ถือว่าคริสเตียนีได้ผ่านประสบการณ์ร่วมแห่งความสัมพันธ์ และบทบาททั้งเอสซีจี ไทยพาณิชย์และสำนักงานทรัพย์สินฯในช่วงสำคัญของสถานการณ์ต่างๆของสังคมธุรกิจไทยอย่างน่าสนใจ
“บริษัทคริสเตี่ยนี่ และนีลเส็น มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ตั้งแต่ Rudolf Christiani วิศวกรโยธา และ Aage Nielsen นายทหารแห่งกองทัพเรือเดนมาร์ก ร่วมกันก่อตั้งเมื่อปี 2447 ไม่เกิน ปีจากนั้นได้ขยายกิจการ ตั้งสาขาที่ Hamburg เยอรมนี และหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขยายกิจการออกไปยังสหราชอาณาจักร อเมริกาใต้ ออสเตรเลียและ อาฟริกา”ข้อมูลของ http://www.cn-thai.co.th
เท่าที่ผมมีข้อมูล ในราวปี2480 Christiani&Nielsen มีเครือข่ายทั่วโลกไปไกลกว่านั้น ใน Copenhagen London Paris Hamburg Hague Stockholm Oslo Aarhus Rio de Janeiro Buenos Aires Montevideo Ankara Melbourne Wellington
ว่าไปแล้วฐานะของบริษัทคริสเตี่ยนี่ และนีลเส็น ในเมืองไทยในช่วงต้นๆเป็นเพียงเครือข่ายหนึ่งของสำนักงานใหญ่ที่Copenhagenเดนมาร์ก ส่วนสำนักงานทรัพย์สินฯ เข้ามาถือหุ้นเพียงเล็กน้อย (ไม่เกิน 10%) ในเวลาต่อมาไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเมื่อใด แต่ข้อมูลที่แน่ชัดและน่าตื้นเต้นเมือบริษัทคริสเตี่ยนี่ และนีลเส็น เข้าตลาดหุ้น (ปี 2534) นั้น สำนักงานทรัพย์สินฯและกิจการในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไปแล้ว
จากสรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปี2538 ถือว่าเป็นช่วงบริษัทคริสเตี่ยนี่ และนีลเส็น หรือCNTโดดเด่นที่สุด โดยเข้าถือหุ้นในกิจการต่างๆของ Christiani&Nielsen ในระดับโลก ทั้งเครือข่ายในเดนมาร์ก เยอรมนี และอังกฤษ รวมกันประมาณ20 บริษัท โดยดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าจะดูไม่กว้างขวางเท่ากับเมือกว่าครึ่งศตวรรษก่อน แต่สำหรับวงการตลาดหุ้นไทยแล้ว ถือเป็นเรื่องตื่นเต้นอย่างมาก ราคาหุ้นของCNT ในช่วงต้นปี2536 พุ่งขึ้นกว่า300 บาท (ราคาพาร์10บาท)และสินทรัพย์ของบริษัทคริสเตี่ยนี่ และนีลเส็น ได้ก้าวกระโดดจากประมาณ 1,000 ล้านบาทในปี 2534เป็นมากกว่า 4,000 ล้านบาทในปีถัดมา
“CNT ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง ภายใต้แนวทางการนำกิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ฯซึ่งถือเป็นสูตรสำเร็จในเวลานั้น โดยทีมงานของธนาคารไทยพาณิชย์ อันที่มาของการจุดโครงสร้างผู้ถือหุ้นกันใหม่ โดยที่สำนักงานทรัพย์สินฯยังเป็นแกนกิจการในเครือไทยพาณิชย์เข้าร่วมรวมทั้ง แลนด์แอนด์เฮาส์
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด และพลิกผันที่สุดในช่วงนั้น ก็คือCNTเข้าถือหุ้นในบริษัทแม่ในเดนมาร์ก ซึ่งกำลังประสพปัญหากิจการอย่างหนัก บริษัทแม่นั้นมีกิจการที่ถือหุ้นนกระจายอยู่ในหลายประเทศในยุโรป
การซื้อหุ้นมูลค่ากว่า2000ล้านบาทที่ดูเหมือนเป็นการตัดสินใจด้วยเหตุผลที่ทำให้CNTยิ่งใหญ่ และราคาหุ้นในเมืองไทยจะสูงขึ้น จนเป็นการตัดสินใจที่คนไทยซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่รู้รายละเอียดที่ดีพอ ในที่สุดในปี2538ผลพวงครั้งนั้นก็ปรากฏอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางบัญชีด้วยการขาดทุนกว่า900 ล้านบาท” ผมเคยเขียนเรื่องราวนี้ไว้ในช่วงสำคัญในปี 2541 ถือเป็นช่วงเลวร้ายทางธุรกิจ นำไปสู่สถานการณ์ใหม่ในการแก้ไขวิกฤติการณ์ด้วยการปรับโครงสร่างการบริหารอยู่พักใหญ่ จนท้ายที่สุดไปสู่กระบวนการ “ฟื้นฟูกิจการ
“เมื่อวันที่15มกราคม 2546 บริษัทฯได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ โดยเจ้าหนี้ส่วนใหญ่มีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์2546 และศาลล้มละลายกลางได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนฟื้นฟูกิจการแล้วเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2546 ตั้งแต่ปี 2546 บริษัทฯได้ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว ซึ่งแผนการปรับโครงสร้างทุน การปรับโครงสร้างของกลุ่มบริษัท และการปรับโครงสร้างหนี้โดยส่วนใหญ่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เนื่องจากบริษัทฯสามารถปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนที่สำคัญสำเร็จแล้ว บริษัทฯจึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2548 และเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ”
สรุปความมาจากรายงานประจำปี2549 สาระสำคัญของแผนฟื้นฟูที่สำคัญคือการปรับโครงสร้างธุรกิจ—
“เน้นการดำเนินธุรกิจการรับเหมาก่อสร้างในประเทศเป็นหลัก โดยมีแผนที่จะขายหุ้นหรือขาบโครงการหรือเลิกกิจการของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่ไม่ได้ดำเนินกิจการหรือดำเนินงานขาดทุน”
ดังนั้นเครือข่ายต่างประเทศเดิมของบริษัทคริสเตี่ยนี่และนีลเส็นจึงไม่ปรากฏในรายงานนี้ ภาพเปลี่ยนแปลงลงลึก ควรพิจาณาจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นและการบริหาร บทบาทของธนาคารไทยพาณิชย์ลดลงไปแล้ว จะด้วยความล้มเหลวทางธุรกิจหรือกฎเกณฑ์ธนาคารที่เข้มงวดขึ้นก็แล้วแต่ ภารกิจใหม่ของการฟื้นฟูและผ่องถ่ายกิจการ จึงตกมาอยู่ในมือของบริษัททุนลดาวัลย์
โครงสร้างถือหุ้นในระยะหลังวิกฤติช่วงแรก สำนักงานทรัพย์สินฯลดสัดส่วนลง ธนาคารไทยพาณิชยกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่มาช่วงหนึ่ง มีการผ่องถ่ายให้บริษัททุนลดาวัลย์ซึ่งเป็นHolding Company ของสำนัก งานทรัพย์สินฯ ที่จัดตั้งขึ้นมาประมาณปี 2544
“ทุนลดาวัลย์ ผู้คนเริ่มสนใจมากขึ้น ในฐานะกิจการลงทุนใหม่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ปรากฏรายชื่อในฐานะผู้ถือหุ้นรายเล็กในกิจการตลาดหุ้นหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีการลงทุนอย่างเงียบๆอีกบางกิจการ เท่าที่ทราบเป็นสร้างยุทธ์ศาสตร์ใหม่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ จากเคยเป็นกิจการที่มีผู้มาเสนอร่วมทุน หรือในฐานะดูแลกิจการสำคัญโดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ และเอสซีจี ที่เกิดขึ้นตามกรรมต่างวาวระ มิใช่ยุทธ์ศาสตร์ร่วม จากองค์กรเก่าที่ส่วนใหญ่ทำหน้าที่บริหารจัดที่ดินแบบดั้งเดิม มาเป็นองค์กรที่แสวงโอกาสใหม่เพื่ออนาคต”(อ้างจากบทความ ชุมพล ณ ลำเลียง )
เท่าที่ติดตามมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ บางกรณี
ในปี 2545 ทุนลดาวัลย์ขายหุ้นในโรงแรมดุสิตธานีของบริษัททุนลดาวัลย์ ประมาณ10%ให้กับกลุ่ม Pioneer Global Group กลุ่มธุรกิจใหญ่ฐานในฮ่องกงมีเครือข่ายอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และสถาบันการเงิน สำหรับเมืองไทย นอกจากถือหุ้นโรงแรมดุสิตธานีแล้ว ยังลงทุนใน Pullman Pattaya Aisawan และกิจการโรงแรมในพม่า ด้วย
อีกกรณีหนึ่ง – จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยชิ้นหนึ่ง เมื่อกลางปี2553 เอสซีจีได้แจ้งว่าได้ขายหุ้นกิจการในเครือแห่งหนึ่งให้ทุนลดาวัลย์ มีผลให้ทุนลดาวัลย์เข้าถือหุ้น 25% ในบริษัทอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีสินทรัพย์สำคัญเป็นที่ดินที่ยังไม่ได้พัฒนาประมาณหนึ่งหมื่นไร่ในนครนายก และสระบุรี อาจตีความว่าเป็นความพยายามนำทรัพย์สินที่ที่ซ่อนอยู่ในกิจการหลักอื่นมาใช้ประโยชน์
ทุนลดาวัลย์ได้จ้างฝรั่งคนหนึ่ง(Michael David Selby) ผู้มีประสบการณ์จากกลุ่มไมเนอร์และธนาคารไทยพาณิชย์มาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทตั้งแต่ปี 2544 ต่อมาเขาเข้าไปมีบทบาทในบริษัทคริสเตี่ยนี่ และนีลเส็นด้วย เป็นประธานกรรมการอยู่ช่วงหนึ่ง( กรกฎาคม2550 –กันยายน 2551 ) และเป็นกรรรมการต่อจากนั้นมา โครงสร้างการถือหุ้นในบริษัทคริสเตี่ยนี่ และนีลเส็น ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวอย่างน่าสนใจ จากปลายปี 2549 ธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้น 41.46 % ทุนลดาวัลย์ถือหุ้น 29.89% พอมาปลายปี2551 ทุนลดาวัลย์ถือหุ้นเพิ่มขึ้นมากเป็น84.5 % และก่อนจะขายหุ้นทั้งหมดให้กับผู้ซื้อรายใหม่ทุนลดาวัลย์ถือหุ้น 51.98
จุดเริ่มต้นและจุดจบแห่งสายสัมพันธ์ มีความผกผันมากทีเดียว จากความยิ่งใหญ่ของบริษัทคริสเตี่ยนี่ และนีลเส็นในยุคต้น กำลังปิดฉากลงอย่างน่าใจหาย ขณะเดียวกันความพยายามในภาคใหม่อันน่าตื้นเต้นของสำนักงานทรัพย์สินฯ ผ่านทุนลดาวัลย์ ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังแล้ว
ประชาชาติธุรกิจวันที่ 9 มกราคม 2555