จุฬาฯชนบท

 เป็นเรื่องที่น่ายินดีทีแวดวงวิชาการศึกษาความเป็นไปของหัวเมืองและชนบทมากขึ้น

ความพยายามแสวงหาคำอธิบายของปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นยากจะเข้าใจ โดยใช้บทสรุปเดิมๆ  กับการศึกษาวิจัยของนักวิชาการไทยรุ่นใหม่ที่พยายามสรุปประเด็นต่างๆอย่างรวดเร็วเกินไป ประหนึ่งเป็นวัฒนธรรมบริโภคแบบรวดเร็วของคนเมือง อาจจะเป็นประเด็นหนึ่งในภาพใหญ่ของสังคมที่ไม่สามารถแสวงหาความปรองดองได้ในเวลานี้ก็เป็นได้

 

ผมศึกษาความเป็นไปของหัวเมืองและชนบทบ้าง   อย่างหยาบๆก็ว่าได้  ประเด็นเสนอวันนี้ว่าการด้วยการจัดการศึกษาในชนบท หรือเพื่อชนบท ดูเหมือนเป็นเรื่องกลุ่มศึกษาวิจัยส่วนใหญ่ยังไม่ได้โฟกัสนัก  เป็นภาพที่พยายามจับมาเสนออย่างRandom ผู้อ่านคงต้องขบคิด โต้แย้ง ปะติดปะต่อ และหาบทสรุปบางระดับกันเอง

เริ่มจากความสนเท่ห์กับบทบาทใหม่ที่ไม่คาดติด  และไม่เคยทำมาก่อนของสถาบันการศึกษาชั้นนำเก่าแก่ของไทย ในความสนใจขยายบทบาทในการจัดการศึกษาว่าด้วยเกษตรกรรม ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงถึงชุมชนชนบทของไทย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งเดียวก็ว่าได้ ที่ไม่มีวิทยาเขตในต่างจังหวัด ไม่ว่าชานเมือง หรือหัวเมืองใหญ่ ขณะเดียวกันก็เป็นมหาวิทยาลัยไทยแห่งสำคัญในความตื่นตัว ตามสภาพพัฒนาการมหาวิทยาลัยในระดับโลกพอสมควร  เช่นเดียวกับความพยายามพัฒนาหลักสูตร ตอบสนองกลุ่มชนรุ่นใหม่มองการศึกษาเป็นเรื่องสากลมากขึ้น  หรือกลุ่มคนที่สนใจส่งบุตรหลานเข้าเรียนหลักสูตรช้ภาษาอังกฤษ  ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี

ปรากฏการณ์สวนกระแสหลักของพัฒนาการจุฬาฯอย่างที่เข้าใจ และยึดมั่นมายาวนาน ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงวันนี้ก็เกือบศตวรรษแล้ว  ย่อมเป็นเรื่องน่าสนใจเป็นพิเศษ

วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันเพิ่ม ต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ทำให้พืชและสัตว์ที่เป็นอาหารมีราคาสูงขึ้น ภาวะราคาอาหารเฟ้อ (Food Inflation) โดยราคาเฉลี่ยอาหารพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และเกิดปัญหาการวิตกกังวลเรื่องวิกฤตอาหารขาดแคลน” บทสรุปบางประการของหลักการปรัชญาของการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รายละเอียด ดูที่ http://www.ocare.chula.ac.th )

แล้วตามาด้วยบทสรุปที่น่าตื้นเต้น  “ความต้องการบุคลากรและองค์ความรู้ที่มีความรู้ความชำนาญสามารถบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่าของระบบการผลิตอาหาร ให้พอเพียงกับความต้องการของมนุษยชาติ ประเทศไทยมีบทบาทที่สำคัญในฐานะของแหล่งธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและการเกษตร ผลิตอาหารหรือเป็นครัวโลกที่สำคัญที่ต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศที่ผลิตอาหารในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก”

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร  จึงเริ่มต้นเปิดสอนในหลักสูตรระดับปริญญาตรี บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป โดยโครงการนำร่องจะให้โควต้าผู้เข้าเรียนจากหลายจังหวัดทางภาคเหนือในสัดส่วนพอสมควรเป็นกรณีพิเศษด้วย

จุฬาฯคงไม่เพียงประเมินสถานการณ์จากความคิดกว้างๆโดยรวมดังกล่าวที่มาข้างต้นเท่านั้น คงมีสัญญาณและปรากฏการณ์ที่เป็นจริงบางประการสนับสนุนแนวความคิดข้างต้นด้วย 

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม  ผมคิดว่าปรากฏการณ์นี้สัมพันธ์ กับความเคลื่อนไหวและพัฒนาขั้นใหม่ของเกษตรกรรายใหญ่สองราย คือกลุ่มไทยเจริญ ของเจริญ สิริวัฒนภักดี กับกลุ่มซีพีซึ่งกำลังพัฒนายุทธ์ศาสตร์ไปอีกขั้นหนึ่ง  ตามวิสัยทัศน์ของธนินท์ เจียรวานนท์ (อ่านรายละเอียดจากเรือง ไทยเจริญ(4)เกษตรกรใหญ่และ ธนินท์ กับ เจริญ) ความเคลื่อนไหวของผู้นำเป็นภาพสะท้อนพัฒนาใหม่เสมอ

นอกจากนี้  เท่าทีทราบหน่วยงานด้านลงทุนของเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี มีความสนใจบางเรื่องที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง แต่ก่อนมุ่งร่วมทุนกับกิจการระดับโลก หรือลงทุนในโครงการขนาดใหญ่  ขณะนี้มีบางโครงการให้ความสำคัญในการลงทุนในการผลิตเครื่องจักร และอุปกรณ์การเกษตร เพื่อตอบสนนองการเกษตรสมัยใหม่ ว่าไปแล้วถึงจะไม่ใช่เรื่องไหม่ แต่ปรากฏการณ์กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อย่างเอสซีจีให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างไม่เคยมีมาก่อน นอกจากจะถือเป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขามสำหรับซีพีซึ่งดำเนินธุรกิจมาก่อนหน้าแล้ว  ยังเป็นภาพสะท้อนสอดคล้องกับพัฒนาการใหม่ที่จุฬาฯเชื่อเช่นนั้นด้วย

ในแง่ของจุฬาฯเอง เท่าที่ตีความได้ในขณะนี้ เป็นความพยายามสร้างหลักสูตรที่ระดมความรู้หลายสาขา  ถือเป็นนำความเข้มแข้งทางวิชาการของจุฬาฯมารวมเป็นวิชาการแขนงใหม่ แตกต่างจากการเริ่มต้นคณะใหม่ๆในอดีต ความพยายามบูรณาการกระบวนการศึกษาสำหรับมหาวิทยาลัยเก่าแก่ มีระบบราชการพอสมควรเป็นเรื่องที่ติดตาม แต่ก็ถือเป็นความพยายามใหม่ที่ดี

นวัตกรรมของการบูรณาการศาสตร์และพัฒนาระบบการเรียนการสอนในลักษณะนี้ เป็นการปฎิวัติการเรียนการสอน ในระบบของการให้เนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ได้รับความร่วมมือจาก 6 คณะวิชา 5 สถาบันวิจัยในจุฬาฯได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ สถาบันภาษา สถาบันการขนส่ง สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม และสถาบันวิจับเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธ์ศาสตร์”  คำแถลงของผู้บริหารหลักสูตรใหม่นี้ แสดงถึงความสำคัญกับการริเริ่มครั้งนี้อย่างมาก  หรือจะว่าอีกด้านหนึ่ง   จุฬาฯ ไม่มีคณะเกษตรศาสตร์โดยตรงมาก่อนเลย ทั้งๆที่อยู่ในฐานะมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในนิยามทั่วไป  ที่สำคัญอยู่ในประเทศเกษตรกรรมด้วย   พัฒนาการดั้งเดิมของมหาวิทยาลัยแห่งนี้  ย่อมเชื่อมโยงกับบุคลิกเฉพาะในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำแห่งเดียวไม่มีวิทยาเขตในต่างจังหวัด

แนวทาง และพัฒนาการของจุฬาฯมีเรื่องราวทั้งเชื่อมโยงและแตกต่างจากมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งอื่นๆ

เริ่มตั้งแต่จุดเริ่มของการก่อตั้ง มาจากความสำคัญด้านเกษตรกรรม  โดยเฉพาะในกรณีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  จนถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำสำคัญในแต่ละภาค   ดูเหมือนจะมีคณะเกษตรศาสตร์ด้วยกันทั้งนั้น  มหาวิทยาลัยเหล่านี้มีโครงสร้างการเรียนการสอนวิชาการหลายหลากสาขาอยู่แล้ว  สาขาเกษตรกรรมย่อมเป็นสาขาวิชาหนึ่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัย มิใช่เฉพาะสังคมที่มีพื้นฐานสำคัญทางเกษตรกรรมเท่านั้น (ไม่นับรวมสถาบันการศึกษาเฉพาะว่าด้วยเกษตรอื่นๆที่มีอยู่แล้วในต่างจังหวัด)  แม้แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้จะไม่ประกาศว่ามีคณะเกษตรศาสตร์โดยตรง  เมื่อปี 2529 ได้เปิดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการสอนวิชาเกี่ยวกับการเกษตรและชนบทหลายสาขา เช่น เทคโนโลยีชนบท  เทคโนโลยีการเกษตร   เกษตรยั่งยืน หรือการจัดการเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นให้การศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ ให้บริการทางวิชาการ รวมทั้งสืบสาน และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับนโยบายการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางด้านการเกษตรแบบยั่งยืน บนพื้นที่กว่า 7800 ไร่ คำแถลงแนวความคิดของการก่อตั้งวิทยาลัยเขตในภาคกลางย่านเกษตรกรรมสำคัญ ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี2522 (อ้างจาก http://www.ku.ac.th/about/branch_kps.html )

ว่าไปแล้ววิทยาลัยเขตแห่งนี้เปิดสอนวิชาด้านเกษตรกรรมอย่างหลากหลายมากทีเดียวถึง 11สาขา (สาขาวิชากีฏวิทยา ปฐพีวิทยา พืชไร่นา พืชสวน โรคพืช ส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร เครื่องจักรกลและเมคคาทรอนิกส์เกษตร   เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร   สัตวศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศทางการเกษตร)   ขณะเดียวกันเปิดสอนวิชาอื่นๆด้วยในจำนวนวิชาพอๆกัน

ผมยังได้จำได้ดีถึงปุจฉาวิสัชนาเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งกับธนินท์ เจียรวานนท์ ผู้นำซีพี  ว่าด้วยพัฒนาการของซีพีอย่างก้าวกระโดดในช่วง2-3ทศวรรษมานี้ เขามักยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่ามีคุณูปการสำคัญสมอ ด้วยเป็นแหล่งสำคัญแหล่งหนึ่งในการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ และบุคคลกรจากกระบวนการศึกษาด้านเกษตรจากสถาบันการศึกษาแหงนี้คือทีมงานสำคัญของซีพี   

 แต่ก็แปลกใจพอสมควร เมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เมื่อปี2539กลับไม่มีสาขาวิชาการเกษตรโดยตรง ส่วนใหญ่เปิดสอนด้านบริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ (จำนวน8 หลักสูตร) ส่วนวิชาการที่ใกล้เคียง คือคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร เปิดสอนเพียง 2 หลักสูตร สาขาวิชาทรัพยากรเกษตรชีวภาพ และสาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร

หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของหมาวิทยาลัยอื่นๆในการขยายวิทยาเขตออกสู่ต่างจังหวัด  มีบริบทที่น่าสนใจมากพอสมควรเช่นกัน อาจจะสอดคล้องกับบทสรุปเบื้องต้นของบรรดานักวิชาการ ที่ว่าด้วยชุมชนหัวเมืองและชนบท มีระบบเศรษฐกิจหลากหลาย ซับซ้อนมากกว่าเดิม  มิได้พึงพิงเกษตรกรรมอย่างสำคัญเช่นอดีต

ในช่วงทศวรรษมานี้มาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงเทพฯ กำลังขยายตัวเปิดวิทยาลัยในต่างจังหวัดกันมากขึ้น  เป็นสัญญาณการตอบสนองของความต้องการการศึกษาของหัวเมืองในต่างหวัด ที่เน้นไปที่วิชาการการจัดการและเทคโนโลยีเป็นพิเศษ  ความจริงกำแพงว่าด้วยการศึกษาอย่างกว้างขวาง หลากหลายสาขาสู่หัวเมืองและต่างจังหวัดได้ถูกทำลายมาตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจไทยเติบโตครั้งใหญ่  ตั้งแต่หลังยุคสงครามเวียดนาม และหลังสงครามในประเทศเพื่อนบ้านจบลง

2530-1 “เปลี่ยนจากสนามรบให้เป็นสนามการค้า” นโยบายรัฐบาล ยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นภาพสะท้อน ความเชื่อมั่นว่าในภูมิภาคนี้ จะไม่เป็นไปตามทฤษฏีโดนมิโน ที่สำคัญต่อมา สงครามในกัมพูชา ก็ค่อยๆสงบลง

สัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังสงครามเวียดนามเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ ตลาดหุ้น และ อสังหาริมทรัพย์ กระแสบูมที่ดินเกิดขึ้น ในย่านสำคัญทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน เครือข่ายธุรกิจจากกรุงเทพฯ เริ่มขยายอิทธิพลไปหัวเมือง

“2531-2533 เครือข่ายโทรทัศน์ทั่วประเทศ

2534 ดาวเทียมไทยคมเกิดขึ้น ตอบสนองธุรกิจโดยเฉพาะขนาดใหญ่ ในการสื่อสารในขอบเขตทั่วประเทศ

2536 เริ่มต้นโครงการโทรศัพท์พื้นฐานชนบท 1 ล้านเลขหมาย” (อ้างจากเรื่อง “ตุลาคม 2552 เมืองรุกชนบท)

ปี 2527 กระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุมัติให้จัดตั้งวิทยาลัยชุมชนขึ้นในวิทยาลัยครูทั่วประเทศ  โดยการเปิดสอนสาขาวิชาอื่นนอกเหนือจากสาขาวิชาชีพครูเกิดขึ้นในทันที    ส่วนใหญ่ได้ขยายการเปิดสอนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และศิลปะศาสตร์เพิ่มเติมมากขึ้น รวมถึงคณะวิทยาการจัดการ  ว่ากันว่าในเวลานั้นผู้คนในเมืองหลวง คงประเมินและกังวลถึงความไม่พร้อมและปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษา    ต่อมาปี 2535 วิทยาลัยครูทั่วประเทศ เปลี่ยนโครงสร้างใหญ่เป็น“สถาบันราชภัฏ” การบริหารงานเป็นอิสระมากขึ้น และขยายตัวดำเนินไปอย่างเห็นได้ชัด

การก่อตั้งและการพัฒนามหาวิทยาลัยที่มีรากฐานในต่างจังหวัดยังดำเนินไปเงียบๆ อีกหลายแห่งด้วยเช่นกัน  แม้ผมเองซึ่งสนใจเรื่องนี้พอสมควร บางครั้งก็ยังไม่เคยได้ยินชื่อมหาวิทยาลัยบางแห่งมาก่อน  เช่นเดียวกับโอกาสในการศึกษาในชุมชนต่างจังหวัดก็มากขึ้นด้วย  

โมเดลใหม่ของจุฬาฯ เป็นความสร้างสรรค์โอกาสของกระบวนการศึกษาใหม่  ด้วยความเชื่อว่าสามารถตอบสนองพัฒนาการใหม่ๆทางสังคม เป็นเรื่องที่น่ายินดี โดยถือเป็นเรื่องสำคัญ จุฬาฯคาดว่าจะมีบัณฑิตรุนแรกออกรับใช้พื้นถิ่น และองค์กรเกษตรในปี 2557   ซึ่งจะเป้นของขวัญซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบให้กับแผ่นดินในวาระจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบรอบ 100 ปีในการสถาปนาในปี 2560” (เอกสารแถลงข่าว”จุฬาสัมพันธ์ 12 กรกฎาคม2553) ในอีกมิติหนึ่งจุฬาฯ ซึ่งปักหลักอยู่ในกรุงเทพฯอย่างมั่นคง ก็มีโอกาสได้เรียนรู้ ความเป็นสังคมไทยที่กว้างขึ้น มาจากฐานงานวิจัยซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญของมหาวิทยาลัยด้วย

 ท่ามกลางสถานการณ์บางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปมาก  โดยเฉพาะไม่อาจมีบทสรุปได้ว่า การศึกษา วิจัย ความเป็นไปของสังคมไทย รวมทั้งปริศนาการเปลี่ยนแปลงในระดับหัวเมืองและชนบทไทย ล้วนมาจากนักวิชาการรั้วมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯดังที่ผ่านๆมา     

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น