โฉมหน้าผู้บุกรุก(1)

มีความจำเป็นต้องเท้าความถึงช่วงเวลาตลาดหุ้นไทยคึกคักที่สุด  ผ่านการปรากฏตัวกลุ่มคน ประหนึ่งเรื่อง  “หลายชีวิต” สะท้อนความหลากหลาย ในฐานะคือตัวแทนคน “หน้าใหม่” บทบาทของพวกเขาสั่นสะเทือนสังคมธุรกิจไทยอย่างมากมายต่อจากนั้น

ไมว่าจะเป็น ปิ่น จักกะพาก กับ ทักษิณ ชินวัตร ผู้ร่ำรวยที่จำเป็นต้องใช้ชีวิตในต่างประเทศ  ดำริ ก่อนันทเกียรติ ผู้จากไปโดยทิ้งดีลระดับโลกที่มีปัญหาไว้เบื้องหลัง  ชาญ อัศวโชค โผล่ขึ้นมาสั้นๆและหลบหลี้ไปจากสังคมธุรกิจอย่างรวดเร็ว   ส่วนอนันต์ กาญจนพาสต์  คิดการณ์ใหญ่ แก้ปัญหาใหญ่ กำลังพยายามเพื่อพลิกฟื้นกิจการขึ้นมาอย่างช้าๆ  หรืออย่างก้องเกียรติ โอภาสวงการ ผู้เข้าใจ “คุณค่า”ความเป็นนักลงทุนดีกว่าใครหลายคน

เวลาผ่านไปนับทศวรรษ คำอรรถาธิบายของปรากฏการณ์อันตื้นเต้นเร้าใจช่วงนั้น ดูเหมือนเลือนๆไปด้วย  เท่าที่สำรวจดู ว่าไปแล้วในช่วงนั้นมักมีคำอรรถาธิบายอย่างสั้นๆ ง่ายๆ อย่างไมตั้งใจ   บางกรณีโดยเฉพาะแวดวงวิชาการมีความตั้งใจพอสมควร แต่ความคิดและการประเมินบทบาทตลาดหุ้น แตกต่างกับแนวคิดของผมในบทความชุดนี้  โดยมักให้ความสำคัญเป็นพิเศษว่าด้วยโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับรัฐ   มองบทบาทความสัมพันธ์เป็นกลไกที่ค่อนข้างหยุดนิ่ง ซึ่งค่อนข้างแตกต่างกับแนวคิดบทความชุดนี้ ขณะที่ตลาดหุ่้นไทยมีบทบาทเชิงรุกอย่างสำคัญ มีส่วนสร้างโมเมนตัมของการเปลี่ยนแปลงสังคมธุรกิจไทยในช่วงก่อนและหลังปี2540 เป็นต้นมา โดยมองผ่านโมเดลต่างๆของธุรกิจ เพื่อแสวงหาภาพสะท้อนไปยังโครงสร้างใหญ่ต่อไป

“กลุ่มธุรกิจใหม่เติบโตในช่วง 10 ปีมานี้(หมายถึงช่วงปี 2530-2540 ) เกิดขึ้นนับสิบกลุ่ม ซึ่งใช้เวลาสั้นกว่ามากในการสะสมความมั่งคั่งให้เท่ากับหรือเหนือมากกว่ากลุ่มเก่า พวกเขาเติบโตมาจากปัจจัยคล้ายๆกัน 2-3 ประการ    หนึ่ง-โอกาสจากระบบสัมปทานแบบใหม่ที่เกี่ยวกับระบบโทรคมนาคมซึ่งซุกซ่อนไว้โดยที่รัฐและกลุ่มธุรกิจเก่าไม่รู้มาก่อน สอง-เป็นตัวแทนหรือใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงจากตะวันตกหรืออยู่ในกระบวนการผลิตของธุรกิจระดับโลก  สาม-จากตลาดทุนซึ่งกลายเป็นเวทีอันกว้างขวางของคนระดับกลางของสังคมด้วย” (จากบทความ เราจะปรับได้อย่างไร   มีนาคม 2540)

ผมเองเคยอรรถาธิบายเชิงแนวคิดกว้างๆไว้ในเวลาแห้งวิกฤติการณ์  โดยพยายามเสนอภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ซึ่งเคยใช้ธนาคารเป็นฐานและเป็นกรอบอันมั่นคงของการสะสมความมั่งคั่งของกลุ้มดั้งเดิม จากบทเรียนที่สามารถรักษาฐานนี้ไว้ได้ เมื่อเผชิญความท้าทายครั้งแรก(ปี2520-5) โดยรัฐจำเป็นต้องเปิดสถาบันการเงินชั่วคราวให้กับกลุ่มใหม่เพื่อระดมเงินจากสาธารณะชน (จากภายในประเทศ) เพียงช่วงสั้นๆ โดยระบบธนาคารหลักสามารถเอาตัวรอดผ่านมาได้ แต่ครั้งใหม่ (2535-2540) ภายใต้สถานการณ์ใหม่ “ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างมาก บวกกับการเปิดให้เงินจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น กลุ่มธุรกิจใหม่แทรกตัวขึ้นมาอย่างโดดเด่น ดูเหมือนกลุ่มธุรกิจเดิมที่มีธนาคารเป็นแกน อิทธิพลลดลงไปพอสมควร” (จากBanking society  กรกฎาคม 2540) ระบบธนาคารไทยได้พังทลายลงอย่างไม่คาดคิด

ปิ่น จักกะพาก

ปิ่น จักกะพาก เกิดที่สหรัฐ ตอนที่บิดาของเขา–ประพาส จักกะพาก อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กำลังศึกษาปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ที่สหรัฐฯ ส่วนมารดาของเขาเป็นทายาทของจูตระกูล ซึ่งเป็นตระกูลธุรกิจเก่าแก่ มีเครือญาติมีอิทธิพลอยู่ในสังคมธุรกิจไทย โดยเฉพาะตระกูลหวั่งหลี และล่ำซำ เขาเรียบจบปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน จากUniversity of Pennsylvania และทำงานมีประสบการณ์ในสถาบันการเงินสหรัฐฯ เกือบ 10 ปี

ปิ่น จักกะพาก เข้ามาบริหารเอกธนกิจตั้งแต่ปี2523 ซึ่งแต่เดิมชื่อบริษัทยิบอินซอยการลงทุน เป็นกิจการร่วมทุนระหว่างตระกูลล่ำซ่ำกับยิบอินซอย ซึ่งถือเป็นเครือญาติของเขา แต่เป็นกิจการเล็กๆและไม่โตมาเป็นเวลานานถึง10ปีเต็ม เขาก็คือที่ปลุกปั้นกิจการเล็กแห่งนี้ ให้ใหญ่ขึ้นด้วยกลวิธีของนักการเงินยุคใหม่ แม้ว่าแนวทางมีผู้มาใหม่เคยดำเนินมาแล้ว เช่น พร สิทธิอำนวย ซึ่งก็ล้มเหลวไปต่อหน้าเขา ในช่วงเขามาเมืองไทยใหม่ๆ    แต่สถานการณ์ในยุคของเขาแตกต่างจากยุคพรมากทีเดียว นอกจากเขามีฐานของสายสัมพันธ์ที่ดีพอสมควร หรือบทเรียนความล้มเหลวของคนรุ่นก่อนแล้ว ที่สำคัญเขาอยู่ในช่วงทศวรรษการเติบโตอย่างคึกคักที่สุดของตลาดทุนไทย  โดยมีผู้เล่นมากขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ

ปี2527 ปิ่น จักกะพาก ในการชักนำ BNP Paribas ธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งฝรั่งเศส เข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเงินยิบอินซอย(ชื่อเดิมของเอกธนกิจ)ได้นั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นในยุคใหม่ของธุรกิจการเงินดั้งเดิมแห่งนี้ ในปี2531 เอกธนกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในจังหวะทีดีมากจากการเปิดตลาดการเงินครั้งใหม่ ถือเป็นพัฒนาก้าวกระโดดรอบใหม่ของสังคมไทย   ด้วยโมเดลธุรกิจที่น่าทึ่ง สะสมทุนอย่างรวดเร็วจากตลาดทุน ตามแผนการนำกิจการเข้าตลาดหุ้น จากฐานธุรกิจเงินทุน สู่อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมเป็นขั้นๆ ขณะเดียวสร้างฐานกิจการค้าหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย(เป็นกลุ่มเดียวที่มีกิจการค้าหลักทรัพย์ถึง4 แห่ง) รวมทั้งการขยายตัวทางลัดด้วยการเทคโอเวอร์กิจการต่างๆอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นโมเดล  ส่งอิทธิพลต่อทั้งคนรุ่นใหม่แลกลุ่มธุรกิจดังเดิมให้เดินตามอย่างขนานใหญ่ ตั้งแต่ปี2529-2539 สินทรัพย์ของกลุ่มเอกธนกิจได้ขยายตัวอย่างมหัศจรรย์เกือบ50เท่า จากระดับสองพันล้านบาท ทะลุหนึ่งแสนล้านบาท ในปี2539

ปิ่น จักกะพาก สร้างอาณาจักรการเงินอย่างยิ่งใหญ่ มีธุรกิจการเงิน กิจการหลักทรัพย์ซึ่งมีอิทธิพลต่อตลาดการเงินไทยมากที่สุดในเวลาจากนั้น   หลายคนบอกว่าความพยายามนั้น เพื่อสร้างอาณาจักรธุรกิจการเงินสมัยใหม่ ให้มีอิทธิพลทัดเทียมกับธุรกิจธนาคารไทยดั่งเดิม ซึ่งอยู่ใจกลางสังคมธุรกิจไทยอย่างมั่นคงมายาวนาน จากนั้นไม่นานและเข้าใจว่า เมืองไทยเขาทำเช่นนั้นไม่ได้ นอกเสียจากต้องมีธนาคารเองเท่านั้น ในช่วงท้ายๆของยุคปิ่น จักกะพาก เขาทุ่มเทเพื่อจะได้มาซึ่งธนาคาร ความพยายามเข้าซื้อหุ้นในธนาคารเอเชีย  ธนาคารไทยทนุ รวมทั้งการขออนุญาตมีธนาคารแห่งใหม่ กลายเป็นภาระอันใหญ่หลวง ในช่วงธุรกิจการเงินของเขา กำลังเริ่มเติบโตมาจนถึงจุดอิ่มตัว และเปราะบาง

ในที่สุดสิ่งที่เขาเคยเห็น ที่ไม่ต้องการมีประสบการณ์ตรง  โดยพยายามอย่างยิ่งในการก้าวผ่านการสร้างมั่งคั่งจากตลาดหุ้นไปสู่ฐานกว้างขึ้น ก็เป็นไปไม่ได้  ที่สำคัญเขาคาดผิดเรื่องหนึ่ง ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก นั่นคือระบบธนาคารไทย มิใช่ระบบอันมั่นคั่ง และมีสิทธิพิเศษอย่างที่เขาเชื่อมั่นอีกต่อไป

ทักษิณ ชินวัตร

แม้ว่าหลายคนเชื่อว่าเขาคือคนที่ได้ประโยชน์มหาศาลจากระบบสัมปทานสื่อสารยุคใหม่ตั้งแต่ปี  2533-2534(มีสัมปทานทั้งสิ้น 8 โครงการ แต่สร้างรายได้ได้ดี   เพียงสื่อสารไร้สายกับดาวเทียม นอกนั้น มีทั้งล้าสมัย ขาดทุน และขายให้รายอื่น)   สร้างกระแสให้ทั้งรายใหม่รายเก่า (รายใหม่–กลุ่มยูคอม สามารถ   รายเก่า– ล้อกซ์เลย์และซีพี) พยายามเดินตาม แต่ภาพที่เป็นจริงปรากฏอย่างชัดเจนเมื่อปี 2546

–4 พฤศจิกายน 2546   มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ภายในวันเดียวโดยมีมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 64,263 ล้านบาท แต่อีกสามปีถัดมา (23 มกราคม 2549) สถิติเก่าได้ถูกทำลายไป ด้วยมูลค่าการซื้อขายกว่า 94,062ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการซื้อขายหุ้นในกลุ่มชินคอร์ป กว่า 57,058 ล้านบาท

ข้อมูลชุดนี้มีความสัมพันธ์กับกระบวนการขายหุ้นของตระกูลชินวัตรในกิจการสื่อสารที่อยู่ในตลาดหุ้นให้กับนักลงทุนที่มีความเชื่อมโยงกับ  Singtel แห่งสิงคโปร์ นอกจากจะเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นแล้ว ยังเป็นดัชนีของความสะสมความมั่งคั่งของผู้คนที่เพ่งได้รับสัมปทานที่เกี่ยวข้องไปเพียงกว่าทศวรรษเท่านั้นเอง

ในภาพใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ว่านั้น นอกจากความสัมพันธ์กับ  “คุณค่า”ของสัมปทานของรัฐแล้ว ถือเป็นพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของระบบสื่อสารระดับโลก ด้วยการสร้างเครือข่ายสื่อสารทั่วโลก เพื่อตอบสนองความเป็นโลกาภิวัฒน์ และสร้างโอกาสใหม่อย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อนให้กับธุรกิจระดับโลก พร้อมๆกับการผลิตอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่ (ครั้งละจำนวนมากๆ) ตอบสนองการใช้งานของปัจเจกในระดับโลก

ทักษิณ  ชินวัตรในฐานะตำรวจผู้ผ่านการเรียนการสืบสวนสอบสวนสมัยใหม่ในสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมาก  เมื่อเขาข้ามผ่านอาชีพนั้นมาสู่การสร้างธุรกิจตนเอง จึงนำประสบการณ์สองด้านมาด้วย ความสัมพันธ์กับผู้คนในแวดวงอำนาจ กับความรู้เทคโนโลยี่

เขาเป็นเพียงตัวละครเล็กๆในภาพใหญ่ ในฐานะผู้ขายเทคโนโลยี่สื่อสารใหม่ ในฐานะตัวแทนธุรกิจระดับโลก เข้ากับระบบสัมปทานของรัฐไทยที่เป็นธุรกิจใหม่มากๆ โดยในช่วงแรกๆ ได้รับความสนใจและประเมินไว้ไม่มากนัก

อย่างไรก็ตามในฐานะเริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆ ไม่มีฐานการเงินมั่นคงเช่นกลุ่มธุรกิจเก่า ในแผนการสร้างเครือข่ายสื่อสารทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานความแข็งแกร่งทางธุรกิจในระยะต่อมา  จำเป็นต้องลงทุนจำนวนมากอย่างต่อเนือง    ทางออกของเขามาในช่วงที่เหมาะสม กับการเติบโตของตลาดหุ้น(ต่อมารวมทั้งตลาดเงินระดับโลกด้วย)  การระดมทุนจากที่นั่น(ถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีกิจการเข้าตลาดหุ้นในเวลาไล่เลี่ยกันถึง 4กิจการ) กลายเป็นเครื่องมือและเงื่อนไขสำคัญในการสร้างฐานธุรกิจสื่อสาร

สิ่งทีทักษิณ ชินวัตรแตกต่างจากปิ่น จักกะพาก ตรงที่ปิ่นผูกพันกับความอ่อนไหวเปราะบางของตลาดหุ้นมากเกินไป   ขณะที่ทักษิณมีความสัมพันธ์ทั้งตลาดหุ้น และกับลูกค่าฐานกว้างที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย นั่นคือระบบสมาชิกที่เติบโตอย่างรวดเร็วของผู้ใช้บริการสื่อสารไร้สาย

นี่คือโฉมหน้าผู้บุกรุกสองคนสำคัญ  ซึ่งต่อมาได้รับความสนใจอย่างมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ    ขณะที่ผู้บุกรุกรายอื่นๆที่ผมจะกล่าวตอนต่อไป แม้ว่าไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร แต่เรื่องราวของพวกเขา  ล้วนตื้นเต้น เร้าใจและเป็นภาพสะท้อน สาระของการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยครั้งใหญ่ไม่แพ้กัน

ข้อมูลสำคัญตลาดหุ้นไทย(2534- 2538)

2534            2535           2536         2537            2538

ดัชนี(ณ สิ้นปี)*                      771             893              1,683         1,360          1,280

มูลค่าการซื้อขาย*            3,200          7,500           8,900         8,300          6,200

(ล้านบาท/วัน)

หลักทรัพย์                            173             192                 346              389               416

(บริษัท)

เงินลงทุนต่างประเทศ* 130,000       258,000      747,000      885,000      808,000

(ล้านบาท)

( %มูลค่าซื้อขายรวม)          8.2               7.2             17               20.9           26.3

หมายเหตุ

–ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

–*ตัวเลขปัดเศษโดยผู้เขียน

 

 บริษัทในตลาดหุ้น/ เอกธนกิจ-ชินวัตร

 

 2531

บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ   

2532

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธำรง

2533

ชินวัตรคอมพิวเตอร์แอนด์คอมมิวนิเคชั่น

2534

บริษัทหลักทรัพย์เอกเอเชีย

บริษัทแอดวานซ์อินโฟเซอร์วิส

2535

บริษัทเอกโฮลดิ้ง(เข้าซื้อกิจการจากบริษัทฟิลาเท็กซ์ ซึ่งเข้าตลาดหุ้นตั้งแต่ปี 2533)

บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลบรอดคาสติ้ง

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกชาติ

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกสิน

2537

บริษัทชินวัตรแซทเทลไลท์

หมายเหตุ

ตัวเน้น-บริษัทในกลุ่มเอกธนกิจ

ขีดเส้นใต้- บริษัทในกลุ่มชินวัตร

มติชนสุดสัปดาห์ 22 กรกฎาคม 2554

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: