ชื่อของบุรุษผู้นี้ ประหนึ่งพลุที่จุดขึ้นท้องฟ้า พร้อมกับกระแสชาเชียวเกิดขึ้นในสังคมธุรกิจไทย เป็นปรากฏการณ์การตลาดที่ตื่นตามากที่สุดปรากฏการณ์หนึ่งในช่วงทศวรรษมานี้
นอกจากอรรถาธิบายได้ว่าหลังวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในปี2540 สะท้อนว่าสังคมเศรษฐกิจไทยมีโครงสร้างที่มีฐานกว้างขวางแล้ว ยังมีความอ่อนไหว กระทบถึงกันเป็นลูกโซ่ ไม่เพียงผลกระทบส่งถึงกันทั้งจากภายในและภายนอกเท่านั้น ความผันแปรของอารมณ์ความรูสึกของผู้บริโภคในเมืองใหญ่และหัวเมืองมีความอ่อนไหวด้วยเช่นกัน
กระแสและความอ่อนไหวเช่นกรณีชาเขียว เป็นภาพที่ทับซ้อน กับภาพอื่นๆที่เกิดขึ้นระยะหลังๆมานี้ไม่มากก็น้อย
ในอีกมิติหนึ่งโอกาสและความผันแปรที่เกิดขึ้น มักปรากฏบุคคลที่สามารถเข้ามาในสถานการณ์ได้อย่างลงตัว โอกาสของการสะสมความมั่งคั่งในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ ย่อมมีมากกว่าในอดีต แต่ขณะเดียวกันอาจจากไปอย่างรวดเร็ว เช่นอารมมรณ์ผู้คนด้วยเช่นกัน
ตัน ภาสกรนที ชอบวาดภาพตัวเองกับใครๆด้วยคำพูดง่ายๆตามประสานักการตลาดทีอยู่ในตลาดฐานกว้างทำนอง “ผมเป็นคนรูปไม่หล่อ พ่อไม่รวย เรียนไม่เก่ง” เขาจึงทำงานหนัก เพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาที่ว่า ความสำเร็จไม่ได้มาโดยง่าย
แต่ที่สำคัญโปรไฟล์ของเขา แสดงถึงความเป็นบุคคลธรรมดาที่มีโอกาส เป็นปรากฏการณ์น่าทึ่งท่ามกลางกระแสหลักในสังคมธุรกิจไทยขณะนั้น ธุรกิจครอบครัวที่เอาตัวรอดหลังจากผ่านพ้นวิกฤติมาแล้วระยะหนึ่ง มีความพยายามโชว์ทายาทร่นใหม่ๆ พวกเขาและเธอมีการศึกษาดี บางคนก็หน้าตาดีด้วย ดาราเหล่านั้นเป็นที่ชื่นชม (อย่างห่างๆ) ไม่น้อย ขณะที่ตัน ภาสกรนทีเป็นดาราที่จับต้องได้ ของจริง สร้างความฝัน และความหวังที่มีความเป็นไปได้มากกว่า
“ตัน ภาสกรนที เกิดเมื่อปี 2502 ในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต่อมาทำงานที่บริษัท ราชธานี เมโทร ซึ่งขายฟิล์มสีซากุระ ซึ่งทำงานเป็นพนักงานแบกของ เริ่มต้นค่าแรงในการทำงาน 700 บาท และหันมาทำอาชีพพ่อค้าแผงหนังสือที่ชลบุรี และได้เริ่มต้นซื้อห้องแถวขยายกิจการจนเป็นเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ตัน เริ่มต้นธุรกิจ “โออิชิ” ภัตตาคารบุปเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น และมีธุรกิจอื่นๆ เช่น สตูดิโอถ่ายภาพแต่งงาน จนกระทั่ง มาทำธุรกิจเครื่องดื่ม คือ ชาเขียวโออิชิ และ อะมิโน โอเค” วิกิพีเดียไทยเสนอเรื่องราวของเขาด้วยข้อความสั้นๆกะทัดรัด
ในฐานะที่เป็น Role model ของผู้คนในสังคมธุรกิจไทย เขาย่อมต้องมีประสบการณ์ร่วมในวิกฤติการณ์ปี2540 ด้วย “ผมเขยิบมาเปิดร้านกิ๊ฟช็อป ร้านกาแฟ ร้านอาหาร แล้วก็มาทำธุรกิจเรียลเอสเตท…กำลังจะมีเงิน 100-200 ล้านบาท พอรัฐบาลประกาศค่าเงินบาทลอยตัว กลายเป็นผมมีหนี้ร้อยกว่าล้าน ตายตอนปี 2539 แต่ผมพยายามแก้ปัญหา ผมมีทั้งหนี้ธนาคารและหนี้นอกระบบ ค่อย ๆ แก้วิกฤต เจรจาประนอมหนี้ ค่อย ๆ ใช้หนี้ไป ผมเริ่มต้นใหม่ ผมว่าทุก ๆ ช่วงของชีวิตเหมือนฟ้าทดสอบเรา หรือถ้าพูดอีกแบบชีวิตมันมีวิกฤตอยู่ ว่าแต่จะเจอตอนไหน แล้วคุณจะยอมแพ้หรือเปล่า” อ้างมาจากคำสัมภาษณ์ของตันที่สรุปตอนท้ายไว้อย่างน่าฟัง (จากนิตยสารขวัญเรือน)
ตำนาน”โออิชิ”เกิดขึ้นหลังวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ ในปี 2542 “ร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์บุฟเฟ่ต์ตลอดทั้งวัน แห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “OISHI” หรือ “โออิชิ” ที่สุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) ซึ่งสร้างความแตกต่างและความแปลกใหม่ให้แก่ผู้บริโภค ทั้งรูปแบบการให้บริการและราคา โดยคำนึงถึงความสดใหม่และความคุ้มค่าของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ทำให้ได้รับกระแสตอบรับอย่างสูงจากผู้บริโภค ส่งผลให้ชื่อ “โออิชิ” มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ได้รับความนิยม และความเชื่อถือ จากกลุ่มลูกค้าทุกเพศทุกวัยอย่างรวดเร็ว ต่อมาในปี 2543 ได้จัดตั้ง บริษัท โออิชิ เรสเตอร์รอง จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 10 ล้านบาท (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)”ประวัติที่เขียนขึ้นเอง( www.oishigroup.com )
การเติบโตของร้านอาหาร แม้จะมากเพียงใด ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็คงไม่หวือหวาเท่ากับช่วงปี2546-2547 ด้วยการเปิดครัวกลางแห่งใหม่ที่โรงงานนวนคร ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อสนับสนุนร้านอาหาร และที่สำคัญเริ่มการผลิตเครื่องดื่มชาเขียวออกสู่ตลาด ภายใต้ชื่อ “โออิชิ กรีนที”
จังหวะที่ดีมาอย่างรวดเร็ว แต่ก็มาพร้อมกับการแข่งขันที่เริ่มต้นดุเดือดขึ้น ตันแสดงให้เห็นว่าเขามีความสามารถอย่างสูงในการปรับตัว จากปรากฏการณ์ “ชาเขียว”เพียงช่วงข้ามปี ก็สามารถนำหุ้นสามัญเพิ่มทุน (จาก 10 ล้านบาทเป็น370 ล้านบาท) ของบริษัทเข้าทำการซื้อขาย ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในนาม “OISHI” ได้ (25 สิงหาคม 2547) แม้บางคนจะบอกว่า เงินก้อนนั้นส่วนใหญ่นำมาลงทุนขยายกิจการเพื่อการแข่งขันที่เข้มข้น แต่ในส่วนตัวแล้ว ตัน ภาสกรนที ตอนนั้นได้ยกฐานะ ด้วยการสะสมมั่งคั่งขึ้นมาพอสมควรแล้ว ทั้งด้วยมีเงินสด และเป็นเจ้าของหุ้นจำนวนมากที่มีราคาในตลาดหุ้น
การปรับตัวกับโอกาสใหม่ ดำเนินต่อเนื่องราวกับติดปีก เพียงปีเศษจากนั้น ตัน ตัดสินใจครั้งใหญ่ ขายหุ้นให้เจริญ สิริวัฒนภักดี(คำอรรถาธิบายในเชิงแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ อ่านได้จาก “ตันและเจริญ” เรียบเรียบและตัดตอนมาจากงานเขียนเก่าของผมเมื่อปี2549)
เมื่อวันที่ 14ธันวาคม 2548 ตัน ภาสกรนที ประธานกรรมการบริษัทโออิชิ กรุ๊ป ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ขายหุ้นบริษัทโออิชิกรุ๊ปเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 103.125 ล้านหุ้นหรือ 55%ของจำนวนที่จำหน่ายทั้งหมด โดยกำหนดราคาซื้อขายเบื้องต้นที่หุ้นละ 32.50 บาท รวมเป็นเงินก้อนใหญ่สุดในชีวิตเขามากกว่า3, 000 ล้านบาท
กรณีตัน ภาสกรนที ลาออกจากตำแหน่งบริหารโออิชิ หลังจากทำงานในฐานะผู้ถือหุ้นรายย่อยมา 5 ปี กำลังเป็นสิ่งที่น่าสังเกต และสนใจของวงการสื่อในช่วงนี้นั้น สำหรับผมแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องปกติ
หนึ่ง–ปกติการขายหุ้นกิจการตนเองในกับรายใหม่ ผู้บริหารชุดเดิมจะต้องทำงานต่อเนื่องช่วงหนึ่ง เพื่อการบริหารดำเนินไปอย่างราบรื่น ที่สำคัญในสัญญาการซื้อขายนั้น ย่อมมีข้อตกลงไม่อนุญาตให้เจ้าของเดิมออกไปดำเนินธุรกิจเดิมอีกช่วงเวลาหนึ่ง
สอง-ภาพใหญ่ของกลุ่มไทยเจริญ และไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งเป็นเข้าของธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งขยายตัวอย่างมากในช่วง 5ปีมานี้นั้น บริษัทโออิชิ เป็นเพียงจิกซอร์ชิ้นเล็กๆเท่านั้นในขณะนี้ ที่สำคัญกลุ่มไทยเจริญกำลังดำเนินแผนการสร้างภาพรวมที่เป็นปึกแผ่น ด้วยยุทธ์ศาสตร์บูรณาการมากขึ้น พร้อมๆกับการมาของทายาทคนหนุ่มสาว
สาม-ว่าไปแล้ว ไม่มีใครรู้แน่ว่าตัน มีหุ้นเหลือเท่าใดในโออิชิ รู้แต่ว่าตอนขายในปี2549 ยังเหลือมากกว่า 10% แต่ตอนลาออก ว่ากันว่าเหลือเพียง 3% คาดกันว่าว่าเมื่อราคาหุ้นโออิชิขึ้นมาอย่างน้อย2 เท่าตัวในช่วง 5 ปีมานี้ ตันก็คงได้ผลตอบแทนพอสมควรจากการบริหารของตนเองในอีกมิติหนึ่งด้วย
การตัดสินใจลาออกในคราวนี้ก็ถือว่าสมเหตุผล และถูกกาลเทศะ เช่นเดียวกับการตัดสินใจครั้งสำคัญๆก่อนหน้านั้น
ที่สำคัญกว่านั้น สำหรับตัน ภาสกรนทีก็คือโอกาสที่เขาจะกลับมายืนในตำแหน่งเดิมเหมือนช่วงก่อนโออิชิ แต่อยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
วันนี้เขามีกิจการของตนเอง ที่เกิดขึ้นและดำเนินการควบคู่ไปกับการบริหารโออิชิของคนอื่น กิจการเหล่านั้นกำลังดำเนินไป และขยายตัวอีกระดับหนึ่งที่ต้องทุ่มเททั้งทรัพย์กรต่างๆมากขึ้น เขามีเค้าหน้าตักมากกว่ายุคก่อนโออิชิมากนัก และก็เช่นเดียวกับเจริญ สิริวัฒนภักดี เขามีบทบาทในฐานะผู้บุกเบิกที่มีแรงบันดาลใจในการสร้างกิจการให้สืบต่อไปยังทายาทอย่างราบรื่น ซึ่งถือเป้นความหวังอันสูงส่งของของผู้บุกเบิกเสมอ
นี่คือโอกาสสำคัญอีกช่วงหนึ่งของชีวิต ตัน ภาสกรนที ในฐานะผู้มาใหม่รุ่นล่าสุด(หลังวิกฤติการณ์ปี2540) สามารถ ผ่านอุปสรรคต่างๆ จนมาถึงทุกวันนี้ ในช่วงที่โอกาสยังเปิดกว้าง โดยใช้เวลาเพียงทศวรรษเดียว นับเป็นโอกาสนี้น้อยคนจะได้รับ
สังคมธุรกิจไทย สังคมที่ใครๆเชื่อว่าเป็นระบบเปิด แต่ความจริงโอกาสสำหรับผู้มาใหม่ ดูเหมือนมิได้เปิดกว้างอย่างเท่าเทียม
ผมอยากเห็น คนอย่างตันหลายๆคน ผ่าทางตัน เกิดขึ้นมา
ชอบสใตล์ คุณตันที่สู้ๆทุกๆมิติ ไม่โทษโน่นโทษนี่ อย่างบางคนที่เอาแต่โทษคนอื่นแล้วจ้องเอาเปรียบนักลงทุนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เดี๋ยวนี้เป็นCEOที่ค่าตัวแพงที่สุด(ชงเองตั้งเอง)ซึ่งถ้าให้ประชาชนโหวตคงไม่มีใครยอมให้กับการบริหาร อย่างนายคนนี้