักทรัพย์) มีความพยายามขายหุ้นในกิจการนี้ออกไป ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในที่สุดต้องเข้าซื้อกิจการเสียเองเพื่อครอบครองหุ้นส่วนใหญ่ จากนั้นจึงมีอำนาจอย่างเต็มที่ดำเนินไปตามแผนการที่กำหนดไว้

 

การยกเลิกกิจการเงินทุนซึ่งถือเป็นธุรกิจที่ล้าหลังไปแล้ว เมื่อธนาคารเป็นเครือข่ายการเงินครบวงจร และคืนใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์  เป็นไปตามกติกาทีให้ธนาคารมีเครือข่ายหลักทรัพย์เท่าที่จำเป็น

 

ดูเหมือนสถานการณ์ที่ผ่านมา กำหนดให้ไทยพาณิชย์ตัดสินใจไว้แล้วว่า สินอุตสาหกรรมไม่อยู่ในยุทธ์ศาสตร์ใหม่   แม้ว่าจะมีบางเรื่องไม่เป็นไปตามที่คาด และมีความยุ่งยากพอสมควร

 

–ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่เพียงไม่ได้เงินจากการขายกิจการเงินทุน(ซึ่งมีใบอนุญาตหลักทรัพย์ด้วย) ปกติเฉพาะใบอนุญาตหลักทรัพย์อย่างเดียว เคยมีการซื้อขายกันประมาณ 500 ล้านบาท   แต่กลับต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยซื้อหุ้นคืนจากรายย่อย

 

–สินทรัพย์(รวมทั้งบุคลากรด้วย)ของสินอุตสาหกรรมที่เหลือ จะสามารถนำมาผนวกเข่ากับกิจการธนาคารหรือหลักทรัพย์ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีอยู่อย่างไรหรือไม่  คงเป็นการบริหารที่ยุ่งยากพอสมควร

 

แต่เอย่างไรก็ตาม เรื่องราวของสินอุตสาหกรรม ควรมีค่าเป็นบทเรียนหนึ่งที่ควรบันทึกไว้ ในประวัติศาสตร์ของธนาคารที่มีอายุกว่าศตวรรษ

 

เรื่องราวของสินอุตสาหกรรม มีความสัมพันธ์กับบริบททางสังคมธุรกิจไทยตลอดช่วง 50 ปี สะท้อนความคลุมเครือ สับสน และความไม่แน่นอน ซึ่งเกิดขึ้นเสมอไม่ว่าที่มาจะมาจากความคิดและรากฐานที่มีอิทธิพลในสังคมก็ตาม

 

เครือซิเมนต์ไทย(ขณะนั้น-บริษัทปูนซิเมนต์ไทย) เพิ่งผ่านช่วงยุ่งยากสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเกาหลี มาสู่ยุคอิทธิพลสหรัฐ เริ่มสร้างสาธารณูปโภคในช่วงเริ่มต้นสงครามเวียดนาม กิจการกำลังขยายตัวทั่วด้าน ทั้งกิจการซีเมนต์ที่มีความต้องการของตลาดมากกว่าที่ผลิตได้  และกำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมต่อเนือง ความต้องการเงินทุนมี่มากมาย แต่อยู่ภายใต้ข้อจักกัดของผู้ถือหุ้นใหญ่

 

การตั้งสถาบันการเงินของตนเอง(ปี2508) เป็นความพยายามและทางออกหนึ่ง   เริ่มต้นระยะเดียวกันกับความพยายามกู้เงินต่างประเทศ   ต่อมาจึงได้เรียนรู้ว่าการดำเนินธุรกิจใหม่ที่แยกจากฐานเดิมไปมาก เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย

 

ตามแผนการ บริษัทสินอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องมีเงินทุนของตนเองจำนวนมาก  ทั้งนี้อาจมาจากระบบธนาคาร  แต่ติดขัดด้วยบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ไม่สามารถค้ำประกันเงินกู้ให้บริษัทที่เกี่ยวเนื่องได้  ว่ากันว่ามาจากข้อผูกพันในเงื่อนไขเงินกู้ที่มีกับธนาคารต่างชาติ( 2508 )  จึงพยายามระดมทุนจากผู้ถือหุ้นอื่นๆ ว่ากันว่าอีกว่า แม้แต่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เองไม่สนใจจะซื้อหุ้น

 

ในที่สุดบทบาทของบริษัทสินอุตสาหกรรมไทย จึงเปลี่ยน เป็นเลขานุการ (Corporate Secretary) ของบริษัทในเครือซิเมนต์ไทย (ในยุคก่อนจะมีเครือซิเมนต์ไทยอย่างแท้จริง) โดยทำหน้าที่ด้านทะเบียนหุ้น การจดทะเบียนต่าง ๆ และงานด้านกฎหมาย คนเก่าคนแก่เคยเล่าให้ฟังมานานแล้วว่า ตอนนั้นยังมีความหวังถึงขั้นว่า สักวันหนึ่งจะสามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นธนาคารพาณิชย์ได้

 

ความหวังนี้สลายไปทันทีในกระบวนการปรับโครงธุรกิจครั้งใหญ่(ราวปี2514) ของเครือซิเมนต์ไทยเพื่อตอบสนองเงื่อนไขการกู้เงินก้อนใหญ่จากIFC (International Finance Corporation ในเครือ Word Bank) ว่าไปแล้วตอนนั้น มีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมเรื่องการแสวงหาแหล่งทุน ความจำเป็นจะมีสถาบันการเงินของตนเองจึงหมดไป

 

แต่จนแล้วจนรอดสินอุตสาหกรรมก็ยังอยู่ และมีความหวังกับสถานการณ์ใหม่อีกครั้ง

 

ในเวลานั้นรัฐมีนโยบายเปิดสถาบันการเงินใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  บางกรณีมีสถาบันการเงินระหว่างประเทศเข้ามาลงทุนด้วย  เช่น กรณีทิสโก้ (ปี 2512) เป็นการร่วมทุนระหว่างธนาคารกสิกรไทยกับ Banker Trust, U.S.A. สินอุตสาหกรรมได้มีโอกาสการเจรจากับ Toronto Domination Bank, Canada ราวกลางปี2514 มีเรื่องเล่าว่า การเจรจาต่อรองใช้เวลาพอสมควร ในที่สุดจบลงอย่างสินหวัง ด้วยเรืองอื้อฉาวและลึกลับ นักการเงินคนไทยคนแรกที่มีบทบาทในเครือซิเมน์ต์ไทย (ก่อนชุมพล ณ ลำเลียง) ต้องระเห็จออกไปด้วย

 

ในที่สุดสินอุตสาหกรรมกลับมาตั้งหลักอย่างแท้จริง ด้วยฝีมือของสมหมาย ฮุนตระกูล  อดีตรัฐมนตรีคลังผู้โด่งดังในช่วง( ปี 2517 )ก่อนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้จัดการเครือซิเมนต์ไทย(2519-2523)

 

อาจถือเป็นดีลแรกๆที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ (เครือซิเมนต์ไทยและไทยพาณิชย์) กับธุรกิจญี่ปุ่น สินอุตสาหกรรมเริ่มดำเนินการธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ภายใต้โครงสร้างใหม่โดย Sanwa Bankจากญี่ปุ่นถือหุ้น49 %สวนฝ่ายไทยประกอบด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานทรัพย์สินฯ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ และปูนซิเมนต์ไทย

 

จากนั้นไม่เพียงเครือซิเมนต์ไทยมีแหล่งทุนใหม่จากธนาคารญี่ปุ่นเท่านั้น กิจการร่วมทุนอื่นที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นมากมายถือเป้นคลื่นลูกแรกของการลงทุนจากญี่ปุ่น ก่อนถาโถมครั้งใหญ่อีกครั้งหลังปี 2530

 

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินอุตสาหกรรมเริ่มต้นในฐานะสถาบันการเงินที่มั่นคง และอยู่ในหัวขบวนบุกเบิกตลาดหุ้นไทยด้วย  แม้แต่วิกฤตการณ์ครั้งร้ายแรงในปี2540 ถือว่าไม่ส่งผลให้มีปัญหาความอยู่รอด หากเป็นแรงกระทบทางอ้อม ถือเป็นจุดเริ่มต้นของบทสุดท้ายในวันนี้

 

ธนาคารไทยพาณิชย์เองต่างหากที่มีปัญหาหนักหนาพอสมควร แรงกดดันอย่างหนักหน่วงให้เพิ่มทุนครั้งใหญ่ในปี 2540

 

ความพยายามต่างแต่เดือนพฤศจิกายน 2540 เป็นต้นมา จึงมีมากเป็นพิเศษเป็นช่วงภายหลังที่ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ เข้ารับตำแหย่งรัฐมนตรีคลัง

—พฤศจิกายน ธนาคารไทยพาณิชย์แก้ไขข้อบังคับเพิ่มเพดานการถือหุ้นของต่างประเทศจาก25% เป็น 33%

–ช่วงกลางธันวาคม โอฬาร ไชยประวัติ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เดินทางร่วมคณะเล็กๆของรัฐมนตรีคลังของไทยไปญี่ปุ่น เพื่อเจรจาเรื่องหนี้สินของเอกชนไทย ซึ่งธนาคารญี่ปุ่นเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด

–ธันวาคม  คณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์มีมติขายหุ้นให้กับSanwa Bank แห่งญี่ปุ่น มูลค่ากว่าสองพันล้านบาท ทำให้ธนาคารแห่งนี้ถือหุ้นในธนาคารไทยพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ7%”ผมเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับโอฬาร ไชยประวัติ ไว้ในช่วงนั้น

 

จากจุดนั้นกล่าวกันว่า เงื่อนไขหนึ่งในการซื้อหุ้นข้างต้น มีความเกี่ยวข้องกับสินอุตสาหกรรมโดยตรง โดยSanwa Bank ได้โอนหุ้นที่ถืออยู่ประมาณ 35% ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ แม้ว่าการเพิ่มทุนครั้งนั้นไม่ได้แก่ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ จนกว่าจะถึงมาตรการ 14 สิงหาคม2541 แต่มีบทสรุป Sanwa Bank ได้ถอนตัวออกจากสินอุตสาหกรรมอย่างสิ้นเชิง หลังจากถือหุ้นมาเป็นเวลา25 ปี

 

ถือเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับความพยายามสร้างเครือข่ายการเงินที่ยิ่งใหญ่กับวิกฤติการณ์ทีมาถึงอย่างไม่ได้ตั้งตัว แม้ว่าไทยพาณิชย์มีเครือข่ายกิจการเงินทุนและหลักทรัพย์หลายแห่ง(อาจเพราะไม่ได้ถือหุ้นข้างมาก) แต่ไม่เพียงพอ  ปี2538มีแผนลงทุนใหม่ในการเข้าสู่ธุรกิจหลักทรัพย์ ด้วยการซื้อกิจการ บล.ไทยธำรง และกลายเป็นผู้ถือใหญ่เกือบ100% ในปลายปี 2541 หลังจากนั้นในปี 2542เพิ่มทุนขนาดใหญ่เป็น1500 ล้านบาท (รวมทั้งผนวกเข้ากิจการหลักทรัพย์อีกแห่งหนึ่งของธนาคาร) ว่าไปแล้วเป็นเหตุการณ์ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในการแสวงหาเหตุและผลที่เป็นไป

 

แต่มีบทสรุปได้กรณีหนึ่งสินอุตสาหกรรมกำลังยุติบทบาททางประวัติศาสตร์แล้ว

 

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: