ทุนลดาวัลย์กับคริสเตียนี(1)

เรื่องราวของทั้งสองกิจการ สะท้อนสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ซึ่งยาวนานมากกว่าศตวรรษกำลังจะสิ้นสุดลง  ควรเป็นเรื่องราว(2ตอน) ที่มีสีสันและบริบททางสังคม เป็นบันทึกและเรื่องเล่าสำคัญเรื่องหนึ่ง ในวาระส่งท้ายปีเก่าและก้าวขึ้นสู่ปีใหม่


อ่านประกอบ–บันทึกผู้จัดการเดนมาร์กเยสเปอร์เซ่น

เป็นที่รู้กันแล้วว่าบริษัททุนลดาวัลย์(กิจการในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ)ได้ตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ในฐานะผู้ถือถือใหญ่ในกิจการหนึ่งออกไปทั้งหมด—บริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น (ไทย)ซึ่งประวัติก่อตั้งมาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ในฐานะธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง สร้างเมือง สร้างLandmarkของกรุงเทพฯยุคใหม่ แม้เป็นเรื่องราวธรรมดาเรื่องหนึ่งในทางธุรกิจ ในด้านหนึ่งแสดงถึงยุทธ์ศาสตร์ทางธุรกิจปัจจุบันขององค์กรสำคัญของไทย แต่อีกด้านหนึ่งมองเห็นร่องรอยความเป็นมาและเป็นไปเชื่อมโยงกับสังคมไทยยุคต่างๆมิติต่างๆ

“ปี 2428 ผู้ก่อตั้ง ชาวเดนมาร์กคนหนึ่ง เดินทางมายังราชอาณาจักรสยามในฐานะนายทหารปืนใหญ่ประจำกองทัพร่วมกับเพื่อนชาวเดนมาร์กกลุ่มหนึ่ง เพื่อร่วมกับกองกำลังประเทศสยามต่อสู้กับการรุกรานของกองทัพเรือฝรั่งเศสจนได้รับชัยชนะ ชาวเดนมาร์กกลุ่มได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากราชสำนัก   ต่อมาได้สัมปทานในกิจการสำคัญ ตั้งแต่การผลิตกระแสไฟฟ้า   รถราง และสัมปทานป่าไม้” ข้อมูลจาก United Plantation Berhad (http://www.unitedplantations.com/About/UP_history.asp ) กิจการอุตสาหกรรมปาล์มครบวงจรในมาเลเซีย (แต่เดิมปลูกยางพารา) ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการก่อตั้งโรงงานปูนซีเมนต์แห่งแรกในประเทศไทย ด้วยผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งและบริหารช่วงต้นทั้งสองบริษัทเป็นชาวเดนมาร์กที่อยู่ในกลุ่มนี้

การก่อตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ครั้งแรกเกิดขึ้นในยุคอาณานิคม ความจำเป็นต้องพึงพิงเทคโนโลยี ความรู้ในการจัดการ แหล่งวัตถุดิบ จากต่างประเทศทั้งสิน ทั้งนี้ยังอยู่ใต้การแข่งขันกับต่างประเทศด้วย  ผมเคยจุดประเด็นนี้มาบ้าง (อ้างจากเรื่องซีพี-เอสซีจี ว่าด้วยยุทธ์ศาสตร์ธุรกิจภูมิภาค ) ควรเพิ่มรายละเอียดมากขึ้นเพื่อให้ภาพชัดเจน

บุคคลสำคัญในบรรดาชาวเดนมาร์กกลุ่มนั้นที่ควรกล่าวถึง คนแรก–  Aage Westenholz ในฐานะวิศวกร ผู้มีส่วนในโครงการสำคัญต่าง ๆและรู้จักชนชั้นนำในสังคมไทยในขณะนั้นอย่างกว้างขวาง  โดยเฉพาะในฐานะผู้ริเริ่มผู้ผลิตไฟฟ้าในกรุงเทพฯเป็นครั้งแรก ในพื้นที่ทางตอนใต้ของพระนคร อันเป็นย่านชุมชนที่อยู่อาศัยกับย่านการค้าของชาวต่างประเทศ   รวมทั้งดำเนินการรถรางขึ้นครั้งแรกก่อนที่ไปดำเนินการที่ Copenhagenประเทศเดนมาร์กด้วยซ้ำ  อีกคนหนึ่ง– H.N.Andersen เจ้าของ East Asiatic Company (EAC) อดีตกัปตันเรือได้เข้ามารับราชการเป็นทหารเรือไทย ได้ตั้ง EAC ในปี2427 เป็นบริษัทการค้าที่ได้สัมปทานป่าไม้ และกิจการค้าอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการเดินเรือระหว่างประเทศ แล้วจึงขยายกิจการไปที่ประเทศเดนมาร์กในอีก 13 ปีต่อมา สินค้าหนึ่งที่สำคัญในขณะนั้น คือการนำเข้าปูนซีเมนต์มายังประเทศไทยครั้งแรก ๆ

ในช่วงเดียวกันพระคลังข้างที่ได้รับการจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระอย่างเป็นทางการ ในรัฐสมัยรัชกาลที่5(ปี2433) ทำหน้าที่เป็นองค์กรบริหารจัดการทางด้านการเงินและการลงทุนให้แก่ราชสำนัก ต่อมาในปี 2442 อยู่ภายใต้ดูแลของพระมหากษัตริย์โดยตรง ความร่วมมือร่วมลงทุนกับชาวเดนมาร์กมีความสำคัญมากทีเดียว ตั้งแต่กิจการรถราง จนถึงการก่อตั้งธนาคารไทยแห่งแรก –ธนาคารไทยพาณิชย์เดิมชื่อสยามกัมมาจล (Den Danske Lnadmands Bank แห่งเดนมาร์กถือหุ้น 24%) และโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งแรกในภูมิภาคนี้ –บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (W.L.Grut เป็นน้องภรรยา และเป็นผู้สืบทอดธุรกิจของAage Westenholz ถือหุ้น 25%)

ปูนซิเมนต์ไทย หรือเครือซิเมนต์ไทย(เอสซีจี)ในปัจจุบัน ถือว่ามีผู้บริหารเป็นชาวเดนมาร์กจากยุคก่อตั้งต่อเนืองมาเป็นเวลาถึง60 ปี และมีความสัมพันธ์กับเทคโนลีการผลิตปูนซีเมนต์ของเดนมาร์กอย่างยากที่ถอนตัว

ในช่วงบริษัทคริสเตียนี่และนีลสันสยามก่อตั้งในเมืองไทยปี 2473นั้น ถือว่ามีความสัมพันธ์กับพัฒนาการของเครือซิเมนต์ไทยโดยตรง โดยให้คำจัดความธุรกิจ (พิจารณาจากหลักฐาน—หัวจดหมายของบริษัทในช่วงนั้น) “reinforced concrete design and construction เข้าใจว่าเป็นการบุกเบิกสร้างผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี่การก่อสร้างจากปูนซีเมนต์ ที่เรียกว่า reinforced concrete หรือคอนกรีตเสริมแรง

ในช่วงเวลานั้นถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้ง(2456) ได้เพิ่มกำลังการผลิตครั้งใหญ่  พร้อมกับความพยายามขยายตลาดการใช้ปูนซีเมนต์ในวงกว้างมากขึ้น  และเป็นที่น่าสังเกตว่าการขยายตัวสู่ธุรกิจอื่นๆครั้งแรกของเครือซิเมนต์ไทยในปี2481 เริ่มต้นผลิตสินค้าที่ใช้ปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ใยหินสำลี หรือที่เรียกว่า Asbestos Cement เป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ  ส่วนเข้าสู่การผลิตคอนกรีตเสริมแรงนั้นล่วงเลยมาถึงปี 2499   โดยก่อนหน้านั้นนานพอสมควร คริสเตียนีฯได้เรียกธุรกิจตัวเองใหม่ว่า Civil Engineers and Contractors(2483)  ถือว่าได้เข้าสู่ยุคการก่อสร้างครั้งใหญ่แล้ว

เป็นที่รู้กันดีในแวดวงวิชาประวัติศาสตร์ไทย  ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 พระคลังข้างที่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ปี2476 มีการปรับเปลี่ยนเป็นสำนักงานพระคลังข้างที่ ให้อยู่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรี ต่อมาในปี 2478 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ จัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยรัฐมนตรีคลังเป็นประธาน

เหตุการณ์สำคัญต่อเนื่องจากนั้น คือความพยายามของรัฐบาลคณะราษฎร ในการใช้ประโยชน์จากสำนักงานแห่งนี้ในฐานะเป็นแหล่งทุนที่สำคัญ     โดยเฉพาะกรณีก่อตั้งบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ในปี 2482  โดยรัฐบาลคณะราษฎรถือหุ้น 70%และสำนักงานทรัพย์สินฯถือหุ้น30 % เพื่อดำเนินกิจการผูกขาดขายส่งและขายปลีก สินค้านำเข้า สินค้าบริโภคที่ผลิตในประเทศให้กับชาวชนบทและส่งออกสินค้าเกษตรไปต่างประเทศ อยู่ในช่วงปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีคลัง (2481-2484)  เช่นเดียวกัน ความยุ่งยากหลายประการเกิดขึ้นที่เครือซิเมนต์ไทย

จากเอกสารเผยแพร่(หนังสือปูนซิเมนต์ไทย2456-2516  –โปรดอ่านบันทึกผู้จัดการเดนมาร์ก) มีตอนหนึ่ง ผู้จัดการชาวเดนมาร์กคนที่สาม เล่าถึงความพยายามเจรจาต่อรองกับคณะราษฏรในบางเรื่อง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของเครือซิเมนต์ไทยต่อไปอย่างราบรื่นในช่วงวิกฤติการณ์ทางการเมือง   เท่าที่ประมวลข้อมูล ผมค่อนข้างเชื่อว่าผู้บริหารชาวเดนมาร์ก มีความสามรถอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองไทยได้อย่างดี (เช่นเดียวกับการเข้ามามีบทบาทของเดนมาร์กในช่วงอาณานิคมท่ามกลางเจ้าอาณานิคมรายใหญ่อย่างอังกฤษและฝรั่งเศส) เป็นมีบทบาทสำคัญในช่วงต่อสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเครือซิเมนต์ไทย

เช่นเดียวกับบริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น เริ่มรับการก่อสร้างที่สำคัญในยุคนั้น โดยเฉพาะการก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสิ่งก่อสร้างริมถนนราชดำเนินในช่วงปี2481-4(รวมทั้งสนามมวยราชดำเนิน —2488)  ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญ จากนั้นก็มีโครงการสำคัญอีกมากมายต่อเนื่องข้ามช่วงความสับสนการเมืองมาได้   โดยเฉพาะสะพานกรุงธนหรือสะพานซังฮี้ (เปิด2500) และสะพานกรุงเทพ (เปิด2502) รวมทั้งก่อสร้างโรงงานปูนซิเมนต์ให้กับเครือซิเมนต์ไทย ในช่วงขยายตัวครั้งใหญ่ (ปี2505-2508)

จนข้ามผ่านเข้าสู่ยุคพัฒนาครั้งใหญ่ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ไม่นาน  บริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น ต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้น ทั้งกิจการคนไทยที่มีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจพอสมควร( เช่นบริษัทอิตาเลียนไทย) รวมทั้งบริษัทก่อสร้างญี่ปุ่น ที่มาพร้อมกับกระแสเงินกู้จากญี่ปุ่นทะลักสู่ระบบเศรษฐกิจไทย

ท่ามกลางความคึกคักและผันแปรของระบบเศรษฐกิจไทย กระแสลมจากสหรัฐ และญี่ปุ่นพัดแรงมาก   แม้ว่ายุคเดนมารกได้ผ่านไปแล้วที่เครือซีเมนต์ไทย กิจการอื่นๆของเดนมาร์กถดถอยไปพอสมควรแต่บริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น  ก็ยังอยู่แม้ดูเงียบๆไปบ้างก็ตาม

ที่สำคัญในช่วงปี  2535มีโอกาสได้กลับมาอย่างยิ่งใหญ่อีกครึ่งหนึ่ง

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26 ธันวาคม 2554

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: