St.Stephen’s College แห่งฮ่องกง

เป็นเรื่องประหลาดมากที่กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในไทยส่งลูกหลานตัวเองอย่างต่อเนื่องไป เรียนที่โรงเรียนอายุ100ปี อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

ชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาเมืองไทยและกำลังเติบโตในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่1 (หลังจากอิทธิพลระบบอาณานิคมตะวันตกเสื่อมไปกับสงครามโลกครั้งที่1) และก้าวกระโดดอย่างมากในช่วงสงครามเกาหลีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะธุรกิจค้าข้าวที่มีตลาดอย่างกว้างขวางและขยายตัว โดยมีศูนย์ลางที่ฮ่องกงนั้น มีบุคลิกพิเศษในการศึกษาเล่าเรียน พวกเขาเหล่านี้มีประสพการณ์จากการค้าข้าวและบริหารกิจการโรงสีจากกิจการตะวันตกที่มายึดตลาดค้าข้าวในเมืองไทย ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีโรงสี การติดต่อกับชาวยุโรป มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ

ความจริงที่น่าขัน ก็คือ ชาวจีนโพ้นทะเลในเมืองไทยยุคนั้น มองการค้าในลักษณะภูมิภาค มากกว่ายุคนี้เสียอีก

พวกเขาเตรียมพร้อมให้กับลูกหลานและบุคลากรของเขาอย่างไร

ม้าเลียบคุน เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2440 เป็นลูกชายคนแรกของม้าถ่องเจ็ง (พ่อ) กับจีเข่งชิน (แม่) พ่อของเขาเป็นชาวจีนกวางตุ้งอพยพครอบครัวมาพึ่งแผ่นดินสีเขียวในประเทศไทย อาศัยความชำนาญพิเศษอันเป็นลักษณะของชาวกวางตุ้งทั่วไป คือ ช่างฝีมือรับจ้างเลี้ยงครอบครัว

ขณะนั้นพ่อของเขาเก็บหอมรอมริบได้เงินก้อนใหญ่จากอาชีพช่างโรงสี จนมาดำเนินกิจการโรงสีที่ตำบลบุคโล ฝั่งธนบุรี (เช่า) และกำลังเริ่มก่อสร้างโรงสีขนาดใหญ่ของตนเองขึ้นในที่ดินของตนเองที่อำเภอบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ ปัจจุบัน เป็นโรงสีขนาดใหญ่ที่สุดในเวลานั้น (กำลังสีข้าว 450 เกวียน/วัน)

ม้าเลียบคุนได้เรียนรู้งานช่างโรงสีไปพร้อมกับการค้าข้าวหลังจากรับช่วงธุรกิจ จากพ่อเพียงปีเดียว ม้าเลียบคุนก็บินได้อย่างเต็มภาคภูมิ เขารวบรวมพรรคพวกมี โล้วเต็กชวน และตันซิ่งเม้ง เหียกวงเอี่ยม ซึ่งประกอบอาชีพเดียวกันตั้งสมาคมโรงสีไฟแห่งประเทศไทยขึ้น โดยที่เขาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมติดต่อกันจากนั้นมาเป็นเวลา 8 ปีเต็มๆ

สมาคมโรงสีไฟฯ มีอิทธิพลมาก เป็นทั้งผู้ประกอบกิจการโรงสี อุตสาหกรรมที่มีพลังที่สุดในเวลานั้นพร้อมกับเป็นผู้ส่งออกข้าวด้วย

เขาพัฒนาธุรกิจส่งออกข้าวออกไปอย่างกว้างขวาง โดยไปตั้งสาขาที่ต่างประเทศคือ ห้างจินเส็งฮงที่ฮ่องกง และห้างล่งเส็งที่สิงคโปร์ เป็นต้น

ส่วนในประเทศเขาเป็นต้นคิดตั้งบริษัทเดินเรือรับส่งสินค้าซึ่งต่อมาเป็นบริษัท โหงวฮก ทั้งยังมีธนาคารจินเส็งฮง ของตนเองในปี 2476 อีกด้วย

ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ภาวะการค้าข้าวตกต่ำสุดขีดเหลือเพียงเกวียนละ 25 บาท (ข้าวเปลือก) ทองคำก็ราคาถูกมาเท่าๆ กับข้าวเปลือกเพียง 1 เกวียนเท่านั้น

ญี่ปุ่นเริ่มก่อสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องซื้อข้าวจำนวนมาก ประเทศไทยจึงหาทางเจรจาขายข้าวให้ญี่ปุ่นเพื่อบรรเทาภาวการณ์ค้าตกต่ำด้วยเหตุนี้รัฐบาลจีนยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้อง

เหตุผลประการแรก ต้องการแก้ปัญหาคนจีนแอนตี้ญี่ปุ่นอีกประการหนึ่ง เนื่องจากขณะนั้นกิจการค้าข้าวและโรงสีอยู่ในกำมือของคนจีนเกือบทั้งหมด รัฐจึงมีดำริจะให้คนไทยมีส่วนบ้าง

สถานการณ์ค้าข้าว-โรงสีตอนนั้น ตกต่ำถึงขั้นต้องปิดกิจการ ม้าเลียบคุนก็ไม่รอดพ้นกิจการธนาคารจินเส็งต้องปิดกิจการ โรงสีทั้งสองโรงก็ปิดตายอยู่เฉยๆ

กระทรวงเศรษฐการดำริตั้งบริษัทข้าวไทย เพื่อดำเนินกิจการโรงสี และส่งออกข้าวแทนเอกชน

ม้าเลียบคุนก็กลายมาเป็น มา บูลกุล และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทข้าวไทยตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นเข้ายึดหัวหาดประเทศไทย กิจการโรงสีหรือส่งออกข้าวของชาวอังกฤษจึงต้องถอนตัว บริษัทข้าวไทยได้ยึดกิจการเหล่านั้นมาดำเนินการ อาทิ บริษัท แองโกลฯ อี๊สต์เอเชียติ๊ก บอร์เนียว เป็นต้น

เพราะมา บุญกุล  ผ่านการศึกษาจากSt .Stephen’s College จากฮ่องกง เขาจึงมีความพร้อมในการทำงานเช่นนี้ เขาเข้าเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ ประมาณปี2460 ในช่วงเดียวกับที่กลุ่มชนชั้นนำของไทยกำลังเริ่มเดินทางไปเรียนหนังสือที่สหรัฐอเมริกา

พวกเขาเป็นตัวอย่างของพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเล ที่ผูกพันการศึกษาที่โรงเรียนแห่งนี้อย่างมากในเวลาต่อมา

ทรง บูลสุข เกิด ปี2459 บุตรของโล่เต็กชวน ต้นตระกูลบูลสุข ซึ่งมีอิทธิพลทางธุรกิจอย่างมากในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ผู้ก่อตั้งบริษัทเดินเรือ โหงวฮก เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าค้าข้าวในช่วงเดียวกันบิดาของมาบุญกุล ทรง บูลสุข ผ่านการศึกษาที่St.Stephen”s College ราวๆปี2469 จากนั้นเขาก็สามารถเรียนจบปริญญาคนแรกๆในชุมชนการค้าของชาวไทยเชื้อสายจีน ทำให้เขามีความต่อค่อเนื่องในการพัฒนากิจการจนในที่สุดได้ตั้งกิจการร่วมทุนกับPepsi. Co แห่งสหรัฐ กลายเป็นผู้บุกเบิกกิจการน้ำดำในประเทศไทยในราวปี2496

เกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง* เกิดปี2459 เช่นเดียวกัน ถือเป็นอีกโมเดลของคนจีนที่มีความรู้ในยุคนั้น ซึ่งผ่าน St. Stephen’s College ทำให้มีโอกาสในการแสวงโอกาสธุรกิจใหม่ได้ตลอดในประเทศไทย ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มจากธนาคารศรีนคร จนมาถึงการร่วมทุนญี่ปุ่นในการตั้งโรงงานผลิตกระจกแห่งแรกของประเทศ

บุญยง ว่องวานิช(เกิดปี2468) เป็นอีกคนหนึ่งที่มาจากทายาทของนักธุรกิจที่มีกิจการค้าขายกับฝรั่งจนสามารถเป็นเจ้าของร้านขายยาอังกฤษตรางูซึ่งมีอายุกว่าา100ปีรับช่วงต่อจากฝรั่ง   บุญยงค์ คือทายาทที่ต้องพัฒนากิจการเก่าแก่ต่อเนื่องมา เขาก็เป็นศิษย์เก่า St. Stephen’s College ในราวปี2480 ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะระเบิดขึ้น

ในระยะเดียวกับที่เกษม จาติวณิช (เกิดปี2467) ก็เข้าเรียนที่นี่ด้วย จนจบ และรุ่นน้องอีกคนหนึ่งที่เข้าใจรุ่นเดียวกับบุญยง ในฐานะทายาทของห้างขายยาเช่นเดียวกัน คือพิชัย รัตกุล

โรงเรียนที่ฮ่องกงผูกพันกับสังคมธุรกิจเชื้อสายจีนของไทยอย่างมั่นคงต่อเนื่องยาวมาจนถึงปัจจุบันก็ว่าได้

 นักธุรกิจที่ยังมีบทบาทในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ก็ผ่านโรงเรียนแห่งนี้ในช่วงในช่วงสงครามเกาหลีราวๆปี2490    จนถึงชาญชัย ลี้ถาวร อดีตข้าราชการกระทรวงการคลัง ต่อมาลาออกเป็นรัฐมนตรีและเข้าสู่ธุรกิจการเงิน ก็ผ่านโรงเรียนแห่งนี้ในช่วงเดียวกัน

 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิเชียร เตชะไพบูลย์ **ทายาทคนสำคัญของอุเทน เตชะไพบูลย์    ก็ผ่านโรงเรียนแห่งนี้ในราวปี2500

อย่างไรก็ตามที่ฮ่องกง  ใช่ว่าจะมีเพียง St. Stephen’s Collegeเท่านั้น ยังมีโรงเรียนอีกแห่งหนึ่ง ที่น่าสนใจ St. Joseph  Collegeเป็นโรงเรียนประจำตระกูลหวั่งหลีก็ว่าได้   ทายาทตระกูลในรุนที่3 นำโดยสุวิทย์ หวั่งหลี  ผู้สร้างธนาคารนครธน ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ตามมาด้วยน้องๆก็ล้วนผ่านโรงเรียนแห่งนี้ในระดับต้นทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสุกิจ  หวั่งหลี    วรวีร์  หวั่งหลี   สุจินต์ หวั่งหลี เป็นต้น ก่อนที่พวกเขาจะไปศึกษาระดับมัธยมตอนปลายในสหรัฐ ซึ่งเป็นโรงประจำของตระกูลอีกแห่งหนึ่งก็ว่าได้  นั่นคือ  Williston   Seminary**(ปัจจุบันชื่อ Williston  Northampton School)

เท่าที่มีข้อมูล นอกจากตระกูลหวั่งหลีหลายคนจะเรียนที่St. Joseph’s College แล้ว รุ่นๆเดียวกันกับสุจินต์ หวั่งหลี ก็มีปิติ สิทธิอำนวย ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพ พี่ชายของพร สิทธิอำนวย ก็ผ่านระดับมัธยมต้นที่นี่ ก่อนหน้าไปเรียนต่อมาเลเซีย

โรงเรียนเหล่านี้พัฒนามาจากโรงเรียนของมิชชันนารี ที่มาพร้อมกับระบบอาณานิคมยุคเก่า เริ่มก่อนสงครามโลกครั้งที่1 เพื่อตอบสนองบุตรหลายบรรดาชาวตะวันตก   จากนั้นต่อๆมา จึงขยายรับนักเรียนท้องถิ่นมาขึ้น ตามความจำเป็นของเศรษฐกิจ   การเมืองและสังคม

ปัจจุบันโรงเรียนเหล่านี้ ดูจะกลายเป็นโรงเรียนที่มีลักษณะท้องถิ่นมากขึ้น เพราะผู้บริหารและครูเกือบทั้งหมดเป็นคนท้องถิ่นที่ใช้ภาษาอังกฤษ  เข้าใจว่าคนไทยส่งบุตรหลานไปเรียนที่นี่น้อยลงมาก

 เชิงอรรถ

*เกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง

เกิด 5 กรกฎาคม 2459 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี

การศึกษา

ประถมศึกษา St. Stephen’s College, HK

มัธยมศึกษา  โรงเรียนเผยอิง   

อุดมศึกษา  มหาวิทยาลัยหลิงนัน ที่หางโจว ประเทศจีน 

เขาเริ่มทำงานในเมืองไทยครั้งสำคัญ ในการตั้งสาขาธนาคารมณฑลกว้างตุ้งในประเทศไทย ในช่วงหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี(2489-90) เมื่อธนาคารต้องปิดลงเพราะพรรคคอมมิวนิสต์ยึดอำนาจจีนแผ่นดินใหญ่ เขาใช้ในอนุญาติธนาคารตั้งธนาคารไทยแห่งใหม่ ด้วยการร่วมทุนกับนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนในยุคนั้น เตชะไพบูลย์ กับอื้อจือเหลียง ต่อมาเป็นธนาคารศรีนคร ต่อมาเขามีโอกาสบริหารกิจการับภายใต้อำนาจของกลุ่มซอยราชครูในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อประเทศเปิดขึ้น เขามีโอกาสมากขึ้น ในฐานะริเริ่มก่อตั้งโรงงานผลิตกระจกแห่งแรกของไทย   โรงงานผลิตโซดาไฟ  ด้วยการร่วมทุนกับAsahiของญี่ปุ่น    โรงงานผลิตยางกู๊ดเยียร์   รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น

 **ผู้เขียนได้พบว่า  Williston  Academy  ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นโรงเรียนมัธยมที่หลายคนในตระกูลหวั่งหลีเรียน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารทางการของธนาคารนครธน หรือหนังสือของจำนงศรี รัตนิน(หนังสือ”ดุจนาวากลางมหาสมุทร”) ซึ่งเป็นญาติ  แม้แต่ผมเอง ก็อ้างไว้ในข้อเขียนหลายครั้งนั้น ผมค้นหาจากระบบโรงเรียนอเมริกันจำนวนมาก ไม่มีโรงเรียนชื่อนี้โดยตรง  มีแต่Williston Seminary  ซึ่งตั้งในMassachusettsด้วย ต่อมาในปี1971โรงเรียนควบกิจการกับNorthampton School ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Williston Northampton School  ณ วันนี้ และในหนังสือเล่มนี้จึงเชื่อว่านี่คือชื่อที่ถูกต้อง

*** วิเชียร เตชะไพบูลย์   เกิด 4 พฤศจิกายน 2482  เริ่มต้นการศึกษาในโรงเรียนชั้นดีชั้นประถมศึกาาที่กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ก่อนจะเข้าไปเรียนระดับมัธยมศึกษาที่St.Stephen’s Collegeที่ฮ่องกง  จากนั้นก็ไปเรียนสหรัฐตามความนิยมของชนชั้นนำขณะนั้น ในสถาบันการศึกษาที่ชนชั้นนำของไทยนิยมเรียนด้วย Boston University ในสาขาบริหารธุรกิจ จบการศึกษาในปี2507 ในยุคที่ธนาคารศรีนครและกิจการค้าสุราของตระกุลเตชไพบูลย์กำลังรุ่งเรือง เพื่อสร้างความพร้อมยิ่งขึ้น เข้าฝึกงานในธนาคารต่างประเทศทั้งนิวยอร์ก(Manufacturer Hanover Trust)และลอนดอน(Midland bank)อยู่ประมาณ2ปี ในปี2508 มารับช่วงกิจการในเมืองไทย โดยเข้าบริหารธนาคารศรีนคร  ในช่วงญาติพี่น้องมีความขัดแย้ง ในช่วงธุรกิจคอรบครัวขัดแย้งกับธุรกิจธนาคาร ความรู้ของเขาไม่ได้ใช้กับธนาคารแห่งนี้นัก

ในที่สุดธนาคารแห่งนี้  ก็เผชิญไม่ไม่กลมกลืนปรัชญาธุรกิจ ต้องดำเนินกิจการไม่เป็นไปตามครรลอง เมื่อเผชิญวิกฤติต้องมีอันเป็นไป ในที่สุด ธุรกิจหลักของเตชะไพบูลย์ต้องปิดฉากไปเมื่อปี2541

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: