โหมโรง

 จากวิกฤตการณ์

ผมเขียนบทความในมติชนสุดสัปดาห์กำลังจะครบ2 ปีเต็ม ถือเป็นช่วงเดียวกันกับสังคมไทยได้ผ่านพ้นก้าวขึ้นปีที่ 15 ของการลดค่าเงินบาทครั้งล่าสุด (2กรกฎาคม 2540) ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกผันครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจและสังคมไทย เป็นการก้าวเข้าสู่วิกฤติการณ์ครั้งร้ายแรงที่สุด ผลพวงของเหตุการณ์ครั้งนั้น แม้ว่าจะมีศึกษาและกล่าวถึงกันมาพอสมควร แต่ก็ยังมีภาพสำคัญอีกมากมายที่เพิ่งปรากฎขึ้น และกำลังเกิดขึ้น เป็นภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย กว้างขวางและลึกซึ้งกว่าที่คาดคิดกันไว้

ว่าไปแล้วงานเขียนของผมที่ผ่านมา ล้วนเป็นภาพสะท้อนของการคลี่คลายหรือผลพวงของวิกฤติการณ์ครั้งสำคัญ ไม่มากก็น้อย

จากนี้ไป การเริ่มต้นเสวนาเรื่องบางเรื่อง ควรจะเป็นเรื่องที่จำเป็น 

 ขอขีดวงมองการเคลื่อนไหว สถานการณ์ ระบบเศรษฐกิจไทย  จำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่ยุคแห่งการคลี่คลายอย่างชัดเจน ตั้งแต่ปี  2475 โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษ หลังสงครามโลกครั้งสอง เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ในทำนองที่ว่า ภาพเคลื่อนไหว   มีสีสัน และน่าตื่นเต้น กว่าภาพนิ่ง

 ภาพที่ว่า  คือความสัมพันธ์ ระหว่างเหตุการณ์      ระบบเศรษฐกิจ   ความคิดและผู้คน

–ยุคนี้ ผู้คนสังคมยังมีชีวิตอยู่  โดยเฉพาะกลุ่มทีเรียกว่า Baby Boomer (ตามคำนิยามที่ใช้กันคือกลุ่มคนอายุประมาณ  45-65 ปี )  พวกเขาและเธอ เกิดและเติบโตหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  ถือเป็นกลุ่มมีประสบการณ์มาก   ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาหลายช่วง   ปัจจุบันมีบทบาทนำในสังคม   เช่นเดียวในระดับโลก เชื่อกันว่า  Baby Boomer คุมชะตาเศรษฐ์กิจโลก  นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำบางคน พยายามอรรถาธิบายแนวโน้มเศรษฐ์กิจแนวใหม่ แทนที่มองโครงสร้างทางเศรษฐกิจ กลับมองพฤติกรรมของกลุ่มนี้แทน    เขาวิเคราะห์ว่า วงจรเศรษฐกิจโลกไม่อาจจะกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วอย่างที่คาด เพราะกลุ่มที่มีพลังทางเศรษฐกิจ อายุมากแล้ว ระมัดระวังการใช้เงินมากขึ้น 

 –เพ่งมองระบบเศรษฐกิจหน่วยย่อย ของกลุ่มบุคคล ที่มีพัฒนาการของความพยายามอยู่รอด จากช่วงนั้น มาจนถึงปัจจุบัน   พูดง่ายๆก็คือ  บริษัท  กลุ่มบริษัท หรือกลุ่มธุรกิจที่เป็นเครือข่ายเดียวกัน  ถือเป็นเรื่องซับซ้อนพอใช้ในปัจจุบัน  เมื่อผนวกกับเครือข่ายธุรกิจระดับโลกมากขึ้น  จากภาพย่อยๆสามารถปะติดปะต่อ  จะกลายเป็นภาพใหญ่ 

–อีกมิติหนึ่ง พยายามแสวงหา     แนวโน้ม กระแส แนวทางใหม่ๆหรือความคิดใหม่ ที่ปรากฏ เป็นรองร่อย มาจากการมอง สองตัวแปรข้างต้น    ในความเชื่อมโยงกัน  ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเศรษฐ์กิจ  และธุรกิจเท่านั้น” จากบทความชิ้นแรก ประเด็นและความคิด”ยุทธ์ศาสตร์เอาตัวรอด มติชนสุดสัปดาห์ 31 กรกฎาคม   2552)

ในความพยายามเสนอข้อมูลและความคิดผ่านบทความทั้งหมดประมาณ 100ชิ้น ในช่วงที่ผ่านมา ประหนึ่งเป็นความพยายามแสวงหาจิกซอร์ที่กระจัดกระจายของภาพใหญ่ พลวัตรสังคมเศรษฐกิจไทย โดยอ้างอิงกับสถานการณ์ในช่วงนั้นๆเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามเมื่อผ่านไปช่วงหนึ่ง ภาพในความคิดสะท้อนจากเรื่องราวที่เคยเสนออย่างหลากหลาย และกระจัดกระจายพอสมควร สามารถจับต้องมากขึ้น วาดเป็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ผมคิดว่าควรยกระดับความคิดและการนำเสนอไปอีกระดับหนึ่งโดยพยายามให้ภาพทั้งหลายมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น

–เมื่อสำนักพิมพ์มติชนพยายามรวบรวมงานเขียนของผมเหล่านั้นเป็นหนังสือเล่มขึ้นมาสักเล่มหนึ่งในปลายปีนี้(ยุทธศาสตร์เอาตัวรอดของกูรูธุรกิจ) การคัดเลือกและการอ่านบทความเดิมของตนเองอีกหลายครั้ง  ยิ่งตอกย้ำว่า ภาพที่นำเสนอในระยะเวลาหนึ่ง สามารถสร้างเป็นภาพที่ความกระจ่างขึ้น นั้นคือการทบทวนและสรุปเรื่องราวย่อยๆเพื่อสร้างเป็นภาพใหญ่

นี่คือที่มาของความพยายามเสนอบทความชุดใหม่ชุดใหญ่จากนี้ไป

สังคมธุรกิจไทย( 2540 -ปัจจุบัน) ชื่อซีรีย์ของบทความจากนี้ไป ซึ่งจะมีประมาณ 30-50 ตอน (ขอใช้ชื่อไปพลางๆ ก่อนจะคิดชื่อได้ดีกว่านี้)

ในฐานะมีประสบการณ์มามากกว่าสามทศวรรษในการศึกษาติดตามธุรกิจไทย ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ และยังมีความพยายามอยู่ แม้ว่าจะไม่ได้ทำงานประจำเช่นก้อน และไม่กระฉับกระเฉงทำงานทุกวันเช่นในช่วงปี 2535-2539   แต่ได้สะสมภาพเหล่านั้นไว้ ในงานเขียนของตนเองทั้งรวมเล่ม และบันทึกไว้ในฐานข้อมูลส่วนตัวอย่างเป็นระบบพอสมควร ที่สำคัญอยู่ในความคิดของตนเอง จึงเชื่อว่าพอจะมีความสามารถทำงานที่ยากขึ้นได้อีก

นอกจากนี้ได้ในบางช่วงมีโอกาสศึกษาภาพใหญ่ของกิจการสำคัญของประเทศไทยด้วย–  โดยเฉพาะเครือซิเมนต์ไทย(เอสซีจี) นอกจากเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของโครงสร้างทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ ธุรกิจไทย ที่พัฒนาต่อเนื่องมายาวนาน

ด้วยการละงานประจำทั้งมวล ทุ่มเทกับการศึกษาประวัติศาสตร์เอสซีจี กำลังจะมีอายุครบรอบศตวรรษไม่นานจากนี้  โดยใช้เวลาถึง 4 ปีเต็ม  ประสบการณ์ครั้งนั้น มิใช่เรื่องที่ผมควรนำข้อมูลเฉพาะของบริษัทนี้มาเปิดเผย  แต่จากโอกาสไดอ่านและค้นคว้าเอกสารเก่าจำนวนมาก   โดยเฉพาะเอกสารภายในของเอสซีจีเอง  โชคดีที่ฝรั่งชาวเดนมาร์กซึ่งเป็นผู้จัดการรุ่นแรกๆได้เก็บเอกสารต่างๆจำนวนมากเอาไว้อย่างดี  ผมถือว่าเป็นฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ธุรกิจที่ดีมาก  สามารถตีความและอ้างอิงเชื่อมโยงกับการศึกษาสภาพสังคมไทยและสังคมระดับโลกในช่วงสำคัญมากๆได้อย่างดี   เป็นภาพสะท้อนประวัติศาสตร์ไทยในมิติที่เชื่อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจ ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้ง 1-2  การเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนล่วงเข้าสู่ยุควิกฤติการณ์ปี 2540ถือเป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันในมิติและระดับต่างๆกัน(แนวคิดโครงการ –-e Corporate archive)

ผมไม่มีความจเป็นต้องนำข้อมูลเฉพาะมาเปิดเผย แต่ภาพในความคิดของการศึกษาเอกสาร และการทำงานวิจัย  รวมทั้งสนทนากับบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องนับร้อยคน  ย่อมก่อเป็นภาพใหญ่ในความคิด ว่าด้วยพัฒนาการเศรษฐกิจและธุรกิจไทยได้ไม่มากก็น้อย ผมเชื่อว่าภาพเหล่านี้จะกลายเป็นฉากหลัง และพื้นฐานอันมั่นคงของการเดินเรื่องของบทความชุดใหญ่ เพื่อกำกับทิศทางความคิด ให้มีเป้าหมายและสมเหตุผสมผลมากขึ้น

ในบทความชุดใหญ่นี้ อาจจำเป็นต้องอ้างข้อเขียนเดิมของตนเองอยู่ในบางช่วง บางตอน เป็นระยะๆ เพราะมีความต่อเนื่องและพัฒนาจากนั้น ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าข้อเขียนแต่ละชิ้น อาจมีการปรับปรุงโครงสร้างและเนื้อหาให้ทันสมัยและถูกต้องอยู่เสมอ แต่เนืองด้วยข้อจำกัดของสื่อสิงพิมพ์ไม่อาจกลับไปแก้ไขบทความเดิมเช่นสื่อดิจิตัล    จึงได้สร้างระบบคู่ขนานไว้   โปรดเข้าไปอ่านข้อเขียนชุดนี้ในบล็อกของผมได้  หลังจากตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ไประยะหนึ่ง เพื่ออัพเดทข้อมูล(หากมี )หรืออ่านบทความที่เกี่ยวเนื่องในฐานข้อมูลบางส่วน

ภาพใหญ่ที่ขัดแย้ง

หลายคนมีบทสรุปว่าโครงสร้างการเมืองของไทยในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าไม่มีการพัฒนา  มีการรัฐประหารเกิดขึ้นเป็นระยะ โดยเฉพาะครั้งล่าสุด แม้หลังวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ที่ใครๆบอกว่าสังคมไทยถูกผลักอย่างแรงเข้าสู่กระแสสังคมและเศรษฐกิจโลก   ดูเหมือนกระแสการโจมตีจากผู้มีปากเสียงในสังคม(ซึ่งแวดล้อมสังคมธุรกิจไทย) ต่อการรัฐประหาร น้อยกว่ากระบวนการเลือกตั้งที่สังคมทุนนิยมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบประชาธิปไตย   ต่างชาติวิจารณ์บทบาทของกองทัพไทยอยู่ในฐานะไม่สมดุลและสมเหตุสมผลเท่าที่ควร  แต่สังคมธุรกิจไทยในเมืองหลวงมีปฏิกิริยาเรื่องนี้น้อยกว่า แม้กระทั้งเปรียบเทียบกับชุมชนหัวเมืองและชนบท   ขณะเดียวกันกลับแสดงปฏิกิริยาต่อประชาคมโลกในทางลบมากขึ้นในหลายกรณี  ความขัดแย้งของกลุ่มอิทธิพลต่างๆรุนแรงขึ้น เผชิญหน้ากันมากขึ้น ทั้งความคิดและวิธีการจัดการความขัดแย้ง แม้ว่าการเลือกครั้งใหญ่ครั้งล่าสุดจะเกิดขึ้น แต่ผู้คนคาดการณ์อย่างหลากหลายและแตกต่างกัน  โดยเฉพาะสังคมเมืองหลวง ศูนย์กลางเศรษฐกิจ แสดงปฏิกิริยาทั้งสองด้าน ด้วยอารมณ์ที่รุนแรงอย่างแทบไม่เคยปรากกฎ อาจถือเป็นภาพสะท้อนโครงสร้างทางการเมืองของสังคมไทย ในช่วงอ่อนไหวและสับสนพอสมควร

แต่ความจริง ภาพต่อเนื่องจากมุมมองในระบบเศรษฐกิจจากบทความชุดใหญ่นี้   เชื่อและคิดว่าในช่วงที่ผ่านมาสามทศวรรษนั้น โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษสุดท้ายสังคมเศรษฐกิจไทย มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากที่สุดในหลายมิติ  แม้ว่าผมเชื่อว่าปรากฏการณ์ทางการเมือง เป็นปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายตามเนื้อหาในบทความนี้ แต่ตั้งใจจะไม่กล่าวถึงโดยตรง

 

โปรดติดตาม บทที่ 1 ดัชนีความผันแปรที่ตลาดหุ้น   ตอนที่ 1สี่ปีในแดนสนธยา

มติชนสุดสัปดาห์  8 กรกฎาคม 2554

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: