เกษตรกรรมไทย(3) โมเดลใหม่

เกษตรกรรมกำลังพัฒนาครั้งสำคัญในช่วงประวัติศาสตร์สังคมไทย มาจากแรงขับเคลื่อนของธุรกิจขนาดใหญ่ และบทเรียน-ความรู้จากธุรกิจระดับโลก  โดยเฉพาะมิติสำคัญมากที่ควรกล่าวถึงเป็นการเฉพาะ ว่าด้วยความพยายามควบคุมและจัดการที่ดินแปลงใหญ่

 

โมเดลหนึ่ง

จุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร จากการผลิตสับปะรดกระป๋องส่งออกเมื่อประมาณครึ่งศตวรรษที่แล้ว โดยเฉพาะกรณี–บริษัทอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องไทย (2505) และ ธุรกิจร่วมทุนกับ Dole (2509)

พิพัฒน์ ตันติพิพัฒพงศ์  นักธุรกิจเชื้อจีนไต้หวันซึ่งมีความสัมพันธ์กับธนาคารกรุงเทพ (เคยเป็นกรรมการธนาคาร)ตั้งบริษัทอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องไทย หรือ TPC (2505) ถือเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจนี้ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ต้นทางจัดการที่ดินเพื่อการเพาะปลูกแปลงใหญ่ที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้เวลาอีก 10 ปีจึงสามารถชักชวน MITSUBISHI แห่งญี่ปุ่นในฐานะเครือข่ายการค้าระดับโลกเข้าร่วมทุนด้วย

อีกช่วงหนึ่ง แรงกระตุ้นจาการส่งออก ตามแนวทางส่งเสริมกิจการค้าการค้าระหว่างประเทศ( trading company )ในประเทศไทย กิจการทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีก ที่น่าสนใจ–สำราญ กัลยาณรุจ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายของธนาคารกสิกรไทย(ธนาคารที่ส่งเสริมธุรกิจนี้เป็นพิเศษ) ลงทุนในสยามอุตสาหกรรม-การเกษตร (สับปะรด) หรือ SAICO (2521)ที่จังหวัดระยอง  และเข้าตลาดหุ้น(2532 )ระดมทุนในช่วงต่อมาด้วย แต่ด้วยปัญหามากมายโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติการณ์ ปี2540   มีความพยายามขายกิจการ โดย Del Monte Foods ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารของโลก ติดต่อเจรจาซื้อกิจการอยู่พักหนึ่ง แต่ในที่สุดกลายเป็น TPC  ซึ่งถือเป็นการผนวกกิจการผลิตสับปะรดกระป่องครั้งสำคัญ(2548 )  ว่ากันว่าได้กลายเป็นผู้ส่งออกสับปะรดกระป๋องอันดับ4ของโลก

โดลฟู้ดส์ (Dole Food Company) ก่อตั้งมากกว่า160 ปี ปัจจุบันเป็นธุรกิจอาหารรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มียอดขายประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ครอบคลุมทั้งด้านการจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจัดจำหน่าย และ การตลาดของสินค้าประเภทอาหาร โดยเฉพาะ ผลไม้สด ผักสด น้ำผลไม้ รวมไปถึงผลไม้และผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ ที่มีเครือข่ายครอบคลุมกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

ที่สำคัญได้เข้าจัดการที่ดินเพาะปลูกจำนวนมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกาใต้ประมาณ 20,000เอเคอร์ในฮอนดูรัส เอควาดอร์ คอสต้าริก้า และในเอเชียครอบครองพื้นที่กว่า30, 000เอเคอร์ในฟิลิปินส์ และให้ข้อมูลว่ามีอีก3, 800 เอเคอร์เป็นที่ดินของตนเองในประเทศไทย

ในประเทศไทย Dole ได้ร่วมทุนกับตระกูลล่ำซ่ำ มาตั้งแต่ปี 2515 ผู้มีบทบาทสำคัญ คือ บรรยงก์ ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทยปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งประธานร่วมทุนมานาน ที่น่าสนใจ ชุมพล ณ ลำเลียง อดีตผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทย ก็ดำรงตำแหน่งกรรมการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2538

Dole เริ่มต้นก่อตั้งโรงงานเพื่อผลิตสับปะรดกระป๋องส่งออก บนพื้นที่ 300 ไร่ในราชบุรี และในปี 2517 ได้ขยายพื้นที่ในการเพาะปลูกอีก 8,000ไร่ ในประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทั้งได้ย้ายโรงงานมาด้วย    ต่อมาปี 2535 ขยายฐานการผลิตไปยังท่าแซะ ชุมพรด้วย

โมเดลพื้นฐานการดำเนินเกษตรกรรมแปลงใหญ่(Plantation) มักผนวกกับแผนการกระตุ้นและส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยเข้าร่วมโครงการในฐานะดาวบริวารด้วยข้อตกลงที่เข้มงวด (Contract farming) ด้วยเสมอ

 

 

โมเดลสอง

การเกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มในประเทศไทย  ถือเป็นการก้าวไปขั้นของอุตสาหกรรมการเกษตร หนึ่ง-เป็นอุตสาหกรรมค่อนข้างซับซ้อนมากกว่าสับปะรดกระป๋อง  สอง-ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการอย่างเข้มข้นของเครือข่ายธุรกิจระดับภูมิภาค

บริษัทยูนิวานิช ของตระกูลวานิชถือเป็นผู้บุกเบิกวงจรขั้นต้นธุรกิจปาล์มน้ำมัน  เริ่มวางรากฐานธุรกิจด้วยร่วมทุนกับUnileverในช่วงปี 2526 ถึง 2541   ช่วงนั้นเครือข่ายธุรกิจปาล์มน้ำมันครบวงจรของUnilever ฐานใหญ่อยู่ในมาเลเซีย ทั้งผลิตนำมันปาล์มสำเร็จรูป ไปจนถึงเป็นวัตถุดิบสินค้าอื่นๆ ต่อมาเมือUnileverปรับยุทธ์ศาสตร์ถอนตัวออกจากธุรกิจนี้ในขอบเขตทั่วโลก ยูนิวานิชจึงกลายเป็นของตระกูลวานิชอย่างเต็มที่   ปัจจุบันจัดการการปลูกสวนปาล์มน้ำมันในจังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานีมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ40,000 ไร่

รายสำคัญอื่นๆล้วนอยู่เครือข่ายธุรกิจมาเลย์-สิงคโปร์    เริ่มจากน้ำมันแบรนด์ “มรกต” มาจากการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจไทยกับมาเลเซีย–ปาล์มโก้ (PALMCO HOLDINGS BERHAD) กลุ่มธุรกิจผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในมาเลเซีย โดยมีเครือข่ายของธุรกิจในไทยทั้งสวนปาล์ม (สุราษฎร์ธานี) และโรงงานสกัด (สตูล) ในพื้นที่ภาคใต้เช่นเดียวกัน

ต่อมากลุ่มปาล์มโก้ถอนตัว เนื่องจากมีความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัว  รวมทั้งมีเรื่องวุ่นๆในตลาดหุ้นไทย  ในที่สุดกลุ่มSime Darbyแห่งมาเลเซีย เข้ามาถือหุ้นใหญ่จนถึงปัจจุบัน

Sime Darby กลุ่มธุรกิจระดับโลก มีฐานในมาเลเซียเช่นกัน ก่อตั้งโดยชาวอังกฤษในยุคอาณานิคม เครือข่ายธุรกิจแขนงสำคัญ ประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ เครื่องจักรกล และกลุ่มธุรกิจที่เรียกว่า Sime Darby Plantation โดยมีเครือข่ายธุรกิจทั่วโลกมากกว่า20 ประเทศ  ถือเป็นกิจการดั้งเดิม ขยายเครือข่ายทั้งภูมิภาคโดยเฉพาะธุรกิจต้นน้ำ (upstream) ปลูกปาล์มทั้งในมาเลเซียและอินโดนิเชียมากกว่า500, 000เฮกเตอร์ มีโรงงานสกัดมากกว่า63 แห่ง   ส่วนปลายน้ำ (downstream) มิกิจการทั่วโลกมากว่า 15ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

อีกรายหนึ่งที่สำคัญ– Lamsoon Group ธุรกิจสินค้าคอนซูเมอร์รายใหญ่ ฐานอยู่ที่สิงคโปร์ เริ่มต้นจากการผลิตสินค้าสำเร็จรูป แล้วขยายสู่โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม–อุตสาหกรรมอาหาร พร้อมวางรากฐานจากต้นน้ำในการเกษตรกรรมสวนปาล์ม จากนั้นขยายเครือข่ายธุรกิจครอบคลุมภูมิภาค สู่มาเลเซีย   ฮ่องกง เวียดนาม และไทย (มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน44,440 ไร่)

หลายกิจการเริ่มนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงต้นของตลาดหุ้นเติบโตครั้งใหญ่ในช่วงก่อวิกฤติการณ์ (มรกตปี2533 สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มปี 2534   ชุมพรน้ำมันปาล์มปี 2536 ล่ำสูงปี2539 และยูนิวานิชปี2546)   ถือเป็นการพัฒนาธุรกิจ ข้ามผ่านยุคบุกเบิกไปไกลพอสมควรแล้ว

 

คงไม่ใครคิดว่าปลายทางของสินค้าเกษตรนี้จะไปไกลมากกว่านี้ อีก สู่พลังงานซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากทั้งปัจจุบันและอนาคต เนื้อหาในโมเดลสองส่วนใหญ่ ปรับปรุงมาจากเรื่อง จุดเริ่มต้นจากน้ำมันปาล์ม

 

โมเดลสาม

ว่าด้วยโมเดลล่าสุด ทีมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น

ส่วนหนึ่งพัฒนามาจากอุตสาหกรรมน้ำตาลถือเป็นอุตสาหกรรมเก่าแก่ของไทย  กำลังฟื้นตัวอีกครั้ง พร้อมกับการสร้างมูลค่าใหม่ที่ซับซ้อนและหลากหลายขึ้น  พิจารณาจากลำดับเหตุการณ์การเข้าตลาดหุ้นของธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร(จากตอนที่แล้ว)พัฒนาการที่น่าสนใจ  ความเคลื่อนไหวล่าสุด มาจากกิจการอุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งไม่เคยอยู่ในตลาดหุ้นไทยมาก่อนตั้งแต่ก่อตั้งมากว่าสามทศวรรษ– บริษัท น้ำตาลขอนแก่นหรือกลุ่มเคเอสแอล (2548) และบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (2554) ทั้งนี้ยังรวมถึงกิจการนอกตลาดหุ้น–กลุ่มน้ำตาลมิตรผลด้วย

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ นอกจากการต่อยอดอุตสาหกรรมน้ำตาลจากอ้อยให้ไปไกล สู่ผลิตภัณฑ์อื่น โดยเฉพาะเชื้อเพลิงชีวภาพแล้ว คือการขยายบทบาทเข้าสู่เกษตรกรรมพื้นฐาน การควบคุมและบริหารการปลูกอ้อยในพื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งมิใช่โครงสร้างของธุรกิจน้ำตาลดั่งเดิมในประเทศไทย( กลุ่มผู้ปลูกอ้อยรายกลางและเล็ก แยกจากกลุ่มโรงงานน้ำตาล)  แผนการใหม่จึงขยายธุรกิจออกไปในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะลาวและกัมพูชา

นี่คือตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ

—-กันยายน 2548กลุ่มน้ำตาลมิตรผล เริ่มต้นธุรกิจในประเทศลาว ตามแผนการปลูกอ้อยประมาณหนึ่งแสนไร่และตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลมากถึงล้านตัน/ปี ในแขวงสะหวันนะเขต

— มกราคม 2553 กิจการในกลุ่มเคเอสแอล เปิดโรงงานผลิตน้ำตาล ถือได้ว่าเป็นโรงงานน้ำตาลแห่งแรกของประเทศกัมพูชา  ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการร่วมทุน( ไทย กัมพูชา และไต้หวัน )ในโครงการเพาะปลูกอ้อยและก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ที่จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา  โดยได้รับสัมปทานพื้นที่เพาะปลูกจากกัมพูชา ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมสองอำเภอของจังหวัดเกาะกง เนื้อที่รวมกันมากว่าหนึ่งแสนไร่  การดำเนินงาน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ทั้งดำเนินการเพาะปลูกอ้อย และธุรกิจโรงงานน้ำตาล–ท่าเรือขนส่งสินค้า ซึ่งมีกำลังหีบอ้อย 700,000 ตันอ้อยต่อปี

ในโมเดลการการจัดการกับที่ดินเกษตรกรรมแปลงใหญ่ของธุรกิจไทย ในประเทศเพื่อนบ้าน มีภาพที่กว้างออกไปจากอุตสาหกรรมน้ำตาลมากที่กล่าวมาแล้วอย่างน่าตื่นเต้น

โดยเฉพาะเครือข่ายธุรกิจไทยเจริญหรือทีซีซี โดยกลุ่มพรรณธิอร กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรที่จัดกลุ่มใหม่ ขยายธุรกิจสู่กัมพูชา โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549   โครงการอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มครบวงจร ตั้งแต่การปลูกปาล์มในพื้นที่กว้างใหญ่ จนถึงก่อตั้งโรงงงานสกัดน้ำมันปาล์มแห่งแรกในกัมพูชา ในบริเวณใกล้เคียงกับเมืองสีหนุวิลล์ โครงการที่สอง—ท่าเรือแห่งแรกที่เป็นของเอกชนที่เกาะกงด้วย ทั้งสองโครงการอยู่ในพื้นที่ประมาณ 150,000   ไร ส่วนในประเทศลาว กลุ่มพรรณธิอรจัดการกับพื้นที่ประมาณ 15,000 ไร่ในโครงการครบวงจรจากการปลูกกาแฟในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล1.300 เมตรบริเวณที่ราบสูงในเมืองปากซ่อง แขวงจำปาสัก

สำหรับประเทศลาว มีความเคลื่อนไหวจากธุรกิจไทยรายอื่นๆ อย่างคึกคัก ตามโมเดลที่หลากหลายเป็นพิเศษ   ตั้งแต่กลุ่มซีพีเข้าไปสนับสนุนให้ชาวลาวปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยพันธุ์เฉพาะของซีพีในแขวงไซยะบุลี  บริษัทสยามน้ำมันละหุ่ง ข้าไปส่งเสริมการปลูกและรับซื้อเมล็ดละหุ่งในแขวงเวียงจันทน์และไซยะบุลี  กลุ่มแอดว๊านซ์อะโกร เจ้าของผลิตภัณฑ์กระดาษดับเบิ้ลเอ ส่งเสริมและรับซื้อไม้ยูคาลิปตัสในแขวงสะหวันนะเขต คำม่วน และเวียงจันทน์ บริษัทไทยฮั้วยางพาราผู้นำธุรกิจยางพาราของไทย ร่วมทุนกับฝ่ายลาวนำกล้ายางไปทดลองปลูกและส่งเสริมเกษตรกรในแขวงสะหวันนะเขต  จนถึงบริษัทเจียเม้ง ธุรกิจค้าข้าวเก่าแก่ของไทย เข้าไปทดลองปลูกข้าวทั้งพันธุ์พื้นเมือง และพันธ์ใหม่ๆในเขตนครหลวงเวียงจันทน์

ภาพเหล่านี้ย่อมสะท้อนบทเรียนในบางมิติในสังคมธุรกิจไทย ซึ่งเชื่อว่ามีความซับซ้อนมากกว่านี้

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: