ปรากฏการณ์สยามพิวรรธน์อันคึกโครมในกรุงเทพฯ ไม่ควรมองข้าม ปรากฏการณ์เกิดขึ้นในช่วงคาบเกี่ยววิกฤติการณ์สังคมไทย 5-6 ปีจนถึงปัจจุบัน จากรัฐประหาร การชุมนุมใหญ่ทางการเมืองที่มีความรุนแรง จนถึงวิกฤติการณ์นำท่วมครั้งร้ายแรง อาจตีความว่า เป็นปรากฏการณ์แห่งความเชื่อมั่นและการปักหลักมั่นคง
บริษัทสยามพิวรรธน์ ปรากฏชื่อต่อสาธารณะชนอย่างจริงจัง คงในช่วงกันยายน 2551 ในการเข้าซื้อกิจการศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพาราไดส์ปาร์ค) ร่วมกับกลุ่มเอ็มบีเค แม้เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ใช่วงวิกฤติการณ์ทางการเมือง กลุ่มพันธมิตรเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล
ความจริงแล้ว บริษัทสยามพิวรรธน์ เป็นชื่อใหม่ของบริษัทเดิม เข้าใจว่าเพิ่งเปลี่ยนชื่อ ในราวๆปี 2544-5 ถือเป็นช่วงของหัวเลี้ยวต่อของการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่
“บริษัท สยามพิวรรธน์ เดิมชื่อบริษัทบางกอกอินเตอร์คอนติเนนตัลโฮเต็ลส (Bangkok InterContinental Hotels Company Limited หรือ BIHC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี2502 เพื่อดำเนินการบริหารและพัฒนาที่ดินจำนวน50 ไร่บริเวณวังสระปทุม อันเป็นที่ดินส่วนพระองค์ฯ โดยสัญญาการเช่าครั้งแรก มีอายุการเช่าเป็นเวลา 30 ปี และได้ครบกำหนดไปแล้วเมื่อปี2538 และขยายอายุสัญญาต่อไปอีก 10 ปี จากนั้นมีการปรับปรุงสัญญาใหม่ ถือเป็นช่วงสำคัญของการเปิดโครงการขนาดใหญ่อย่างไม่เคยทำมาก่อน
โครงสร้างผู้ถือหุ้นก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่ เป็นสถาบัน อันได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกสิกรไทย บริษัท อินเตอร์ คอนติเนนตัล โฮเต็ลส คอร์ปอเรชั่น และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี”(อ้างจากข้อเขียนชิ้นหนึ่งของผมก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับกลุ่มธนชาติและเอ็มบีเค —กลุ่มธนชาต(2))
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเกิดขึ้นยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในยุคสหรัฐฯเริ่มเข้ามาบทบาทในภูมิภาคนี้ โดยInterContinental Hotel ได้เสนอสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาว ขนาด 400 ห้องในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ขณะนั้นInterContinentalอยู่ในเครือข่าย Pan American Airline สายการบินระดับโลกของอเมริกา ซึ่งมีบทบาทในภูมิภาคอย่างมากในช่วงสงครามเวียดนาม ข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้ จึงเป็นที่มาของบริษัทบริษัทบางกอกอินเตอร์คอนติเนนตัลโฮเต็ลส โดยรัฐเข้าถือหุ้นใหญ่ ร่วมกับเอกชนไทยบางส่วนและ InterContinental ทั้งนี้โดยมีหน่วยงานท่องเที่ยวของไทยเป็นเจ้าภาพ พลโทเฉลิมชัย จารุวัสตร์ในฐานะผู้ดูแลการท่องเที่ยวและเป็นคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ จึงเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ตอนนั้น
จากนั้นการพัฒนาที่ดินแปลงที่ดีที่สุดแปลงหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯดำเนินมาตลอด จากโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล มาถึงสยามเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าแห่งแรกของกรุงเทพฯ ตามมาด้วย สยามดิสคัฟเวอร์เซ็นเตอร์ และสยามทาวเวอร์ สองโครงการหลังเกิดขึ้นในช่วง 20 ปีมานี้ ซึ่งเป็นทีรู้กันว่าบริหารโดยตระกูลจารุวัสตร์ ซึ่งกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญรายหนึ่งในเวลาต่อมา พร้อมกับการส่งต่อบทบาท จากพลโทเฉลิมชัย จารุวัสตร์มาถึงบุตรี—ชฎาทิพย์ จูตระกูล
หลังจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540การปรับตัวทางธุรกิจดำเนินไปครั้งใหญ่ทั้งตั้งรับและเชิงรุก ถือเป็นช่วงพอดีกับการปรับปรุงสัญญาฉบับใหม่ ระหว่างธุรกิจดำเนินศูนย์การค้า กับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ จึงเป็นที่มาอย่างเป็นทางการของบริษัทสยามพิวรรธน์ พร้อมๆกับการเปิดโครงการใหญ่โครงการใหม่ด้วย
ถือเป็นช่วงมีความสัมพันธ์กับการปรับโครงสร้างธุรกิจเกี่ยวข้องกับสำนักงานทรัพย์สินฯ ในขณะที่ยศ เอื้อชูเกียรติ อดีตผู้จัดการใหญ่ธนาคารเอเชีย( เพื่อนสนิทของดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ) มาเป็นประธานกรรมการบริษัทสยามพิวรรธน์ช่วงสั้นๆ ถือว่าอยู่ในช่วงเดียวที่เขาเข้ามาเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัททุนลดาวัลย์ และประธานกรรมการบริษัทวังสินทรัพย์ (ทั้งสองบริษัทถือเป็นกิจการในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจเต็มรูปแบบ)
โครงสร้างถือหุ้นใหม่ของบริษัทสยามพิวรรธน์ ไม่มีผู้ถือหุ้นรายสำคัญเดิม 2-3 ราย โดยเฉพาะ กระทรวงการคลัง สำนักงานทรัพย์สินฯ และ InterContinental แม้ว่าเอ็มบีเค แถลงต่อตลาดหลักทรัพย์เข้าถือหุ้นสยามพิวรรธณ์ประมาณ 30% (ปี 2545) แต่เท่าที่ผมคาดการณ์ สัดส่วนยังน้อยกว่ากลุ่มราชวงศ์และเครือข่ายเกี่ยวข้องของธนาคารไทยพาณิชย์รวมกัน
ภายใต้โครงสร้างการบริหารที่มีการเปิดเผยข้อมูลอยู่บ้างบางระดับจากแหล่งใกล้เคียง เชื่อมโยงกับบุคคลสำคัญ ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ มาเป็นประธานกรรมการสยามพิวรรธน์ แทนยศ เอื้อชูเกียรติ( ปี2546) และ ดร.พนัส สิมะเสถียร(อดีตรัฐมนตรีคลังและกรรมการเอสซีจี) มาเป็นประธานกรรมการบริหาร พร้อมๆกับชฎา วัฒนศิริธรรม(กรรมการธนาคารไทยพาณชย์) เป็นกรรมการนั้น เป็นภาพจิ๋กซอร์สำคัญ ไม่เพียงสะท้อนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่เท่านั้น ยังสะท้อนยุทธศาสตร์เชิงรุกใหม่ด้วย
เริ่มต้นจากการเปิด โครงการใหญ่—สยามพารากอน ในเวลาเดี่ยวกันได้ยกเลิกสัญญาบริหารโรงแรมกับ InterContinental Hotel และทำการทุบทิ้งเพื่อก่อสร้างโรงแรมใหม่
สยามพารากอน เปิดให้บริการครั้งแรกธันวาคม 2548 จากนั้นไม่ถึงปี การรัฐประหารที่ไม่ควรเกิดได้เกิดขึ้น ซึงย่อมได้รับการตอบสนองเชิงลบจากนานาประเทศ แต่ดูเหมือนสยามพารากอนดำเนินไปอย่างไม่สั่นคลอนเช่นเดียวกับกรณีโรงแรมแห่งใหม่ดำเนินไป โดยเครือข่าย Kempinski ซึ่งสื่อต่างประเทศระบุว่าสำนักงานทรัพย์สินฯเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ความจริงชัดเจนมากขึ้นเมื่อข้อมูลทางการของKempinskiเองก็ยืนยันเช่นนั้น”Since 2004, the Thailand Crown Property Bureau has had a majority holding in Kempinski AG. The Crown Property Bureau is a Royal Thailand authority responsible for administering the property of the Royal House of Thailand and at the same time possesses holdings in numerous companies in Thailand and abroad.”(http://www.kempinski.com/en/hotels/information/history/ ) โดยมี Michael Selby กรรมการผู้จัดการบริษัททุนลดาวัลย์ เป็นประธาน Kempinski และดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์เป็นที่ปรึกษา Kempinski ด้วย
การชุมนุมทางการเมืองบริเวณศูนย์การค้าหลักของสยามพิวรรธณ์ ถือเป็นการชุมนุมที่ยืดเยื้อและมีความรุนแรงดำเนินไปประมาณ 3เดือน (มีนาคม-พฤษภาคม 2553) แต่เมื่อเหตุการณ์ความวุ่นวายบนท้องถนนจบลงไม่นาน (กันยายน) โรงแรมสยามเคมปินสกี้ ได้เปิดบริการขึ้นอย่างเป็นทางการ ในเวลาไล่เลี่ยกับพาราไดซ์ พาร์ค—สวนการค้ากรุงเทพฯด้านตะวันออก
และแล้วแรงบันดาลใจดูเหมือนไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น การเปิดโครงการที่ใหญ่ขึ้น ท้าทายมากขึ้น–โครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพียงไม่กี่เดือน หลังจากแม่น้ำสายนี้สั่นสะเทือนผู้คนในกรุงเทพฯครั้งใหญ่มาตลอดปลายปีที่แล้วจรดต้นปีนี้
ตอนหน้าจะเป็นบทวิเคราะห์อย่างใคร่ครวญจากปรากฏการณ์ข้างต้น
เหตุการณ์สำคัญ
2502
ก่อตั้งบริษัทบางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส
2509
โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล โรงแรมระดับ 5 ดาว ขนาด 400 ห้อง เปิดบริการ
2516
สยามเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าแห่งแรกของเมืองไทย สูง4 ชั้น พื้นที่40,000 ตารางเมตรออกแบบโดย Robert G Boughey สถาปนิกชาวอเมริกัน เปิดบริการ
2540
สยามดิสคัฟเวอรี่ เปิดตัว ท่ามกลางวิกฤติการณ์ศรษฐกิจ
2548
สยามพารากอน เปิดให้บริการ
2551
เข้าซื้อกิจการศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์
2553
24 สิงหาคม เปิด พาราไดซ์ พาร์ค
27กันยายน เปิดโรงแรมสยามเคมปินสกี้
2555
มีนาคม–ซีพี-สยามพิวรรธน์ ประกาศความร่วมมือโครงการใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 เมษายน 2555