ธนินท์ กับ เจริญ

หากไม่ได้เขียนตอนนี้ เรื่องราวชุดว่าด้วยเจริญ สิริวัฒนภักดี คงจบอย่างไม่สมบูรณ์ และก็คงน่าเสียดายที่ไม่ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ อันน่าทึ่งระหว่างพัฒนาการ กับแรงขับเคลื่อนของผู้ทรงอิทธิพล ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคมเกษตรไทย

แม้จะเริ่มต้นจากเรื่องเก่า แต่พัฒนาที่ต่อจากนั้นน่าสนใจมากทีเดียว  เมื่อเกือบ10 ปีที่แล้ว ผมร่วมอภิปรายที่ธรรมศาสตร์ จัดโดยคณะเศรษฐ์ศาสตร์  ว่าด้วยกลุ่มธุรกิจซีพี  ด้วยการเสนอความคิดที่”สุ่มเสี่ยง”พอสมควร ความพยายามอรรถาธิบายพัฒนาการของซีพี และแนวความคิดของธนินท์ เจียรวนนท์  ให้มีมิติกว้างขึ้นจากบทสรุปว่าด้วย  “สายสัมพันธ์” กับ  “การผูกขาด”  โดยใช้นำคำ “วิวัฒนาการ” มาเชื่อมโยงภาพต่างๆ

ข้อเขียนชิ้นหนึ่งที่เขียนขึ้นในช่วงนั้น  อรรถาธิบายแนวคิดข้างต้นไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว   การนำเสนอบทความตอนนี้ พยายามทบทวนแนวความคิดเดิม ด้วยการเสนอข้อเขียนเก่าชิ้นนั้นไปพร้อมๆกับการเสนอข้อมูลใหม่ที่พัฒนาในช่วงทศวรรษมานี้  ซึ่งอาจเป็นภาพสะท้อนบริบทใหม่ของสังคมชนบทที่ยากจะเข่าใจ

“วิวัฒนาการทางสังคม เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดูจะเป็นบทสรุปที่เป็นสัจธรรม แต่พลังอันทรงอิทธิพลก็สามารถบังคับให้วิวัฒนาการนั้นไปอย่างช้าๆ หรือเร็วก็ได้ เป็นเรื่องน่าคิด น่าศึกษา

เช่นเดียวกับคนที่ชอบอ้างวิวัฒนาการนั้น ย่อมจะเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากวิวัฒนาการ น่าจะเป็นบทสรุปที่ควรจะถูกต้องบ้างไม่มากก็น้อย เช่นเดียวกัน

ผู้นำซีพีเข้าใจวิวัฒนาการทางสังคมไทยมากคนหนึ่ง และที่สำคัญเขาสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจจากวิวัฒนาการนั้นได้อย่างมหัศจรรย์ ในช่วง 30 ปีมานี้ เริ่มต้นจากการควบคุมและขี่วิวัฒนาการใหม่ของการเลี้ยงไก่ เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันซีพีกำลังหันทิศอย่างเต็มกำลังสู่การค้าปลีก ขณะเดียวกันกำลังซุ่มทดลองและขายความคิด เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่กระแสวิวัฒนาการที่ดูเหมือนเชื่องช้าที่สุดของไทย นั่นคือการทำนา” (อ้างจาก   Evolution โดย วิรัตน์ แสงทองคำ นิตยสารผู้จัดการ ฉบับพฤศจิกายน 2545)

ทศวรรษต่อจากนั้นมาธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มซีพี ขยายตัวไปอย่างมาก ถือว่าเป็นธุรกิจที่ขยายตัวมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจใหม่ของซีพี โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสื่อสาร  ที่สำคัญดูเหมือนแรงต่อต้านลดน้อยลงมาก ขณะเดียวกันซีพีไม่เพียงขยายเครือข่ายค้าปลีกมากขึ้นเท่านั้น ยังสร้างสรรค์รูปแบบหลากหลาย เจาะตลาดทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่   ตั้งแต่  Tecso Lotus, Tecso Lotus ตลาด, Tecso Lotus Express และที่สำคัญคือ 7-Eleven

“โมเดลความคิดทางยุทธ์ศาสตร์ที่ว่านี้ มีขั้นตอนที่น่าศึกษามากทีเดียว

ขั้นแรก – เชื่อมั่นในวิวัฒนาการนั้นว่ามันกำลังมาถึง ความเชื่อมั่นมาจากการมองภาพนั้นไปข้างหน้า หรือที่เรียกกันว่าวิสัยทัศน์ ความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า ล้วนมาจากศึกษาวิวัฒนาการในระดับโลก ที่วิวัฒนาการแต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาคไม่ทัดเทียมกัน จากนั้นจึงเข้าถึงโมเดลวิวัฒนาการหนึ่ง ที่ก้าวหน้ากว่าสังคมไทยพอสมควร ศึกษาอย่างลึกซึ้งที่ว่าด้วยแรงขับเคลื่อนวิวัฒนาการให้ดำเนินไปข้างหน้า อย่างมีขั้นมีตอน ประสบการณ์ของซีพีระบุว่า แรงขับเคลื่อนสำคัญจะอยู่ที่วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีและการจัดการเป็นหัวใจ

บทเรียนในอดีตของซีพีที่ว่าด้วยการสร้างความเชื่อมั่นในวิวัฒนาการนั้น ส่วนใหญ่มาจากการทดลอง ในปี 2515-2517 ซีพีทดลองสร้างระบบ Contract Farming เพื่อพัฒนาการเลี้ยงไก่ในชุมชนเล็กๆ ที่ยากจนที่สุด ในทำนองเดียวกัน ในปัจจุบันกำลังซุ่มศึกษาโมเดลการทำนาแบบประสมประสานใหม่ ในชุมชนที่แห้งแล้งที่สุดในภาคอีสานตอนใต้ ทั้งสองกรณีนี้มีความจำเป็นอย่างสูงในการศึกษาความเป็นไปได้ภายใต้เงื่อนไขในประเทศไทย ส่วนค้าปลีกแค่ศึกษาบทเรียนในต่างประเทศก็เพียงพอแล้ว

ที่สำคัญมาก ยุทธ์ศาสตร์นี้จะต้องมุ่งไปที่โครงสร้างเดิมที่เกี่ยวข้องกับสังคมระดับกว้าง และมีวิวัฒนาการที่ล้าหลังเอามากๆ ด้วย” (อ้างแล้ว)

 ว่าไปแล้วตอนนั้นซีพีได้เริ่มดำเนินการธุรกิจข้าวครบวงจรอย่างเงียบๆมาแล้วหลายปี

“กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรจึงได้ริเริ่มโครงการข้าวครบวงจรขึ้นในปี 2537 ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและบริษัทเพื่อทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมตั้งแต่ก่อนการเพาะปลูกจนถึงหลังการเก็บเกี่ยวให้แก่เกษตรกร โดยเริ่มตั้งแต่การวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูง การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต” ข้อมูลของซีพีเองกล่าวถึงความเคลื่อนไหวสำคัญของการก้าวเข่าสู่ธุรกิจข้าว (จาก www.cpcrop.com )

ในยุทธ์ศาสตร์นี้ ซีพี ตามโมเดลต้องเริ่มต้นจากเทคโนโลยี่  โดยได้ผลิตสินค้าสำคัญ สองชนิด คือพันธุ์ข้าวและ โรงสีข้าวขนาดเล็ก

ขณะนี้ซีพีมีพันธุ์ข้างของตนเอง(C.P.304) เกิดขึ้นจากงานวิจัยเมื่อ ปี 2545เพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวลูกผสมให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ข้าวทั่วไปที่มีอยู่ในประเทศ โดยดำเนินการวิจัยที่ฟาร์มกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร

ขณะเดียวกันร่วมทุนกับเจ้าของเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ตั้งบริษัท ซาตาเก้ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างซีพีและ Satake Corporation ประเทศญี่ปุ่น ผลิตเครื่องจักรโรงสีข้าว (Rice Processing Machinery) และชิ้นส่วนเครื่องจักรโรงสีข้าว สำหรับขายทั้งในและต่างประเทศ “เป็นเครื่องจักรโรงสีข้าวที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้เนื้อที่ในการติดตั้งน้อย สีข้าวได้เปอร์เซ็นต์ข้าวต้นสูง  ขบวนการผลิตเป็นระบบปิดป้องกันการปลอมปนการปลอมปนและ  ลดมลภาวะ  สามารถพัฒนาระบบการควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์มาเสริมในขบวนการแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร”  นอกจากนี้ซีพีจะพยายามพัฒนาเทคโนโลยี่และยังพัฒนาโรงสีข้าวชุมชนขึ้นด้วย  โรงสีข้าวขนาดเล็ก มีกำลังการผลิตถึง 500 กิโลกรัม (ข้าวเปลือก)ต่อชั่วโมง

“ขั้นที่สอง – กระตุ้นวิวัฒนาการ แรงกระตุ้นวิวัฒนาการเป็นงานที่ยากลำบากที่สุด เพราะมักจะมาพร้อมกับแรงต้านวิวัฒนาการนั้น ประสบการณ์ในอดีตในเรื่องการเลี้ยงไก่แบบใหม่มีมากพอทีเดียว เช่นเดียวกันปัจจุบันกำลังเผชิญแรงต้านอย่างรุนแรง จากระบบค้าปลีกแบบเดิมของสังคมไทย

การกระตุ้นที่สำคัญ ไม่อาจจะทำตามลำพังในเชิงธุรกิจเท่านั้น หากจะต้องเข้าถึงกลไกของรัฐ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง “การเข้าถึง” ที่ว่ามีความหมายหลายมิติ ไม่เพียงเข้าไปขายความคิด ให้ความคิดนั่นฝังเข้าไปในกลุ่มผู้นำ และผู้มีอิทธิพลในสังคมไทย เพื่อผลักดันกติกาที่สนับสนุนวิวัฒนาการเกิดขึ้น หากรวมถึงศึกษาแนวทางการพัฒนาสังคมไทยในเรื่องที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ประกอบด้วย วิวัฒนาการเลี้ยงไก่แบบใหม่ภายใต้การควบคุมดูแลของซีพีคงไม่เกิดขึ้น หากระบบธนาคารไทยไม่ถูกบังคับให้เข้าไป มีส่วนเกื้อหนุนในภาคการเกษตร หรือแม้กระทั่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ได้สร้างบุคลากรรองรับการเกษตรสมัยใหม่ไว้จำนวนมากพอ เช่นเดียวกันหากสังคมไทยไม่พัฒนาระบบคมนาคมในหัวเมืองมากพอ การกระตุ้นวิวัฒนาการนั้นก็คงเกิดขึ้นไม่ง่าย

ปัจจุบันซีพีกำลังเผชิญปัญหาที่ใหญ่พอสมควร มาจากแรงต้านวิวัฒนาการค้าปลีก เพราะเป็นการต่อสู้ระดับนโยบายของรัฐ เข้าใจว่าเรื่องนี้ ธนินท์ เจียรวนนท์ คงต้องออกแรงไม่น้อยไปกว่าการได้มาซึ่งสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในเมืองหลวงในวัยที่หนุ่มแน่นกว่านี้ เมื่อ 10 ปีก่อนเป็นแน่ ผมแนะนำให้ติดตามดูละครแห่งชีวิต ที่กระทรวงพาณิชย์อาจจะทำให้ท่านผู้อ่านสะเทือนใจได้”

ในช่วงที่ผ่านมา แผนการขยายธุรกิจค้าปลีกดำเนินไปอย่างราบรื่นกว่าที่คิด มีปรากฏการณ์ต่อต้านที่รุนแรงบ้างในบางจังหวัด แต่เหตุการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงในช่วง3-4 ปีมานี้ดูเหมือนกลบกระแสนั้นไป ในอีกด้านหนึ่งไม่ว่าสถานการณ์ใด  ธนินท์ เจียรวานนท์ ผู้นำซีพี  ดำเนินแผนใหญ่รณรงค์ “ทฤษฎีสองสูง” ได้อย่างทั่วถึงและครึกโครม สร่างแรงกระตุ้นและกดดันต่อนโยบายรัฐ ขณะเดียวก้นเป็นการวิเคราะห์คาดการณ์ ในฐานะบทบาท  “การกระตุ้น”วิวัฒนาการอย่างที่ผมอ้างไว้   บทสรุปของแนวคิด หนึ่ง-ยกระดับราคาสินค้าเกษตรคนส่วนใหญ่ในประเทศมีรายได้สูง สอง- ปรับเงินเดือนข้าราชการขึ้นสูงตาม ให้สมดุลกัน  

ยุทธ์ศาสตร์ใหม่ว่าด้วยสร้างสินทรัพย์ของระบบเศรษฐกิจไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้นจากสินค้าเกษตร จึงเป็นทิศทางที่ผู้คนให้ความสนใจมากขึ้น   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจริญ สิริวัฒนภักดี

กลุ่มไทยเจริญได้เริ่มต้นอุตสาหกรรมเกษตรอย่างจริงจังระหนึ่ง  (อ่านจาก  กลุ่มไทยเจริญ (4  ) เกษตรกรใหญ่ )แต่การเข้าสูธุรกิจข้าวอย่างจริงจังเพิ่งเริ่มต้น  “ได้เริ่มธุรกิจผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ในเนื้อที่ 15,000 ไร่ แบ่งเป็นแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในอยุธยาประมาณ 10,000 ไร่ หนองคายประมาณ 2,000 ไร่ ที่เหลือกระจายอยู่ในพื้นที่ลพบุรี พะเยา โดยซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว เช่น ข้าวชัยนาท ข้าวปทุมธานี 1 จากกรมข้าวเพื่อนำมา ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตในระบบ Contract-farming และรับซื้อคืนเพื่อจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ขยาย ในปีนี้เป็นปีแรกภายใต้เครื่องหมายการค้า “ข้าวด็อกเตอร์” ให้กับชาวนาที่สนใจโดยตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ไว้ที่ 3,000 ตัน”( ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 15 มิถุนายน  2553)

จุดเริ่มต้นของไทยเจริญ ดูเหมือนครึกโครมมากกว่า ซีพีพอสมควร  แต่ก็มีเค้าโครงคล้ายคลึงกัน  ด้วยเริ่มจากการขายพันธุข้าว แม้จะเริ่มต้นมิได้ผลิตและวิจัยด้วยตนเอง  การลงทุนทำนาในพื้นที่ขนาดใหญ่ด้วยตนเอง  และที่สำคัญประกาศโปรแกรมที่คิดว่าซีพีควรทำก่อน ว่าด้วย Contract-farming                 

“ขั้นที่สาม – ควบคุมและขี่วิวัฒนาการ แนวทางของซีพีที่ถือเป็น Grand Strategy ก็คือการเข้าควบคุมกลไกวิวัฒนาการ ซึ่งได้แก่เทคโนโลยีและ การจัดการ

ซีพีซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนปฏิวัติการเลี้ยงไก่ในภูมิภาคนี้ แต่ความจริงซีพีใช้เทคโนโลยีจากตะวันตก ที่ว่าด้วยการพัฒนาพันธุ์ไก่มาประยุกต์เข้ากับการจัดการ ที่เป็นแบบฟาร์มขนาดใหญ่แบบตะวันตก มาสู่การสร้างฟาร์มย่อยของเกษตรกร บวกกับฟาร์มใหญ่ของตนเอง การจัดการในเรื่องนี้มีความหมายถึง การเลี้ยงไก่โดยควบคุมและดัดแปลงธรรมชาติให้เป็นระบบที่คาดหมายได้ในเชิงอุตสาหกรรม

เช่นเดียวกับการเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เพื่อเข้าแทรกแทนที่ธุรกิจค้าปลีกแบบเดิมซึ่งล้าหลังมาก ซีพีอาศัยเทคโนโลยีหรือโนวฮาวการค้าปลีกของคนอื่นๆ เพื่อมีน้ำหนักในการควบคุมมากพอ จึงใช้ยุทธวิธีเข้าลงทุนธุรกิจนี้กับเจ้าของเทคโนโลยีหลายราย และหลายระดับ เริ่มตั้งแต่การค้าปลีกขนาดใหญ่ ด้วยการลงทุนร่วมกับ Tesco แห่งสหราชอาณาจักร และ Makro แห่งฮอลแลนด์ มาจนถึงค้าปลีกขนาดเล็ก ซึ่งเข้าปะทะกับระบบการค้าแบบเดิมที่เรียกว่า “โชวห่วย” โดยตรง เข้าร่วมทุนกับ 7-Eleven แห่งญี่ปุ่น ด้วยแนวทางนี้ซีพีจึงสามารถสร้างโมเมนตัมที่แรงพอสมควร เพื่อเข้าสู่กระแสวิวัฒนาการค้าปลีก และสามารถขี่กระแสนั้นได้

ส่วนเรื่องข้าว ขณะนี้เพียงอยู่ในขั้นตอนของการทดลองและขายความคิด ยังจำเป็นต้องใช้เวลาและพลังงานอีกมากทีเดียว ว่าไปแล้วเวลานั้นก็ใกล้จะมาถึงแล้วเช่นกัน ผมเชื่อว่าการเข้าสู่วิวัฒนาการเรื่องข้าวเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด และยากที่สุด ซีพีจะเข้าสู่เรื่องนี้ก็ต่อเมื่อใหญ่พอ มีแรงมากพอ และทรงอิทธิพลมากพอในสังคมไทย ซึ่งว่าไปแล้วก็ใกล้จะถึงจุดนั้นแล้วเช่นกัน” (อ้างแล้ว)

การขยายตัวของเครือข่ายค้าปลีกของซีพีกว้างขวางอย่างมาก มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตการบริโภคระดับกว้างแล้ว  ขณะเดียวในทางธุรกิจก็โฟกัสมากขึ้น ด้วยการเลือก Tesco Lotus     เป็นธงนำในการขายเครือค้าปลีกขนาดใหญ่ และถอนตัวการลงทุนจาก Makro ซึ่งถือว่าแนวทางธุรกิจที่มิใช่เชิงรุกและซ่อนทับกับ Tesco Lotus ขณะเดียวก็เปิดฉากด้วยการบุกทะลวงอย่างรุนแรงที่ 7-Eleven  ซึ่งถือเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาก ด้วยทั้งการลงทุนเอง และมิได้ใช้เงินตนเอง (Franchise system)

ส่วนธุรกิจข้าวครบวงจรนั้น ซีพีมีแนวทางที่ค่อนข้างระมัดระวัง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มไทยเจริญ

ดูเหมือนซีพีมองการเข้าสู่ธุรกิจข้าวครบวงจรอย่างมีจังหวะ ให้ความสำคัญกับยุทธ์ศาสตร์ระยาว  ด้วยความพยายามเจาะเซ้คเมนท์เฉพาะ ที่เชื่อว่ามีคุณค่าสูงและมีอิทธิพลต่อตลาดบน “เป็นการตอบสนองให้กับกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพและยังช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอินทรีย์จะสูงกว่าสินค้าทั่วไป 20-30% ทางบริษัทจึงได้ดำเนินการส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ในเขตอ.เชียงยืน จ.มหาสารคามตั้งแต่ปี 2544 และได้รับการรับรองมาตรฐาน จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ในปี 2546” ข้อมูลของซีพีที่พยายามอรรถาธิบายความเชื่อมั่นและให้ความสำคัญต่อเซ็คเมนต์ข้าวอินทรีย์

ยุทธ์ศาสตร์อีกด้านหนึ่ง ว่าด้วยความร่วมมือกับเครือข่ายรัฐไทยจากระดับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจนถึงระดับนโยบาย   ถือเป็นแนวทางสำคัญซีพีไม่เพียงเพื่อการขับเคลื่อนวิวัฒนาการในประเทศ หากร่วมถึงเกมการต่อสู้ในระดับโลกด้วย   ในกรณีนี้ซีพีมองภาพไกลถึงความเคลื่อนไหวองค์การการค้าโลก (WTO) และเปิดเสรีทางการค้า   โดยให้ความสำคัญเรื่องGeographical indication (GI) เป็นเครื่องมือใหม่ในคุ้มครองจากการละเมิดลิขสิทธิ์ การแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรส่งออกด้วยการระบุแหล่งกำหนดทางภูมิศาสตร์

เจริญ สิริวัฒนภักดี  แห่งไทยเจริญเดินแผนรุกอย่างครึกโครม ผลกระทบเชิงกว้าง  ธนินท์ เจียรวานนท์ แห่งซีพีเดินแผนเชิงลึก มองตลาดระดับโลกด้วย มองเผินๆ เป็นจุดเริ่มต้นการแข่งขันทางธุรกิจครั้งใหญ่  แต่ในอีกมิติเป็นภาพยุทธ์ศาสตร์แห่งความพยายาม ควบคุม และผลักดันการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สังคมเกษตรไทยดูสอดประสานกัน

ถึงตอนนี้ ผมยังไม่แน่ใจ  ธนินท์-เจริญ จะสามารถควบคุมและขี่วิวัฒนาการ ได้  แต่ที่แน่ใจอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์นี้แสดงเบาะแสสำคัญ ว่าสังคมชนบทไทยได้พลิกโฉมหน้าไปแล้ว   จน“พวกคุ้นชินอำนาจเดิม”ตามไม่ทัน

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: