บทที่หนึ่งของบทความชุดนี้ ถือเป็นบทสำคัญที่ว่าด้วยการประเมินบทบาทในบางบริบทของตลาดหุ้นไทย ในฐานะเชื้อปะทุของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคมธุรกิจไทย แต่ก่อนจะถึงบทสรุป จำเป็นต้องศึกษาปรากฏการณ์และข้อมูลพื้นฐานบางประการเสียก่อน
โดยเฉพาะเพ่งมองปรากฏการณ์อ่อนไหวของตลาดหุ้นไทยที่มีอยู่เสมอ เพื่อเชื่อมโยงมาถึงช่วงสำคัญในปี2542-2546 บางคนถือเป็นช่วงตลาดหุ้นไทยอ่อนแอย่างแท้จริง ไม่เพียงสะท้อนภาพวิวัฒนาการในช่วงๆการตลาดหุ้นไทย หากสะท้อนโอกาส แรงประทะ ก่อนการพลิกโฉมครั้งใหญ่ของสังคมธุรกิจไทย
ดัชนีตลาดหุ้นเป็นชีพจรแสดงความเป็นไปตลาดหุ้น(หากสนใจรายละเอียดในเชิงเทคนิค โปรดอ่านจากhttp://www.set.or.th/th/products/index/setindex_p1.html) ถือเป็นการแสดงภาพตลาดหุ้นที่ว่าด้วยโอกาสทางธุรกิจในระดับต่างๆและมิติต่างๆ ถือว่ามีธรรมชาติอ่อนไหวอย่างมากไปตามสถานการณ์ต่างๆรวมทั้งในและต่างประเทศเชื่อว่ามีผลต่อตลาดหุ้น ในฐานะเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งมีทางเลือกอย่างเสรีและง่ายกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นโดยทั่วไป
การศึกษาสถานการณ์ในปี2542-2546 มีความจำเป็นในเบื้องต้นในอันจะสาวถึงต้นต่อและความคลี่คลายสถานการณ์จากนั้น เพื่อทำความเข้าใจความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ ขณะเดียวกันพยายามค้นหาเนื้อในหรือเบื้องหลังดัชนีนั้น จากกลไกและตัวละครมากมาก ที่สำคัญตัวละครสำคัญในช่วงนี้ของตลาดหุ้นไทย สามารถอ้างอิงในฐานะ “ตัวแทน”ของระบบเศรษฐกิจใหญ่ได้มากกว่ายุคใดๆ ก่อนหน้านั้น
จากฐานวันแรกซื้อขายหุ้นดัชนีราคาหุ้นเริ่มต้นที่ 100 จุด ตั้งแต่ปี 2518 จากนั้นอยู่ในระดับเฉลี่ยไม่เกิน200 จุดมาเป็นเวลานานพอสมควรจนถึงปี 2529 แม้ว่าจะปัญหาในช่วงนั้นมีแรงกระเพื่อมจากตลาดหุ้นเองที่มาจากภายนอก (กรณีตลาดหุ้นฮ่องกง) หรือผลมาจากความเคลื่อนไหวในธุรกิจการเงินในช่วงพร สิทธิอำนวย แต่มีผลไม่มากนัก เนื่องจากขนาดของตลาดหุ้นยังเล็ก จึงไม่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง
จากปี2529 ถือเป็นช่วงที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเกือบ 400จุดในปลายปี จนถึงจะดับสูงสุดเมื่อ 4 มกราคม 2537 ที 1,753 จุด ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่สามารถไปไม่ถึงจุดนั้นได้เลย ความจริงดัชนีตลาดหุ้นส่งสัญญาณถึงความเปราะบางและผันผวนมาตั้งแต่กลางปี 2537 จนถึงกลางปี 2539 ดัชนีมีการเคลื่อนไหวช่วงกว้างมากๆ ด้วยการขึ้นลงในช่วง 12,00-1,500 จุด จนมาชัดเจนในครั้งหลังของปี 2539 ดัชนีลดลงอย่างรุนแรงต่อเนื่องตลอดปี 2540 (อาจรวมปี 2541 เข้าไปด้วยก็ได้)
ความตกต่ำของดัชนีราคาหุ้นเป็นเหตุและผลโดยตรง กับเหตุการณ์เมื่อกลางปี2540 เมื่อรัฐบาลไทยจำเป็นต้องลดค่าเงินบาท ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของไทย โดยมีอิทธิพลลุกลามไปในระดับภูมิภาคและระดับโลกในเวลาต่อมาด้วย
ดัชนีตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะไม่ผันผวนจากนั้นมาตั้งแต่ปี 2542 จนถึงสิ้นปี 2545 แม้บางช่วงจะมีความเคลื่อนไหวสูงขึ้นกว่าปกติบ้าง ก็ถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียง ดัชนีคงอยู่ในระดับต่ำมากๆเฉลี่ยประมาณ 400 จุด ต่อเนื่องติดต่อมา 4 ปีเต็ม ซึ่งถือเป็นช่วงตกต่ำของตลาดหุ้นไทยครั้งใหญ่ และถือเป็นช่วงยาวนานอย่างมากด้วย
ภายใต้ปรากฏการณ์ตกต่ำอย่างยาวนาน ผ่านดัชนีราคาหุ้นอย่างเปิดเผยนั้น แสดงว่าโอกาสทางธุรกิจของผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งหลายอยู่ในระดับต่ำมาก ขณะเดียวกันมีความเคลื่อนไหว ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงพลิกผันอย่างมากมายเกิดขึ้นจากในตลาดหุ้นไทย สะท้อนสู่ภาพรวมในเวลาต่อมา โดยเฉพาะการเพิกถอนหลักทรัพย์จำนวนมากเป็นประวัติการณ์ออกจากตลาดหุ้นไทย
คลื่นลูกแรก– กระทรวงการคลังสั่งปิดกิจการสถาบันการเงินจำนวนมากในปลายปี 2540 ในจำนวนนี้บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ถึง 28 แห่ง ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้ตลาดหุ้นต้องเพิกถอนกิจการนี้ออกจากตลาดหุ้น( 25ธันวาคม 2540 )ด้วย ที่น่าสนใจมีกิจการจำนวนหนึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มเอกธนกิจภายใต้การบริหารของปิ่น จักกะพาก( ซึ่งกลายเป็นตัวละครสำคัญของวิกฤติการณ์ตลาดหุ้นไทย) แม้ว่าบางคนวิเคราะห์ว่า เขาคือตัวแทนผู้มาใหม่ แต่อีกด้านมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจตระกูลเก่าหรืออิทธิพลเก่าอย่างแนบแน่น ว่าไปแล้วสถาบันการการเงินอีกหลายแห่ง ล้วนมีบุคลิกทำนองเดียวกัน ไม่ว่าเป็นกลุ่มตระกูลรากฐานอย่างศรีวิกรม์ (บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีธนา จำกัด )หรือกลุ่มโอสถานุเคราะห์(บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟ จำกัด) รวมไปจนถึงตระกูลเก่าแก่อย่างหวั่งหลี(บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พูลพิพัฒน์ จำกัด )ด้วย
ต่อมาในปี2542 มีควบรวมกิจการสถาบันการเงินอีกจำนวนหนึ่ง มีผลทำให้บริษัทเงินทรัพย์ทรัพย์อีก 5แห่ง (ที่น่าสนใจคือธนสยามในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ และร่วมเสริมกิจในเครือธนาคารกรุงเทพด้วย) ถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้น ร่วมทั้งกรณีบริษัทเงินทรัพย์หลักทรัพย์ภัทรธนกิจ (ถือหุ้นใหญ่ โดยตระกูลลำซ่ำ) เป็นกรณีต่างหากอีกแห่งหนึ่งด้วย
ปรากฏการณ์ส่งผลให้กลุ่มสถาบันการเงินซึ่งมีบทบาทในตลาดหุ้นในฐานะกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดกลุ่มหนึ่งต้องลดบทบาทลงทันที
คลื่นต่อมา—เป็นครั้งแรกธนาคารสำคัญของประเทศหลายแห่งมีอันเป็นไปในปี2541ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การและธนาคารมหานครถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้น เพื่อไปรวมกับธนาคารกรุงไทย และตามมาด้วยธนาคารศรีนครในปี 2545 แม้ว่าภาพสะท้อนที่ตลาดหุ้นดูไม่เข้มข้น ความจริงขณะนั้นถือเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธนาคารครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ (จะขออรรถาธิบายโดยละเอียดในบทต่อๆไป)
คลื่นลูกหลัง—ยังมีกิจการที่ต้องปิดกิจการหรือเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นในชุดต่อมา ที่น่าสนใจมีสองกลุ่ม
หนึ่ง- กลุ่มกิจการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่เติบโตหรือพัฒนาต่อเนื่องมาจากกิจการอื่นๆ ถือว่ามีความเป็นมาในสังคมไทยพอสมควร เช่นบริษัทสมประสงค์แลนด์ที่พัฒนามาจากกิจการค้าข้าวในรุนก่อน มาสู่กิจการใหม่ทีมองว่ามีอนาคตและมีแลนด์แบงก์อยู่สมควร หรือยูนิเวส์ต์แลนด์ที่แตกตัวมาจากกลุ่มเมืองทองธานี หรือแม้แต่สตาร์บล็ออกของสุเทพ บูลกุล
สอง-กลุ่มการค้ารุ่นเดิม อาทิ วิทยาคม บริษัทอี๊สต์เอเซียติ๊ก (ประเทศไทย) บริษัทเคี่ยนหงวน (ประเทศไทย)
แม้ว่าในระยะปรับฐานของตลาดหุ้นครั้งนี้ได้บั่นทอนพลังของกลุ่มใหม่ไปพอสมควร แต่ไม่มีผลต่อระบบมากนักเพราะส่วนใหญ่เพ่งเกิดขึ้นและเติบโต ซึ่งไม่สำคัญเท่ากลุ่มดั้งเดิมที่มีฐานะอยู่ค่อนข้างมั่นคงมายาวนาน มีผลกระทบมากทีเดียว
ปรากฏการณ์ที่ตลาดหุ้นในช่วงแดนสนธยา ดูเหมือนส่งผลกระทบกว้างขวางและทั่วถึง เมื่อมองอย่างจำแนกได้ทำหน้าทั้งเปิดเวทีอย่างมีสีสัน แม้บางรายมีบทบาทเพียงช่วงสั้นๆ รวมไปถึงสั่นสะเทือนรากฐานและความมั่นคงเดิมด้วย
จะมีบทสรุปเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องอรรถาธิบายกันอีกมาก
การเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน
ปี2540
บริษัทภัทราเซรามิค จำกัด (มหาชน)
บริษัทหลักทรัพย์เอกเอเซีย จำกัด (มหาชน)
บริษัทเอสเซทอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
บริษัทไทเอโร่ จำกัด
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ไฟแนนซ์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกไฟแนนซ์ (1991) จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกพัฒน์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนจีซีเอ็น จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซี จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นิธิภัทร จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แปซิฟิคไฟแนนซ์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พูลพิพัฒน์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกสิน จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอส ซี เอฟ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีธนา จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สหธนกิจไทย จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนไทย จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนไทยธนากร จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์วอลล์สตรีท จำกัด (มหาชน)
ปี2541
บริษัทสุราษฎร์แคนนิ่ง จำกัด (มหาชน)
บริษัทเอิรธอินดัสเตรียล จำกัด (มหาชน)
บริษัทสมประสงค์แลนด์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทยูนิคอร์ต จำกัด (มหาชน)
บริษัทเทคโนโลยี่แอพพิเคชั่น จำกัด (มหาชน)
บริษัทบีพีทีอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน)
บริษัทมอนเทเรย์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทภูเก็ตไอแลนด์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทวิทยาคม จำกัด (มหาชน)
บริษัทกรุงไทยอาหารสัตว์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทพรูเด็นเซียล ทีเอสไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน)
บริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด (มหาชน)
ปี2542
บริษัทเอสทีเอ กรุ๊ป (1993) จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนสยาม จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนดฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นทื จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอเอฟซีที ไฟแนนซ์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด (มหาชน)
บริษัทโฟร์โมสต์ ฟรีสแลนด์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
บริษัทสงขลาแคนนิ่ง จำกัด (มหาชน)
บริษัทไทย โอโนโน่ จำกัด (มหาชน)
บริษัทอัลฟาเทคอีเลคโทนิค จำกัด (มหาชน)
บริษัทบ้านฉางกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
บริษัทไทยแกรนนิต จำกัด (มหาชน)
บริษัทจุลดิศ ดีเวลลอป จำกัด (มหาชน)
บริษัทสามชัย จำกัด (มหาชน)
บริษัท์สตาร์บล็อค จำกัด (มหาชน)
บริษัทยูนิเวสท์ แลนด์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทวัฏจักร จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน)
บริษัทมรกตอินดัสตรี้ส์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทยางสยาม จำกัด (มหาชน)
บริษัทดาราเหนือ จำกัด (มหาชน)
บริษัทไทยแลนด์ฟิชเชอรี่โคลด์สตอเรจ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเอ็มอีซี ฟาร์อีสตอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
บริษัทกรุงเทพผลิตผล จำกัด (มหาชน)
บริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน)
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อีสาน จำกัด (มหาชน)
ปี2543
บริษัทยูไนเต็ดมอเตอร์เวิกส์ (สยาม) จำกัด (มหาชน)
บริษัทอี๊สต์เอเซียติ๊ก (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
บริษัทสยามเฆมี จำกัด (มหาชน)
บริษัทบีจูด์ ดามูร์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเจ้าพระยาหินอ่อน-แกรนิต จำกัด (มหาชน)
บริษัทโอเรียนเต็ล แล็ปปิดารี่ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเอกโฮดิ้ง จำกัด (มหาชน)
บริษัทประมงไทย จำกัด (มหาชน)
บริษัทไทยเมล่อนโปลีเอสเตอร์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเคี่ยนหงวน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
บริษัทยีเอสเอส อาร์เรย์ เทคโนโลยี่ จำกัด (มหาชน)
บริษัทคาเปท อินเตอร์แนชั่นแนลไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทไฮโปรอีเลคทรอนิคส์ จำกัด (มหาชน)
ปี2544
บริษัทรีนาวน์ เทลเธอร์แวร์ส จำกัด (มหาชน)
บริษัทกระจกไทย-อาซาฮี จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน)
บริษัทไทยโมเดิร์นพลาสติกอินดัสทรี จำกัด (มหาชน)
บริษัทคาร์โนด์เมตัลบ๊อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
บริษัทซันโย ยูนิเวอร์แซล อีเล็คทริค จำกัด (มหาชน)
ปี2545
บริษัทไทยอินดัสเตรียล แก๊ส จำกัด (มหาชน)
บริษัทประกันชีวิตศรีอยุธยา ซีเอ็มจี จำกัด (มหาชน)
ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน)
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอไอจี ไฟแนนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
บริษัทยูไนเต็ดฟูดส์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเดอะโคเจเนอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
บริษัทเอ็น.ที.เอส สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
บริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทยูนิคแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทกะรัต สุขภัณฑ์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทนิวอิมพีเรียลโฮเต็ล จำกัด (มหาชน)
หมายเหตุ
–ข้อมูล จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
–ต้องการบันทึกข้อมูลนี้ไว้เป็นหลักฐาน เพื่ออรรถาธิบายในตอนอื่นๆด้วย
–มีบางกิจการขอเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นเองด้วยเหตุผลหลายประการ รวมทั้งเพื่อปรับโครงสร้างกิจการ
มติชนสุดสัปดาห์ 15 กรกฎาคม 2554