ThaiBev-Sabeco

ดีลสำคัญก่อนสิ้นปี2560 ไม่พูดถึงคงไม่ได้ เนื่องด้วยเกี่ยวข้องเครือข่ายธุรกิจใหญ่ของไทย เจ้าแห่งการดีล แห่งการซื้อกิจการ กับธนาคารไทยยักษ์ใหญ่ 5 อันดับแรก ซึ่งมีเดิมพันด้วย

(1)

นั่นคือกรณี ThaiBev is taking over Vietnams largest beer maker”(ไทยเบฟฯเข้าเทคโอเวอร์กิจการผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม) รายงานข่าวสื่อธุรกิจทรงอิทธิพลแห่งญี่ปุ่น(Nikkei Asian Review, December 21, 2017)

เป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่อง จากปรากฏการณ์สำคัญ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวปีกว่าๆมาแล้ว “ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ทีสุดของโลก ทั้งจากยุโรปและเอเชีย กำลังพาเหรดกัน เข้าแถว เพื่อช่วงชิงโอกาสซื้อหุ้นกิจการผลิตเบียร์ผู้นำตลาดในเวียดนาม  ในดีลมีมูลค่าอย่างน้อยเกือบๆ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ”ข่าวครึกโครมช่วงนั้น ทั้งสื่อไทย- เทศ (ข้างต้นอ้างมาจากสำนักข่าว Bloomberg รายงานไว้เมื่อ 7 กันยายน2559)

ทั้งนี้การประมูลเปิดฉากขึ้นเมื่อบ่ายๆ วันที่ 18ธันวาคม 2560 ณ กรุงโอจิมินท์ ประเทศเวียดนามโดยมีเพียงเครือข่ายไทยเบฟฯ(ในเครือทีซีซีของเจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี)เท่านั้นที่เข้าร่วมประมูล

ขณะที่บรรดาผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของโลก ไม่ว่ายุโรปหรือญี่ปุ่นไม่เข้าร่วม ทั้ง ๆที่เคยแสดงความสนใจ ตามรายงานข่าว Nikkei อ้างว่า ที่ตัดสินใจไม่ร่วมประมูลครั้งนี้ เนื่องมาจากราคาขั้นต่ำที่รัฐบาลเวียดนามตั้งไว้ สูงเกินไป

อันที่จริงภาพที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับดีลข้างต้น สามารถหาอ่านรายละเอียดได้จากรายงานของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ(Thai Beverage Public Company Limited หรือTHBEV)ต่อตลาดหุ้นสิงคโปร์(Singapore Exchange Securities Trading Limited หรือSGXST) ซึ่งมีอย่างต่อเนื่องหลายฉบับ

บทสรุปสำคัญอยู่ที่ฉบับที่ 2 เรื่อง Vietnam Beverage Successful in Bid in the Competitive Offering of Ordinary Shares in Saigon Beer Alcohol Beverage Joint Stock Corporation (“Sabeco”) เมื่อ 19 ธันวาคม 2560

กรณีข้างต้น เป็นเรื่องราว มีความต่อเนื่อง และมีภูมิหลังที่น่าสนใจ ก่อนจะมาถึงบทสรุปที่น่าตื่นเต้น ผมเคยเสนอไว้( หากสนใจ โปรดอ่าน เบียร์แห่งเออีซี”)ในภาพเชื่อมโยงระดับภูมิภาคด้วย

ไทยเบฟเวอเรจ เจ้าของ “เบียร์ช้าง” ผู้นำตลาดไทยรายหนึ่ง แสดงความสนใจเข้าร่วมการประมูลเบียร์เวียดนามตั้งแต่ต้น ดูเอาการเอางานมากทีเดียว

ตามแผนการเวียดนาม ตั้งใจขายหุ้นในกิจการผลิตเบียร์ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ คือ Saigon Beer Alcohol Beverage Joint Stock Corporation หรือ Sabeco (รัฐบาลถือหุ้นเกือบ90%) ผู้ผลิตเบียร์อันดับหนึ่ง มีฐานอยู่ที่เมืองไซง่อน(โฮจิมินท์ ในปัจจุบัน) กับผู้ผลิตอันดับสองHanoi Beer Alcohol and Beverage Joint Stock Corp (Habeco) หรือ Hanoi Beer(รัฐบาลเวียดนามถือหุ้นประมาณ 82% โดยมี Carlsberg แห่งเดนมาร์ก ถือหุ้นกว่า 10% ) ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงฮานอย

ทั้ง SabecoและHabeco ยึดครองตลาดเบียร์ในประเทศเวียดนามถึง60% ทั้ง ๆที่มีเบียร์แบรนด์ระดับโลกเข้ามาในตลาดเวียดนามนานพอพสมควร โดยเฉพาะ Sabeco มีแบรนด์333 Beer ยึดครองตลาดในสัดส่วนมากที่สุด ถึง40%

โดยเปรียบเทียบแล้ว Saigon Beer หรือ Sabeco ย่อมเป็นที่น่าสนใจกว่า โดยเฉพาะไทบเบฟฯ ประกาศให้ความสนใจอย่างเจาะจงตั้งแต่ต้น

ความพยายามให้ได้มาซึ่ง Sabeco ของไทยเบฟฯ เป็นเรื่องราวที่แตกต่าง มีกลยุทธ์ที่น่าสนใจ ใน 3ประเด็นสำคัญ(โดยอ้างอิงข้อมูลจากรายงานชองไทยเบฟฯต่อตลาดหุ้นสิงคโปร์)

หนึ่ง—ผู้ชนะการประมูลในทางการ คือ Vietnam Beverage Company Limited (หรือเรียกย่อ ๆว่าVietnam Beverage) บริษัทข้างต้นเป็นบริษัทลูก(wholly-owned subsidiary)ของVietnam F&B Alliance Investment Joint Stock Company (หรือVietnam F&B) ทั้งนี้Vietnam F&B มีไทยเบฟฯถือหุ้โดยตรงในสัดส่วน 49% ผ่านบริษัทลูก(wholly-owned subsidiary)ที่ชื่อ BeerCo Limited (หรือBeerCo) เป็นที่ทราบกันว่า Vietnam F&B กิจการในเครือของ Fraser and Neaveแห่งสิงคโปร์(ถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่มทีซีซี อีกทอดหนึ่ง)ซึ่งดำเนินกิจการในเวียดนามาระยะหนึ่งแล้ว

สอง-Vietnam Beverage ชนะประมูลในราคาขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ราค้าหุ้นละ 320,000 VND(Vietnamese Dong) จำนวนทั้งหมด343,642,587หุ้น ซึ่งมีสัดส่วน53.59% กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในSaigon Beer Alcohol Beverage Joint Stock Corporation (Sabeco) ถือว่าเกินเพดานของการถือหุ้นโดยบริษัทต่างชาติ ทั้งนี้ได้รับการยกเว้น เนื่องมาจาก Vietnam Beverageเป็นบริษัทจดทะเบียนในเวียดนาม คิดคร่าวๆราคาประมูลทั้งหมดประมาณ 156,000 ล้านบาท

จะตีความอย่างไรก็ไม่สำคัญ เท่ากับ สารจากประธานกรรมการ(เจริญ สิริวัฒนภักดี)ในรายงานประจำปี2561บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) กล่าวถึงอย่างชัดแจ้งถึง “การเข้าซื้อหุ้นบริษัท ไซ่ง่อน เบียร์-แอลกอฮอล์- เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น (“ซาเบโก้”)” และเมื่ออ่านรายละเอียดธุรกิจเบียร์(ในรายงานประจำปีดังกล่าว)พบข้อความยืนยันว่า “ไทยเบฟได้เข้าถือหุ้นร้อยละ 53.59 ในซาเบโก้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจําหน่ายเบียร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม”

สาม-อ้างจากเอกสาร Consummation Of Transfer Of Ordinary Shares In Sabeco  Beer Alcohol Beverage Joint Stock Corporation (Sabeco) To Vietnam Beverage Company Limited (Vietnam Beverage) รายงานไทยเบฟฯอีกฉบับหนึ่งนำเสนอตลาดหุ้นสิงคโปร์ เมื่อ 27 ธันวาคม 2560 ได้ให้ภาพแผนการทางเงินของดีลครั้งนี้ไว้

ดีลไทยเบฟฯ/เบียร์เวียดนามครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับธนาคารไทยรายใหญ่ 5 อันดับแรก ทั้ง ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากได้ร่วมกันให้สินชื่อกับบริษัทไทยเบฟฯในวงเงินเท่าๆกัน ธนาคารละ 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ BeerCo Limited(โดยไทยเบฟฯเป็นผู้ค้ำประกัน)ยังมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารต่างชาติสาขาสิงคโปร์อีก 2แห่ง คือ Mizuho Bankแห่งญี่ปุ่น และ Standard Chartered Bank แห่งอังกฤษ รวมกัน1,950 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 60,000ล้านบาท)

สำหรับผู้เกี่ยวข้องแล้ว  เชื่อว่าดีลข้างต้นมีความหมาย มีความเชื่อมั่นอย่างมากทีเดียว

 (2)

เกี่ยวข้องกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่ของไทย—เจ้าแห่งการซื้อกิจการ  ดีลซื้อเบียร์เวียดนามมีความสำคัญอย่างมาก อาจสำคัญที่สุดในช่วง 5ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว

นั่นคือ ไทยเบฟฯเข้าควบคุมกิจการผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ทีที่สุดในเวียดนามเมือ 19 ธันวาคม2560 (รายละเอียดนำเสนอไว้ข้างต้น)  ประเด็นสำคัญ อยู่ที่สามารถเข้าถือหุ้นข้างมาก(53.59%) ในSaigon Beer Alcohol Beverage Joint Stock Corporation(Sabeco)โดยผ่าน Vietnam Beverage Company Limited (หรือเรียกย่อ ๆว่าVietnam Beverage) ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทจดทะเบียนในเวียดนาม เป็นกิจการในเครือVietnam F&B Alliance Investment Joint Stock Company(หรือVietnam F&B)

ตลาดใหม่

ในภาพใหญ่ กลุ่มทีซีซีสามารถปักหลักธุรกิจอย่างมั่งคงในในประเทศเวียดนาม จากความพยายาม ซึ่งสำเร็จผลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

–ปี 2558 เปิดฉากขึ้นโดยไทยเบฟฯกิจการสำคัญของกลุ่มทีซีซี นำ “เบียร์ช้าง” บุกเบิกตลาดเวียดนาม

–ต้นปี 2559 ทีซีซีในการเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มตัวครั้งแรก ด้วยการเข้าซื้อกิจการ METRO Vietnam (มีสาขาค้าส่งแบบบริการตนเองที่เรียกว่า Cash & Carry ด้วยเครือข่าย 19สาขา) ด้วยมูลค่า 655 ล้านยูโร (เทียบอัตราแลกเปลี่ยน 1ยูโรเท่ากับ39บาทในขณะนั้น คิดเป็นเงินมากกว่า25, 500 ล้านบาท)

–ปี 2559 นั่นเอง Fraser and Neaveแห่งสิงคโปร์ (ถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่มทีซีซี) เข้าถือหุ้นในVietnam Dairy Products Joint Stock Companyหรือ Vinamilk กิจการผลิตภัณฑ์นมที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม เริ่มต้นจากสัดส่วนเพียง 5.4% จากนั้นในกลางปี2560เข้าถือเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเป็น 18.74% และมีตัวแทนเป็นกรรมการในVinamilk ถึง 2 คน

ในความพยายามสร้างเครือข่ายธุรกิจในระดับภูมิภาคโดยเฉพาะในเออีซี(AEC: ASEAN Economic Community) นั้น กลุ่มทีซีซีดำเนินแผนการด้วยการครอบงำและซื้อกิจการ (Merger &acquisition) เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ โดยเฉพาะกรณีการซื้อกิจการFraser and Neave แห่งสิงคโปร์ในช่วงปี 2555 เป็นกรณีครึกโครม เช่นเดียวกับบทเรียนชุดใหญ่ที่ตามจากนั้น

ในแง่ภูมิศาสตร์ เครือข่ายสินค้าและบริการของ Fraser and Neave ค่อนข้างจำกัด เน้นหนักเฉพาะตลาดสิงคโปร์และมาเลเซีย  ที่ทำได้เพิ่มเติมในช่วงที่ผ่านมา ก็คือนำสินค้าเข้ามาบุกเบิกตลาดไทยมากขึ้น ดังนั้นแผนการบุกเบิกประเทศอื่น ๆจึงต้องเริ่มต้นอย่างจริงจัง ด้วยแผนการใหม่ๆต่อไป

 ธุรกิจหลัก

บทเรียนอีกประการหนึ่งจากกรณี Fraser and Neave คือให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ก้าวไปสู่ธุรกิจอื่น ๆหรือพยายามหลีกพ้นจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เป็นการเสียโอกาสทางธุรกิจไปอย่างน่าเสียดายในธุรกิจเบียร์

โดยเฉพาะกรณี ไทยเบฟฯ มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ให้ Fraser and Neave ตัดสินใจขายธุรกิจเบียร์ (Asia Pacific Breweries หรือAPB) ให้กับ Heineken รวมทั้ง Fraser and Neave ได้ขายหุ้น ข้างมากในMyanmar Brewery ให้กับKirin Holdings ยักษ์ใหญ่เบียร์แห่งญี่ปุ่น

หากมองไปไกลกว่านั้นกลุ่มทีซีซีเคยถือหุ้นเบียร์ลาว(Lao Brewery Companyหรือ LBC) เมื่อครั้งยังร่วมมือกับ Carlsbergรวมกันถึง 50 %( ราวปี2545) ต่อมาเมื่อแยกทางกับ Carlsberg (ปี2548) หุ้นเบียร์ลาวในสัดส่วนดังกล่าวจึงตกเป็นของCarlsbergไป

แท้จริงแล้วในปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจสำคัญของไทยเบฟฯยังคงอยู่ที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยสุรายังครองสัดส่วนมากทีสุดมากกว่าครึ่ง ขณะที่เบียร์มีส่วนแบ่งประมาณหนึ่งในสาม และจากนี้มีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

กรณีไทยเบฟฯกับกิจการเบียร์เวียดนาม ถือเป็นการปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจครั้งใหญ่และมีความหมายเชิงการบริหารธุรกิจในแผนการมุ่งมั่นในธุรกิจหลัก ธุรกิจเบียร์จะกลายเป็นสินค้าหลักที่มีอนาคตของไทยเบฟฯอย่างไม่ต้องสงสัย

 แบรนด์โดดเด่น

เบียร์ในประเทศเออีซีเป็นสินค้า เป็นแบรนด์มีเอกลักษณ์ (Unique) และมีพลังอย่างเหลือเชื่อ ด้วยเชื่อมโยงกับ“สัญลักษณ์”ประเทศในมิติสำคัญๆ เชื่อมโยงกับตำนานและเรื่องราวอย่างเฉพาะเจาะจงสะท้อนประวัติศาสตร์และยุคสมัยแต่ละประเทศ เบียร์ในภูมิภาคเออีซีมักเป็นแปรนด์ที่สำคัญอย่างโดดเด่น  กลายเป็นแบรนด์ที่มีลักษณะท้องถิ่น ภูมิภาค และะระดับโลกไปพร้อมกันด้วย

กรณีเบียร์เวียดนามสะท้อนประวัติศาสตร์ช่วงเวลาสำคัญแยกประเทศ–เหนือ-ใต้ (ดังที่เคยกล่าวไว้) ส่วนเบียร์ไทยก็มีเรื่องราวเสริมแต่งแบรนด์ให้แข็งแกร่ง โดดเด่นด้วยเช่นกัน มีกลักษณะะคล้ายๆเวียดนาม ตรงที่มีเบียร์ 2แบรนด์ อยู่ด้วยกัน หากมีตำนานแตกต่างกัน ด้วยบริบท เชื่อมต่อจากยุคเก่าผูกขาด (เบียร์สิงห์ กับตำนานกว่า 8 ทศวรรษ) สู่ยุคใหม่ผู้ท้าทาย (เบียร์ช้าง เพิ่งเกิดมาเพียง2 ทศวรรษ)

เมื่อเปรียบเทียบคุณค่าแบรนด์ กับกรณี Fraser and Neave ย่อมเชื่อได้ว่าเบียร์เอออีซีทั้งหลาย แข็งแกร่งและโดดเด่นอย่างมาก ๆ

ขณะที่แบรนด์สินค้าอันหลากหลาย กระจัดกระจายของ Fraser and Neave ดูไม่มีพลังอย่างที่ควรจะเป็น จากดีลข้างต้น ในที่สุดไทยเบฟฯจะกลายเป็นกิจการมีแบรนด์เบียร์แห่งเออีซีที่มีพลีงมากที่สุดก็ว่าได้

ผู้นำตลาด

ดั่งที่เคยว่าไว้ “ตำนานการเกิดเบียร์ภูมิภาค สะท้อนสภาพธุรกิจเฉพาะ ก่อตั้งโดยอำนาจและอิทธิพลแต่ละยุคแต่ละสมัยโดยเฉพาะมาจากเจ้าอาณานิคม และนักธุรกิจผู้มีสายสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ ทั้งเป็นไปได้ว่า เป็นการบุกเบิกธุรกิจภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด ภายใต้ตลาดที่ยังไม่เติบโต

ธุรกิจเบียร์ในภูมิภาค มีฐานะเป็นผู้ “บุกเบิก” “ผูกขาด” บางกรณีเป็น “ผู้ผลิตน้อยราย” หรือ กิจการภายใต้การดูแลโดยรัฐ ย่อมเป็นธุรกิจไม่ได้อยู่ภายใต้ภาวะการแข่งขันอย่างเต็มที่ เมื่อบวกกับช่วงเวลาอยู่ในตลาดอย่างยาวนาน มีเวลามากพอ จึงสร้างฐานผู้บริโภคภายในประเทศได้อย่างกว้างขวางและมั่นคง แม้ระยะหลังๆตลาดเบียร์ในแต่ละประเทศดังกล่าวได้เปิดกว้างขึ้น ต้อนรับเบียร์แบรนด์ระดับโลก แต่ทว่าแบรนด์ระดับโลก ก็ไม่สามารถเข้าแย่งชิงตลาดอันเป็นฐานอันมั่นคงของเบียร์ท้องถิ่นได้”

กรณีในสังคมไทยก็เป็นเช่นนั้น ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาโดยเฉพาะแข่งขันกับเบียร์แบรนด์ระดับโลก ซึ่งเข้ามาในตลาดไทยอย่างเสรี ทว่าทั้ง “เบียร์สิงห์” และ “เบียร์ช้าง”สามารถยึดตลาดอย่างมั่นคง ตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดที่อ้างกัน บางกรณี ระบุว่า ผู้ผลิตเบียร์ทั้งสอง สามารถยึดครองส่วนแบ่งมากกว่า 90%ของมูลค่าตลาดเบียร์รวมทั้งประเทศ เพียงแต่ว่าเบียร์ช้างไม่ใช่ผู้ครองส่วนแบ่งมากที่สุดในประเทศ

ขณะที่กรณีเวียดนาม Sabecoเจ้าของเบียร์แบรนด์สำคัญ-Saigon Beer และ333 Beer เป็นผู้นำอย่างแท้จริ ง ครองส่วนแบ่งตลาดเบียร์มากที่สุดในประเทศเวียดนาม ไม่เพียงเท่านั้น “เวียดนามเป็นตลาดเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในเออีซี ซึงมีสมาชิก 10ประเทศ ด้วยการผลิตมากว่า4 ล้านกิโลลิตร “(Nikkei Asian Review, December 21, 2017 รายงานไว้โดยอ้างข้อมูลจาก Kirin Holdings research) สอดคล้องกับข้อมูลของไทบเบฟฯ เองที่เพิ่มเติมว่า ตลาดเบียร์เวียดนามใหญ่เป็นอันดับ3ในเอเชีย รองจากจีนและญี่ปุ่น” (รายงานของไทยเบฟฯต่อตลาดหุ้นสิงคโปร์ หัวข้อVietnam Beverage Successful in Bid in the Competitive Offering of Ordinary Shares in Saigon Beer Alcohol Beverage Joint Stock Corporation (“Sabeco”) 19 December 2017)

พออนุมานได้ว่าไทยแบฟฯ จะกลายเป็นผู้นำตลาดเบียร์ในเออีซีโดยพลัน

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: