เอไอเอส

ดูเผินๆการเปลี่ยนโลโก้ของเอไอเอสจากเดิมเป็นภาพที่เข้าใจง่าย สะท้อนถึงความสบายใจด้วยรอยยิ้ม คงเป็นความพยายามออกจากเงื้อมเงาเดิม  หากพิจารณาพัฒนาการในระยะใกล้แล้ว  อาจมีความหมายที่เข้าใจได้ง่ายกว่านั้น

 

เอสไอเอส(บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน))เริ่มต้นการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมือปี2549 “เทมาเส็ก-ไทยพาณิชย์และกลุ่มนักลงทุนไทยร่วมซื้อหุ้นชินคอร์ปจากชินวัตรและ ดามาพงศ์” หัวข้อข่าวใหญ่แถลงต่อสื่อมวลชนไทย สร้างความคึกโครมและสั่นเทือนอย่างกว้างขวาง (คัดมาจากWebsiteของTemasek Holdings ซึ่งมีต้นฉบับภาษาไทยด้วย ข่าวชิ้นนี้ ยังคงอยู่ในระบบข้อมูลข่าวย้อนหลังอยู่จนทุกวันนี้)

“กรุงเทพฯ/23มกราคม 2549 — บริษัทเทมาเส็กโฮลดิ้งส์ (พีทีอี) จำกัด (“เทมาเส็ก”) ธนาคารไทย พาณิชย์ (เอสซีบี) และกลุ่มนักลงทุนไทยในนามของบริษัทกุหลาบแก้วได้บรรลุข้อตกลงกับตระกูลชินวัตรและตระกูลดามาพงศ์ในการซื้อหุ้นของทั้งสองตระกูลในบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“ชิน”) จำนวน 1,487.7 ล้านหุ้น หรือ 49.6% ของหุ้นทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท รวมเป็นเงิน ทั้งสิ้น 73.3 พันล้านบาท” เนื้อหาสำคัญที่อ้างมา

หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน (มีนาคม 2549) Cedar Holdingsและ Aspen Holdings ซึ่งถือเป็นกิจการถือหุ้นโดย Temasek และผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยอื่นๆ ออกแถลงข่าวผ่านWebsite ของ Temasek Holdings อีกว่าได้บรรลุความสำเร็จในการเสนอซื้อหุ้นเอไอเอส ต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยในตลาดหุ้นไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นแผนสำคัญต่อเนื่องจากการซื้อกิจการชินคอร์ป โดยเชื่อกันว่าเป้าหมายสำคัญสู่ธุรกิจสื่อสารไร้สาย ในฐานะเจ้าของกิจการรายใหญ่ที่สุดของไทย

จากข้อมูลอย่างเป็นทางการปัจจุบันของเอไอเอสระบุว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 2รายคือชินคอร์ป.42.6% และ SingTel Strategic Investments 21.31% ขณะที่ชินคอร์ปเองมีผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 รายคือ Cedar Holdings และ Aspen Holdings ถือหุ้นรวมกันประมาณ 96%

หากจะย้อนเรื่องราวอาจต้องไปไกลถึงปี2546   Singapore Telecommunications Limited (SingTel) แต่งตั้ง ชุมพล ณ ลำเลียง เป็นประธานกรรมการบริษัทซึ่งผมเชื่อว่ามีความเกี่ยวเนืองกันไม่มากก็น้อย

เป็นที่แน่ชัดว่าTemasek และ SingTelให้ความสำคัญกับเอไอเอสมากเป็นพิเศษ โดยได้ส่งตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการและผู้บริหารตั้งแต่ต้น แม้ว่าโครงสร้างผู้ถือหุ้นจะระบุว่า SingTelถือหุ้นในเอไอเอสประมาณ20% แต่ผู้บริหารที่เอาการเองานล้วนมาจากSingTel ทั้งสิ้น

ตั้งแต่มิถุนายน2551 Allen Lew Yoong Keong เข้าดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร แทนสมประสงค์ บุญยะชัย   ถือว่าเป็นตำแหน่งบริหารสูงสุด ขณะที่ในความเคลื่อนไหวเปิดในไทย มีคนไทยตำแหน่งที่เรียกว่าหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร ซึ่งไม่เป็นกรรมการบริษัท เป็นตัวชูโรงแทน

Allen Lew Yoong Keong เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารเอไอเอส ตั้งแต่ปี 2549พร้อมกับขึ้นดำรงตำแหน่ง CEO Singapore ของSingTel    ปัจจุบันยังควบตำแหน่งเช่นนี้ โดยถือว่าเขาเป็นผู้บริหารคนสำคัญ มีประสบการณ์ด้านสื่อสารในSingTel มากว่า 30 ปี ก่อนหน้านั้นเคยไปดูแลกิจการสื่อสารขนาดใหญ่ในออสเตรเลียในช่วง SingTel ซื้อกิจการมาใหม่ๆ นอกจากนั้นยังมีคนของ SingTel มาเป็นผู้บริหารสูงสุดด้านปฏิบัติการของเอไอเอสตั้งแต้ต้นเช่นเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกรรมการทั้งชินคอร์ป และเอไอเอส ย่อมเป็นเรื่องน่าสนใจ   เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อเรื่องราวคึกโครมอย่างมาก  บุคคลสำคัญที่เปิดตัวถึงความสัมพันธ์กับสิงคโปร์ในช่วงแรกๆ ค่อยๆหลบฉาก พงส์ สารสิน ออกจากประธานกรรมการ และ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย พ้นตำแหน่งกรรมการในชินคอร์ปในระยะไล่เลี่ยกัน  จากนั้นบุคคลที่เชื่อกันว่ามีความสัมพันธ์กับชุมพล ณ ลำเลียง  ได้เข้ามาแทนที่

ตั้งแต่ปี2549 อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ เข้าเป็นกรรมการเอไอเอส และปี 2550 ชลาลักษณ์ บุนนาค เป็นกรรมการชินคอร์ป เป็นที่รู้กันดีว่า ทั้งสองคืออดีตผู้บริหารของเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) ในยุคชุมพล ณ ลำเลียงเป็นผู้จัดการใหญ่ ปัจจุบันทั้งสองยังเป็นที่ปรึกษาและกรรมการหลายบริษัทในเอสซีจี   ว่าไปแล้วทั้งสองคือผู้บริหารมืออาชีพที่มีความสามารถ เพิ่งพ้นตำแหน่งบริหารจากกิจการใหญ่ การเข้ามาเป็นกรรมการในบริษัทอื่น เป็นเรื่องทีมีเหตุผล แต่อย่างไรก็ตาม บางแง่มุมสะท้อนเรื่องที่ควรติดตามด้วยเช่นกัน

ในความเห็นของผม การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากเป็นพิเศษของเอไอเอส หลังจาการมาของสิงคโปร์ คือนโยบายการจ่ายเงินปันผล

 “บริษัทฯ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100 ของกำไรสุทธิ ตามงบการเงินรวม โดยในรอบสี่ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลมากกว่าร้อยละ 100 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรม…. อาจยังมีความไม่แน่นอน ระหว่างนี้บริษัทฯ จึงตั้งใจจะรักษาสถานะการเงินให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อการเติบโตของธุรกิจในอนาคต”อ้างจากนโยบายการจ่ายเงินปันผลของเอไอเอส

แม้จะไม่เข่าใจถึงเหตุผลที่อ้างนัก แต่ที่สำคัญ เอไอเอสได้จ่ายเงินปันผลอย่างมากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เท่าที่คำนวณจากตัวเลขคร่าวๆ ในรอบ4 ปี จ่ายเงินปันผลไปประมาณ 40 บาท/หุ้น หากนับรวมจำนวนหุ้นประมาณ3 พันล้านหุ้น   ด้วยผลประกอบการที่ดี เอไอเอสสามารถจ่ายเงินปันผลไปแล้วมากกว่าหนึ่งแสนล้านบาท   หากTemasek และSingTel มีหุ่นรวมกันประมาณครึ่งหนึ่งในเอไอเอส   เงินปันผลที่ได้รับมาแล้ว คิดคร่าวๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงคำอธิบายด้วยเทคนิคทางการเงิน   ถือว่าเป็นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนที่ดีทีเดียว

ในช่วงปีกว่าๆมานี้มีเหตุการณ์หลายอย่างที่น่าตื่นเต้น  ในช่วงปลายรัฐบาลอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ขณะที่SingTel เผชิญปัญหาพอสมควรนั้น เอไอเอสได้จ่ายเงินปันผลอย่างมากมายถึง 4 ครั้งในปีเดียว (2553) โดยใช้เงินประมาณ 5หมื่นล้านบาท

ในช่วงก่อนเลือกตั้ง( พฤษภาคม2554) ชุมพล ณ ลำเลียง ได้ลาออกจากประธานกรรมการSingTel   และที่น่าสนใจก่อนหน้านั้น ทั้งชินคอร์ปและเอไอเอสมีกรรมการใหม่อีกครั้ง โดยแต่งตั้งบุคคลที่เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับชุมพล บดินทร์ อัศวาณิชย์นักกฎหมายคนสำคัญของเอสซีจีและรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นกรรมการชินคอร์ป (สิงหาคม 2553) ดุสิต นนทะนาคร ประธานหอการค้าไทย และอดีตผู้บริหารคนสำคัญของเอสซีจีอีกคน เป็นกรรมการเอไอเอสในช่วงต้นปี (กุมภาพันธ์ 2554) แต่น่าเสียดาย เขาทำหน้าที่ได้ไม่นานก็ถึงแก่กรรมก่อนวัยอันควร

พิจารณาจากถ้อยแถลงของSingTel    การอำลาตำแหน่งของชุมพล ณ ลำเลียง ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาพิเศษมากทีเดียว เขาได้รับการยกย่องและชื่นชมอย่างมาก ในฐานะผู้นำ ไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจครั้งสำคัญ

ในที่สุดต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชินคอร์ปได้เปลี่ยนโลโก้ใหม่เป็น INTOUCH และขอใช้ชื่อ INTUCH   เป็นชื่อย่อหลักทรัพย์แทน “SHIN” ด้วย ถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดสัญลักษณ์ใหม่ทีมีรูปปากยิ้มสีเขียวอ่อนที่ต่อเนื่องมาถึงเอไอเอสเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

โลกโกใหม่ที่บอกว่า  “AIS ชีวิตในแบบคุณ” ดูอบอุ่น และมั่นใจในอนาคต นั้นอาจหมายถึงความรู้สึกของTemasek และ SingTel เองด้วยก็เป็นได้

 

 

ข้อมูลสำคัญของอไอเอส

ที่มา: เอไอเส

 

            ปี                         2550                  2551                      2552                     2553                  2554(6เดือน)                                                                                                       

รายได้รวม(ล้านบาท)   109,115.64         113,356.64              103,211.63              111,958.77              62,625.96

กำไรสุทธิ(ล้านบาท)      16,290.47           16,409.04                17,055.37                20,547.44              12,385.18

เงินปันผล(บาท/หุ้น)             6.3                   6.3                            6.3                        17.3                      3.92

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: