อีกฉากหนึ่งที่น่าสนใจของสังคมธุรกิจไทย เมื่อมองผ่านรายใหญ่ ผ่านอีกดีลหนึ่ง
(1)
ถ้อยแถลงของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ หรือไทยเบฟฯ(ThaiBev)ครั้งนั้น(8สิงหาคม2560) ได้รับความสนใจอย่างยิ่ง ทั้งนี้คงมาจากสาระเนื้อหา เอกสาร(Announcement) ที่แจ้งต่อตลาดหุ้นสิงคโปร์ในหัวข้อ Entering into Asset Sale and Purchase Agreement with Yum Restaurants International (Thailand) และเอกสารแถลงข่าว (MEDIA RELEASE) ฉบับภาษาอังกฤษในหัวข้อ ThaiBev to Expand Food Business with the Acquisition of KFC Stores in Thailand
“ไทยเบฟฯ ได้บรรลุข้อตกลงซื้อขายสินทรัพย์กับ Yum Restaurants International (Thailand) เพื่อเข้าซื้อกิจการKFCกว่า 240แห่งในประเทศไทย ประมาณการว่าจะใช้เงิน 11,300 ล้านบาท เพื่อขยายกิจการธุรกิจอาหาร และตามทันไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค เครือข่ายอันกว้างขวางของKFCจะทำให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น เข้าใจแนวโน้มและรักษาตำแหน่งผู้นำธุรกิจ….KFC เป็นแบรนด์ร้านอาหารจานด่วนที่มีส่วนแบ่งการตลาดและร้านสาขามากเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทยดำเนินธุรกิจในไทยมานานกว่า 30 ปี มีอัตราขยายตัวเร็วที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคาดว่าดีลนี้จะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2560” สาระสำคัญของเอกสารทั้งสอง ซึ่งถ่ายทอดผ่านสื่อต่างประเทศก่อนที่สื่อไทยแปลมาอีกทอดหนึ่ง
มุมมองเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวที่น่าตื่นเต้นและเร้าใจ ข้างต้น มีหลายมิติ
สิ่งที่น่าสนใจอย่างเฉพาะเจาะจง เป็นแผนการทางธุรกิจของไทยเบฟฯในฐานะกลุ่มธุรกิจหลักและเป็นรากฐานสำคัญของกลุ่มไทยเจริญหรือทีซีซี
จากเอกสารทั้งสองฉบับข้างต้น มีคำและถ้อยความสำคัญ (Key word) ควรกล่าวถึงและขยายความ มีการกล่าวถึงบริษัทใหม่ในเครือไทยเบฟฯซึ่งเป็นคู่สัญญาในดีลครั้งสำคัญ คือ QSR of Asia Co., Ltd. (QSA) เข้าใจว่ามีความหมายเกี่ยวกับธุรกิจใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในเครือข่ายไทยเบฟฯ เรียกว่า ร้านอาหารบริการด่วน(Quick Service Restaurant) ทั้งนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า บริษัทใหม่ข้างต้นอยู่ภายใต้เครือข่ายบริษัทอีกแห่งหนึ่งที่ชื่อ Food of Asia Co., Ltd ซึ่งระบุไว้ด้วยว่าเป็นบริษัทหลักในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร (“Food of Asia Co., Ltd., ThaiBev’s wholly–owned subsidiary and food product group Flagship Company”)
ในภาพกว้างขึ้น แผนการดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับ พัฒนาการธุรกิจอาหาร(Food business) ของกลุ่มไทยเบฟฯ
หากย้อนไปพิจารณาภาพรวม ความเป็นไปเกี่ยวกับโครงสร้างธุรกิจ (อ้างจากPresentation—Thai Beverage PLC 2008 FY Financial results เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552) พบว่ามีการกล่าวถึงธุรกิจอาหารเป็นครั้งแรกโดยขณะนั้น(ปี2551)มีส่วนแบ่ง(พิจารณาจากยอดขาย)เพียง2.5% ในขณะที่ธุรกิจสุรา และ เบียร์ มีส่วนแบ่งอย่างมาก ถึง 56.6% และ36.5% ตามลำดับ ส่วนเครื่องดื่มไม่มีออลกอฮอล์มีเพียง 3.8%
ในช่วงเวลานั้น มีดีลสำคัญเกี่ยวเนื่องกัน นั่นคือ ความเคลื่อนไหวใน2551 ไทยแบฟฯเข้าซื้อและถือหุ้นใหญ่ ในบริษัทโออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบันกลุ่มโออิชิได้ปรับตัวทางธุรกิจอย่างสอดคล้องกัน “ เหตุการณ์สำคัญในปี 2561กลุ่มบริษัทโออิชิ ได้ดำเนินการโครงการการจัดกลุ่มธุรกิจ….แบ่งแยกสายธุรกิจภายในกลุ่มบริษัทโออิชิให้มีความชัดเจน เกิดความคล่องตัวในด้านการบริหารจัดการ โดยการโอนธุรกิจและทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอาหารกึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูป รวมถึงการจัดหา ผลิตและจัดส่งวัตถุดิบด้านอาหาร จากบริษัท โออิชิ เทรดดิ้ง จำกัด ให้แก่ บริษัท โออิชิ ฟู้ด เซอร์วิส จำกัด” (อ้างจาก http://www.oishigroup.com/index.php)
โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ธุรกิจร้านอาหาร อย่างกว้างๆ(ณ วันที่ 30 กันยายน 2561) “มีสาขาร้านอาหารรวมทั้งสิ้น 252 สาขา โดยเป็นสาขาที่เปิดดำเนินการในประเทศไทยซึ่งครอบคลุมการให้บริการทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดจำนวน 250 สาขา และสาขาที่เปิดดำเนินการในประเทศเมียนมาจำนวน 2 สาขา นอกจากนี้ ร้านอาหารจำนวน 2 สาขา เป็นสาขาที่ให้บริการในรูปแบบของแฟรนไชส์ ได้แก่ ร้านชาบูชิ สาขาเอ็มเอ็มเมก้ามาร์เก็ต อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และร้าน Nikuya สาขาบุรีรัมย์ คาสเซิล จังหวัดบุรีรัมย์”
อีกดีลสำคัญอีกกรณีหนึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการธุรกิจอาหารของไทยเบฟฯพอสมควร ในคือดีลปี2555กลุ่มไทยเบฟฯเข้าซื้อหุ้นFraser and Neave, Limited (F&N&) แห่งสิงคโปร์ซึ่งมีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอยู่ด้วยมีดัชนีบางประการ
เชื่อว่าปัจจัยข้างต้น เป็นแรงขับเคลื่อนเกี่ยวเนืองกัน ทั้งก่อนและหลัง ดีลThaiBev – KFC
ดัชนีที่หนึ่ง—เมื่อพิจารณาข้อมูลผลประกอบการช่วงก่อนหน้าดีล(อ้างจาก Presentation—Thai Beverage PLC 9M17 Financial Results (Nine– mount Ended 30 June 2017) ให้ภาพโครงสร้างธุรกิจซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเมื่อเกือบๆทศวรรษที่แล้ว นั่นคือธุรกิจอาหาร(พิจารณาจากยอดขาย)ยังคงอยู่มีสัดส่วน เพียง3.5% เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ในขณะที่ธุรกิจอื่น โดยเฉพาะธุรกิจหลักสำคัญยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งๆพยายามดำเนินยุทธศาสตร์สู่ธุรกิจไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์มากขึ้น ธุรกิจสุรา ยังคงมีส่วนแบ่งอยู่ในระดับไกล้เคียงกับเมื่อ 8 ปีที่แล้วคงอยู่ที่ 56.7% ธุรกิจเบียร์ส่วนแบ่งลดลงบ้างมาอยู่ที่ 31.1% ส่วนเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นไม่มากเป็น 8.8%
ดัชนีที่สอง— เมื่อพิจารณาผลประกอบการกิจการซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ผ่านๆมา ปรากฎว่า ทั้งFraser and Neave กลุ่มโออิชิ และกลุ่มเสริมสุข ล้วนมียอดขายลดลง โดยเฉพาะในช่วงปี2558-2559
(2)
อีกฉากที่น่าสนใจ มองผ่านความเคลื่อนไหวรายใหญ่ มองผ่านโมเดลธุรกิจที่ปรับเปลี่ยน
กรณี Thaibev-KFC มีภาพเชิงขยาย ว่าด้วยความเป็นไป KFCในประเทศไทยด้วย
ข้อมูลพื้นฐาน “Yum Restaurants International (Thailand) Co., Ltd หรือ Yum! Thailandเป็นบริษัทในเครือข่ายซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองหลุยส์วิลล์ รัฐเคนตั๊กกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้นําด้านธุรกิจอาหารระดับโลกซึ่งบริหารร้านอาหารKFC Pizza Hut และTaco Bell กว่า 38,000 สาขาใน 120 กว่าประเทศทั่วโลก” สำหรับ Yum! Thailand เป็นผู้บริหารและผู้ให้สิทธิแฟรนไชส์ร้านอาหารบริการด่วน KFC และ Pizza Hutในประเทศไทยทั้งนี้ระบุว่า “ดำเนินกิจการร้านอาหารKFC ในประเทศไทยมากว่า 20 ปี”
KFC ในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้น ด้วยความสัมพันธ์กับกลุ่มเซ็นทรัล มีการบันทึกไว้อย่างสอดคล้องกัน
“สำหรับประเทศไทย KFC เป็นแบรนด์ร้านอาหารบริการด่วนที่บริหารงานโดยบริษัท ยัมเรสเตอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (จำกัด) โดยมีบริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้ได้รับลิขสิทธิ์รายแรกในประเทศไทย ร้าน KFC สาขาแรกเปิดที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าวในปี 2527” ข้อมูลบางตอนปรากฏในรายงานประจำ ปี 2559บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จํากัด (มหาชน)
เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป หรือCRG เป็นกิจการหนึ่งสังกัด บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา ในฐานะธุรกิจหลักอีกกลุ่มหนึ่งในเครือข่ายกลุ่มเซ็นทรัล ดำเนินธุรกิจ2ประเภทคือ โรงแรม และธุรกิจอาหาร(Food business) เนื่องด้วยบริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา เป็นบริษัทจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงมีข้อมูลธุรกิจเกี่ยวข้องค่อนข้างครบถ้วน พอจะให้ภาพย่อย ๆ ต่อเป็นภาพใหญ่เกี่ยวกับ KFCในประเทศไทยได้อย่างน่าทึ่ง
ขณะที่เครือข่ายสาขาKFCอีกส่วนหนึ่ง ดำเนินการเองโดยเจ้าของแบรนด์ จนมาถึงช่วงเวลาหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงแนวทางธุรกิจครั้งสำคัญจึงเกิดขึ้น “Yum Restaurants เจ้าของแบรนด์ KFC ประกาศขายสาขาที่ลงทุนเองในไทยทั้งหมดเพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารมาเป็นรูปแบบแฟรนไชส์100% ตามทิศทางของบริษัทแม่” คำกล่าวยืนยันของผู้บริหารในประเทศไทย (อ้างจากข่าว เปิดใจ “ยัม เรสเทอรองตส์” ดีลร้อนหมื่นล้าน…ทำไมต้องไทยเบฟ- ประชาชาติธุรกิจ 16 สิงหาคม 2560)
ความจริงแผนการข้างต้น ดำเนินมาสักพักแล้ว โดย KFCในประเทศไทยได้ขายสาขาซึ่งเคยดำเนินการเองเป็นครั้งแรก ให้กับคู่สัญญาถือสิทธิ์รายใหม่ นั่นคือ Restaurants Development (RD) เท่าที่มีข้อมูล เป็นบริษัทซึ่งก่อตั้งเมื่อปี2549 ในฐานะกิจการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนไทยและอาเชียน โดยได้รับการสนับสนุนจากองทุนหนึ่งที่ชื่อ Asian Industrial Growth Fund Pte Ltd (AIGF) กองทุนซึ่งก่อตั้ง ณ ประเทศสิงคโปร์เมื่อปี 2548 โดยธนาคารญี่ปุ่น Mitsubishi Corporation และ Development Bank of Japan กับกลุ่มธนาคารมาเลเซีย(CIMB Group)
เชื่อว่าช่วงก่อตั้งบริษัทเป็นเวลาใกล้เคียงกันกับ RDเข้าดำเนินงานKFC ในประเทศไทย “อาร์ดีเป็นกลุ่มนักลงทุนที่สนใจธุรกิจร้านอาหารซึ่งมีลูกหม้อของยัมฯเป็นซีอีโอดูแลการบริหาร” ผู้บริหารYum Thailandกล่าวไว้เป็นการเพิ่มเติมข้อมูลให้ครบถ้วนขึ้น( อ้างแล้ว)
ส่วนดีล Thaibev-KFC มาจากแผนการขายสาขาล็อตสุดท้าย เปิดฉากขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมปี2560 เพื่อปรับการบริหารร้านKFC เป็นระบบแฟรนไชส์(Franchise)100% ดังนั้นตั้งแค่ต้นปี2561 KFC กับคู่ค้า3 รายในประเทศไทยพร้อมเดินหน้าตามโมเดลใหม่อย่างเต็มกำลัง พร้อมกับโจทก์ทางธุรกิจที่ตั้งไว้ ในแผนการพยายามให้ธุรกิจเติบโตต่อไป “ตามเป้าหมายจะมีกว่า 800 สาขา ภายในปี 2563” ทั้งนี้ผู้บริหาร Yum Thailand คนเดิมเชื่อว่า “คิวเอสเอ ของค่ายไทยเบฟฯนั้นเป็นบริษัทใหญ่ที่มีความพร้อมด้านเงินทุนซึ่งต้องการขยายธุรกิจร้านอาหารให้เข้าถึงผู้บริโภคในระดับกว้าง(mass)มากขึ้น”(อ้างแล้ว)
แรงขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจใหม่ของKFC เป็นไปตามกระแสระดับโลก เชื่อว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ในเมืองไทย พอจะประมวลภาพในมิติเกี่ยวข้องได้บ้าง โดยอ้างอิงข้อมูลของบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซาจํากัด (มหาชน)
เริ่มต้นด้วยภาพกว้างๆเกี่ยวกับการพัฒนาการทางธุรกิจ(พิจารณา จากรายงานประจำ ปี 2559บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซาจํากัด(มหาชน)หรือ CENTEL) “KFCพัฒนาเพิ่มการให้บริการในรูปแบบที่หลากหลายขึ้นไม่ว่าจะเป็นการรับประทานภายในร้าน ซื้อกลับบ้าน เดลิเวอร์ลี่ทั้งช่องทางออนไลน์และ 1150 รวมถึงช่องทางร้านไดรฟทรู…”
ขณะเดียวกัน CENTELได้รายงานผลประกอบการในช่วง 5ปีที่ผ่านมา(ปี 2555-2559 )ถือได้ว่าเป็นเวลาที่ดีพอสมควร รายได้แยกเฉพาะธุรกิจอาหาร(ซึ่งมีมากกว่าธุรกิจโรงแรม)เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่จากระดับ 7,141ล้านบาทในปี2555 มาเป็น 8,374 8,492 9,121 และ 9,309ล้านบาทในปี2559 ตามลำดับ รายได้ดังกล่าวมาจากรายได้โดยรวมของธุรกิจอาหาร ซึ่งCENTEL ถือลิขสิทธิ์เครือข่ายร้านค้าระดับโลกมากกว่า10 แบรนด์ (ปรากฏใน Central Plaza Hotel Public Company Limited Opportunity Day Presentation: Q217 28 August, 2017) ทั้งนี้ตั้งใจรายงานอย่างเจาะจงว่า เฉพาะKFC ในปี2558 และ2559 มีรายได้สัดส่วนมากที่สุด มีสัดส่วนถึง56%ของรายได้ธุรกิจอาหาร หรือคิดคร่าวๆเฉพาะปี2559 KFCทำรายได้ราว ๆ 5,000 ล้านบาท
ดังนั้นพอจะประเมินได้ว่า KFCกับกลุ่มเซ็นทรัล มีสาขา 225 แห่ง(ข้อมูลล่าสุด สิงหาคม 2560) เทียบเคียง กับดีลThaibev–KFC กับ KFC สาขาประมาณ240 แห่ง (ด้วยดีลมูลค่า 11,300 ล้านบาท) ให้ภาพไกล้เคียงกันอย่างไม่ต้องสงสัย นั่นคือภาพจินตนาการ ว่าด้วยรายได้ธุรกิจใหม่ๆของไทยเบฟฯที่จะปรากฏข้างหน้า ธุรกิจอาหารบริการด่วน(Quick Service Restaurant) ถือว่าอยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหาร(Food business) ในเครือข่ายไทยเบฟฯ เชื่อว่า คาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างน้อยถึงเท่าตัว
มีอีกบางแง่มุม ข้อมูลของ CENTEL(Central Plaza Hotel Public Company Limited Opportunity Day Presentation: Q217 28August,2017) ได้กล่าวถึงความพยายามขยายสาขา KFC เป็นพิเศษ เป็นความพยายามมากที่สุดกว่าทุกแบรนด์ที่CENTELมี โดยระบุว่าในปีต่อปีขยายสาขาเพิ่มขึ้นถึง7.2% (จากรายงานประจำปี2559ระบุว่ามี218สาขา และรายงานปี 2560ระบุว่ามี 225สาขา) เชื่อว่าเป็นความพยายามในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเปิดประมูลสาขาล็อตสุดท้ายของ KFCในประเทศไทย
ทว่าผลประกอบการกลับมีแนวโน้มไม่ค่อยดีนัก ไม่สัมพันธ์กับจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้น ในช่วงครึ่งปี2560 เมื่อเทียบครึ่งปีก่อนหน้า (2559) รายได้ธุรกิจอาหารโดยรวม กล่าวได้ว่าไม่มีการเติบโตเลย ในขณะที่ใตรมาสที่ 2 มี รายได้กลับลดลง 3% โดย CENTELให้เหตุผลไว้ว่า ส่วนสำคัญมาจากรายได้ที่ลดลงของKFC
ในมิติโมเดลธุรกิจธุรกิจ มีบางคนพยายาม เทียบเคียงกรณี Thaibev–KFC ในประเทศไทย กับ Yumchina–Alibaba group ในจีนแผ่นดินใหญ่
(3)
หากเทียบเคียงกรณีThaibev–KFC ในประเทศไทย กับYum China–Alibaba group ในจีนแผ่นดินใหญ่ ในความแตกต่างหลายมิตินั้น ย่อมมีบทเรียนสะท้อนถึงกันด้วย
ความจริงพื้นฐาน เพียงแค่ขนาดของตลาด ในจีนแผ่นดินใหญ่กับเมืองไทยก็เปรียบเทียบกันไม่ได้แล้ว จึงขอพิจารณาบางประเด็น โดยเฉพาะเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจ
“ร้าน KFC สาขาแรกเปิดที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าวในปี 2527” ข้อมูลบางตอนปรากฏในรายงานประจำปี 2559บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จํากัด (มหาชน) ดังที่เคยอ้างถึงบริษัทในเครือข่าย–บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัดในฐานะผู้ได้รับลิขสิทธิ์รายแรกในประเทศไทย ผ่านมากว่า3ทศวรรษ KFC ในประเทศไทยปัจจุบันทั้งหมด มีสาขาระดับ500สาขาเท่านั้น
ส่วน KFCในประเทศจีนเปิดสาขาที่ปักกิ่ง หลักรุงเทพ แค่3 ปี (2530) ถือว่าเข้าสู่ตลาดอันกว้างขวาง เร็วกว่าที่คาด ในฐานะฟาสต์ฟูดส์อเมริกันรายแรกในจีนแผ่นดินใหญ่ ทว่าการขยายสาขาเป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก ๆ กว่าจะมีเครือข่ายทะลุ1000สาขา(ปี2556) ได้ใช้เวลาถึง 25 ปี เพิ่งเร่งสปีดอย่างแท้จริงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ขยายสาขาปานสายฟ้าแลบ เพิ่มเป็น5000สาขาในอีกเพียง2 ปี(ปี2556-2558)
ภาพคร่าวๆข้างต้น เชื่อได้ว่า เป็นที่มาด้วยแผนการทางธุรกิจใหม่ๆ เป็นภาพสะท้อน ว่าด้วย สถานการณ์ และโอกาสทางธุรกิจของสังคมที่แตกต่างกัน
สำหรับ KFC และ Yum Restaurants International (Thailand) กับการปรับโมเดลธุรกิจในเมืองไทยจนบรรลุขั้นสุดท้าย ดีล Thaibev-KFCเป็นแผนการธุรกิจที่น่าสนใจ ในช่วงสถานการณ์มีความเสี่ยงมากขึ้น
การปรับตัวจากโมเดลเดิม ดำเนินการโดยคู่ค้ารายเดียว (กลุ่มเซ็นทรัล) คู่ขนานกับการดำเนินการของ Yum Restaurants International (Thailand) เอง มาเป็นโมเดลใหม่ บริหารKFC เป็นระบบแฟรนไชส์ (Franchise) 100% ร่วมมือกับคู่ค้า3ราย ส่งแรงผลักดันไปยังคู่ค้า ให้เดินหน้าตามแผนการเชิงรุกมากขึ้น ขยายสาขาอย่างเต็มกำลัง
–เริ่มต้นด้วยการขายทรัพย์สินที่เป็นสาขา KFC ซึ่งราคาประเมิน(โดยเฉพาะที่ดิน) สูงกว่าในตอนลงทุนครั้งแรกอย่างมาก ๆ ถือเป็นแผนการธุรกิจและแผนทางเงินอันแยบยล สร้างรายได้และผลตอบแทนทางธุรกิจในทันที ดีลThaibev- KFC มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่คงมาจากการขายสินทรัพย์ดังกล่าว
-เฉพาะกรณีไทยเบฟฯ ถือเป็นตัวเลือกที่ดี เป็นคู้ค้าใหม่ ในฐานะธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยราย กำลังมุ่งมั่นสู่ธุรกิจค้าปลีกด้วยแผนการเชิงรุก ไทยเบฟฯ และกลุ่มทีซีซี นอกจากมีเครือข่ายค้าปลีก ยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รูปแบบหลากหลาย กำลังอยู่ในแผนการพัฒนาอย่างคึกคักด้วย
มุมมองว่าด้วยโอกาสทางธุรกิจของไทยเบฟฯ สาระสำคัญๆได้กล่าวถึงไว้แล้ว มีอีกบางประเด็นควรเพิ่มเติม ไทยเบฟฯ เข้าสู่ธุรกิจใหม่ทันทีอย่างก้าวกระโดด และเข้าสู่ธุรกิจใหม่ในระบบแฟรนไชส์เป็นครั้งแรก“สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น สามารถเข้าใจเทรนด์ ความต้องการ” ถ้อยแถลงข้างต้นของไทยเบฟฯ มีเหตุผล ทั้งนี้อาจรวมถึงได้เรียนรู้บทเรียนทางธุรกิจจากคู่ค้าในฐานะธุรกิจระดับโลกซึ่งปรับตัวอยู่เสมอรวมไปจนถึงเป็นธุรกิจใหม่ซึ่งเกื้อกูลธุรกิจเดิม ในฐานะเจ้าของธุรกิจค้าปลีก เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบต่าง ๆ ธุรกิจต่อเนื่องเป็นวงจรที่จำเป็น เป็นห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจ ธุรกิจใหม่ธุรกิจร้านอาหารบริการ จะเป็นผู้เช่าพื้นที่หลัก(Anchor Tenant) ที่สำคัญ
ส่วนกรณีในจีนแผ่นดินใหญ่ แม้ว่าโดยพัฒนการและโมเดลธุรกิจ แตกต่างกับกรณีเมืองไทยอย่างมาก แต่มีบางมิติคล้ายกันอยู่บ้าง KFC และ Yum Brandsใช้เวลาเรียนรู้อยู่นาน จนได้บทสรุปว่าจำเป็นต้องอาศัยพันธมิตรธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งมีความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภค และสามารถแก้ปัญหาธุรกิจซึ่งมีลักษณะเฉพาะๆแต่ละท้องถิ่น
กรณีจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะที่ตลาดเปิดกว้าง โอกาสยังมีอีกมาก แต่ดูเหมือนการบริหารกิจการที่ผ่านมา ไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็น ส่วนกรณีเมืองไทย จำเป็นต้องอาศัยพลังพันธมิตรท้องถิ่น ผลักดัน ทำลายข้อจำกัด ขณะที่ภาวะตลาดอิ่มตัวมากขึ้น
KFC จีนแผนดินใหญ่อยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่าง หลังจาการปรับโครงสร้างบริหารธุรกิจ จึงเดินหน้าไปอย่างคึกคัก ด้วยแผนการขยายสาขาอย่างครึกโครมที่สุดเท่าที่เป็นมา
เรื่องราวดีลสำคัญที่ว่า เปิดฉากขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนปี2559 มี 2เหตุการณ์สำคัญต่อเนื่องกัน
หนึ่ง—ต้นเดือนกันยายน 2559 กลุ่มบริษัทในเครือข่าย Alibaba Group เข้ามาร่วมทุนกับ Yum! Brands ใน Yum China Holdings กิจการซึ่งดำเนินกิจการเครือข่าย KFC Pizza Hut และ Taco Bell ในจีนแผ่นดินใหญ่ ได้แก่ บริษัทด้านการลงทุน Primavera Capital Group และกิจการด้านบริการการเงินทางออนไลน์และโทรศัพท์เคลื่อนที่–Financial Services Groupทั้งสองบริษัทลงทุนรวมกันมากถึง 460ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับ Alibaba Group เป็นความเคลื่อนไหวทางธุรกิจที่น่าสนใจ พยายามก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ประสานความชำนาญที่มีอยู่ เข้ากับธุรกิจฟาสต์ฟูดส์ ธุรกิจที่เชื่อว่าสัมพันธ์กับปัจเจก สัมพันธ์กับไลฟ์สไตล์ใหม่คนจีน ขณะที่Yum! Brands มีพันธมิตรร่วมหัวจมท้าย เชื่อว่าเกื้อกูลกันด้วยแผนการระยะยาว
สอง—การปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุนข้างต้น เป็นไปตามแผนการ Yum China Holdings ได้แยกตัวออกเป็นบริษัทต่างหาก จากเครือข่าย Yum! Brands ในปลายเดือนตุลาคม 2559 ขณะเดียวกันสร้างโมเดลความสัมพันธ์ทางธุรกิจใหม่ Yum China Holdings กลายเป็นคู่ค้าถือลิขสิทธิ์ตามระบบระบบแฟรนไชส์จากYum! Brands ตบท้ายด้วยแผนการสำคัญ นำ Yum China Holdings เข้าจดทะเบียนตลาดหุ้นนิวยอร์ค (New York Stock Exchange) ซึ่งลุล่วงด้วยดี ทำการซื้อขายมาตั้งแต่ 1 ธันวาคม2559
แผนการข้างต้น มีความซับซ้อนและยิ่งใหญ่กว่ากรณีเมืองไทยอย่างมาก โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับตลาดทุนระดับโลก ก่อประโยชน์ทางธุรกิจอย่างมากมายทั้งสองฝ่าย Yum! Brands ได้ขายหุ้นทั้งก่อนและเข้าตลาดหุ้น ได้เงินก้อนโต ทั้งยังถือหุ้นในสัดส่วนมีนัยยะต่อไป ขณะYum China Holdings สามารถระดมทุนก้อนใหญ่จากตลาดหุ้นนิวยอร์ค เพื่อการขยายฐานธุรกิจในจีน เดินหน้าไปอย่างรวดเร็วกว่าเดิม
แผนการธุรกิจใหม่ กรณี Yum! Brands กับYum China Holdingsในจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ ถือเป็นบทเรียนทางธุรกิจสำคัญระดับโลก รวมพันธมิตรในไทยด้วย