เกษตรกรรมไทย(2) ความผันแปร

ความพยายามสร้างภาพใหญ่เกษตรกรรมสมัยใหม่ อาจจำเป็นต้องเริ่มจากตลาดหุ้นไทย พัฒนาของหุ้นกลุ่มเกษตรกรรมและอาหารเป็นภาพสะท้อนพัฒนาการอันน่าทึ่ง น่าจะถือเป็นจิ๊กซอร์ชิ้นหนึ่งของภาพใหญ่ภาพใหม่

ข้อมูลท้ายบทความ อาจจำเป็นต้องอ่านก่อน การนำเสนอช่วงเวลากิจการต่างๆเข้าตลาดหุ้น ย่อมให้ภาพที่น่าตืานเต้นบางระดับว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรรม ตลาดการเงินกับสังคมธุรกิจระดับโลก

เป็นเรื่องน่าแปลกพอสมควร บริษัทเสริมสุข เป็นบริษัทแรกที่เข้าตลาดหุ้นและจัดอยู่ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร  เรื่องราวของเสริมสุขกับPEPSI เป็นกรณีขัดแย้งทางธุรกิจที่ตื่นเต้นมากในช่วงก่อนหน้านี้  ผู้คนอาจไม่มีความคิดหรือข้อมูลในช่วงเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ว่าด้วยความเชื่อมโยงกับเกษตรกรรมและตลาดหุ้น  ในช่วงเวลานั้นเสริมสุข เป็นกิจการใหญ่ และมีเชื่อเสียงทั้งในฐานะสินค้าระดับโลกที่ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากตลาดและเป็นกิจการของผู้ทรงอิทธิพลในสังคมธุรกิจไทย ตลาดหุ้นเวลานั้นเพิ่งเกิดขึ้น  กระบวนการ “รับเชิญ”จากผู้มีเกียรติในยุคบุกเบิก จึงแตกต่างจากการคัดเลือกที่มีระบบเข้มงวดพอสมควรในปัจจุบัน ส่วนความเชื่อมโยงกับเกษตรกรรมนั้น มาจากวัตถุดิบสำคัญของเครื่องดื่มPEPSIที่มีราคามีเพียงสองสิ่งสำคัญ คือหัวเชื้อ และน้ำตาลซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญถือเป็นlocal content จากอุตสาหกรรมเกษตรพื้นฐานของไทย

กรณีเจริญโภคภัณฑ์อาหาร(ซีพีเอฟ)นั้น การเข้าตลาดหุ้นแต่ปี 2530 เป็นช่วงเริ่มต้นความพยายามแสวงหาแหล่งทุนจากตลาดการเงินระหว่างประเทศ   ด้วยการนำกิจการบางกิจการเข้าตลาดหุ้นในฮ่องกง และเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นไทยบางระดับ อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ เป็นเพียงห่วงโซ่หนึ่งของธุรกิจครบวงจรของซีพี แท้จริงพัฒนาการอันคึกคักและตื่นเต้นของซีพีเอฟเพิ่งเกิดขึ้นไม่ถึง5 ปีมานี้ ในฐานะธุรกิจอาหารครบวงจรและยิ่งใหญ่

อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีควรยกขึ้นมาพิจารณาเป็นพิเศษ เพื่อเทียบเคียงกับพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรรมไทยกับสังคมโลก

 ไทยวา

“บริษัท ไทยวาฟูดโปรดักส์ เริ่มประกอบธุรกิจเมื่อปี 2495 เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ถั่วเขียวเป็นวัตถุดิบ ได้แก่ วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ และแป้งสลิ่ม    ….ถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมวุ้นเส้นรายหนึ่งของประเทศไทย อาทิ วุ้นเส้นตรามังกรคู่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันยาวนานกว่า 50 ปี ว่า” ข้อมูลจากบริษัทเองดูเป็นธุรกิจธรรมดา แต่ความจริงมีตำนานที่น่าตื่นเต้น ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

ผมเคยเขียนตำนานไทยวาค่อนข้างละเอียดเมื่อปี 2529 ในฐานะมุมมองจากคนนอก (อ่านข้อเขียนฉบับดั้งเดิม–ไทยวา(2490-2529)

) ต่อมามีหนังสือเล่มหนึ่งเล่าเรืองจากมุมมองจากคนใน โดยบุคคลสำคัญของไทยวา Eating Salt: An Autobiography –Ho Rih Hwa 1990

ไทยวาก่อตั้งขึ้นในเมืองไทย(ความจริงตั้งแต่ปี2490) จาการค้าแร่วุลแฟรม (จากไทยและพม่า) ส่งไปผลิตอาวุธในสหรัฐฯ โดยชาวจีนก๊กมินตั่ง– Dr. K.C. Li ในช่วงสงครามเกาหลี เมื่อความต้องการลดลง ไทยวาต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด มาเป็นผู้บุกเบิกผลิตแป้งมันสำปะหลังและวุ้นเส้น ต่อมากลายเป็นผู้นำธุรกิจมันสำปะหลังของไทย     Ho Rih Hwa ชาวสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบุตรเขย Dr. Li ถือว่าเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจอย่างแน่นแฟ้นกับเกษตรกรรมของไทยในเวลาต่อมา

ไทยวาไม่เพียงผู้บุกเบิกการผลิตแป้งมันสำปะหลังรายแรกของไทยเท่านั้น ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้บุกเบิกการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปตลาดยุโรป ถือเป็นจุดเริ่มต้นการกระตุ้นการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดนี้ขยายไปทั่วประเทศ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยตั้งแต่เมื่อกว่า3 ทศวรรษที่แล้ว

อีกมิติหนึ่งแสดงสายสัมพันธ์ชาวจีนโพ้นทะเลกับสังคมธุรกิจไทย ในวงสายสัมพันธ์ได้ขยายสู่สังคมธุรกิจระดับโลกด้วย แท้จริงไทยวาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายธุรกิจของเอเชีย ซึ่งต่อมาในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงแตกแขนง  จากการค้าและอุตสาหกรรมเกษตร สู่พัฒนาที่ดิน(ไทยวาทาวเวอร์ ถนนสาธร)และโรงแรม(Banyan Tree Group) บางช่วงบางเวลากลุ่มนี้มีเครือข่ายกว้างขวางระดับโลก

ขณะที่ยังยืนหยัดเชื่อมโยงกับภาคเกษตร ผลิตสินค้าดั้งเดิม ด้วยความพยายามพัฒนาเทคโนโลยี่ให้ทันสมัยใหม่ แม้ว่าตลาดไม่กว้างนักและก็มีที่ยืนอย่างมั่นคง  อีกด้านหนึ่งของความผันแปรเกษตรกรรมของไทยมาจากโครงสร้างการค้า มันสำปะหลังแม้ยังคงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ แต่โครงสร้างปัจจุบันไม่เอื้อให้ไทยวาเป็นผู้นำอีกต่อไป   จึงปรับตัวสู่ภาคอุตสาหกรรมมูลค่ามากขึ้น พร้อมกับการขยายโอกาสในเชิงภูมิศาสตร์

บริษัท สำปะหลังพัฒนา เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ไทยวาฟูดโปรดักส์ ร่วมกับJapan Corn Starch Co., Ltd. แห่งญี่ปุ่น Tate & Lyle Ingredients Americas Inc. สหรัฐอเมริกา และTate & Lyle Ple.สหราชอาณาจักร เพื่อประกอบธุรกิจในการผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรชนิดต่างๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมกระดาษ อาหาร และอื่นๆ เพื่อจำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศ    บริษัท เอเชียผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง  เป็นบริษัทร่วมทุประกอบธุรกิจในการผลิตแป้งมันสำปะหลังในประเทศเวียดนาม โดย เข้าถือหุ้นร้อยละ 70.0 ของบริษัท เวียดนามแทป ปิโอก้า จำกัด โดยดำเนินการผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลังทั้งในประเทศเวียดนามและต่างประเทศ” นี่คือการปรับตัวครั้งสำคัญของไทยวา ด้วยการลงทุนใหม่เมื่อไม่นานมานี้ จากข้อมูลของไทยวาเองได้สะท้อนการปรับตัวของธุรกิจระดับโลกด้วย Tate & Lyle คือผู้ค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลกโดยเฉพาะน้ำตาล

 ข้าวมาบุญครอง

บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี  เป็นเจ้าของสินค้าข้าวถุงแบรนด์ “มาบุญครอง” ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำตลาดข่าวถุงมาเกือบ3ทศวรรษ ถือเป็นจุดเริ่มต้นการยกระดับข้าวไทยจากสินค้าที่มาจากพันธุ์และแหล่งผลิตในฐานะสินค้าโภคภัณฑ์ สู่สินค้าแบรนด์หรือมีตราสินค้าในฐานะสินค้าคอนซูเมอร์

แต่เบื้องหลังของสินค้าคอนซูเมอร์จากสินค้าเกษตรสำคัญของไทย เป็นภาพสะท้อนไกลและกว้างถึงสังคมธุรกิจไทยในยุคนั้น

เรื่องราวของศิริชัย บูลกูล เกี่ยวข้องกับบิดา(มา บูลกุล หรือ ม่า เลียบคุน)  ผู้มีบทบาทในการค้าข้าวไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การค้าข้าวกับฮ่องกง  การสร้างคลังสินค้าและไซโลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  หลักทรัพย์ที่มีราคาพุ่งแรงในตลาดหุ้นไทยก่อนเผชิญวิกฤติราชาเงินทุน   โครงการศูนย์การค้าแห่งแรกทีใหญ่ทีสุดของกรุงเทพฯ จนถึงการฟ้องร้องและการล่มสลายทางธุรกิจที่อื้อฉาวกรณีหนึ่ง เมื่อสองทศวรรษที่แล้ว

ศิริชัยก่อตั้งบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโลในปี 2517 สร้างไซโลและ ท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย ในยุคธุรกิจส่งออกข้าว ข้าวโพด และอื่นๆ เป็นธุรกิจทีททรงอิทธิพลของไทย   ด้วยเงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาท สร้างเสร็จเมื่อปลายปี 2519 และเริ่มเปิดดำเนินการในกลางปี 2520 จากนั้นกลางปี 2521 กิจการนี้ได้เข้าจดทะเบียนระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์

หุ้นบางบุญครองได้รับความสนใจและราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ มาพร้อมกับโครงการใหม่ศูนย์การค้ามาบุญครอง ศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งแรกในกรุงเทพฯ บนที่ดินของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย  แต่ด้วยไม่เป็นตามแผนการ  ต้องชะลอไปช่วงหนึ่ง กว่าจะเริ่มก่อสร้าง สังคมธุรกิจไทยต้องเผชิญกับการปรับตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจ  โครงการลงทุนจำนวนมากด้วยเงินกู้ทั้งในและต่างประเทศประมาณ3000 ล้านบาท เป็นเหตุให้มาบุญครองต้องดิ้นรนอยู่เกือบสิบปี ในที่สุด เจ้าหนี้เข้ายึดกิจการส่วนใหญ่ไปราวปี2530-2

ศูนย์การค้ามาบุญครองปัจจุบันตกอยู่ในการบริหารโดยกลุ่มธนชาติ(บริษัท เอ็ม บี เค ดีเวลล็อปเมนท์ ) ขณะที่กิจการโรงสีและข้าวบรรจุถุง เป็นกิจการร่วมทุนระหว่ามกลุ่มธนชาติกับโรงแรมดุสิตธานี –ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารีในปี2533

สิ่งทีมีค่าที่ศิริชัย บูลกูลทิ้งไว้สำหรับกิจการที่มีเจ้าของใหม่  สังคมธุรกิจไทย และสังคมเกษตรกรรมไทย คือสร้างแบรนด์ให้กับข้าวไทยอย่างมั่นคง ซึ่งเป็นที่มาของความพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรในรูปแบบทีหลากหลายมากขึ้นในยุคปัจจุบัน

เป็นกรณีตัวอย่าง ความผันแปรที่ปลายทางเกษตรกรรมไทย ซึ่งเป็นภาพที่มีที่มาและและที่ไปอย่างซับซ้อน  แรงเหวี่ยงย่อมสะเทือนถึงต้นทางอย่างมิพักสงสัย

———————————————————————————————————————–

ลำดับการเข้าตลาดหุ้นของกิจการในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร

2518

SSC         บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน)

2521

TF           บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)

2530

CPF         บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)

PR           บริษัท เพรซิเดนท์ไรซ์โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)

2531

HTC        บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน)

2532

SSF         บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)

TIPCO    บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)

TWFP    บริษัท ไทยวาฟูดโปรดักส์ จำกัด (มหาชน)                         

2533

PPC         บริษัท แพ็คฟู้ด จำกัด (มหาชน)

TC           บริษัท ทรอปิคอลแคนนิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

TVO       บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน)

2534

STA        บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน)

TRUBB  บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

UPOIC    บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน)

2535

CHOTI   บริษัท ห้องเย็นโชติวัฒน์หาดใหญ่ จำกัด (มหาชน)

EE           บริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน)

GFPT      บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน)

2536

APURE  บริษัท อกริเพียว โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

CFRESH                บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)

CM          บริษัท เชียงใหม่โฟรเซ่นฟู้ดส์ จำกัด(มหาชน)

PRG       บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน)         

SORKONบริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)

TRS        บริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน)

2537

ASIAN   บริษัท ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด จำกัด (มหาชน)

CPI          บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน)

F&D       บริษัท ฟู้ดแอนด์ดริ๊งส์ จำกัด (มหาชน)

TLUXE  บริษัท ไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)

TUF        บริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)

2538

SAUCE  บริษัท ไทยเทพรส จำกัด (มหาชน)

2539

LST        บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

2545

PB           บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน)

2546

UVAN    บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) 2547

OISHI     บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

2548

KSL        บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)

2554

KBS        บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน)

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: