กรณีขายโรงแรมปาร์กนายเลิศ ดูเป็นเรื่องน่าสนใจ ชวนให้ตีความยิ่งนัก
(1)
กรณีโรงแรมปาร์กนายเลิศ ให้ภาพและจินตนาการเชื่อมโยงตำนานธุรกิจกว่า100ปีในยุคกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
เรื่องราวเริ่มต้นมาจากผู้ก่อตั้ง — เลิศ เศรษฐบุตร หรือ พระยาภักดีนรเศรษฐ (2415-2488) ผู้มีบทบาททางธุรกิจยุคเปลี่ยนผ่านนั้น
เรื่องราวเกี่ยวกับ นายเลิศ มีร่องรอยและหลักฐาน นับเป็นเรื่องน่าทึ่งทีเดียว เขาเป็นเพียงนักธุรกิจไม่กี่คนในประวัติศาสตร์กว่าศตวรรษ ยังมีผู้คนกล่าวถึงอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทิ้งร่องรอยให้ระลึกถึงในเชิงสร้างสรรค์ และเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเชื่อมโยงมิติทางสังคม อย่างโรงเรียน และโรงพยาบาล รวมทั้งบ้านนายเลิศเอง มักถูกกล่าวถึงในฐานะบ้านในตำนานเทียบเคียงกับยุคสมัยกรุงเทพฯ(Nai lert Park Heritage Home เพิ่งเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้เมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วยเรื่องเล่ามากมาย– http://www.nailertparkheritagehome.com/ และwww.facebook.com/4nailertparkheritagehome/posts) แม้กระทั่ง สิ่งที่ไม่หลงเหลือผู้คนก็ยังระลึกถึง ในฐานะผู้บุกเบิกรถประจำทาง ในกรุงเทพฯ
คงต้องนับเป็นความสำเร็จอย่างยั่งยืน ไม่ว่าในมุมมองทางธุรกิจหรือในมิติอื่น
ยิ่งเรื่องราวโรงแรมปาร์คนายเลิศ กำลังจะปรับบทบาท(ศัพท์ที่น่าสนใจ เรียกว่า Regeneration) เป็นโรงพยาบาลมิติใหม่ เรียกว่าศูนย์สุขภาพครบวงจร ภายใต้ชื่อว่าBDMS Wellness Clinicว่ากันว่าเป็นแห่งแรกในเอเชีย (อ้างจากคำชี้แจงของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ 28 กันยายน2559) ก็ยิ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากขึ้นไปอีก
เรื่องราวนายเลิศ กับธุรกิจของเขา อาจเทียบเคียงกับบริษัทศตวรรษซึ่งมีบทบาทสำคัญทางประวัติศาสตร์ในยุคเดียวกัน อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์(ก่อตั้งปี 2449) และเอสซีจีหรือปูนซิเมนต์ไทย (ก่อตั้งปี2456)ได้ ทั้งนี้มีบางหลักฐานเชื่อมโยงถึงกัน ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย (ตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์) ปรากฏหลักฐาน ตู้เซพเก่าแก่ธนาคารแห่งแรกของไทย ว่าซื้อมาจากห้างนายเลิศ สะท้อนถึงกิจการธุรกิจนำเข้าสินค้าจากตะวันตก เช่นเดียวกับกรณียุคก่อตั้งโรงงานซีเมนต์แห่งแรกในประเทศไทย ปรากฏหลักฐานเอกสารบางชิ้น แสดงความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้าซีเมนต์โดยกิจการเดินเรือในแม่น้ำของนายเลิศ
ถือเป็นช่วงสำคัญช่วงเดียวกัน กับการกำเนิด “ปาร์คนายเลิศ” กับ บ้านนายเลิศ ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ซึ่งกำลังกล่าวถึง
มีข้อมูลจากบางแหล่ง(หนังสือ Heritage Homes of Thailand โดย Ping Amranand และWilliam Warren จัดพิมพ์โดย Siam Society Under Royal Patronage 1996 ) กล่าวถึงบ้านนายเลิศ (Nai Lert House) แตกต่างออกไปบ้าง ระบุว่าปี2458นายเลิศซื้อที่ดินจำนวน65 ไร่จากราชนิกูลคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ที่ห่างไกลความเจริญ ด้วยเชื่อมั่นว่ากรุงเทพจะขยายตัวจากศูนย์กลางเมืองหลวงเวลานั้นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ออกไปทางทิศตะวันออกอ้างอิงคลองแสนแสบ เชื่อกันว่าเป็นมุมมองนักธุรกิจซึ่งมีกิจการเดินเรือ “เรือขาว” ในคลองแสนแสบ (จาก หนองจอก มีนบุรี ถึงประตูน้ำ )ซึ่งควรถือเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย
หนังสือดังกล่าวระบุด้วยว่า นายเลิศได้ปลูกต้นไม้โดยเฉพาะต้นจามจุรี(Rain tree)ไว้ จนกลายเป็นสวนร่มรื่น “”ปาร์คนายเลิด” เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนไทยในสมัยนั้น ท่านสร้างสนามและปลูกต้นไม้ไว้มามายเพื่อให้เด็กๆ ได้มาเที่ยวเล่น ลูกเสือก็ได้ใช้เป็นที่ผักแรม ใช้สนามเป็นที่ฝึกใช้ระเบียงบ้านเป็นที่นอน และยังได้กระโดดน้ำ ในสระอย่างสนุกสนานอีกด้วย แม้จะดูสับสนวุ่นวายบางท่านก็พอใจ เพราะท่านเองก็ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่นี้ด้วย” นี่คือส่วนหนึ่งประวัตินายเลิศเพิ่มเติมเสริมขึ้น ปรากฏในwebsiteโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ (โรงเรียนซึ่งนายเลิศมีบทบาทในก่อตั้งขึ้นริมคลองแสนแสบเมือปี2454 –http://www.sbp.ac.th/) คงเป็นที่มาของ “ปาร์คนายเลิศ”
ต่อมาในปี2465 นายเลิศได้ขายที่แปลงดังกล่าวออกไปส่วนหนึ่งจำนวนถึง28 ไร่ ให้สถานฑูตอังกฤษ ซึงมีแผนจะย้ายออกจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาอันพลุกพล่าน (อ้างจากหนังสือ Heritage Homes of Thailand บทที่กล่าวถึงBritish Embassy Residence) จากนั้นได้สร้างสถานทูตและบ้านพักเอกอัครราชทูตขึ้นแล้วเสร็จในปี2570 นับเป็นความสำเร็จในแผนการขยายเมืองไปยังฝั่งตะวันออก ทั้งนี้ให้ข้อมูลคร่าวๆด้วยว่า นายเลิศได้สร้างบ้านตนเองขึ้นใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจในวันหยุด โดยย้ายมาอยู่อย่างเป็นจริงจังหลังจากสถานทูตอังกฤษ1 ปีให้หลัง
ควรย้อนกล่าวถึงการเริ่มต้น “รถเมล์ขาว” ถืออยู่ในช่วงเดียวกันกับ “ปาร์คนายเลิศ”
เรื่องเล่าสำคัญ(เล่ากันอีกครั้ง)อย่างมีสีสัน หลายแหล่ง หลายเวอร์ชั่น คือกำเนิดกิจการรถประจำทางในกรุงเทพฯ ข้อมูลของขสมก.(http://www.bmta.co.th/ )ดูจะเป็นทางการ สะท้อนประวัติศาสตร์พัฒนาการกรุงเทพฯ กิจการ “รถเมล์ขาว”ถือเป็นธุรกิจสำคัญของนายเลิศ เรื่มต้นขึ้นพร้อมๆกับโรงงานซีเมนต์แห่งแรกก็ว่าได้(ปี2456) และได้จบลงในอีกกว่า60ปีต่อมา เชื่อว่าเป็นผลกระทบต่อเนื่อง จากวิกฤติการณ์น้ำมัน ในที่สุดขสมก.(องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม)ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ในช่วงก่อนหน้าเหตุการณ์6 ตุลาคม2519 ไม่กี่วัน
จุดจบ “รถเมล์ขาว”นั้นถือว่าได้ผ่านยุคบุกเบิก–ยุคนายเลิศ มาสู่รุ่นที่2 แล้ว – ยุคคุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ (2462-2553) บุตรีคนเดียว (แต่งงานกับพินิจ สมบัติสิริ อดีตอธิบดีกรมการศาสนา ผู้ผ่านการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากฝรั่งเศส-สวิสเซอร์แลนด์)
เชื่อว่ากิจการ “รถเมล์ขาว”คงมีอิทธิพลอย่างต่อเนื่องในรุ่นที่ 2 จนมาถึงช่วงเปลียนผ่านจากกิจการเอกชน สู่กิจการร่วมทุนกับรัฐช่วงสั้นๆ ก่อนจะมาเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น คงถือว่าเป็นกระบวนการที่ควรเป็นไป เวลานั้นคุณหญิงเลอศักดิ์ อยู่ในตำแหน่งทางสังคมและการเมืองที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในช่วงต้นๆเปลี่ยนเป็นขสมก.รัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคมนั้น จะโดยความบังเอิญหรือไม่ก็ตาม คุณหญิงเลอศักดิ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการคมนาคม (ยุครัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร) ในช่วงสั้นๆ (22 ตุลาคม 2519 – 20 ตุลาคม 2520) ช่วงนั้นพอดี
ว่าไปแล้วธุรกิจนายเลิศ มีความต่อเนื่องอย่างน่าทึ่งและโดดเด่น หลังจากหมดยุค “รถเมล์นายเลิศ” ไม่นาน ก็มาสู่ยุคโรงแรมปาร์คนายเลิศ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากนายเลิศจากโลกไปแล้วเกือบ40 ปี
โรงแรมปาร์คนายเลิศ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ36 ปีที่แล้ว หรือราวๆปี2523 เป็นช่วงยุคกรุงเทพกำลังพัฒนาเป็นเมืองสมัยใหม่อีกขั้น มีศูนย์การค้า โรงแรม ทางด่วน ฯลฯ คุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ (ซึ่งมีสามีเป็นสถาปนิก) มีความต้งใจและวางแผนการสร้างโรงแรมแห่งใหม่อย่างพิถีพิถัน บนพื้นที่ดินในบริเวณบ้านนายเลิศ ซึ่งมีทิ่ดินเหลืออยู่เกือบๆ40 ไร่คงอยู่มาตั้งแต่ยุคแรกๆ และนับเป็นครั้งแรกๆเครือโรงแรมระดับโลก– Hilton Worldwide แห่งสหรัฐฯ เข้าบริหารโรงแรมเมืองไทย ในฐานะโรงแรมห้าดาว ต่อเนื่องมานานกว่า2 ทศวรรษ
ผ่านมาถึงปี 2547 เมื่อมีการปรับปรุงโฉมรีโนเวตครั้งใหญ่โดยสถาปนิกระดับโลกชาวอเมริกัน Calvin Tsao พร้อมๆกับเปลี่ยนแปลงการบริหารมาเป็นเครือ Raffles Holdings แห่งสิงคโปร์ (ในปี 2544 Raffles Holdings ซื้อกิจการเครือข่ายSwissôtel)
อีกเพียงทศวรรษต่อมา การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้ง
(2)
กรณีขายโรงแรมปาร์กนายเลิศ บ้างก็ว่าเป็นปัญหาการปรับตัวของ“ทุนเก่า” ดูเป็นบทสรุปที่ง่ายเกินไป
ในปี 2549 สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย เปิดประมูลขายที่ดินบางส่วน(ประมาณ 10 ไร่) ด้านหน้าออกไป ดูเหมือนผู้คนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจความเป็นไปเกี่ยวข้องกับสถานทูตฯ มีแต่ (โดยเฉพาะในวงการธุรกิจ) ให้ความสนใจเกี่ยวกับราคาที่ดินที่สูงเป็นประวัติการณ์ กลายเป็นสถิติใหม่ ถึงตารางวาละ 950,000 บาท ถือกันว่าสูงที่สุดในประเทศไทยเวลานั้น
ที่ดินแปลงดังกล่าวสถานทูตอังกฤษซื้อมาจากพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร)ทั้งหมด 28 ไร่ตั้งแต่ปี2465 ซึ่งเป็นแปลงต่อเนื่องกับโรงแรมปารค์คนายเลิศ ปัจจุบันนั่นเอง
มีบางแง่มุม แผนการปรับปรุงสถานฑูตสหราชอาณาจักรครั้งใหญ่ ซึ่งขณะนั้นอยูในสภาพเก่าและทรุดโทรมพอสมควร โดยใช้เงินบางส่วนจากการขายที่ดิน(เพียงบางส่วน) ซึ่งซื้อมานานกว่า 80 ปี ในราคาเกือบๆ4, 000 ล้านบาท มองกันว่าเป็นแผนการอันหลักแหลม ว่าด้วยการบริหารการเงิน การบริหารจัดการทรัพย์สินฯ
ปัจจุบันได้เป็นที่ที่มีบทบาทใหม่( Regeneration) คือ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเอ็มบาสซี ณ มุมถนนเพลินจิตรตัดกับถนนวิทยุ ด้านหน้าสถานฑูตสหราชอาณาจักร ถัดไปตามถนนวิทยุ เป็นบริเวณบ้านนายเลิศ (Nai lert Park Heritage Home) และโรงแรมปาร์คนายเลิศ
ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเอ็มบาสซี เปิดบริการขึ้นในปี 2558 เชื่อว่าเป็นไปตามแผนการในความพยายาม ผนวกพลังศูนย์การค้ากลุ่มเซ็นทรัล (โดยเฉพาะเซ็นทรัลชิดลม-เอ็มบาสซี) เพื่อรักษาความเป็นศูนย์การค้าใจกลางเมืองหลวงท่ามกลางการพัฒนาให้ศูนย์กลางจับจ่ายใช้สอย (Shopping Paradise) ระดับภูมิภาค ภายใต้สถานการณ์การแข่งขันทีดุเดือด
ส่วนเรื่องราวโรงแรมปาร์คนายเลิศ ดูมีความซับซ้อนมากกว่ากรณีข้างต้น
โรมแรมชั้นหนึ่งแห่งใหม่ เปิดตัวขึ้นในราวปี2523 ด้วยงบก่อสร้าง (ขณะนั้น) เกือบๆ600 ล้านบาท ด้วยความมั่นใจในแผนการลงทุน แม้สังคมไทยเพี่งผ่านวิกฤตการณ์น้ำมัน วิกฤตสถาบันการเงินและตลาดหุ้นครั้งแรกๆ ขณะเดียวกันปรากฏความหวังใหม่ อุตสาหกรรมใหญ่กำลังเกิดขึ้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เชื่อกันว่าจะ “โชติช่วงชัชวาล”
ท่ามกลางยุคกรุงเทพ กำลังพัฒนาเป็นเมืองหลวงสมัยใหม่ มีศูนย์การค้า มีทางด่วน เริ่มมีเครือข่ายร้านฟาสต์ฟูดส์อเมริกัน ฯลฯ และนับเป็นครั้งแรกๆเครือโรงแรมระดับโลก– Hilton Worldwide แห่งสหรัฐฯ เข้าบริหารโรงแรมเมืองไทย—บริหารโรงแรมปาร์คนายเลิศ ด้วยความมั่นใจเช่นกัน ในช่วงเวลามองว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจ หลังจากกองทัพสหรัฐฯพ่ายแพ้สงครามเวียดนาม (2498-2518) ไปสักพัก กระแสทฤษฎีโดมิโนดูเหมือนแผ้วลงไป พร้อมๆกับขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยกำลังเสื่อมถอย
โรงแรมปาร์กนายเลิศ ผ่านยุคสมัยใหม่กรุงเทพฯ ที่เดินหน้าไม่หยุด ค่อนข้างราบรื่นราวๆ 2ทศวรรษ ต้องปรับตัวอีกครั้งหนึ่ง
–ผ่านวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี2540 ท่ามกลางการล่มสลายของ“ทุนเก่า” (คำนิยามของผมคือ กลุ่มธุรกิจไทยซึ่งก่อตั้งและเติบโตมาก่อนหน้ายุคสงครามเวียดนาม) อย่างแท้จริง อย่างเป็นขบวนการ ขณะที่ในภาพรวมเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรมอีกทอดหนึ่ง ดูจะฟื้นตัวเร็วกว่าธุรกิจอื่นๆ
–ขณะเดียวกัน ธุรกิจโรงแรมปรับโฉมหน้าไปมาก บุคคลิกใหม่ๆเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเกิดขึ้นและเติบโตของกลุ่มธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเอง มีหลายกรณีที่น่าสนใจ
Six Senses Resorts & Spas โดยริเริ่มของสามี(เชื้อสายอินเดีย เติบโตในอังกฤษ)- ภรรยา(บางแบบชาวสวีเดน)เปิดเครือข่ายโรงแรมหรูใหม่ สไตล์ตะวันออก แห่งแรกที่ Maldives ในปี2538 ก่อนจะขยายในภูมิภาคในช่วงคาบเกี่ยววิกฤติการณ์ “ต้มยำกุ้ง” รวมทั้งไทย(2542 )ด้วย และก็ไม่มีใครวิตกวิจารณ์ เมื่อได้ขายกิจการส่วนใหญ่(Six Senses Resorts & Spas )ไปในปี 2555 เหลือไว้เพียงบางส่วน(Soneva Group)
กรณี William Heinecke ชาวอเมริกันผู้บุกเบิกสร้างฐานธุรกิจในไทยภายใต้กระแสเชื่อมโยง ระหว่างอเมริกันกับสงครามเวียดนาม จนประสบความสำเร็จและขยายตัวในระดับโลก ปรับตัวครั้งใหญ่เช่นเดียวกัน ในปี2544ใช้ชื่อ “อนันตรา”(Anantara) ซึ่งเป็นเครือข่ายแบรนด์ตนเองเป็นครั้งแรก เป็น “เรือธง” ของกลุ่มธุรกิจโรงแรม โดยเปลี่ยนชื่อโรงแรมรอยัล การ์เด้น วิลเลจ เป็น “อนันตรา รีสอร์ท แอนด์ สปา หัวหิน”
ที่สำคัญ มีกรณีเกี่ยวข้องกับโรงแรม ปาร์คนายเลิศโดยตรง นั่นคือการเปลี่ยนการบริหารจากเครือโรงแรมอเมริกัน(Hilton Worldwide) ซึ่งสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องถึง 2ทศวรรษ มาเป็น Raffles Holdings (สิงคโปร์) ในต้นปี2547 อีกแง่หนึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของความผันแปร สะท้อนการปรับตัวของธุรกิจโรงแรมระดับโลก
Raffles Holdings ก่อตั้งขึ้นจากการปรับโครงสร้างใหญ่ในปี 2538 อยู่ภายใต้เครือข่าย Temasek Holdings กิจการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ต่อมาในช่วง ปี 2544 ได้เข้าซื้อเครือข่ายโรงแรมSwissôtel หลังจากมีข้อตกลงบริหาร และเพิ่งทำการปรับปรุง(Renovation ) กับโรงแรมปาร์กนายเลิศ ยังไม่ทันไร การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นอีกครั้ง เป็นครั้งสำคัญเสียด้วย ในกลางปี2548 Raffles Holdings ได้ขายกิจการทั้งหมดให้กับ FRHI Hotels & Resorts แห่งแคนาดา
ปี 2547โรงแรมปาร์กนายเลิศ ปรับโฉมครั้งใหญ่ ด้วยงบถึง 600ล้านบาทโดยสถาปนิกระดับโลกชาวอเมริกัน Calvin Tsao ตามแนวความคิด “Merging a thoroughly modern and international sensibility with the traditional local culture, this renovation represents in stylistic terms the Tsao & McKown concept of ‘global ethnicity.’”( อ้างจาก http://www.tsao-mckown.com/)
ความจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงยังดำเนินไป ต่อมาในปลายปี 2558 เครือข่ายโรงแรมของ FRHI Hotels & Resorts (เจ้าของเครือFairmont Raffles และ Swissôtel) ได้ขายกิจการให้กลุ่ม Accor Hotels แห่งฝรั่งเศส ซึงมีเครือข่ายโรงแรมในเมืองไทยอยู่แล้วหลายแห่ง มีความสัมพันธ์กับเครือข่ายธุรกิจไทย หลายราย อย่างซับซ้อน (อาทิ เครือ Sofitel Pullman Mercure Novotel และ Ibis)
เชือกันว่าปรากฎการณ์ข้างต้น คงเป็นปัจจัยเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย ไปสู่การตัดสินใจครั้งใหญ่ นำพาโรงแรมปาร์กนายเลิศไปสู่ทิศทางใหม่ อย่างคาดไม่ถึง
เมื่อ 28กันยายน2559 บริษัทบางกอกดุสิตเวชการ(อ้างและสรุปความ จากเอกสาร แจ้งสารสนเทศการเข้าทำรายการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ ต่อ ตลาดหลักทรัพย์ฯ 28 กันยายน2559 )ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับ สัณหพิศ และพิไลพรรณ สมบัติศิริ (บุตรี คุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติสิริ) ในราคา 10,800 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย หนึ่ง–ทีดินโครงการปาร์กนายเลิศ ประมาณ 15ไร่ สอง- สิ่งก่อสร้างบนที่ดิน ที่สำคัญได้แก่ บางส่วนอาคารโรงแรม 6 ชั้น (พื้นที่28,600 ตารางเมตร จากทั้งหมด 40,300 ตารางเมตร) และอาคารสำนักงานPromenade 12ชั้น(พื้นที่ 31,000ตารางเมตร)
ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวได้อ้างว่า บริษัทซีบีอาร์อี(ประเทศไทย ) ซึ่งอยู่ในCBRE Group กิจการประเมินสินทรัพย์ระดับโลกแห่งสหรัฐฯ ได้ทำการประเมินสินทรัพย์ข้างต้นในราคา 11,3234 ล้านบาท พิจารณาอย่างคร่าวๆได้ว่า ตกราคาตารางวาละ1.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาประเมินที่ดินบริเวณสยามสแควร์ ชิดลม เพลินจิต ซึ่งถือว่าแพงที่สุดในประเทศไทย (อ้างจากรายงานของศูนย์ข้อมูลและวิจัยประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย เมื่อ27 เมษายน 2559)
น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ เจ้าของเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ที่สุดในประเทศ กล่าวกับสื่อในทำนอง “ได้ตึกมาฟรี”
(3)
ภาพกว้างกรณีปาร์กนายเลิศ สะท้อนแนวโน้ม และความเป็นไป สังคมเมืองหลวงได้อย่างน่าทึ่ง
เลิศ เศรษฐบุตร หรือ พระยาภักดีนรเศรษฐ นักธุรกิจผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 จนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อเนื่องด้วยบทบาทภรรยาและทายาท อย่างค่อยเป็นค่อยไปเข้าสู่ยุคสมัยใหม่กรุงเทพฯ
ปี2458 นายเลิศซื้อที่ดินซึ่งเรียกกันต่อมาว่า “ปาร์กนายเลิศ” (65ไร่) ด้วยเชื่อมั่นว่ากรุงเทพจะขยายตัวออกไปทางทิศตะวันออกอ้างอิงคลองแสนแสบ ช่วงเวลาเดียวกันอุตสาหกรรมสำคัญแห่งแรกของสังคมไทยได้เกิดขึ้น ณ ชานเมืองทางเหนือ- โรงงานปูนซิเมนต์ไทย (2456)ที่บางซื่อ
ความเชื่อ และความสามารถ “ขี่”วิวัฒนาการ ต้องควบคู่ด้วยแรงกระตุ้น ต่อมาไม่นาน(ปี2465) ที่ดินแปลงดังกล่าวตัดขายออกไปส่วนหนึ่ง(28ไร่)ให้สถานฑูตอังกฤษ เมื่อสถานทูตและบ้านพักเอกอัครราชทูตสร้างเสร็จในปี2470 บ้านและปาร์กนายเลิศ ได้เกิดขึ้นตามมาสมทบในที่ดินส่วนที่เหลือ
บทบาทนายเลิศมีเพียงแค่นั้น และแล้วสังคมไทยเข้าสู่ชะงักงัน ทั้งผลพวงสงครามโลกครั้งที่สองและความขัดแย้งทางการเมืองกว่าทศวรรษ จนเข้าสู่ช่วงใหม่ ยุคอิทธิพลสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ย่านที่พักอาศัยชั้นดี–สุขุมวิท เติบโตขึ้นแล้ว ตั้งแต่ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ชุมชนที่พักอาศัยของผู้มีฐานะเดิมได้รับผลกระทบ การย้ายถิ่นมาอยู่ที่ย่านใหม่ มายังย่านสุขุมวิท จึงเกิดขึ้นและขยายตัวขึ้นเป็นลำดับ
ว่าไปแล้วช่วงสงครามเวียดนาม ศูนย์กลางกรุงเทพฯขยายตัวครอบคลุมพื้นที่กว้างพอสมควร เมื่อมองผ่านการก่อสร้างอาคารใหม่ๆ— ตั้งแต่ปี 2500 โรงแรมเอราวัณ เกิดขึ้นบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ต่อมาปี2505เชื่อมเข้าสูย่านถนนพระราม 1 –เปิดตัว โรงแรมสยามคอนติเนนตัล (เครือโรงแรมระดับโลก– InterContinental Hotelของสายการบิน Pan Am แห่งสหรัฐฯ )กับศูนย์การค้าสยาม จากนั้นก็ไปถึงหัวถนนสีลม ด้วยการปรากฏขึ้นของโรงแรมดุสิตธานี(2513) ต่อมาไม่นานถนนสีลมกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ มีแรงดึงดูดอย่างมากในช่วงทศวรรษ2520-2530 โดยเฉพาะเป็นย่านสำนักงานธุรกิจการเงิน-ธนาคาร จนเรียกกันว่า “วอลล์สตรีทกรุงเทพฯ”
ก่อนที่โรงแรมปาร์คนายเลิศ เกิดขึ้นราวๆปี2523 โดยคุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ย่านนี้ได้เติบโตขึ้นมาก มีศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ (2516) และห้างเซ็นทรัลชิดลม(2517) อยู่ทำเลใกล้เคียงกับ ทั้งปาร์นายเลิศ กับย่านธุรกิจราชประสงค์-ถนนพระรามหนึ่ง รวมไปถึงชุมชนย่านสุขุมวิท
ปรากฏการณ์ในปี 2549 สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรฯ เปิดประมูลขายที่ดินบางส่วน (ประมาณ 10 ไร่) ซึ่งก็คือทีดินปาร์กนายเลิศ ที่ซื้อมาเมื่อกว่า80 ปีที่แล้ว เป็นการสร้างสถิติใหม่ ด้วยราคาที่สูงในประเทศไทย(เวลานั้น) ถึงตารางวาละ 950,000 บาท ต่อมาคือเซ็นทรัลเอ็มบาสซี(ศูนย์การค้าและโรงแรม) เริ่มเปิดบริการขึ้นในปี 2557
ภาพการเกิดขึ้นของ เซ็นทรัลเอ็มบาสซี เชื่อกันว่า เป็นไปตามกระแสและแรงกระตุ้น เชื่อมโยง กับการลงหลักปักฐานศูนย์กลางกรุเทพฯ อ้างอิงกับแหล่งจับจ่ายใช้สอยแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ในย่านเดียวกัน
ศูนย์กลางกรุงเทพฯกับแหล่งจับจ่ายใช้สอย (Shopping Paradise) ได้สถาปนาตนเองขึ้นอย่างมั่นคง กลายเป็นจุดอ้างอิง และแกนของพลังทางธุรกิจใหม่ที่น่าติดตาม ผมเคยนำเสนอว่าเป็นเรื่องน่าทึ่งศูนย์กลางที่ว่าเปิดตัวขึ้น(ปี 2548) หลังวิกฤติการณ์ทางเศรษฐครั้งใหญ่ไม่นาน—นั่นคือ ศูนย์การค้าสยามพารากอน (รวมทั้งโรงแรมสยาม เคมปินสกี้ ซึ่งเปิดตัวในปี2553 ด้วย) ในฐานะใจกลางของแม่เหล็กอันมีพลัง เมื่อผนึกผสานกับกับสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัพเวอรี่ ทั้งอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ เชื่อมกับฝั่งตรงข้ามถนน—สยามสแควร์ และ เอ็มบีเค เซ็นเตอร์
ในภาพกว้างๆความเปลี่ยนแปลงในเชิงภูมิศาสตร์ข้างต้น สะท้อนพลวัตรของกรุงเทพฯ ขณะที่บางมิติทางธุรกิจซึ่งอ้างอิงกับเมืองหลวงกับเมืองใหญ่ก็ขยับปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน
ธุรกิจพื้นฐานซึ่งอ้างอิงพัฒนาการเมืองใหญ่ มักเชื่อมโยงกับอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ สำนักงานธุรกิจ หรือ ธุรกิจโรงแรม คงไม่มีใครคาดคิดว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน จะเติบโตขึ้นมาเทียบเคียงได้ ขณะในภาพที่กว้างขึ้น คงไม่มีคาดคิดด้วยเช่นกันว่า จะเกิดการพัฒนาอย่างไม่สมดุลในบางมิติ หนึ่ง-บทบาทหน้าที่รัฐ ซึ่งตามไม่ทัน จึงเปิดช่องว่างอย่างมากมาย เกี่ยวกับภาระหน้าที่การบริหารเพื่อสาธารณะ ในกรณีนี้ คือการรักษาพยาบาล สอง-การเติบโตของชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ในสังคมไทย กับผู้มีฐานะในภูมิภาค ซึ่งต้องการการบริหารทางการแพทย์ที่แตกต่างจากเดิม เชื่อมโยงกันอย่างมีพลังด้วยโมเดลธุรกิจและการค้าสมัยใหม่
เรื่องราวเกี่ยวกับเครือโรงพยาบาลกรุงเทพฯ(ภายใต้ชื่อ เบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน))เคยนำเสนอไว้ค่อนข้างละเอียดพอสมควรเมื่อปี2556 ซึ่งไกล้ถึงเวลา update อีกครั้ง