นิคมอุตสาหกรรมโรจนะเผชิญปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก กับภาพรถยนต์ญี่ปุ่นจมน้ำหลายร้อยคัน ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง ถือเป็นเรื่องราวครั้งแรก อุทกภัยคุกคามรุนแรง จากชุมชนเกษตรกรรมถึงภาคธุรกิจสำคัญที่เชื่อกันว่าควรได้รับการปกปองอย่างดี ภาพนั้นยังได้สะท้อนภาพความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นของระบบที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
เป็นความพยายามเชื่อมโยงถึงภาพการเปลี่ยนแปลงชุมชนเกษตรกรรมไทย ถือว่าเป็นรากฐานของสังคมนอกกรุงเทพ โดยเฉพาะชุมชนภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มเจ้าพระยาเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ”มาตั้งแต่ประวัติศาสตร์เกษตรกรรมพึ่งตนเอง จนถึงยุครุ่งเรือง–ข้าว กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ
ชุมชนเกษตรกรรมของภาคกลางอยู่ใกล้เมืองหลวงมากที่สุด หลายๆคนเลยทึกทักว่า ความอยู่รอดของสังคมเกษตรภาคกลางปัจจุบัน มาจากการพึ่งพิงเมืองหลวงเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่เมืองหลวง ซึ่งยอมรับกันต่อมาว่ามิใช่เพียงแรงงานราคาถูกเท่านั้น ยังรวมถึงแรงงานสมองของมนุษย์เงินเดือนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วยนอกจากนี้ ชุมชนเหล่านี้ได้รับอิทธิพลว่าด้วยวิถีชีวิตของสังคมเมืองมากที่สุดด้วย
ในช่วงสงครามเวียดนามและต่อเนื่อง มีภาพการเปลี่ยนแปลงที่มักมองจากเมืองหลวงหรือที่ตัวเมืองหลวงเองเป็นสำคัญ มีมิติสองด้านเกิดขึ้น ด้านหนึ่ง-การเคลื่อนย้ายแรงงานจากชุมชนเกษตรกรรม มาสู่เมืองหลวง เข้าสู่ภาคการผลิตพื้นฐาน และภาคบริการ
อีกด้านหนึ่ง-การขยายเครือข่ายบริการทางธุรกิจจากเมืองหลวงสู่ต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายสัญญาณโทรทัศน์ให้สามารถชมรายการเดียวกันทั่วประเทศ การขยายเครือข่ายโทรศัพท์ในเขตนอกเมืองหลวง ตลอดจนเครือข่ายค้าส่ง ค้าปลีก เป็นสัญญาณว่าชุมชนเกษตรกรรมที่อาศัยเงินจากเมืองหลวง คือลูกค้าใหม่ที่ควรบริโภคสินค้าจากเมืองหลวง
แต่ความจริงการเปลี่ยนแปลงของชุมชนเกษตรโดยเฉพาะภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ได้เปลี่ยนแปลงอย่างเงียบๆที่มากกว่านั้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรากฐาน โดยเฉพาะมีความเชื่อมโยงกับการการผลิตพื้นฐานในเชิงอุตสาหกรรมระดับโลก
ตามประวัติศาสตร์แล้วชุมชนเกษตรกรรมภาคกลาง มีเรื่องราวเฉพาะเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมมาบ้าง จากความพยายามของของกลุ่มธุรกิจอิทธิพลไทย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และในช่วงเริ่มต้นสงครามเวียดนาม
นั่นคือโรงงานปูนซิเมนต์ไทยที่ ท่าหลวง อยุธยา ตั้งแต่ปี2491 โรงงานท่าหลวง เริ่มต้นเป็นฐานสำรองโรงงานหลักบางซื่อ ในช่วงนั้นบางซื่อประสบปัญหาได้รับความเสียหายจากสงครามโลก โรงงานท่าหลวงเป็นเพียงผู้ผลิตปูนเม็ด แล้วขนส่งทางรถไฟและทางเรือมายังโรงงานบางซื่อเพื่อบดเป็นปูนซีเมนต์ผงสำเร็จรูปต่อไป หลังจาก 5 ปีต่อมาโรงงานท่าหลวงเริ่มต้นเป็นโรงานผลิตปูนซีเมนต์เต็มรูปแบบ ในระยะนั้นปริมาณความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของภาคกลางตอนบน ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น
การสร้างโรงงานท่าหลวงเป็นแนวคิดการสร้างเมืองอุตสาหกรรมที่มีลักษณะพึ่งตนเองอย่างสมบูรณ์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็นอย่างครบถ้วน เช่น มีโรงไฟฟ้าไว้ใช้เอง สร้างสายไฟแรงสูงมีความยาวถึง 10 กิโลเมตรจากโรงงานจนถึงบ่อดินขาวซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงาน ทั้งนี้ยังมีปริมาณเหลือพอจะให้บริการแก่ชุมชนในย่านนั้น
ในเวลาต่อมาโรงงานท่าหลวงได้สร้างโมเดลการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่สัมพันธ์กับชุมชน มีความเกื้อกูลกัน สร้างชุมชนให้เติบโต เป็นเมืองที่สมบูรณ์ในตนเอง เป็นต้นแบบและบทเรียนของอุตสาหกรรมในการอยู่กับชุมชนเกษตร
อุตสาหกรรมผลิตซีเมนต์ขยายตัวไม่หยุดยั้ง ท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงการขยายระบบสาธารณูปโภคในช่วงต้นสงครามเวียดนาม บริษัทชลประทานซีเมนต์ เปิดโรงงานที่ตาคลี นครสวรรค์ในปี 2502 จากนั้นในปี 2512บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง ด้วยการสนับสนุนจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นธนาคารของกลุ่มรัตนรักษ์ เกิดขึ้นที่อำเภอแก่งคอย สระบุรี ในจังหวะเดียวกันที่ปูนซิเมนต์ไทยได้ตั้งโรงงานแห่งใหม่ในบริเวณใกล้เคียงกัน
การขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังสงครามเวียดนาม และสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน ชุนชนเกษตรกรรมลุ่มเจ้าพระยา จึงเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง โดยส่วนหนึ่งมาจากแรงกระตุ้นของนโยบายภาครัฐ สร้างแรงจูงใจในการลงทุนในต่างจังหวัด ถือเป็นการขยับขยายฐานการผลิตจากฐานการผลิตเก่า–กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร และต่อเนื่องจากการสร้างใหม่ที่เชื่อกันว่าเป็นโมเดลความสำเร็จในชายฝั่งทะเลตะวันออก
โครงการแรกๆที่น่าสนใจ คือโรงงานของกลุ่มมินิแบบ แห่งญี่ปุ่นที่เข้าลงทุนในพื้นที่จังหวัดอยุธยา ถือเป็นการปรับตัวของธุรกิจญี่ปุ่นครั้งใหญ่ อันเนื่องจากปัญหาค่าเงินของญี่ปุ่นที่แข็งค่าเกินไปด้วย
กลุ่มเครือมินิแบที่เข้ามาไทยในปี 2525 ก่อตั้งโรงงานในพื้นที่อำเภออุทัย อยุธยา ริมถนนสายเอเชีย เป็นโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เพื่อส่งออกไปยังโรงงานผลิตสินค้าสำเร็จรูป โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป
กลุ่มมินิแบเลือกที่อยุธยา ด้วยความเหมาะสมหลายประการ ความสะดวกในการคมนาคม เป็นเขตที่มีแรงงานฝีมือรองรับเพียงพอ เป็นเขตที่ปลอดมลภาวะและที่สำคัญที่สุดต้นทุนแรงงานต่ำกว่าเขตกรุงเทพฯ ต่ำกว่าสิงค์โปร์ และญี่ปุ่นอย่างมากๆ นอกจากนี้หน่วยงานการสงเสริมการลงทุนของไทย ยังอัดฉีดสิทธิพิเศษอีกหลายประการ
ตามประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ญี่ปุ่นกับชุมชนเกษตรภาคกลาง มีมาตั้งแต่สมัยกรุศรีอยุธยา ร่องรอยของหมูบ้านญี่ปุ่นซึ่งเป็นสถานทีท่องเที่ยวสำคัญในปัจจุบันเป็นหลักฐาน นอกจากนี้ในระยะใกล้เคียงกับการก่อตั้งและขยายตัวของโรงงานกลุ่มมินิแบ ด้วยความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นได้ก่อตั้งศูนย์การศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาขึ้น “นอกจากผังจำลองเมืองกรุงเก่าแล้ว พิพิธภัณฑ์ของศูนย์ศึกษาฯนี้มีลักษณะที่พิเศษแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นในประเทศคือ การที่พยายามสร้างชีวิต สังคม วัฒนธรรมในอดีตให้กลับขึ้นมาใหม่ด้วยข้อมูลการวิจัย (Research Based Reconstruction)”
กลุ่มมินิแบขยายตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากโรงงานแห่งแรกเสร็จปี 2527 ก็ตามมาด้วยโรงงานอีกสองโรงงาน ตั้งที่อำเภอบางปะอิน อยุธยา ริมถนนซุปเปอร์ไฮเวย์
จากนั้นมินิแบไทยจึงเปลี่ยนกลยุทธ์ในการลงทุนจากสามโรงงานแรก ซึ่งญี่ปุ่นถือหุ้นอยู่ 100% กลายเป็นกิจการร่วมทุน โดยเลือกผู้ร่วมทุนที่มีอิทธิพลและมีสายสัมพันธ์ในสังคมไทย บริษัทใหม่–ไทยเฟอร์ไรท์ในปี 2530 โดยมีธนาคารกรุงเทพและตระกูลโสภณพนิชถือหุ้น 25% ธนาคารไทยพาณิชย์และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 25% บริษัทเยาวราชของพิชัย รัตตกุล 2% ที่เหลืออีก 48% เป็นของมินิแบญี่ปุ่น
ต่อมาปี 2531 ก่อตั้งอีกบริษัท มินิแบและผู้ถือหุ้นชาวญี่ปุ่น พยายามขอครอบครองหุ้นข้างมากโดยถือหุ้น 55% ขณะที่กลุ่มธนาคารกรุงเทพ-โสภณพนิช และกลุ่มไทยพาณิชย์-สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้นกลุ่มละ 15% บริษัทเยาวราช 5% เครือเจริญโภคภัณฑ์ 5%
ว่าไปแล้วกิจการกลุ่มมินิแบบขยายตัวตลอดเวลา แม้ในช่วงวิกฤติการณ์ปี2540 ปัจจุบันมีเครือข่ายกิจการ7แห่งตั้งอยู่นกลุ่มโรงงาน4 แห่งในจังหวัดลพบุรี ที่สำคัญในจังหวัดอยุธยา มีสองแห่งที่เป็นกลุ่มโรงงานของตนเอง ที่อำเภออุทัย และบางปะอิน นอกจากนี้ยังมีโรงงานสวนอุตสาหกรรมโรจนะที่มีปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้ด้วย
ความหมายสำคัญของสวนอุตสาหกรรมโรจนะ นอกจากเป็นความต่อเนื่องแห่งความสัมพันธ์รากฐานมั่นคงระหว่างชุมชนเกษตรภาคกลางกับธุรกิจอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่ต่อเนื่อง ยังถือเป็นความสัมพันธ์ที่กว้างขึ้นในยุคหลังวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของไทย
“สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด เป็นบริษัทใหญ่ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2531 ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์– โครงการเขต/สวนอุตสาหกรรมเพื่อขาย พร้อมระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ มี 2 โครงการ โครงการที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในเขตส่งเสริมการลงทุนเขตที่ 2 บนเนื้อที่ 11,303 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่พัฒนาและกำลังพัฒนาแล้ว 8,235 ไร่ (แบ่งการพัฒนาเป็น 8 ระยะ), เนื้อที่รอการพัฒนา 3,068 ไร่ และโครงการที่ จ.ระยอง อยู่ในเขตส่งเสริมการลงทุนเขตที่ 3 บนเนื้อที่ประมาณ 2,373 ไร่ ซึ่งพัฒนาแล้วเสร็จพร้อมขาย “สรุปความมาจากข้อมูลของบริษัท(http://www.rojana.com ) นอกจากนี้กิจการได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2538
เท่าที่พิจารณาโครงสร้างผู้ถือหุ้น มีความสัมพันธ์กับ Sumitomo Warehouse แห่งญี่ปุ่นอย่างซับซ้อน ในฐานะกิจการมีเครือข่ายทั่วโลก ทั้งในสหรัฐ และยุโรป แต่ให้ความสำคัญมากที่เอเชีย มีเครือข่ายทั้งในสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ใต้หวั่น และโดยเฉพาะในประเทศจีน มีกิจการในหลายเมืองสำคัญ ทั้งนี้จึงมีโครงการใหม่ –สวนอุสาหกรรมที่Changzhouในนามสวนอุตสาหกรรมโรจนะในเวลาต่อมาด้วย
Sumitomo Warehouseเป็นธุรกิจใหญ่ในญี่ปุ่นในด้านคลังสินค้า และการบริหารขนส่งสินค้า แม้ว่าจะถือหุ้นสวนอุตสาหกรรมโรจนะประมาณ 30% แต่มีอิทธิพลต่อบริษัทมากถึงขั้นระบุไว้เป้นความเสี่ยงทางธุรกิจอันดับต้น” Sumikin Bussan Corporation(กิจการในเครือ Sumitomo )เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท โดยเป็นตัวแทนการจัดจำหน่ายที่ดินรายใหญ่ของบริษัท ซึ่งมีสัดส่วนการขายผ่านปีละประมาณ 70-80 ของการขายที่ดิน ทั้งนี้ Sumikin ได้รับผลตอบแทนในรูปของค่านายหน้าจากการขายที่ดิน ในอัตราร้อยละ 4 ของยอดขายที่ดิน ดังนั้นความเสี่ยงจากการที่ Sumikin อาจยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับบริษัท จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท อย่างมีนัยสำคัญ”(อ้างจากรายงานประจำปีล่าสุด)
ซึ่งให้ภาพต่อเนื่องว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ รวมทั้งที่อื่นๆในอาณาบริเวณใกล้เคียง(หลายร้อยแห่ง)คือโรงงานของธุรกิจญี่ปุ่น
นี่เป็นเพียงภาพสะท้อนกว้างๆ หนึ่งในอีกหลายภาพ หลายมิติ ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างชุมชนเกษตรกรรมรากฐานของไทย กับระบบเศรษฐกิจโลก
จำเป็นต้องขยายความในตอนต่อๆไปอีกมาก
มติชนสุดสัปดาห์ 14 ตุลาคม 2554
ขอความเห็นของอาจารย์วิรัตน์เรื่อง…การขุดแม่น้ำสายใหม่ขนาดใหญ่ (คิดเองครับอาจารย์) กว้างตั้งแต่ สาม ถึง ห้า กิโลเมตร ลึกตั้งแต่ สามสิบถึงสี่สิบเมตร เส้นทางใหม่จากเขื่อนป่าสักถึงแม่น้ำบางปะกง ระหว่างทางมีอ่างเก็บน้ำเป็นระยะและส่งเสริมการปลูกพืชเกษตร และใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าและเส้นทางท่องเที่ยวแหล่งใหม่ของภาคกลางตอนล่างสู่ภาคตะวันออกครับ อาจารย์