กันยายน 2559–เรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจเบียร์ในระดับภูมิภาค เป็นกรณีศึกษาธุรกิจคลาสสิกทีเดียว
(1)
ปรากฏการณ์คึกคึก ครึกโครมล่าสุด เกิดขึ้นที่ประเทศเวียดนาม “ ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ทีสุดของโลก ทั้งจากยุโรป และเอเชียกำลังพาเหรดกัน เข้าแถว เพื่อช่วงชิงโอกาสซื้อหุ้นกิจการผลิตเบียร์ผู้นำตลาดในเวียดนาม ในดีลมีมูลค่าอย่างน้อยเกือบๆ 2พันล้านเหรียญสหรัฐฯ” (สรุปความมาจากประเด็นข่าวสำคัญของ Bloomberg เมื่อ 7 กันยายน2559)
ผู้ผลิตเบียร์ระดับโลกที่อ้างถึง ประกอบด้วย Heineken แห่งเนเธอร์แลนด์ ผู้ผลิตเบียร์อันดับหนึ่งของยุโรป และ Anheuser–Busch InBev หรือAB InBev กิจการผสมข้ามชาติ ทั้งจากเบลเยี่ยม บราซิล และสหรัฐฯ (มีสำนักงานใหญ่2 แห่ง ที่เบลเยี่ยมและบราชิล) เจ้าของเบียร์แบรนด์ระดับโลก–Budweiser, Corona ,Stella Artois และ Beck อีกรายที่แยกกันมาคือ SABMiller แห่งอังกฤษ(เจ้าของแบรนด์ระดับโลก–Fostersและ Miller) ซึ่งเพิ่งตกลงควบรวมกิจการกับAB InBev เมื่อปลายปี2558
ผู้เล่นระดับเอเชียที่น่าเกรงขาม มาจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะผู้ผลิตเบียร์อันดับ1และ 2ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดในญี่ปุ่นรวมกันมากกว่า70% ทั้งสองก่อตั้งขึ้นในเมืองเดียวกัน(โตเกียว) ในช่วงเวลาไม่ห่างกันนัก ซึ่งนานกว่า120 ปีมาแล้ว นั่นคือ Asahi และ Kirin
ผู้นำธุรกิจเบียร์แห่งยุโรป และญี่ปุ่นข้างต้น ล้วนแสดงบทบาทในระดับโลก มีความเคลื่อนไหว ขยายเครือข่ายขยายฐานการผลิตและตลาด รวมทั้งการซื้อกิจการ ควบรวมกิจการ(Merger &Acquisition) อย่างคึกคักโดยเฉพาะในช่วง2ทศวรรษที่ผ่านมา โดยหลายรายให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับภูมิภาคประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน(ASEAN Economic Community หรือ AEC) และเกี่ยวเนื่อง
โดยเฉพาะ Heineken แสดงบทบาทสำคัญในAECเป็นพิเศษ เชื่อว่าเป็นความต่อเนื่องมาจากยุคอาณานิคมดัชท์
Bintang Beer คือเบียร์ก่อกำเนิดขึ้นโดยอาณานิคมดัชท์ ที่เกาะสุราบายา (Surabaya) เมื่อประมาณ 90 ปีก่อนต่อมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่1 Heineken ได้ร่วมมือกับ Fraser and Neave ตั้งบริษัท Asia Pacific Breweries (APB)ผลิต Tiger beer ก่อนจะมาเป็นเครือข่าย Asia Pacificของ Heinekenอย่างเต็มตัวในฐานะผู้ผลิตเบียร์หลากหลายที่มีที่มาต่างวัฒนธรรม ทั้ง สิงคโปร์ อินโดนิเชีย เกาะไหหลำ(จีนแผ่นดินใหญ่) และ นิวซีแลนด์
ส่วน Kirinแห่งญี่ปุ่น เคยมีหุ้นข้างน้อยใน APB มาระยะหนึ่ง ที่จริงจังคือเข้าไป(ปี2552)มีหุ้นจำนวนมากทีเดียว(ประมาณ48%)ใน San Miguel เบียร์ของเก่าที่สุดของAECก็ว่าได้ ก่อตั้งมาตั้งแต่ยุคฟิลิปปินส์ถูกยึดครองโดยสเปน เมื่อกว่า 120 ปีที่แล้ว
ส่วนคู่แข่งรายสำคัญ อย่าง Asahi ในช่วงเดียวกัน(ปี 2552 ) ได้เข้าไปซื้อหุ้นกิจการเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ2ของจีนแผ่นดินใหญ่—Tsingtao Brewery ตั้งอยู่ที่มณฑลฉานตง(Shandong) เป็นโรงงานเบียร์ซึ่งก่อตั้งเมื่อกว่า 100ปีโดยผู้ตั้งถิ่นฐานชาวเยอรมัน ทั้งนี้โดยซื้อหุ้นจำนวนประมาณ20% จาก Anheuser-Busch InBev
เป็นที่น่าสังเกตุว่าทั้ง AB InBev และ SABMiller ซึ่งมีบทบาทไม่มากนักในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความพยายามกลับเข้ามาอีกครั้ง
ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของไทย ไม่ยอมพลาดเกมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งบุญรอดบริวเวอรี่(เจ้าของ “เบียร์สิงห์”)และไทยเบฟเวอเรจ(เจ้าของ “เบียร์ช้าง”) เสนอตัวเข้าร่วมการประมูล ถือเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่ง
“ปัจจุบันบริษัทมีศักยภาพพร้อมในการใช้เครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ เพื่อรองรับการซื้อกิจการใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกหุ้นกู้(บอนด์) เงินกู้ยืมสถาบันการเงินและกระแสเงินสด ซึ่งบริษัทจะเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีต้นทุนต่ำกว่าและมีความเหมาะสมในแต่ละเครื่องมือ ขณะที่สถานะทางการเงินของไทยเบฟเวอเรจมีความมั่นคง”สิทธิชัย ชัยเกรียงไกร กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ยืนยัน (อ้างจากข่าว “ไทยเบฟลั่นเงินพร้อมซื้อไซ่ง่อนเบียร์ แข่งประมูล2เจ้าตลาดโลกอาซาฮี-ไฮเนเก้น” ประชาชาติธุรกิจ 4 กันยายน 2559)
ไทยเบฟเวอเรจ มีประสบการณ์ในการซื้อกิจการในต่างประเทศโดยเฉพาะใน AEC ปัจจุบันมีเครือข่ายธุรกิจที่สำคัญในสิงคโปร์และเวียดนามด้วย อย่างไรก็ตามให้ความสำคัญในความพยายามขยายเครือข่ายไปสู่ธุรกิจมักไม่ให้ความสำคัญกับเครื่องดื่มอัลกอร์ฮอล์ อย่างกรณีดีลซื้อกิจการ Fraser and Neave แห่งสิงคโปร์ในช่วงปี 2555นั้น ไทยเบฟฯมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกรณี Fraser and Neave ตัดสินใจขายธุรกิจเบียร์(Asia Pacific Breweries หรือ APB) ให้กับ Heinekenด้วย
รวมทั้งกลุ่มทีซีซี(บริษัทแม่ของไทยเบฟฯ) เคยถือหุ้นเบียร์ลาว(Lao Brewery Companyหรือ LBC )เมื่อครั้งยังร่วมมือกับCarlsberg รวมกันถึง 50%(ราวปี2545) ต่อมาเมื่อแยกทางกับ Carlsberg (ปี2548 )หุ้นเบียร์ลาวในสัดส่วนดังกล่าวจึงตกเป็นของ Carlsberg
กรณีไทยเบฟฯจึงน่าสนใจยิ่งขึ้น ดูเหมือนเป็นการปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจอีกครั้ง
ตามแผนการรัฐบาลเวียดนาม จะขายหุ้นในกิจการผลิตเบียร์ 2 แห่ง ซึ่งรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ คือ Saigon Alcohol Beer and Beverages Corporation หรือ Sabeco (รัฐบาลถือหุ้นเกือบ90%) ผู้ผลิตเบียร์อันดับหนึ่ง มีฐานอยู่ที่เมืองไซง่อน(โฮจิมินท์ในปัจจุบัน) กับผู้ผลิตอันดับสอง–Hanoi Beer Alcohol and Beverage Joint Stock Corp (Habeco) หรือ HanoiBeer(รัฐบาลเวียดนาม ถือหุ้นประมาณ 82% โดยมี Carlsberg แห่งเดนมาร์ก ถือหุ้นกว่า 10% ) ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงฮานอยทั้ง Sabec oและHabeco ยึดครองตลาดเบียร์ในประเทศเวียดนามถึง60%
ทั้ง ๆที่มีแบรนด์ระดับโลกเข้ามาในตลาดนานพอพสมควร โดยเฉพาะ Sabecoโดยแบรนด์33 Beerยึดครองตลาดในสัดส่วนมากที่สุดถึง40% ทั้งมีเรื่องราวและตำนานที่ย้อนแย้งและมีสีสัน กลับไปในยุคสงครามเวียดนามเนื่องด้วย 33 Beer เป็นเบียร์ที่ชื่นชอบของทหารอเมริกัน(GI) จนเมื่อปี 2537 เข้าไปเปิดตลาดในสหรัฐฯ
ตามกำหนดการ การประมูลดังกล่าว จะเริ่มต้นก่อนสิ้นปี2559 ต่อเนื่องไปยังต้นปี2560 ดังนั้นเรื่องราวเบียร์เวียดนามจะปะทุขึ้นเป็นระยะ ๆเรื่องราวและดีล เบียร์เวียดนาม ไม่เพียงเป็นความสนใจ ความเป็นไปของระบบเศรษฐกิจประชาคมอาเชียนหากให้ภาพสะท้อน เรืองราว ตำนาน และความเข็มแข็ง ว่าด้วยแบรนด์เบียร์ในกลุ่มAEC ได้อย่างดี
———————————————————————————–
ตำนานเบียร์เออีซี
(ปีพ.ศ. ก่อตั้ง)
2433 San Miguel ก่อตั้งในประเทศฟิลิปปินส์
2433 โรงงานHanoi Brewery ก่อตั้งในเมืองฮานอย ในช่วงฝรั่งเศสยึดครองประเทศเวียดนาม
ช่วงต่อมาไม่นาน ราวหลังปี 2450 เบียร์ 33 Beer (โดย Sabeco ปัจจุบัน) ผลิตขึ้นในเมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม
2472 Bintang Beer ก่อตั้งขึ้นที่เกาะสุราบายา(ประเทศอินโดนิเชีย ปัจจุบัน)
2474 Tiger beer ก่อตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ในช่วงอาณานิคมอังกฤษยึดคอรง
2477 เบียร์สิงห์ ของบุญรอดบริวเวรี ขวดแรกผลิตขึ้น และวางจำหน่าย
2524 Lao Brewery Company ก่อตั้งขึ้นในประเทศลาว ด้วยความร่วมระหว่างนักธุรกิจฝรั่งเศสกับลาว
2538 เบียร์ช้าง ผลิตและวางจำหน่าย
ทีมา : ค้นคว้าและรวบรวมโดยผู้เขียน
(2)
เป็นเรื่องมหัศจรรย์ทีเดียว เบียร์เออีซี เป็นแบรนด์ทรงพลังมาก ๆ
ฐานะเบียร์แห่งชาติ
เบียร์ในAEC (ASEAN Economic Community) กลายเป็นสินค้า เป็นแบรนด์มีเอกลักษณ์ (Unique) และมีพลังอย่างเหลือเชื่อ ด้วยเชื่อมโยงกับ “สัญลักษณ์”ประเทศ ในมิติสำคัญๆ
ประการแรก เชื่อมโยงกับตำนานและเรื่องราวอย่างเฉพาะเจาะจง สะท้อนประวัติศาสตร์ และยุคสมัยแต่ละประเทศ กระแสท่องเที่ยวทั่วโลกเติบขึ้นอย่างมากช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผานมา เบียร์ในภูมิภาคกลายเป็นสินค้ายอดนิยม กลายเป็นสินค้าลักษณะท้องถิ่นที่มีฐานะระดับโลก
ประการที่สอง ตำนานการเกิดเบียร์ภูมิภาค สะท้อนสภาพธุรกิจ ลักษณะ “บุกเบิก” และ “ผูกขาด” ทั้งที่อาจเป็นไปตามการก่อตั้งโดยอำนาจและอิทธิพลแต่ละยุคแต่ละสมัย โดยเฉพาะเจ้าอาณานิคม และนักธุรกิจผู้มีสายสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ ทั้งเป็นไปได้ว่า เป็นการบุกเบิกธุรกิจภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด ภายใต้ตลาดที่ยังไม่เติบโต
ดังกรณีตัวอย่างจะขอยกมาอ้างอิง
San Miguel Beer แห่งฟิลิปปินส์ เกิดขึ้นมากว่า100 ปี ซึ่งอยู่ในยุคอาณานิคมย้อนกลับไปเกือบ5 ศตวรรษโดยเฉพาะอยู่ภายใต้การยึดครองของสเปนนานถึง300 ปี San Miguel Beer สามารถครองตลาดในประเทศอย่างเบ็ดเสร็จอย่างต่อเนื่อง ยาวนานจนถึงปัจจุบัน
Tiger beer แห่งสิงคโปร์ เกิดขึ้นมาในยุคอาณานิคมเช่นกัน ในช่วงเวลาเกาะสิงคโปร์เป็นส่วนหนึ่งของ Straits Settlementsภายใต้อาณัติของสหราชอาณาจักร ว่าไปแล้วการก่อตั้งกิจการใหม่ๆในสิงคโปร์เวลานั้นมักเกิดมาจากระบวนการการแสวงหาโอกาสใหม่ในโลกตะวันออก โดยผู้ประกอบการหน้าใหม่จากยุโรป เช่น การก่อตั้ง Fraser and Neave(2426) โดยหนุ่มชาวสก็อต เป็นไปตามโมเดล นำเทคโนโลยี่และสินค้าตะวันตก มาสู่ตลาดใหม่ๆ จนถึงปี2474ได้ร่วมมือกับผู้ผลิตเบียร์ชั้นนำของเนเธอร์แลนด์(Heineken)ซึ่งมีเครือข่ายในอาณานิคมดัชท์(อินโดนิเซีย ปัจจุบัน) ทั้งนี้ Tiger beer มีความพยายามแสดงบทบาทเทียบเคียงกับสิงคโปร์ยุคใหม่ยุคก่อตั้งประเทศ
ความจริงแล้ว “เบียร์สิงห์” ไทย เกิดขึ้นในช่วงไกล้เคียงกับTiger beer “–พระยาภิรมย์ภักดี ได้พบมิสเตอร์ไอเซนโฮเฟอร์ ผู้จัดการห้างเพาส์ปิกเคนปัก และได้ลิ้มรสเบียร์เยอรมันแล้วถูกใจและคิดว่าน่าจะทำขายในเมืองไทยได้ จึงได้ยื่นหนังสือขออนุญาตตั้งโรงต้มกลั่นเบียร์แห่งแรกของประเทศไทย ในปี 2473—2476 รัฐบาลไทยอนุมัติให้พระยาภิรมย์ภักดีผลิตเบียร์ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม–2477การก่อสร้างโรงเบียร์แล้วเสร็จในเดือนมีนาคมบริษัทบุญรอดฯ เปิดตัวเบียร์ยี่ห้อโกลเด้นไคท์และสิงห์” (อ้างจาก http://www.boonrawd.co.th )
มีเรื่องราวเล่ากันว่า Tiger beer พยายามจะเข้ามาขายในเมืองไทย ตั้งแต่ช่วงเบียร์สิงห์เริ่มต้น แต่ได้รับการต่อต้านอย่างหนักเบียร์สิงห์ “วิ่งเต้น” และ “ร้องขอ” ในที่สุดรัฐบาลไทยในยุคนั้นประกาศห้ามนำเข้า Tiger beer
กรณีเบียร์เวียดนาม สะท้อนประวัติศาสตร์ช่วงเวลาสำคัญแยกประเทศ–เหนือ-ใต้อย่างชัดเจน Truc Bach Beer(แบรนด์หลักของ Hanoi Beer Alcohol and Beverage Joint Stock Corp (Habeco) หรือ Hanoi Beer)เบียร์เวียดนามซึ่งมีฐานอยู่ในเมืองฮานอย เวียดนามเหนือ แม้เพิ่งเกิดขึ้นอย่างจริงจังช่วงต้นๆสงครามเวียดนาม แต่มีตำนานเชื่อมโยงกับโรงเบียร์แห่งแรกในเวียดนามยุคอาณานิคมฝรั่งเศส
ด้วยฟื้นฟูกิจการใหม่ในฐานะกิจการของรัฐในยุคคอมมิวนิสต์ ราวปี2500 โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญผู้ผลิตเบียร์Czech Republic (ขณะนั้นเป็นCzechoslovakia ในฐานะพันธมิตรประเทศคอมมิวนิสต์)
ส่วน333Premium Beer (ปัจจุบันแบรนด์หลัก Saigon Alcohol Beer and Beverages Corporation หรือ Sabeco)เบียร์ซื่อดังที่สุดของเวียดนาม เดิมคือ 33Beer ผลิตขึ้นในครั้งแรกในปี 2463 ที่ฝรั่งเศส โดยใช้เทคโนโยลี่เยอรมนี ก่อนจะย้ายมาผลิตในเมืองไซง่อน(โฮจิมินส์ ในปัจจุบัน)ตั้งแต่ยุคอาณานิคมฝรั่งเศส แต่มาเฟื่องฟูยุคแยกประเทศ เมื่อไซ่ง่อนเป็นเมืองหลวงสาธารณรัฐเวียดนาม(Republic of Vietnam) หรือเวียดนามใต้ (ตั้งแต่ปี2498)เนื่องด้วยเป็นที่นิยมของบรรดาทหารอเมริกัน ซี่งมาประจำการกันจำนวนมากช่วงสงครามเวียดนาม
ครั้นเมื่อสหรัฐอเมริกาพ่ายแพ้สงคราม มีการรวมประเทศเวียดนามเหนือ-ใต้ กิจการจึงถูกยึดเป็นของรัฐและได้ปรับเปลี่ยนแบรนด์33Beer ว่ากันว่าเป็นสัญลักษณ์อเมริกัน ให้เป็น333Premiumในปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นการก่อตั้งBeer Lao (ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี2524 ) อาจจะมากระแสความนิยม 33Beer ในเวียดนามใต้ภายใต้อิทธิพลสหรัฐฯในช่วงสงครามเวียดนามด้วยก็ได้ แต่ไม่เป็นไปตามแผนนัก เมื่อล่วงเลยเข้าสู่ปลายสงครามจนกองทัพสหรัฐฯจำต้องถอนออกจากเวียดนามไปแล้ว แบรนด์ Beer Lao ซึ่งสะท้อนความเป็นประเทศจึงเกิดขึ้น
ว่าไปแล้วอยู่ภายใต้สถานการณ์ไม่ราบเรียบนัก ทั้งอยู่ระหว่างช่วงก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กิจการ BeerLao ลุ่มๆดอนๆ มีความพยายามแสวงหาผู้ร่วมทุน และมีการเปลี่ยนแปลงผู้ร่วมทุนต่างประเทศถึง 2ครั้ง ก่อนจะกลายเป็นสินค้ายอดนิยม เชื่อมโยงกับความเป็นชาติในปัจจุบัน
ฐานการตลาดที่มั่นคงและขยายตัว
ด้วยลักษณะพิเศษ การกำเนิดเบียร์ใน AEC จึงมีฐานผู้บริโภคในประเทศที่มั่นคง ทั้งในฐานะผู้ “บุกเบิก” “ผูกขาด” “ผู้ผลิตน้อยราย” หรือ กิจการภายใต้การดูแลโดยรัฐ ย่อมเป็นธุรกิจไม่ได้อยู่ภายใต้ภาวะการแข่งขันอย่างเสรี เมื่อบวกกับช่วงเวลาอยู่ในตลาดอย่างยาวนาน มีเวลามากพอสามารถสร้างฐานผู้บริโภคภายในประเทศได้อย่างกว้างขวางและมั่นคง
แม้ระยะหลังๆตลาดเบียร์ในแต่ละประเทศดังกล่าวได้เปิดกว้างขึ้น ต้อนรับเบียร์แบรนด์ระดับโลกมากขึ้นแต่ทว่าก็ไม่สามารถเข้าแย่งชิงตลาดอันเป็นฐานอันมั่นคงของเบียร์ท้องถิ่นได้ หากกลายเป็นโครงสร้างธุรกิจลักษณะผสมผสานและหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้อยู่ภายใต้สถานการณ์ใหม่ การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคในภาพรวม การเติบโตฐานผู้บริโภคในฐานะปัจเจก หรือการเติบโตของชนชั้นกลางมีอีกลักษณะพิเศษที่น่าสนใจ ว่าด้วยความเชื่อมโยงทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก
ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ในระดับโลกเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ขณะทีความเชื่อมโยงอย่างเข้มข้นในระดับภูมิภาคนับวันจะมีมากขึ้นๆ เบียร์เป็นเพียงชิ้นส่วนเล็ก ๆ สะท้อนเรื่องราวนั้น
San Miguel Beer อาศัยประวัติศาสตร์ว่าด้วย Spanish connection เข้าสู่ตลาดสเปนมาตั้งแต่ปี2496 ส่วนในภูมิภาคเดียวกัน เข้าสู่ตลาดครั้งแรกนานแล้วที่ฮ่องกง ตั้งแต่ปี2491 ในระยะ ๆหลังเมื่อกระแสภูมิภาคแรงขึ้น ได้ขยายกิจการมากขึ้น อาทิเข้าซื้อกิจการเบียร์ในอินโดนิเชีย (2536) และเข้าสู่ตลาดไทย (ซื้อกิจการไทยอมฤติฯในปี2547)
กรณี Tiger beer เข้าสู่ตลาดเวียดนามและจี (ปี2536) ในช่วงเศรษฐกิจภูมิภาคเติบโตในช่วงวิกฤติการณ์ “ต้มยำกุ้ง”และดังที่กล่าวมาในตอนที่แล้วว่า 333Premium เวียดนาม ซึ่งมีตำนานมาจากเบียร์ยอดนิยมของทหารอเมริกัน (GI)ในยุคสงครามเวียดนาม ได้เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯในปี 2537
กรณี “เบียร์สิงห์” อ้างว่าเริ่มส่งออกต่างประเทศตั้งแต่ปี 2513 กว่าจริงจังมากขึ้นล่วงมาอีก4 ทศวรรษเมื่อมองผ่านกิจกรรมทางการตลาดบางอย่าง เช่น “ปี2553เพื่อการขยายตลาดในต่างประเทศเบียร์สิงห์ จับมือกับทีมManchester United ยักษ์ใหญ่แห่งวงการฟุตบอลระดับโลก ทำให้ได้สิทธิเป็นเบียร์ประจำทีม และสามารถแสดงตราสิงห์ได้ทั่วสนามเหย้า”(อ้างจากhttp://www.boonrawd.co.th/)
แบรนด์เบียร์AEC มี“แรงดึงดูด”เป็นพิเศษ เรืองราวจึงดูจะเข้มข้นมากขึ้นๆ