FAQ

ส่วนหนึ่งเป็นคำถามจากผู้อ่านและเพื่อนฝูง และอีกส่วนหนึ่งก็คือคำถามที่ควรถามตัวเองด้วย  ในฐานะคอลัมนิสต์เขียนที่นี่มาครบหนึ่งปี (นับจำนวนบทความ  มิใช่นับจากวันเริ่มต้น)  ขออนุญาตอรรถาธิบายเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับงานเขียนตนเองสักครั้ง

จุดเริ่มต้นมีความคาดหวังอย่างไร

เป็นกระบวนการเรียนรู้  มิใช่ความคาดหวัง   เพียงระยะหนึ่งพบว่างานเขียนของตนเองมีลักษณะแตกต่างจากแนวทางหลักของมติชนสุดสัปดาห์  นิตยสารรายสัปดาห์แนวการเมือง และสังคม  เรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจ(กล่าวอย่างกว้างๆถือเป็นแนวเดียวกับข้อเขียนของผม) เป็นเพียงส่วนประกอบ   บทความของผมก็ถือเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นของผู้อ่าน  เป้นความหลากหลายและผสมผสานในเชิงเนื้อหาของนิตยสารฉบับนี้บ้างไม่มากก็น้อย

ผมมาอยู่ท่ามกลางผู้อ่านกลุ่มใหม่ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยอ่านข้อเขียนของตนเองมาก่อน  ถือเป็นเรื่องตื้นเต้นพอสมควร   ขณะเดียวกันไม่ได้คาดหวังว่า ผู้อ่านเดิมซึ่งเคยติดตามงานของผมมาก่อนหน้านี้จะตามมาอ่านที่นี่

ในกระบวนการเขียนแต่เรื่องนั้น โดยเนื้อแท้คือการพัฒนา“ระบบข้อมูล” และระบบความคิดของตนเอง แต่ในกรณีผม เนื่องจากหยุดเขียนไปพักใหญ่ จึงมีความหมายพอสมควร ในแง่ข้อมูลเก่าของผมซึ่งจัดระบบไว้พอสมควรในฐานข้อมูลตนเอง เป็นข้อมูลที่กำลังจะล้าสมัย ย่อมมีโอกาสได้ปรับปรุง ทันสมัยขึ้น ที่สำคัญความคิดและความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ต่างๆในสังคมที่ขาดหายไปช่วงหนึ่ง จะกลับมีภาพที่ต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้น 

 แนวทาง “เนื้อหา”เปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่อย่างไร

แรกๆพยายามวาดภาพกลุ่มผู้อ่าน  และความคาดหวังของผู้อ่าน  คิดอยู่บ้างเหมือนกันว่า จะพยายามเสนอเรื่องราวหรือจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทาง หรือไม่อย่างไร   ในที่สุดสรุปว่าคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลง ในฐานะคนๆคนหนึ่งที่เขียนหนังสือมายาวนานระยะหนึ่ง  จะเปลี่ยนกันในตอนนี้คงไม่สามารถทำได้   เลยให้เหตุผลอย่างหยาบๆ ว่าถ้าเป็นอย่างนั้นก็ดูไม่เป็นตัวเอง 

อย่างไรก็ตามผู้อ่านหลายคนเคยอ่านข้อเขียนผมมานานและต่อเนื่องบอกว่าแนวความคิดของข้อเขียนของผมเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร

ในช่วงก่อนปี2540  ข้อเขียนของผมส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์สังคมธุรกิจไทยอย่างมาก  เขาเป็นวิเคราะห์ และติดตามสังคมธุรกิจมานาน จนสามารถอธิบาย และทำนายพฤติกรรมทางธุรกิจได้……ข้อเขียนของเขามาเพียงให้ความรู้แต่ยังเป้นกระจกสะท้อนวิวัฒนาการสังคมธุรกิจไทยได้อย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมธุรกิจไทยในยุคฟองสบู่”ตอนหนึ่งที่ดร.สมคิด  จาตุศรีพิทักษ์(ตอนนั้นเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาธุรกิจหลายแห่ง แต่ยังไม่ได้เป็นนักการเมือง)เขียนไว้ในปกหลังหนังสือเล่มหนึ่งของผม( อำนาจธุรกิจใหม่ 2541 ) ว่าไปแล้วเป็นคำโฆษณาขายหนังสือเล่มที่นิยมทำกัน แต่ข้อความบางตอนสะท้อนความจริงที่ว่าข้อเขียนในช่วงนั้นสะท้อนภาพ  สังคมธุรกิจไทยในยุคฟองสบู่”

เมื่อกลับไปอ่านข้อเขียนเก่า รู้สึกเช่นนั้น มีอารมณ์รุนแรงพอใช้ ในปฏิกิริยาเชิงลบต่อกระบวนวิศวกรรมทางการเงิน” (การบริหารกลไกลทางการเงิน อาทิ ยกระดับราคาหุ้นในตลาดหุ้น และการกู้เงินต่างประเทศมาซื้อ-ขาย-ครอบงำกิจการอย่างขนานใหญ่ ฯลฯ)   เพื่อวาดภาพอาณาจักรทางธุรกิจให้ยิ่งใหญ่ โดยไม่มีพื้นฐานการผลิตจริง (Real sector) แม้ว่าจะเป็นการมองโลกในแง่ร้าย และส่งสัญญาณอย่างมากมายในช่วงนั้น แต่ก็ไม่มีผลอะไรนัก จากนั้นธุรกิจไทยก็เดินสู่หุบเหวของความกลัว และความตกต่ำในช่วงวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ของสังคมไทย แม้จะเป็นจริงตามแนวความคิดของบทความช่วงนั้น แต่เป็นเพียงภาพสะท้อนของความคิดคนๆหนึ่งต่อสถานการณ์ช่วงใดช่วงหนึ่งเท่านั้น

เช่นเดียวกันบทความหลายๆชิ้นในปัจจุบัน มีความโน้มเอียงชัดเจน มุ่งสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงในชุมชน  หัวเมืองและชนบท โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ ว่าด้วยการสร้างเครือข่ายและอิทธิพลอย่างรวดเร็วและรุนแรงไปสู่หัวเมือง ชนบท พยายามส่งสัญญาว่าควรดำเนินแผนการอย่างละเอียดอ่อน แทนที่มุ่งขยายตัวด้วยเหตุผลทางธุรกิจเท่านั้น โดยไม่สนใจผลกระทบในระยะยาวในมิติต่างๆต่อภาคเศรษฐกิจชุมชน อาจจะรวมถึง “คุณค่า”ของระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวมด้วย

มีคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะที่ตั้งใจจะไปปักหลักชีวิตปั้นปลายอยู่ชนบท จึงสนใจเรื่องนี้อย่างมาก  คงไม่ใช่เชนนั้น  แท้จริงเป็นภาพสะท้อนของความวิตกจริตของคอลัมนนิสต์คนหนึ่ง  เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนปี2540      

ด้วยความเชื่อว่าจากนี้ไปความเปลี่ยนแปลงของชนบท ซึ่งเริมต้นมาระยะหนึ่งอย่างเห็นภาพชัด คาดกันว่ากำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น   จากทั้งปัจจัยโลกาภิวัฒน์ และแรงบันดาลใจ แรงบีบคั้นของธุรกิจท้องถิ่น  ขณะเดียวกันเชื่อว่าจะมีแรงปะทะ  เป็นปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงขึ้น ยากจะคาดการณ์และควบคุมมากขึ้น ซึ่งความจริงก็ปรากฏออกมาแล้วในบางมิติ   บางคนคิดว่าผมมุ่งวิจารณ์ธุรกิจขนาดใหญ่กรุงเทพฯ คงจะเป็นเช่นนั้น ในฐานะตัวละครสำคัญ คุมเกมการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ได้ระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญมากกวานั้น  กลับคิดว่าเป็นการส่งสัญญาณให้ธุรกิจในกรุงเทพฯ ปรับตัว  เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น  “เปลี่ยนเสียก่อนที่จะถูกบังคับให้เปลี่ยน” เป็นหลักการบริหารพื้นฐานของนักบริหารสมัยใหม่อยู่แล้ว มิใช่หรือ

ทำไม่ใช้ภาษาอังกฤษในข้อเขียน  ดูเป็นจริตที่ขัดแย้ง

ผมเชื่อมั่นว่าคำศัพท์ภาษอังกฤษ ว่าด้วยคำนาม โดยเฉพาะ ชื่อคน บริษัท ผลิตภัณฑ์ เป็นข้อมูล(Information) ที่มีคุณค่าของตัวเอง เป้นความรู้ ส่วนคำอ่านภาษาไทยเป็นเพียงคำอ่าน คำนามเหล่านั้นสามารถจดจำ และเข้าใจได้แม้จะอ่านออกเสียงไม่ถูกต้องก็ตาม คำศัพท์เหล่านี้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง มีความหมาย และขยายความรู้จากนั้นต่อไป ส่วนในบางกรณี เป็นหัวข้อเรื่อง หรือประโยคสั้นๆ ก็เชื่อมั่นว่าผู้อ่านที่มีการศึกษามากขึ้นกว่าในอดีตมาก ย่อมเข้าถึงสาระได้   ผู้อ่านเคยเขียนจดหมายมาต่อว่า ผมเขียนผิดก็มี

ถือเป็นปกติของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ภาษาไทยได้พัฒนามาจากการศึกษาจากภาษาต่างๆ  ตามประวัติศาสตร์ที่เราได้เรียนและเข้าใจกันมาแล้ว     ยิ่งผู้อ่านในสังคมยุคสมัยนี้ด้วย ย่อมยอมรับพัฒนาการใหม่ได้อย่างดี  สังคมที่ชื่นชอบละครวนิดา พร้อมๆกับต้องการระบบเครือข่ายไร้สาย 3G      เป็นภาพสะท้อนว่าเป็นสังคมที่สามารถปรับตัวอย่างผสมผสาน และสมเหตุสมผลพอสมควร

ทำไมต้องอ้างอิงงานเขียนเก่าของตนเอง

ขณะเดียวกับการอ้างอิงข้อเขียนเก่าของตนเอง ผมก็อ้างอิงข้อมูลอื่นๆด้วยเช่นกัน

ปกติในฐานะคอลัมนิสต์คนๆหนึ่ง ย่อมมีพื้นฐานข้อมูลและความคิดเดิมของตนเองเป็นฐาน ในการสร้างความต่อเนื่องของบทความและความคิดใหม่ๆ   การอ้างอิงข้อมูลเก่า หรืองานชิ้นเก่า ดำเนินไปอย่างอัตโนมัติหรือเป็นธรรมชาติของคอลัมนิสต์ ส่วนใหญ่ ซึ่งผู้อ่านสัมผัสได้    แต่ในกรณีผมหยุดเขียนมาระยะหนึ่ง และมาลงพื้นที่ใหม่  ข้อเขียนเดิมที่มีจำนวนมากย่อมเป็นพื้นฐานข้อมูลสำคัญ ต่อเนื่องในปัจจุบัน เชื่อว่าแนวทางนี้นอกจากผู้อ่านสามารถเข้าใจเรื่องราว อย่างมีพัฒนาการต่อเนื่องได้มากขึ้น   ย่อมเข้าใจแนวความคิด ประหนึ่งทำความรู้จักผู้เขียนมากขึ้นด้วย

ที่สำคัญผมเชื่อมั่นในการอ้างอิงข้อมูลคนอื่นๆแต่ไหนแต่ไรมา การอ้างข้อมูลตนเอง เป็นเรื่องเชื่อมั่นและซื่อสัตย์กับตนเองเช่นเดียวกับการเคารพแหล่งข้อมูลอื่นๆก็อาจกล่าวเช่นนั้นได้  ทั้งนี้เป็นกรอบทีสำคัญด้วย หากจะเขียนบทความใหม่ต่อไป การอ้างอิงข้อเขียนเก่าๆซ้ำๆหลายครั้ง คงไม่ใช่เรื่องดีแน่  ดังนั้นประหนึ่งเป็นแรงบีบคั้นให้ตนเองพยายามแสวงหาข้อมูลใหม่มากขึ้น พัฒนาความคิดต่อไป

ส่วนอ้างอิงข้อมูลแหล่งอื่นโดยเฉพาะจากInternet โดยระบุแหล่งที่มานั้น ในระดับงานเขียนคอลัมน์หรือบทความที่มิใช่งานวิจัย จะถือเป็นมาตรฐานใหม่ที่น่าสนใจก็ไม่อาจกล่าวได้เช่นนั้น   ในฐานะเป็นผู้บุกเบิกและกำหนดกรอบเฉพาะตนเองเช่นนี้   ผมมองว่างานเขียนมีมิติมากกว่าเสนอ ข้อมูลและความคิด ยังเสนอกระบวนการทำงานที่มีมาตรฐาน โปร่งใส และตรวจสอบได้ด้วย

“เราเชื่อว่าInternet  มีข้อมูลข่าวสารที่ใช้ “ปัญญา”เลือกสรรและนำมาใช้ได้อย่างมากมาย ทั้งนี้เพื่อให้เราตอบสนอง  “ผู้อ่านได้ดีขึ้น ผู้อ่านแสวงหา“คุณค่า”จากการอ่านนิตยสารได้มากขึ้น”  นี่คือความคิดเดิม(ปี2546)ของผมในฐานะที่เป็นผู้บริหารสื่อ  ปัจจุบันก็ยังยึดมั่นเช่นนั้น (จากหนังสือInformation Architect  ปี2551ไม่ได้วางจำหน่าย—   รวมรวบเรื่องราว ความคิดและผลงานในฐานะผู้บริหารจัดระบบข้อมูลและสื่อ)

นี่อาจจะถือว่าแนวทางใหม่ของข้อเขียนชุดนี้ก็ว่าได้ เมื่องานเขียนเผยแพร่ประมาณสัปดาห์ละครั้ง  ในพื้นที่มีมากพอสมควร กับผู้อ่านกลุ่มใหม่  เชื่อว่าผู้อ่านต้องการงานเขียนที่มีเนื้อหาและข้อมูลพอสมควร  ขณะเดียวกันจากปฏิกิริยาการอ้างอิง ข้อความบางตอนของงานเขียนเก่าและแหล่งข้อมูลอื่น  ความเข้าใจในภาพใหม่ค่อยชัดขึ้น ว่าผู้อ่านต้องการแตกแขนงความรู้    ด้วยความต้องการอ่านข้อมูลที่เกี่ยวเนือง จากบทความชิ้นหนึ่ง ไปสู่บทความอื่นที่อ้างถึงมากขึ้น  ผมจึงเปิดBlog ขึ้นมา

Blogข้อคอลัมนิสต์ ขัดแย้งกับนิตยสารหรือไม่

ผมคิดตรงกันข้าม  ว่าแม้จะเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ  ก็มีบทบาทเสริมซึ่งกันและกันอย่างน่าสนใจ

“เนื้อหา (Content) ใช่เพียงข้อเขียน (text) เท่านั้น หากรวมถึงภาพ ศิลปะในการจัดหน้า แสง สี โดยให้อารมณ์ ความรู้สึก…และเนื้อหารวมๆ เหล่านี้มีมิติละเอียดอ่อนมากขึ้น  …กลายเป็นภาพรวมของหนังสือทั้งเล่มที่มีบุคลิก และความคิดของตนเองซึ่งสัมผัสได้ว่า มีความแตกต่างกับนิตยสารฉบับอื่นๆอย่างชัดเจน” ความคิดดั้ง้ดิ่มของผม   ก็ยังเชื่อเช่นนั้นอยู่ (อ้างจากหนังสือ Information Architect เช่นเดียวกัน)  ความขัดแย้ง ระหว่างสื่อเดิมกับสื่อใหม่เป็นเรื่องน่าหวาดกลัวเสมอ   หากเราไม่เข้าใจ  “คุณค่าที่แท้จริง”ของสื่อนั้นๆ

คอลัมน์ของผมเป็นชิ้นส่วนเล็กในนิตยสารรายสัปดาห์ ขณะเดียวข้อเขียนชิ้นหนึ่งได้ขยายพื้นที่จากPlace (มีอยู่อย่างจำกัด) สู่ Space (อย่างไม่จำกัด) น่าจะเชื่อได้ว่ามีประโยชน์ต่อผู้อ่านมากขึ้น ถือเป็นสร้างคุณค่าเชิงขยาย แม้เป็นเพียงชิ้นส่วนชิ้นเล็กๆก็ตาม

Blogของผมเป็นที่รวบรวมงานเขียนใหม่พร้อมด้วยงานเขียนเก่าทีเกี่ยวข้อง ด้วยการจัดระบบที่ต่อเนื่องและสัมพันธ์กัน กลายเป็นพื้นที่ในการแสวงหาความรู้อีกพื้นทีหนึ่ง เปิดสู่สาธารณะ ประหนึ่งเป็นการเปิดประตูมากขึ้น ทั้งจากผู้อ่านที่อ่านงานเขียนในBlogมากขึ้นด้วยความต้องการที่เพิ่มและแตกต่างจากผู้อ่านนิตยสารเดิม ขณะเดียวผู้อ่านใหม่ที่มาจากกระบวนค้นหาข้อมูลจากSearch engine มาอ่านข้อเขียนในBlog ย่อมมีบางส่วนมีแรงจูงใจไปอ่านบทความอื่นๆในนิตยสารด้วย

เครื่องมือของBlog เสริมบทบาทของการแสวงหา แตกแขนง และต่อยอดความรู้ จากข้อมูลด้วยระบบเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งผมถือว่าเป็นกลไกสำคัญ ในฐานะผู้ให้ความสนใจและมีประสบการณ์จัดระบบข้อมูลพอสมควร

บางสิ่งที่เกี่ยวกับ “ข้อมูล”

จากมีประสบการณ์กับ“ข้อมูล”มากพอสมควร จึงให้ความสำคัญและพยายามจัดการข้อมูลในบทความเสมอ   ด้วยความเชื่อว่าการจัดการกับข้อมูลไม่เพียงการจัดระบบในฐานข้อมูล และการเผยแพร่ในสื่อใหม่เท่านั้น แม้แต่บทความชิ้นหนึ่งในสื่อสิ่งพิมพ์ก็สามารถจัดระบบข้อมูลได้เช่นกัน

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ว่าด้วยอ้างอิงแหล่งข้อมูล  การจัดสรรพื้นที่ในบทความ ย่อมสามารถแบ่งเป็นเรื่องหลัก และเรื่องย่อย เป็นข้อมูลหรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนกันได้      ในกรณีมติชนสุดสัปดาห์มักใช้ลำดับเหตุการณ์ประกอบเรื่องราวที่พัฒนาต่อเนื่อง เป็นภูมิหลังของเรื่อง  แต่สิ่งที่ผมเคยทำมาเสมอแต่ไม่มีโอกาสได้ทำที่นี่คือChart และ Diagram (จากประสบการณ์ตรง บางกรณีการสร้างสิ่งนี้ อาจใช้เวลามากกว่าเขียนทั้งบทความ) เนื่องจากในฐานะคอลัมนิสต์อิสระที่ติดต่อกับบรรณาธิการทาง email เท่านั้น    ย่อมมีข้อจำกัด เป็นเรื่องยากในการสื่อสาร เกี่ยวกับการออกแบบ และตรวจสอบข้อมูลในลักษณะที่ซับซ้อนขึ้น

Chart และ Diagramไม่เพียงมีคุณค่าเชื่อมโยงกับเนื้อหาบทความ ยังมีรูปแบบที่น่าสนใจ หลากหลาย หากใช้เครื่องมือการออกแบบแบบใหม่ จะเป็นข้อมูลนำไปใช้อย่างอเนกประสงค์มากกว่าข้อความ (text) ด้วยซ้ำ ในระบบดิจิตัลทั้งหมดด้วย

ผมมองงานของตนเองอย่างมีข้อจำกัดจากฐานความรู้ และความเข่าใจ  หรือจะกล่าวว่ามีอคติเสมอก็ย่อมได้  แนวทางหลักของคอลัมนิสต์คนหนึ่งเป็นเพียงวัตรปฏิบัติของความคิด  ปฏิกิริยาต่อสถานการณ์ที่สัมผัสได้เท่านั้น

ขอบคุณผู้อ่าน ขอบคุณมติชนสุดสัปดาห์

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: