ไทยเจริญ(4)เกษตรกรใหญ่

“….ต้นทุนทำการเกษตรมีแค่คน   แสงอาทิตย์และน้ำฝนให้เราฟรี   ขึ้นอยู่กับว่าจะมีสายป่านมาเลี้ยงคนที่รอรับน้ำฝนและแสงอาทิตย์ได้อย่างไร หากมีสายป่านพอเลี้ยงคนให้มีกำลัง มีสติปัญญาให้รับแสงอาทิตย์และน้ำฝนได้ ก็จะกลายมาเป็นผลตอบแทนมาให้เรา”

 เจริญ สิริวัฒนภักดี   31กรกฎาคม 2550

คำกล่าวของเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ยกขึ้นอย่างสำคัญใน Website ของกลุ่มธุรกิจเกษตรในเครือไทยเจริญ ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจกลุ่มใหม่ล่าสุด (www.plantheon.co.th) นี้สมควรตีความถึงยุทธ์ศาสตร์ที่ดูอาจหาญมาก

ผมยอมรับว่า ความพยายามอรรถาธิบายพัฒนาการกลุ่มธุรกิจใหม่ของไทยเจริญ  ไม่ว่าในมิติใด ยังวนเวียนเกี่ยวข้องและมีรากฐานต่อเนื่องกับธุรกิจดั้งเดิมอยู่ดี   ยิ่งไปว่านั้น ด้วยความสัมพันธ์กับผู้คนและธุรกิจอย่างกว้างขวางถือเป็นธรรมชาติของการบริหารธุรกิจดั้งเดิม โอกาสใหม่แบบ“ปะติดปะต่อ” เกิดขึ้นในลักษณะ “ปิงปอง”มากกว่าการวางแผนและมองโอกาสในระยะยาว บวกกับรับฟังความเห็น และเรียนรู้จากผู้คนรอบข้าง—ที่ปรึกษาทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการซึ้งมีจำนวนมาก   ก่อให้เกิดกระบวนการลองผิดลองถูก เป็นกระบวนเรียนรู้ที่ปรับตัวอยู่ตลอด

ว่าไปแล้วในกลุ่มธุรกิจเกษตรของไทยเจริญ มีจุดเริ่มต้นและแตกหน่อจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม  ในที่สุดถูกบังคับให้ขยายตัวลงลึกไปเรื่อยๆ ด้วยความเชื่อมั่นในพลังควบคุมของตนเอง เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับความมั่นคงของอาณาจักรธุรกิจโดยรวม

ปรับและเรื่อฟื้นธุรกิจดั้งเดิม

 –ขั้นที่หนึ่ง จากท้ายแถว สู่ต้นแถว

ในเชิงอุตสาหกรรมแล้ว  ธุรกิจเครื่องดื่มมีอัลกอฮลอ์ไม่ว่าสุราหรือเบียร์  มีวงจรกว้างขวางพอสมควร ห่วงโซ่ของธุรกิจมีความเชื่อมโยงกับชุมชนภาคเกษตรดั้งเดิม   โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดั้งเดิมของไทยชนิดหนึ่ง –อุตสาหกรรมน้ำตาล   ผลผลิตจากโรงงานน้ำตาลเป็นวัตถุดิบสำคัญ และอยู่ในขั้นตอนต่างๆของการผลิตสุรา และเบียร์

ในแง่ธุรกิจสัมปทาน ไทยเจริญไม่เพียงมีความสัมพันธ์กับกรมสรรพสามิตเท่านั้น ที่สำคัญรวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย ในฐานะดูแลกิจการโรงงานอุตสาหกรรม  การเข้าสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งถือเป็นธุรกิจพ่วงอย่างเงียบๆไม่ใครสนใจมานานแล้ว ย่อมมาจากความเชื่อมโยงข้างต้น

 ปี 2530 ถือเป็นจุดเริ่มต้นเช่นเดียวกัน

 “เช่นเดียวกับโรงงานน้ำตาลชลบุรี จากกระทรวงการคลัง งานนี้เจริญเดินแผนโดยใช้ชื่อว่า ชาวไร่อ้อยชลบุรี ซึ่งนำโดยดรงค์ สิงห์โตทอง เขาซื้อมาเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้มีหลาบรายการ ตั้งแต่ค่าหุ้น ภาระหนี้สินแทน รวมเป็นเงินทั้งสินประมาณ 255 ล้านบาท” ผมเขียนถึงกรณีนี้ไว้ในขณะนั้น เพียงแง่มุมทางเทคนิคในการซื้อทรัพย์สิน ในช่วงรัฐกำลังผ่องถ่ายทรัพย์สินเก่าตกค้างในรัฐวิสาหกิจที่ล้าหลัง (ที่ซ่อนด้วยที่ดินจำนวนมาก) แต่ไม่ได้ค้นพบสาระสำคัญต่อจากนั้น

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลาประมาณสองทศวรรษ  จากจุดเริ่มต้นโรงงานน้ำตาลชลบุบรี กลายเป็นฐานอุตสาหกรรมน้ำตาลทีมีพลังด้วยตัวเอง ไม่เพียงสนับสนุนธุรกิจหลักเท่านั้น หากเป็นฐานของกลุ่มธุรกิจใหม่ –ธุรกิจการเกษตรที่เริ่มจัดตั้งเป็นเรื่องเป็นราวในปี 2549

ทุกวันนี้อุตสาหกรรมน้ำตาล กำลังรื้อฟื้นและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตครั้งใหญ่ จากโรงงานของรัฐ4 แห่ง (อีกสามแห่ง ซื้อมาในปี 2542 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นอุตสาหกรรมเบียร์อย่างจริงจังแล้ว) รวมทั้งการสร้างโรงงานใหม่ อุตสาหกรรมนี้ไม่เพียงเป็นฐานของกลุ่มธุรกิจใหม่ในเครือไทยเจริญ ยังจะหมายถึงกลุ่มธุรกิจน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศด้วย

ภายใต้แนวคิดปรับและรื้อฟื้นอุตสาหกรรมดั้งเดิมของไทยนี้ ปรากฏชื่อที่ปรึกษาและกรรมการคนสำคัญคนหนึ่งของไทยเจริญ    เป็นบุคคลผู้คลุกคลีกับอุตสาหกรรมน้ำตาลมายาวนาน

มนู เลียวไพโรจน์     อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กระทรวงอุตสาหกรรม เคยเป็นประธานคณะมนตรีองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศแห่งประเทศอังกฤษ (The International Sugar Organization Council of England) ในปี 2538 – 2539 และตำแหน่งสุดท้าย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (2542- 2547)    

 –ขั้นที่สอง จากโซ่ขอ้เดียวสู่ห่วงโซ่

ด้วยความพยายามขยายไลน์สินค้าในบริษัทหลัก—ไทยเบพ ฯเป็นแนวทางที่พยายามให้สอดคล้องกับคำแนะนำของนักลงทุนและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั้งหลาย   นั้นคือการขยายสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีอัลกอฮอล์ ให้มีน้ำหนักมากขึ้นในภาพรวม แนวทางนี้เริ่มต้นอย่างจริงจังด้วยการซื้อกิจการโออิชิ ซึ่งถือเป็นสินค้าขายดีในตลาดอยู่แล้ว

จากแนวทางลัด ด้วยการซื้อกิจการ จากโอกาสที่มีอยู่  ในที่สุดจึงเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมการเกษตรในฝันของวงการธุรกิจไทยในที่สุด

“ความฝันของคนไทยในการสร้างอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออกมีมานานแล้ว ความพยายามก็มีมานานเช่นเดียวกัน

ความเชื่อมั่นว่า ไทยเป็นสังคมเกษตร มีความรู้การเกษตรที่พร้อมจะก้าวสู่อุตสาหกรรมเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเนื่อง ก็มีมานานแล้ว ความเชื่อมั่น อุตสาหกรรมเกษตรนี่ล่ะ คือทางออกและจุดแข็งทางเศรษฐกิจของไทยเมื่อเปรียบกับสังคมธุรกิจโลกมีมานานแล้วและดูเหมือนจะมากขึ้นในยุคทบทวนตัวเองครั้งใหญ่ ปัจจุบัน   ”ผมเคยเขียนไวในปี 2541 ว่าด้วยความพยายามของกิจการระดับโลกเข้าสู่การเกษตรพื้นฐานของไทย 

อุตสาหกรรมผลิตสัปปะรดกระป๋อง เป็นหลัก คืออุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นและบูมอย่างมากในช่วงปี 2520 ซึ่งถือเป็นยุคของความต่อเนื่อง จนถึงนโยบายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในยุคสมหมาย ฮุนตระกูลเป็นรัฐมนตรีคลัง

กสิกรไทยเป็นธนาคารที่ดำเนินแผนส่งเสริมธุรกิจนี้อย่างเต็มที่  ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนโครงการทั้งสินเชื่อและลงทุน ทั้งนี้ผู้บริหารธนาคารหลายคนร่วมวงสู่ธุรกิจด้วย ตั้งแต่บรรยงก์ ลำซำ  กับDOLE แห่งสหรัฐฯร่วมทุนตั้งแต่ปี 2509 ณรงค์ ศรีสะอ้าน ส่งเสริมและลงทุนในบริษัทอาหารสยาม สำราญ กัลยาณรุจ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายของธนาคาร ลงทุนในสยามอุตสาหกรรม-การเกษตร (สับปะรด) หรือ SAICO (2521)     รวมทั้ง พันเอกเริง ประเสริฐวิทย์ นักการเมืองคนสำคัญซึ่งเป็นบุตรเขยตระกูลลำซำ ก็ลงทุนใน ชะอำไพน์แอปเปิ้ลแคนเนอรี่   

ทั้งนี้ยังไม่รวมถึง พิพัฒน์ ตันติพิพัฒนพงศ์  ซึ่งมีความสัมพันธ์กับธนาคารกรุงเทพ ร่วมมือกับ MITSUBISHI แห่งญี่ปุ่น ตั้งบริษัท อุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องไทย (2505) ถือเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจก็ว่าได้ ด้วย

บริษัทอาหารสยาม( Siam foods) ก่อตั้งในปี2513 โดยณรงค์ ศรีสะอ้านมีบทบาทอย่างมาก นอกจากจะเป็นผู้บริหารธนาคารกสิกรไทยซึ่งมีบทบาทสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรแล้ว ยังรวมทุนนี้ด้วย กิจการพัฒนาไปด้วยดี จนสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นในปี 2528 โครงสร้างธุรกิจแปรรูปเกษตรนั้นมีวงจรที่ต่อเนื่องพอสมควร  เริ่มต้นจากจุดสำคัญของเกษตรกรรมในฐานะเป็นเจ้าของที่ดินเพื่อการเกษตรจำนวนมาก ซึ่งผู้คนส่วนมักไม่ใส่ใจเรื่องนี้   จากนั้นเข้าสู่วงจรต่อเนื่องจากการปลูกและผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงาน (ทั้งมีแนวทางคล้ายๆกันให้เกษตรกรรายย่อยเข้าร่วมโครงการรับซื้อได้ด้วย) เพื่อสินค้าสำเร็จรูป ไปจนถึงมีเครือข่ายการค้าต่างประเทศ

ณรงค์ ศรีสะอ้าน มีประสบการณ์ในวงการธนาคารมา 44 ปี (2497 – 2541) มีบทบาทอย่างมากในยุคบัญชา ลำซ่ำ ดำรงตำแหน่งรองประธานบริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด เป็นตำแหน่งสุดท้าย   หลังจากเกษียณยังมีบทบาทสำคัญต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แม้อายุมากแล้ว ในฐานะกรรมการในบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ ประธานกรรมการบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) และเป็นกรรมการอิสระบริษัท ทรู คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน)   และแล้วก็มาดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในปี2546 ในช่วงเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์

จากนั้นไม่นานก็มีบทบาทสนับสนุนให้กลุ่มไทยเจริญ เข้าซื้อกิจการบริษัทอาหารสยาม(มหาชน)ในปี2549 โดยตั้งบริษัทตนเองเข้าซื้อก่อนจะขายให้กลุ่มไทยเจริญในปีต่อมา

จากโออิชิถึงอาหารสยาม นอกจากจะเป็นภาพต่อเนื่องของการสร้างสินค้าใหม่ ที่แยกออกจากสินค้าอัลกอฮอล์      ยังสะท้อนเห็นการสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากสินค้าสำเร็จรูป สู่พื้นฐานการผลิตวัตถุดิบ  แต่ที่สำคัญกว่านั้น ไทยเจริญกำลังสร้างโครงการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปดั้งเดิม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยวทีมุ่งส่งออก สู่เครือข่ายอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงครบวงจรทั้งแนวตั้งและแนวนอน

สู่การเกษตรพื้นฐาน

ข้อความที่กล่าวโดยเจริญ สิริวัฒภักดี ที่ยกมาแต่แรก  เท่าที่วิเคราะห์เขาได้มองข้ามความสัมพันธ์ของการเกษตรพื้นฐานที่เชื่อมโยงและเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจเดิม  และแทบไม่มีความหมายเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำตาลและแปรรูปสินค้าเกษตรในความหมายเดิม  หากสะท้อนแนวความคิด ความเชื่อ ความกังวลโดยตรงกับธุรกิจการเกษตรพื้นฐานที่จะกล่าวต่อไปนี้

“เทอราโกรเป็นบริษัทที่ลงทุนทางด้านการเกษตรจากที่ดินในเครือทั้งในและนอกประเทศ เราพัฒนาที่ดินขึ้นมาเพื่อทำการเกษตร โดยขณะนี้ได้ปลูกพืชไปแล้วหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นยางพารา อ้อย ข้าว กาแฟ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้ได้ผลผลิตสูงสุด มีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งในด้านของสวน แหล่งน้ำ และการตลาด อีกทั้งยังเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรในเครือข่ายของเรา ทำอย่างไรจะได้ผลผลิตสูงสุด ในต้นทุนที่ต่ำ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ เพิ่มขึ้น เราก้าวไปพร้อม ๆ กัน เกษตรกรอยู่ได้ เราก็อยู่ได้” ผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัทเทอรราโก กล่าวถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจเกษตรของกลุ่มไทยเจริญได้อย่างเห็นภาพระดับหนึ่ง(ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553)

ในบทสนทนาของข่าวชิ้นนี้ มีคำสองคำที่สะท้อนแก่นของธุรกิจ สะท้อนความคิดของเกษตรกรรายใหญ่ที่สุดของเมืองไทย

Plantation และ Contract farming

Plantation เป็นระบบการบริหารเกษตรกรรมขนาดใหญ่   ด้วยระบบการจัดการเชิงอุตสาหกรรม โมเดลนี้เกิดในโลกตะวันตกมานานโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และบริษัทระดับโลกนำโมเดลนี้ไปใช้ในประเทศด้อยพัฒนาต่างๆมากมาย ไมว่าจะเป็น DOLE และ DEL MONTE บริษัทยักษ์ใหญ่สหรัฐ ดำเนินธุรกิจเกษตรในเนื้อที่ขนาดใหญ่ใน อเมริกากลางและใต้      สำหรับกรณีประเทศไทย    Plantation จะถือเป็นกระบวนการพลิกโฉมหน้าการเกษตรดั้งเดิม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตจากเกษตรกรรายย่อยเป็นหลัก สู่เกษตรกรทุนนิยม 

ความจริงแล้วโครงสร้างการเกษตรพื้นฐานของไทยเปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว  เกษตรกรรายย่อย ค่อยๆเปลี่ยนตัวเองเป็นลูกจ้างในภาคเกษตร ขณะที่พวกเขาจำนวนมากไม่มีที่ทำกินหรือมีบ้างก็ให้เช่าในราคาถูก กับ  “ผู้รับเหมา”รายค่อนข้างใหญ่ ซึ่งเป็นผู้อำนาจทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น ดำเนินการบริหารแบบครึ่งๆกลาง ในพื้นที่แปลงค่อนข้างใหญ่ ด้วยระบบว่าจ้าง รวมทั้งสินเชื่อนอกระบบจากพ่อค้าสินค้าทีเกี่ยวข้อง

กลุ่มไทยเจริญ คงมองเห็นโอกาสในการต่อยอดจากระบบครึ่งๆกลางๆในเป็นโมเดลใหม่อย่างชัดเจน

Plantation ต้องการพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนมาก เนื่องด้วยกลุ่มไทยเจริญเป็นเจ้าของพื้นที่ขนาดใหญ่โดยเฉพาะภาคกลาง ย่อมสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ได้ง่าย ด้วยการควบคุมปัจจัยพื้นฐาน และสร้างดึงดูดต่อรายย่อยให้เข้ามาในวงโคจร

Contract farming เป็นระบบที่ใช้มานานแล้ว ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ในเมืองไทยต้องยกให้ซีพี   ระบบนี้ได้ดึงรายย่อยเป็นดาวบริวาร ด้วยระบบที่ซับซ้อนมากกว่าการรับซื้อและประกันราคา   เป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นด้วยระบบธุรกิจสมัยใหม่ เพื่อให้รายย่อยต้องจ่ายเงินคืนที่ได้การขายสินค้า กับปัจจัยการผลิตที่ควบคุมจากเจ้าของระบบ ตั้งแต่ พันธุ์ ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ย แม้กระทั่งสินเชื่อ เชื่อว่าไทยเจริญจะค่อยๆพัฒนาสินค้าปัจจัยการผลิตใหม่ๆให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่เป็นได้

เจริญ สิริวัฒนภักดี ให้ความสนใจเรื่องคนและเวลา มากกว่าเรื่องอื่นๆ แสดงว่ากลุ่มไทยเจริญหรือในนามกลุ่มธุรกิจเกษตร –พรรณธิอร (โดยเฉพาะธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่—บริษัทเทอราโก)   ไม่ได้ห่วงปัจจัยการผลิตอื่นๆที่ผู้คนในสังคมไทยกล่าวกันมามาน ไม่ว่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน   เงินลงทุน จึงนับว่าเป็นการเริ่มต้นที่พิเศษและน่าทึ่งอย่างมาก  

สะท้อนความเข้าใจที่ขัดแย้งกันอย่างมาก ความรู้พื้นฐานเดิมว่าด้วยเกษตรกรรม เชื่อว่าเป็นความรู้ความชำนาญพื้นฐานของสังคมไทย  สามารถพัฒนา ต่อยอดได้โดยง่าย  แต่ในความคิดรวบยอดของกลุ่มไทยเจริญ เกษตรกรรมคือธุรกิจใหม่ ที่ต้องการเวลาในการเรียนรู้ เป็นการลงทุนระยะยาว แตกต่างกับกลุ่มธุรกิจอื่นๆของไทยเจริญที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดไม่ถึงทศวรรษมานี้     เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง  คำพูดของเขาสะท้อนความกังวลของนักลงทุน  และเป็นความกังวลสำคัญของเกษตรกรใหญ่

 การพลิกโฉมหน้าเกษตรกรรมไทยครั้งนี้  ถือเป็นความพยายามครั้งสำคัญ   จะเกิดแรงปะทะสู่รากเหง้าระบบการผลิตพื้นฐานดั้งเดิม  “การทำนา” ซึ่งเป็นพื้นที่ “ความอ่อนไหว” ในฐานะเป็นชิ้นส่วนสำคัญ“วัฒนธรรมข้าว” ของสังคมไทยด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 เจริญ สิริวัฒนภักดี  จึงยอมรับว่า เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: