วีรพงษ์ รามางกูร

สามทศวรรษมานี้ เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนเดียวของไทยก็ว่าได้ ที่ทำงานอย่างต่อเนื่องมากที่สุด

แม้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา สังคมไทยจะมีความผันแปรมากเพียงใด  และดูเหมือนเขามีความพยายามเสนอความคิดในการก้าวพ้นความคลุมเครือและสับสนของสังคมไทยในขณะนี้

เขาอาจจะได้ชื่อว่าเป็น “เทคโนแครต” คนสุดท้ายที่มีภูมิหลังและเส้นทางชีวิตและการทำงานด้านนโยบายรัฐ มีความต่อเนื่องภายใต้ระบบการเมืองไทย จากยุคกึ่งเปิดกึ่งปิดไปสู่ระบบเปิด “ บทสรุปสำคัญ จากงานเขียนเก่าของผมเอง( วีรพงษ์ รามางกูร มากกว่าความเป็นนักเศรษฐศาสตร์นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2544 ) ถือเป็นฐานข้อมูลและแนวความคิดของบทความชื้นนี้ อาจจะถือว่า เป็นตอนต่อก็ได้

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ นับเนื่องจากช่วงชีวิตเป็นนักเรียนนอกที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 5 ปีครึ่ง ถือเป็นบันไดขั้นสำคัญมาก ในการไต่จากสังคมฐานราก ไปสู่สังคมระดับบน

ในช่วงนั้นประเทศไทย เริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับแรกในช่วงรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลักดันและสนับสนุน ซึ่งรวมถึงให้ทุนการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ “เป็นยุคเศรษฐศาสตร์เฟื่องฟู รุ่นผมมี ดร.โอฬาร ไชยประวัติ, วิจิตร สุพินิจ, ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, ประทีป สนธิสุวรรณ รวมทั้ง ณรงค์ชัย อัครเศรณี และสาธิต อุทัยศรี กลับมาไล่เลี่ยกัน” ดร.วีรพงษ์ซึ่งได้ทุนร็อกกี้เฟลเลอร์ (ทุนการศึกษาจากสหรัฐฯสำหรับประเทศด้อยพัฒนา) เคยกล่าวถึง นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนทุน โดยเฉพาะนักเรียนทุนของธนาคารแห่งประเทศไทย กลุ่มคนเหล่านี้ต่อมามีบทบาทในภาครัฐ ในฐานะผู้กำกับ ดูแลนโยบายทางเศรษฐกิจการเงิน ในเวลาเดียวกับที่ดร.วีรพงษ์มีบทบาทในฐานะที่ปรึกษาคนสำคัญของรัฐ

อีกด้านหนึ่ง เขามีความสัมพันธ์กับนักเรียนสหรัฐอีกกลุ่มหนึ่ง เข้ามีบทบาทในภาคธุรกิจที่กำลังขยายตัว โดยเฉพาะนักเรียนวิชาการบริหารธุรกิจ   อาทิ มรว. ปิริดิยาธร เทวกุล (ผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย 2514-2533) และ ศิวะพร ทรรทรานนท์ (ผู้บริหารบริษัทเงินทุนทิสโก้ 2513-2536) ซึ่งถือเป็นรุ่นน้อง เรียนทีเดียวกัน ในขณะที่ ดร.วีรพงษ์ เรียนเศรษฐศาสตร์ ทั้งสองเรียนเรียนเอ็มบีเอ ซึ่งถือว่าเป็นวิชาการที่ได้รับความนิยมอย่างมากมายในยุคโลกาภิวัฒน์ไม่นานจากนั้น

ทั้งสองคือ ตัวแทนกลุ่มคนหนึ่งกลับมาเมืองไทย ในระยะเดียวกัน  มีบทบาทในธุรกิจการเงินของไทย ซึ่งขยายตัวอย่างมากในช่วงหลังสงครามเวียดนาม  พวกเขาคือกลุ่มมืออาชีพรุ่นใหม่ ทีมีอิทธิพลในสังคมธุรกิจไทยต่อเนื่อง    สายสัมพันธ์นี้เชื่อมต่อกับกลุ่มผู้บริหารในภาคธุรกิจที่ทรงอิทธิพลกลุ่มใหญ่  ในเวลาต่อมา เมื่อดร.วีรพงษ์เอง เข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจจึงดำเนินไปได้อย่างดี

จุดเริ่มต้นของเขา อยู่ในกลุ่มนักวิชาการที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดในช่วงสังคมอเมริกันกำลังมีความขัดแย้ง ทางความคิดกันมาก จากกรณีสงครามเวียดนาม ความคิดที่เอนเอียงไปทางต่อต้านสงคราม ครั้นกลับมาประเทศไทยในภาวะสังคมที่ปิดกั้น  นักวิชาการจึงรวมกลุ่มพุดคุย ถกเถียงปัญหาสังคมกันมาก รวมทั้งมีส่วนสนับสนุนขบวน การนักศึกษาในการเรียกร้องประชาธิปไตยในยุคนั้นด้วย

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นอาจารย์เศรษฐมิติคนแรกๆ ของไทยในปี2513 หลังจากจบปริญญาโท-เอก ทางเศรษฐศาสตร์ University of Pennsylvania, U.S.A. เขาเดินสายสอนหนังสือหลายมหาวิทยาลัย เป็นที่รู้จักกันมาก จนเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยวัยยังไม่ถึง 40 ปี (2524-2526) จากนั้นเขามีโอกาสเข้าร่วมอยู่ในงานที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจด้านนโยบายของรัฐบาล (2523-2531) ถือเป็นช่วงประสบการณ์ที่สำคัญของชีวิต จะว่าไปแล้วอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นฐานสำคัญของโอกาสมากมายต่อจากนั้น

ว่าไปแล้ว เขาอยู่ในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในยุคที่มีบุคลิกสำคัญของสังคมไทย อยู่ในช่วงระบบการเมืองแบบกึ่งเปิดกึ่งปิด โดยเฉพาะในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขณะเดียวกันในทางเศรษฐกิจ  อยู่ภายใต้กลไกการสะสมความมั่งคั่งของกลุ่มธุรกิจกลุ่มเดิมที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลก และเติบโตอย่างมากในยุคสงครามเวียดนาม   ภายใต้กลไกของระบบธนาคารครอบครัว ซึ่งถือว่ามีพื้นที่จำกัด สงวนไว้สำหรับบางกลุ่ม ขณะเดียวก็มีกระบวนคัดเลือกที่เข้มงวดสำหรับผู้มาใหม่   มีปรากฏการณ์สำคัญให้เห็นเป็นระยะๆในช่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ

เรื่องราวบทบาทสำคัญของดร.วีรพงษ์ รามางกูร ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่มีบทบาทต่อเนื่อง และได้รับความไว้วางใจอย่างมาก เป็นที่เล่าขาน โดยเฉพาะบทบาทในการตัดสินใจลดค่าเงินในช่วงปี 2527 อันพิสูจน์ว่าเป็นการตัดสินใจที่สำคัญในการแก้ปัญหา เศรษฐกิจในระยะเวลาต่อมา ซึ่งตัวเขาเองก็ภูมิใจในบทบาทนี้อย่างมาก

ในยุคหลังพลเอกเปรม   ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสังคมไทย เช่นเดียวกับบทบาทที่ดูสับสนพอควรแต่อย่างไรภาพของความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เขาสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์  และมีมุมมองที่น่าสนใจ ต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์  เป็นบุคลิกเฉพาะของเขาอย่างเด่นชัดมากขึ้น   ภาพที่เขาเคยสังกัดยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์  ค่อยๆกลายเป็นภาพเฉพาะของตนเองขึ้นมา

เขาเป็นรัฐมนตรีคลังเมื่อปี 2533 ถือเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรก ในยุคปลายรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยเขาให้เหตุผลว่า “เพราะยังไม่เคยเป็น อยากจะเป็นผู้ปฏิบัติ”   แต่เมื่อทหารรัฐประหารโค่นรัฐบาลก่อน เขาก็ยังมีบาทบาทต่อไปในฐานะเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการคลัง สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (2534-2535) แล้วยอมลดตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (2535)

และอีกครั้งกับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเมื่อ 15 สิงหาคม 2540 ที่ว่ากันว่า ทำหน้าที่ประสาน งานกับไอเอ็มเอฟ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งไม่ถึง 3 เดือนก็พ้นตำแหน่ง เมื่อพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี แล้วพรรคประชาธิปัตย์ เข้าเป็นแกนนำของรัฐบาลชุดใหม่

บททดสอบครั้งสำคัญ  คงไม่พ้นกรณีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี) ซึ่งเขาได้รับการเชื้อเชิญให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาบีบีซี “ผมถือว่าเป็นช่วงเปลืองตัวมาก ที่สุดในชีวิต เกือบไป” แม้เขายอมรับว่าด้วยความสัมพันธ์กับสื่อมวลชนมายาวนาน  มีส่วนทำให้เขารอดพ้นเหตุการณ์ครั้งนั้นมาได้  ขณะที่ผมเชื่อว่าปรากฏการณ์ที่บีบีซี  เป็นภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเชิงความสัมพันธ์ของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย  และก็เชื่อว่าดร.วีรพงษ์ รามางกูรเข้าใจปรากฏการณ์นั้นอย่างลึกซึ้ง

จากนั้นมา ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ได้ปรับแผนชีวิตพอสมควร  โดยวางบทบาททั้งระดับกว้างและลึกอย่างรอบคอบและ สมดุล

เขาเริ่มต้นเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาทางธุรกิจหลายบริษัท  เขาเคยบอกว่า ไม่เคยคิดมาก่อนว่ารายได้จากการทำงานเอกชนจะมีมากมายเพียงนี้ จากประสบการณ์ใหม่ เขาจึงมีความเข้าใจธุรกิจในมิติที่กว้างมากขึ้น ในสายตานักเศรษฐศาสตร์มหภาค โดยมีพื้นฐานความเชื่อว่านักธุรกิจสามารถปรับตัวได้ดีในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งมี ความคิดยืดหยุ่นกับเห็นใจนักธุรกิจไทย  ขณะเดียวกันสายสัมพันธ์และประสบการณ์อันเชี่ยวกรำของเขาคงจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจไม่น้อย

อีกด้านก็ยังคงความสัมพันธ์กับการเมืองไว้ระดับหนึ่ง  ทำนองเดียวกับบทบาทที่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์   เขาเป็นที่ปรึกษาของทีมเศรษฐกิจรัฐบาล พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ( 2544-2549) และประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช (มกราคม-กันยายน 2551) ซึ่งว่าไปแล้วเป็นคนละขั้วทางการเมืองกับความสัมพันธ์เดิมของเขา

ที่น่าสนใจมากในเวลาเดียวกันนั้น   เขาเป็นคอลัมนิสต์ โดยเริ่มงานเขียน  คนเดินตรอก”ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2543 แม้จะหยุดบ้าง แต่โดยทั่วไปถือเป็นงานที่ทำอย่างต่อเนื่อง แทบจะทันที่ดร.วีรพงษ์ รามางกูร กลายเป็นคอลัมนิสต์ที่ทรงอิทธิพล ข้อเขียนจากความคิดและประสบการณ์ของเขาได้รับความสนใจอย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มอิทธิพลในสังคมไทย

เขาแสดงบทบาทสำคัญในฐานะนักเศรษฐศาสตร์อย่างต่อเนื่อง  จากที่ปรึกษาให้คำแนะนำ ว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจของรัฐ มาสู่งานการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ แม้ว่าในฐานะหลังจะมิได้ต่อเนื่องและประสบความสำเร็จเท่าที่ควร   จากนั้นจึงก้าวเข้าสู่บทบาทสำคัญอีกระดับหนึ่ง  ด้วยการเสนอความคิด มุมมอง ทางด้านเศรษฐกิจต่อกลุ่มค่างๆ โดยเฉพาะสาธารณะชน ซึ่งถือเป็นบทบาทต่อสังคมวงกว้าง   เป็นการเสนอความคิดอย่างมีเหตุผล ตรงไปตรงมา และกล้าเผชิญแรงเสียดทาน

ความผันแปรครั้งใหญ่ของสังคมไทยในห้วงเวลานี้  ไปไกลกว่าที่คิด   นักเศรษฐศาสตร์ไทยหลายคนจึงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

แต่ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ยังอยู่ 

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: