จิม ทอมป์สัน เป็นสัญญาลักษณ์”ไหมไทย” ชื่อของเขากลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีค่า GOODWILL สูง ภายหลังหายตัวลึกลับไปในป่ามาเลเซีย กำลังจะเป็นโมเดลธุรกิจที่ได้รับความสนใจในยามนี้
เรื่องราวชีวิตของเขาอย่างละเอียดอ่านได้จากหนังสือของ WILLIAM WARREN ในเรื่องJIM THOMSON: The Legendary American of Thailand
26 มีนาคม 2510 หรือเพียง 10 วัน หลังพิธีเปิดเรือนไทยอาคารแห่งใหม่ของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย บริเวณมุมถนนสุรวงศ์ เจ้าของกิจการผู้บุกเบิกและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมไทยจนเป็นที่รู้จักทั่วโลก ได้หายตัวลึกลับ CEMERON HIGHLAND ประเทศมาเลเซีย จนถึงปัจจุบัน จากกิจการเพียงแต่เรือนไทยไม่ใหญ่โต ได้ขยายเพิ่มตึก 6 ชั้น ริมถนนสุรวงศ์ ห่างจากที่เดิม 800 เมตร จากยอดขายปีละไม่กี่สิบล้าน ในปี 2510 ได้ทะยานเป็นกว่าหนึ่งพันล้านบาทในปัจจุบัน จากผู้แทนจำหน่ายในต่างประเทศไม่กี่ประเทศ จนครอบคลุม ในจุดสำคัญ ๆ ของโลก
บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยก่อตั้งเมื่อต้นปี 2494 ในช่วงนั้น เพื่อนคนหนึ่งชื่อจอร์จ แบร์รี่ เดินทางมาจากแคลิฟอร์เนียผ่านมาที่กรุงเทพฯ เขาเห็นกิจการทอผ้าของจิม ทอมป์สัน และเรื่องราวของไหมไทย เขาสนใจมาก ผลักดันในการก่อตั้งเป็นจริงขึ้น โดยจะเข้าร่วมถือหุ้นในบริษัทด้วย บริษัทนี้มี ทุนจดทะเบียนครั้งแรก 25,000 เหรียญสหรัฐ (5 แสนบาท ในขณะนั้น) ตามสูตร 51% ถือโดยคนไทย(ราชสกุลยุคล และมีเชียม ยิบอินซอย) ที่เหลืออีก 49% ทอมป์สันและแบร์รี่ถือเท่ากับคนละ 18.2% หรือคนละ 91 หุ้น จากนั้นไม่นานทอมป์สันได้ยกหุ้นของตนเองให้คนอื่นไปอีก อาทิ เช่น ผู้ทอผ้าไหมคนหนึ่งซึ่งช่วยสร้างบ้านทรงไทยของเขา
จนถึงปี 2510 ช่วงปีที่เขาจากไปลึกลับ จิม ทอมป์สันมีหุ้นในบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยเพียง 16.4% ยอดขายได้เพิ่มจาก นับล้านบาทในระยะเริ่มแรก เป็นประมาณ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี ในวันที่เขาจากไป
จิม ทอมป์สัน เป็นชาวอเมริกัน เกิดเมื่อวันที่21 มีนาคม 2449 ที่ DELAWARE เคยเรียนด้านสถาปนิกและไม่จบ ก่อนมาเมืองไทย เขาเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยสืบราชการลับโอเอสเอส (Office of Strategy Services) เคยทำงานในอาฟริกาเหนือ อิตาลีและฝรั่งเศส จิม ทอมป์สัน เข้ามาเมืองไทยในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อประสานงานกับเสรีไทย เพื่อนคนหนึ่งของเขาที่มาด้วยกันคือ Alexander MacDonald ต่อมาได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Bangkok Post
จิม มีบทบาทสำคัญในการชักจูงนักลงทุนมาฟื้นฟูโรงแรมโอเรียลเต็ล ในระยะเริ่มต้นมีหุ้นส่วนอยู่ด้วย ต่อมาแนวคิดขัดกันจึงถอนตัวออกมา สนใจธุรกิจไหมไทย
ชุมชนบ้านครัว แหล่งพักอาศัยของชาวอิสลามกลางกรุงเทพฯ เป็นจุดเริ่มต้นของจิม ทอมป์สันไหมไทย ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ทอผ้าไหมเป็นงานอดิเรก ต่อมาจิม ทอมป์สันมาแนะนำ ส่งเสริมพัฒนาเป็นอาชีพอย่างแท้จริง ด้านหนึ่งพัฒนาด้านการย้อมสีสัน และลวดลาย อีกด้านหนึ่งรับซื้อไหมไทยหาตลาดให้ เป้าหมายในช่วงนั้นคือนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ
ในที่สุดชุมชนบ้านครัวได้กลายเป็นแหล่งผลิตไหมไทยขึ้นชื่อ ในเวลาต่อมาจิมได้นำไหมไทยขึ้นโรงแรมโอเรียนเต็ล 3 ปีที่ไหมไทยถูกแนะนำจากปากต่อปากของชาวต่างประเทศจนทำให้เขามั่นใจขยายกิจการ ประจวบเหมาะกับมีทุนจากจอร์จ แบร์รี่ สมทบจึงได้ตัดสินใจตั้งบริษัทดำเนินธุรกิจอย่างเต็มรูป ในช่วง 10 ปีต่อจากนั้น ถือเป็นช่วงสะสม GOODWILL ของไหมไทยจิม ทอมป์สัน
การวางรากฐานของนายห้างจิม ทอมป์สันก็จบลงแค่นั้น อันเป็นเวลาใกล้เคียงกันชุมชนบ้านครัวเริ่มเปลี่ยนแปลง ในเวลาเดียวกันนั้นชุมชนทอผ้าไหมที่กระจายทั่วประเทศไทยโดยเฉพาะภาคอีสาน ได้รับความสนใจเป็นพิเศษและมีการพัฒนาต่อเนื่องทดแทน ดังนั้นการสูญเสียชุมชนผลิตไหมไทยชั้นหนึ่งของไทยในย่านกรุงเทพฯ จึงดูเหมือนไม่กระทบกระเทือนบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย
อำเภอปักธงไชย จังหวัดนครราชสีมาเป็นแหล่งผลิตไหมไทยแห่งใหม่ป้อน จิมทอมป์สัน อย่างเป็นการเป็นงานหลังนายห้างจากไปประมาณ 5 ปีเป็นต้นมา จวบจนทุกวันนี้ GOODWILL มีค่าเพิ่มขึ้น ๆ พร้อมกับอุตสาหกรรมไหมได้ก่อรูปอย่างชัดเจนในแง่ของการลงทุนครบวงจร
อุตสาหกรรมครบวงจรก็ยังเอกลักษณ์เดิมไว้ ยังคงเป็นงานที่ต้องใช้มือ (HANDMADE) อยู่เช่นเดิม เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไหมเป็นงานศิลปะ เป็นหัตถกรรมดั่งเดิมเครื่องจักรทันสมัยมิอาจเข้าแทนที่ทั้งหมด ทั้งในแง่ความรู้สึกของผู้บริโภค ชอบไหมไทยเพราะเป็น HANDMADE ความสำคัญจึงอยู่ที่การพัฒนาการออกแบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจิม ทอมป์สันใช้ฝรั่งเป็นหัวหน้าทีม
GOODWILL มิใช่จากสะสมของเวลาเท่านั้น หากจะต้องกระบวนการพัฒนาที่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะ QUALITY CONTROL จิม ทอมป์สัน รับซื้อผ้าไหมจากชาวบ้านทอผ้าไหม โดยกำหนดคุณภาพผ้าอย่างเข้มงวด เช่นทอแน่น สีสัน ลวดลายงดงาม การก่อตั้งโรงงานทอผ้าไหมเอง โรงพิมพ์ผ้าและโครงการสาวเส้นไหมจากรังไหมซื้อจากชาวบ้านมาตีเกลียว แก้ปัญหาความไม่สม่ำเสมอโดยจะจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาดำเนินการ
ไหมไทยโด่งดังไปทั่วโลกนั้นแทนที่จะเป็น Brand name ไทย ๆ กลับกลายเป็นชื่อฝรั่ง เช่นเดียวกันเมื่อพูดถึงไหมไทย จิม ทอมป์สันซึ่งดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อบริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย คนที่ฟังคิดว่าฝรั่งคงจะเป็นเจ้าของ (ถือหุ้นข้างมาก) ความจริงคนไทยถือหุ้นมากกว่า แต่คนที่มีอำนาจบริหารสูงสุดในกิจการนี้กลับเป็นฝรั่งอีก จิม ทอมป์สัน เป็นโมเดลธุรกิจที่พัฒนาสินค้ามีบุคลิกของไทยอย่างชัดเจน สามารถแข่งขันในตลาดโลกอย่างดีและมั่นคง มีกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามยุคสมัย พร้อมๆรักษาสาระของสินค้าไทยอย่างเหนี่ยวแน่น
แม้ว่าปัจจุบัน บริษัทคนไทยถือหุ้น51% ครอบครัวจิม ทอมป์สัน ถือเพียงกว่า10% และเมื่อปี2534 ตระกูลแบรรี่ผู้ก่อตั้งคนหนึ่งซึ่งมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง กับกลุ่มจิม ทอมป์สัน มานานพอสมควร ได้ขายหุ้มนกว่า20% ให้กับห้างโตกิวแห่งญี่ปุ่น
มรดกของจิม ทอมป์สัน ที่สำคัญที่สุด ก็คือแม้ว่า เขาจะไม่อยู่ หุ้นส่วนจะเปลี่ยนแปลง แต่ไหมไทยของเขา มีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ลูกค้ากว่า80%เป็นชาวต่างประเทศ เข้าใจกำลังขายดีมากขึ้น ทั้งในเมืองไทย และเครือข่ายทั่วโลก
นี่คือโมเดลธุรกิจไทยที่คลาสสิค
(หมายเหตุ-บทความนี้เป็นขอเขียนเก่าของผม เขียนไว้เมื่อ ปี2540)