อาณาบริเวณเขาใหญ่ แม้อยู่ในภาคอีสาน แต่ผู้คนอาศัยในบริเวณนี้ ตั้งแต่ยุคแรกๆ ในช่วงสร้างถนนมมิตรภาพ ไม่ใช่คนอีสานทั้งหมด หากมีคนภาคกลางที่มุ่งแสวงหาที่ทำกิน เป็นสัดส่วนสำคัญ ในพื้นที่ป่าดงพญาเย็น
เช่นเดียวกันกับยุคต่อมา บุคคลทรงอิทธิพลต่อทิศทางของเขาใหญ่ อาจกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่เป็นคนเมืองหลวง ตังแต่โชคชัย บูลกุล(ฟาร์มโชคชัย) ไพวงศ์ เตชะณรงค์(โบนันซา) ธีรพจน์ จรูญศรี(จุลดิศ) ปิยะ ภิรมย์ภักดี(บีพีวัลเล่) วิสุจน์ โลหิตนาวี(กรานมอนเต้) วีรวัฒน์ ชลวณิชย์(วิลเลจฟาร์ม) ไปจนถึง กิตติ ธนากิจอำนวย(คีรีมายา) และ ฯลฯ
คุณค่าเขาใหญ่ไม่อาจไม่กล่าวถึงได้ คือธรรมชาติป่าเขาเขตร้อนผืนใหญ่ ยังคงสภาพที่ดีอยู่พอสมควร ด้วยความเป็นอุทยานแห่งชาติ ถือเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศ มาตั้งแต่ปี2505 ต่อมาปี 2527ได้รับรองเป็น ASEAN Heritage Park จากนั้นถึงปี 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการประกาศให้เป็น “มรดกโลกทางธรรมชาติ”จากองค์การยูเนสโก (UNESCO World Heritage Site)ภายใต้ชื่อกลุ่ม “ดงพญาเย็น-เขาใหญ่”
คุณค่าของเขาใหญ่ ได้ก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของโลก เริ่มต้นจากนักท่องเที่ยวทางธรรมชาติระดับโลก เป็นกลุ่มแรกๆ
คีรีมายา
กิตติ ธนากิจอำนวย แห่งโนเบิลกรุ้ป(เจ้าของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ) คงเข้าใจคุณค่าเขาใหญ่ในความหมายที่กว้างขึ้น ในฐานะผู้ที่เข้ามาพัฒนาโครงการที่อยู่ใกล้บริเวณอุทยานแห่งชาติมากที่สุดแห่งหนึ่ง ที่ดินพันกว่าไร่ผืนนี้ เขาได้จากการประมูลขายทอดตลาด เดิมเป็นสนามกอล์ฟในโครงการเขาใหญ่คันทรีคลับ ซึ่งพัวพันกรณีบีบีซี(ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ ซึ่งถูกปิดกิจการไปแล้ว)กับราเกซ สักเสนา(ผู้ต้องหาที่ใช้เวลานานมากทีเดียวในการนำตัวมาขึ้นศาลไทย)
คีรีมายา เป็นชื่อใหม่ของโครงการสนามกอล์ฟและโรงแรม จากนั้นก็ตามาด้วยโครงการอสังหาริมทรัพย์ตามความถนัด (บ้านพักตากอากาศ) ว่าไปแล้วในเชิงโมเดล ดูไม่แตกต่างจากรายอื่นๆดำเนินอย่างครึกโครมที่เขาใหญ่ แต่ทางความคิดมีรายละเอียดที่น่าสนใจ
ดูเหมือนกิตติมีความพยายามเชื่อมโยงความคิด การออกแบบสร้างโรงแรม กับวัฒนธรรมอีสาน แม้ว่าดูแล้วจะเป็นไปตามกระแสของเชนโรงแรมระดับโลกในเขตร้อน มากกว่าความเป็นอีสานก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งเขาสนใจมาตรฐาน กับความพยายามแสวงหาลูกค้าในตลาดโลก ซึ่งถือเป็นความพยายามอย่างจริงจังครั้งสำคัญของผู้ประกอบการโรงแรมในเขาใหญ่
คีรีมายาได้ร่วมมือกับ Alila ในการสร้างระบบในการบริหารโรงแรม และเข้าเป็นสมาชิกในเครือข่ายโรงแรมระดับโลก Design Hotels
A Lila Hotel & Resorts (AHR) เป็นกิจการบริหารงานโรงแรมและรีสอร์ทประเภทบูติกแถบเอเชียแปซิฟิก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ ปัจจุบันมีโรงแรมและรีสอร์ทที่ใช้ชื่อAlila 10แห่ง ส่วนใหญ่ในอินโดนิเชีย (โดยเฉพาะบาหลี ) นอกจากนั้น ที่หลวงพระบาง หัวหิน และมัลดิฟ รีสอร์ท ทุกแห่งถือว่าอยู่เชนของ Design Hotels กรณีคีรีมายา ใช้บริการด้านการจัดการของ Alila โดยไม่ใช้แบรนด์ แต่อยู่ในเชนเดียวกัน ส่วน Design Hotels AG ก่อตั้งเมื่อปี 2540 สำนักงานใหญ่อยู่ที่ เบอร์ลิน เยอรมนี ปัจจุบันมีโรงแรมในเครือข่ายเกือบ 200 แห่งในกว่า 40 ประเทศ
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า อิทธิพลสำคัญต่อคีรีมายามาจากแนวทางใหม่ของโรงแรมระดับโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โรงแรมขนาดเล็กลง ให้ความสำคัญการออกแบบ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของท้องถิ่น และความเป็นธรรมชาติมากขึ้น โรงแรมเครือข่ายระดับโลกก็พาเหรดมาในภูมิภาคนี้มากเป็นพิเศษ ประเทศไทยก็อยู่ในแผนที่นั้นด้วย ในช่วงเวลานั้น เกิดโรงแรมมากมายในเชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหัวหิน พร้อมๆคำนิยามใหม่ว่าด้วยโรงแรมห้าดาวหรือมากกว่า
ที่น่าสนใจมากขึ้นคือในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นิตยสารท่องเที่ยวระดับโลก มักจะยกรีสอร์ตในประเทศอยู่ในTOP LISTเสมอ ล่าสุดนิตยสาร Condé Nast Traveler, November 2009 ฉบับอเมริกัน ให้Four Season Tented Camp Gold Triangle อยู่ในอันดับหนึ่ง TOP100 Reader’ Choice Awards ขณะที่ รีสอร์ตในเอเชีย TOP25 อยู่ในประเทศไทยถึง9 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าคีรีมายาคือโรงแรมแห่งแรกในเขาใหญ่ที่อยู่ในเครือข่ายเชนระดับโลก เป็นความพยายามยกระดับเขาใหญ่ให้อยู่ในแผนที่ท่องเที่ยวระดับโลก ในสายตาของผม นั่นคือจุดเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง ของความพยายามอันหลากหลาย ในการค้นหาคุณค่าเขาใหญ่
แม้ว่ากระแสนี้ดูไม่รุนแรง เท่า Primo Posto (อ้างจากตอนที่แล้ว) แต่ก็น่าสนใจไม่น้อย ล่าสุด Sala Khoayai รีสอร์ตใหม่ของตระกูลจิราธิวัฒน์เปิดขึ้น ตระกูลนี้มีประสบการณ์ในการบริหารโรงแรมในเครือเซ็นทรา และมีประสบการณ์ร่วมมือกับเชนโรงแรมต่างๆทั่วโลก ร่วมทั้งกับ Six senses(เครือข่ายโรงแรมใช้ความรู้สึกและบรรยากาศแบบตะวันออก นิยามความหรูหราขึ้นมาอย่างน่าสนใจ) ลงทุนสร้างแบรนด์รีสอร์ตขึ้นมาใหม่ –SALA โครงการล่าสุด ตามแนวถนนเขาใหญ่- วังน้ำเขียว เป็นรีสอร์ตขนาดเล็ก สำหรับตลาดบน มีสไตล์กลิ่นอายตะวันออก แม้จะเป็นรีสอร์ตแห่งที่ 3ของเครือ แต่การมาที่นี่ ถือเป็นการประเมินเขาใหญ่สูงขึ้น
จิมทอมป์สันฟาร์ม
แม้วาที่ตั้งของฟาร์มแห่งนี้ มิได้อยู่ในเขตเขาใหญ่อย่างที่ผมให้คำนิยามไว้ในตอนที่แล้ว หากอยู่ที่ตำบาลตะขบ อำเภอปักธงชัย แต่ผมเชื่อว่าอิทธิพลของจิม ทองป์สันฟาร์ม จะข้ามเขตป่าเขาภูหลวง มายังบริเวณตำบลระเริง อำเภอวังน้ำเขียว ในเขตเขาใหญ่ ซึ่งมีระยะทางห่างกันเพียง20 กิโลเมตร
ตำนานจิมทอมป์สันฟาร์ม เริ่มขึ้นเมื่อปี 2531 ในเขตอำเภอปักธงชัย บนพื้นที่กว่า 600 ไร่บนเชิงเขาพญาปราบ ปักธงชัย ถือเป็นเมืองโบราณของภาคอีสาน มีความเชื่อมโยงมาตั้งแต่ยุคขอม Jim Thompson (เรื่องราวของบุรุษผู้นี้ อ่านในเรื่องแยกต่างหาก) ในฐานะผู้บุกเบิกไหมไทยในตลาดโลก ได้มองเห็นคุณค่าของทักษะสำคัญที่สืบทอดกันมานานของการทอผ้าไหมปักธงชัย การมาปักหลักสร้างฐานการผลิตสำคัญของผ้าไหมจิม ทอมป์สันที่นี ถือว่าเป็นการพัฒนาสำคัญจากผู้ค้าผ้าไหม สู่ธุรกิจผ้าไหมครบวงจร
ต่อมาปี 2544 จิม ทอมป์สัน ฟาร์มจึงได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ว่าไปแล้วเป็นการเริ่มต้นในระยะเดียวกันกับฟาร์มโชคชัย ในขณะที่ฟาร์มโชคชัยเปิดบริการทุกวัน แต่ที่จิม ทอมป์สันฟาร์ม เปิดปีละครั้งในช่วงเดือนธันวาคม
ในขณะที่ฟาร์มโชคชัยเสนอประสบการณ์ ด้านปศุสัตว์ สัมพันธ์กับวิถีชีวิตคาวบอย ส่วนจิมทอมป์สันฟาร์ม เสนอประสบการณ์ด้านการเกษตร สัมพันธ์กับวัฒนธรรมอีสาน โดยเฉพาะผสมผสานคุณค่าเข้ากับการทอผ้าไหมปักธงชัย
ปี 2550 จิม ทอมป์สันฟาร์ม ได้เปิด “บ้านอีสาน”บนพื้นที่กว่า 10 ไร่ รวบรวมสถาปัตยกรรมไทยอีสาน ถือเป็นความตั้งใจในการสร้างคุณค่าฟาร์ม อ้างอิงกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น ในโมเดลที่ซับซ้อนขึ้น เป็นการสร้างสินค้าทางวัฒนธรรมระดับสูงขึ้น จากเดิมเพียงผู้ค้าสินค้าไหมไทยดูเหมือนมีความพยายามเชื่อมโยงอย่างง่ายๆกับ พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมปืสัน (สถานที่เก็บโบราณวัตถุไทย ตามแบบฉบับนักสะสมของเก่า) ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงในการกระบวนการสร้างสินค้า
บทเรียนจิมทอมป์สัน ท้าทายสังคมธุรกิจไทยเสมอ และกำลังท้าทายและเผชิญหน้าโดยตรงกับผู้คนที่กำลังแสวงบางสิ่งบางอย่างในเขาใหญ่
—————————————–
เรื่องต่อเนื่อง