วิกฤติการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ให้ภาพสะท้อนสังคมไทยหลายมิติ รวมทั้งเป็นแรงกระตุ้นในความพยายามขยายจินตนาการของโครงเรื่องบทความชุด “สังคมธรกิจไทย (2540-ปัจจุบัน)” ด้วย โดยเฉพาะเรื่องราวพื้นฐานที่สุดของสังคมไทย ว่าด้วยเกษตรกรรม—เกษตรกรรมของไทยมีความเชื่อมโยงกับสังคมโลกมานานและยังมีต่อไปอย่างซับซ้อนมากขึ้น นี่คือบทสรุปเบื้องต้น ก่อนจะขยายความต่อไป
โครงสร้างพื้นฐาน
พื้นฐานของเกษตรกรรมไทย คือการทำนาผลิตข้าวส่วนใหญ่ในที่ราบลุ่มภาคกลาง ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ในรัศมีห่างออกไป แม้มีปัญหามากมายในหลายทศวรรษมานี้ แต่ข้าวและพืชเศรษฐกิจสำคัญยังคงเป็นสินค้าส่งออกอันดับแรกๆของประเทศ แม้ว่าลดความสำคัญลงไปบ้างในยุครับจ้างผลิตสินค้าตะวันตกก็ตาม
ปี 2490 องค์การอาหารเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) แนะนำให้รัฐบาลไทยลงทุนในโครงการชลประทานเพื่อควบคุมระดับน้ำในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาปี2495 ธนาคารโลกให้เงินกู้ในโครงการ The Greater Chaophraya Project ด้วยการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ชัยนาททางด้านบนของพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขุดคลองกั้นน้ำ สร้างประตูน้ำ เขื่อนดิน และอ่างเก็บน้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อการบริหารจัดการน้ำเพื่อเกษตรกรรมซึ่งขยายเนื้อที่ปลูกข้าวออกไปในเขตใหม่ ๆ โดยในพื้นที่การชลประทาน ชาวนาสามารถปลูกพันธุ์ข้าว ก.ข. ( International Rice Institute ที่ฟิลิปปินส์คิดค้นขึ้น ) รัฐบาลตั้งสถาบันวิจัยเพื่อทดลองปลูกข้าว และพัฒนาพันธุ์ผสมให้เหมาะกับสภาพในประเทศไทย ปลายทศวรรษ 2500 ข้าวพันธุ์ ก.ข. ปลูกกันทั่วไปในเขตชลประทาน
เขื่อนเจ้าพระยาเป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ สร้างเมื่อปี2495 แล้วเสร็จเมื่อ ปี2500 ใช้เพื่อทดน้ำส่งน้ำให้พื้นที่ The Greater Chaophraya Project รวม 17 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี กทม. นครนายก สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา ว่าไปแล้วถือเป็นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญครั้งที่สองของรัฐไทยยุคกรุงเทพฯ ต่อเนื่องจากการขุดและสร้างเครือข่ายคลองรังสิตตั้งแต่รัชการที่ 5(ด้วยระบบสัมปทาน กับชาวงต่างชาติ) เมื่อกว่าศตวรรษที่ผ่านมา
นี่คือช่วงเริ่มต้นสำคัญในยุคกรุงเทพฯสมัยใหม่ ของบทบาทเกษตรกรรมไทยในฐานะสินค้าส่งออก และคงความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเสมอมา
ธุรกิจการค้า
แท้จริงภาพธุรกิจการค้าหรือปลายทางของสินค้าเกษตร เชื่อมโยงกับแกนกลางของสังคมไทยเสมอมา เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ในระดับโลก แต่อย่างไรก็ตามบรรดาผู้มีอิทธิพลและเครือข่ายธุรกิจเหล่านี้ มักไม่ลงสู่พื้นฐานเกษตรกรรมโดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง บริษัทข้าวไทยกำเนิดขึ้นอันเป็นข้อต่อการเปลี่ยนแปลงการส่งออกข้าวแต่เดิมอยู่ในมือของเอกชน มาอยู่ในอำนาจเด็ดขาดของรัฐ อ้างความจำเป็นของสถานการณ์ ไทยต้องขายข้าวให้ญี่ปุ่นตลาดใหญ่มาก ในชาวงภาวะเศรษฐกิจตำต่ำ แต่ชาวจีนในไทยซึ่งคุมการค้าข้าวแอนตี้ญี่ปุ่น บริษัทข้าวไทยดำเนินการผูกขาดค้าข้าวจากเดิมเป้นของคนจีน และส่วนหนึ่งเป็นของชาวยุโรปที่ถอนตัวออกไปเมื่อเกิดสงคราม ต่อมาเมือสงครามโลกยุติ ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม อังกฤษซึ่งมีผลประโยชน์โดยตรงเกี่ยวข้องกับบริษัทบอร์เนียว หรือแองโกลไทย ซึ่งเป็นกิจการค้าข้าวและโรงสีที่บริษัทข้าวไทยยึดกิจการ กดดันให้รัฐบาลไทยยุบบริษัทข้าวไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายของการผูกขาดการค้าข้าวของรัฐในช่วงหลังสงครามโลก
ขณะเดียวกัน กิจการโรงสีและการส่งออกข้าวไทยได้เริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าไป โรงสีที่เคยตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯต่อมาบริษัทข้าวไทยยึดมาในที่สุดได้ขายตัวออกไปตั้งในต่างจังหวัด เนื่องจากค่าแรงถูกกว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองข้าวเปลือกประมาณ 95% จะผ่านโรงสีในกรุงเทพ ก่อนเป็นข้าวสารส่งออก แต่หลังสงครามข้าวสารเกือบ 100% มาจากโรงสีจากต่างจังหวัด ราวๆปี 2500 พ่อค้าข้าวในกรุงเทพทำหน้าที่เพียงผู้ค้าและผู้ส่งออกข้าวเท่านั้น
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ระบบการส่งออกข้าวได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง จากค่อนข้างเสรีเข้าสู่ยุคระบบโควตา ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มกระเตื้องขึ้น สินค้าหลักของไทย เช่น ข้าว ยางพารา ดีบุกส่งออกได้มากขึ้น แต่มีการแข่งขันตัดราคากันอย่างรุนแรง จากระบบโควตานี้เองนำมาซึ่งการรวมกลุ่มในรูปสมาคมการค้า ผู้ใดกุมสมาคมการค้าก็สามารถดำรงการค้าอยู่ได้ ในเวลาเดียวกลุ่มพ่อค้าบางกลุ่มได้รวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน ขณะนั้นตลาดการส่งออกข้าวไทยแม้ว่าภาครัฐบาล หรือสมาคมการค้าจะออกบุกตลาดบ้าง แต่ก็เป็นครั้งเป็นคราว ยังจำกัดตัวเองอยู่ในตลาดย่านเอเชีย อาศัยสายสัมพันธ์ “พี่น้องชาวจีนโพ้นทะเล” เป็นหลัก
ข้อต่อสำคัญการเปลี่ยนแปลงการค้าส่งออกสินค้าพืชไร่ มาจากพ่อค้าข้าวบางรายกระโจนออกสู่ตลาดนอกสิงคโปร์ ฮ่องกงหรืออาศัยสายสัมพันธ์พี่น้องชาวจีนโพ้นทะเลแต่เดิม มุ่งสู่ประเทศด้อยพัฒนา ในประเทศอาฟริกา หรือตะวันออกกลาง พร้อม ๆ กับบรรดาผู้ส่งออกข้าวไทย ได้เพิ่มจำนวนมากรายขึ้น “ผู้มาใหม่” เริ่มทยอยมาจากโรงสีต่างจังหวัด พร้อมกับการมามีบทบาทของโบรกเกอร์ซึ่งสำนักงานส่วนใหญ่อยู่ที่ยุโรป กับบรรษัทการค้าระหว่างประเทศจากญี่ปุ่นที่โตวันโตคืนในขอบเขตทั่วโลก
ภายหลังวิกฤติการณ์น้ำมันเป็นต้นมา การค้าสินค้าพืชไร่ทั่วโลกส่วนใหญ่อยู่ในความควบคุมโดยโบรกเกอร์ โดยเฉพาะโบรกเกอร์ยุโรป(Krohn&Co เยอรมนีเข้ามาเมืองไทยปี2509) เข้ามามีบทบาทควบคุมกระบวนการส่งออกมันสำปะหลังไปยุโรป ขณะเดียวกับกิจการค้าพืชไร่รายใหญ่จากสหรัฐฯเข้ามาเปิดสำนักงานในเมืองไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวและข้าวโพดด้วย (Cargill, Continental grainUSA)
การเข้ามาของโบรกเกอร์เหล่านี้ เป็นดัชนีชี้ว่า ดีมานด์ของสินค้าพืชไร่ไทยเพิ่มขึ้น มีตลาดกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ในเวลาเดียว อธิบายได้ว่าการค้าของไทยเข้าสู่วงจรการค้าโลกแล้ว ผู้ส่งออกข้าวไทยได้กลายเป็น “ซัพพลายเออร์” คอยป้อนสินค้าตามข้อผูกพันกับโบรกเกอร์ ไปยังตลาดซึ่งบางครั้งไม่ทราบด้วยว่าที่ไหน ทั้งนี้โบรกเกอร์เหล่านั้นมี หนึ่ง-ตัวแทนหรือสำนักงานตัวแทนในประเทศผู้ซื้อซึ่งห่างไกลจากประเทศไทยมาก คอยส่งข้าวสารความต้องการ ทั้งเจรจาซื้อขาย สอง-มีธนาคารสนับสนุนด้านการเงิน และเอกสารการค้า
แต่สถานการณ์นั้นผ่านไปไม่นาน(ราวปี 2530 เป็นต้นมา) กิจการค้าส่งออกพืชไร่ของไทยได้ยกระดับตนเองขึ้นและสามารถดำเนินธุรกิจอย่างยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมกับๆระบบเศรษฐกิจไทยเปิดกว้างเชื่อมกับระบบโลกมากขึ้น โดยเฉพาะเครือข่ายการเงินของไทย แต่ขณะเดียวกัน ดูเหมือนกิจการค้าพืชไร่ได้ลดอิทธิพลลงไปในสังคมธุรกิจไทย ซึ่งกำลังขยายตัว สู่ความหลากหลายมากขึ้น
ฟาร์มสมัยใหม่
แม้ว่าซีพีเริ่มต้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่วิวัฒนาการทางธุรกิจอย่างจริงจังเกิดขึ้นในอีก3ทศวรรษต่อมา ทศวรรษแรก เริ่มต้นธุรกิจอย่างจริงจังหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การค้าระหว่างประเทศเปิดฉากขึ้น ด้วยเครือข่ายที่แข็งแรงของชาวจีนโพ้นทะเล โดยเฉพาะระหว่าง จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงและไทย เริ่มต้นจำหน่ายเมล็ดพันธ์พืช ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และ อาหารสัตว์ ทศวรรษที่2 เริ่มต้นอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ครั้งแรกในประเทศไทย และทศวรรษที่3 ได้ค้นพบและสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ในอุตสาหกรรมการเกษตร สร้างผลสะเทือนไปทั่วชนบทไทย ด้วยสิ่งเรียกว่า Contract farming(ด้วยความร่วมมือกับArbor acre แห่งสหรัฐฯ)) เป็นแนวคิดการขยายตัวทางธุรกิจโดยอาศัยโมเมนตัมทางสังคม แรงขับดันการพัฒนาการผลิตอาหารเชิงการค้า
สำหรับโมเดลของซีพี เป็นตัวอย่างสำคัญของการนำความรู้ฝรั่งมาใช้ในเกษตรกรรม โดยเฉพาะในบางภาคที่ไม่ได้มีไดรับความสนใจเท่าที่ควร(อำนาจรัฐไทย สนใจพืชเศรษฐกิจส่งออก ขณะที่ซีพี สนใจภาคปศุสัตว์ที่ล้าหลัง)จนกลายเป็นธุรกิจระดับภูมิภาคขึ้น เป็นภาพความขัดแย้งที่สังคมไทยในปัจจุบัน สังคมที่เป็นฐานธุรกิจอาหารระดับโลก แต่ทิศทางใหญ่ของระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ ยังค่อนข้างสับสน
ในช่วงเวลาเดียวกับการเกิดขึ้น Contract farming ของซีพี ระบบธนาคารส่งเสริมแนวทางคล้ายๆกันในโมเดลใหม่ในเวลานั้น—อุสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะธนาคารกสิกรไทย ดำเนินแผนการใหม่อย่างเต็มที่ ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนโครงการทั้งสินเชื่อและลงทุน ผู้บริหารธนาคารหลายคนร่วมด้วย ตั้งแต่บรรยงก์ ลำซำ กับDOLE แห่งสหรัฐฯร่วมทุนตั้งแต่ปี 2509 ณรงค์ ศรีสะอ้าน ส่งเสริมและลงทุนในบริษัทอาหารสยาม สำราญ กัลยาณรุจ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายของธนาคาร ลงทุนในสยามอุตสาหกรรม-การเกษตร (สับปะรด) หรือ SAICO (2521) พันเอกเริง ประเสริฐวิทย์ นักการเมืองคนสำคัญในยุคนั้นซึ่งเป็นบุตรเขยตระกูลลำซำ ก็ลงทุนใน ชะอำไพน์แอปเปิ้ลแคนเนอรี่ รวมถึงกรณี พิพัฒน์ ตันติพิพัฒนพงศ์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับธนาคารกรุงเทพ ร่วมมือกับ MITSUBISHI แห่งญี่ปุ่น ตั้งบริษัทอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องไทย (2505) ถือเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจก็ว่าได้ ด้วย
อาจถือเป็นครั้งแรกๆก็ว่าได้ กิจการร่วมกับธุรกิจต่างชาติ นอกจากเข้าสู่ภาคเกษตรกรรม ด้วยการเข้าสู่ขั้นตอนการเกษตรพื้นฐาน (การปลูกพืชเอง และทำสัญญากับเครือข่ายเกษตรกร) รวมทั้งถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวนมากได้ด้วย
เกษตรกรใหม่
ในความเปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อนว่าด้วยสาระ( Content) ของเกษตรกรรมไทย (จะขยายในตอนต่อไป) โครงสร้างใหม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน นั่นคือการปรากฏตัวของเกษตรกรรายใหม่
ซีพี ก้าวไปอีกขั้นเข้าสู่ธุรกิจใหม้ที่เรียกว่าพืชครบวงจร(ก่อตั้งอย่างเป็นทางการประมาณปี2535) ด้วยการซุ่มศึกษา วิจัย และขยายการถือครองกรรมสิทธ์ที่ดินอย่างเงียบๆมานานพอสมควรเพื่อเข้าสู่เกษตรกรรมพื้นฐานหลังจากรอคอยมานับทศวรรษ ขณะที่กลุ่มไทยเจริญหรือทีซีซี ดำเนินการอย่างคึกโครม เข้าสู่ธุรกิจเกษตรกรรมด้วยการถือครองที่ดินนับแสนไร่ในการปลูกยางพารา ส้ม อ้อย และข้าว ในนามของบริษัทย่อยของกลุ่มพรรณธิอร (ก่อตั้งปี 2549)
เกษตรกรรมไทยไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะความเป็นพลเมืองชาวนาชาวไร่
มติชนสุดสัปดาห์ 2 ธันวาคม 2554