Konbini

Konbini เป็นคำภาษาญี่ปุ่นชื่อย่อของคำว่า konbiniensu sutoa ซึ่งหมายถึง Convenience stores ถือว่าเป็นธุรกิจค้าปลีกที่มีพัฒนาการใหม่ในญี่ปุ่น เมื่อ2-3ทศวรรษที่แล้ว กระแสนี้กำลังถูกส่งต่อมาถึงเมืองไทยแล้ว

 

พายุอันรุนแรงของกระแสร้านสะดวกซื้อ(Convenience stores) กำลังเริ่มต้นโหมกระหน่ำเมืองไทย โดยมีเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ 3 อันดับแรกของญี่ปุ่น พาเหรดเข้ามาเมืองไทยอย่างพร้อมหน้า    ด้วยแผนการผนึกกำลังกับธุรกิจเครือข่ายใหญ่ของไทย

เครือข่าย 7-Eleven  รายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ ปี 2531   ด้วยความร่วมมือกับซีพี ได้แผ้วทาง และพิสูจน์ให้เห็นความสำเร็จทางธุรกิจอย่างมากมาย  ส่วนรายใหญ่อันดับ 3ของญี่ปุ่น–Family Mart เข้ามาเมืองไทยนานพอสมควรตั้งแต่ปี  2536   แต่ด้วยยุทธศาสตร์ธุรกิจค่อนข้างอนุรักษ์ด้วยการบริหารสไตล์ญี่ปุ่น จึงเติบโตค่อนข้างช้า   เพิ่งปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ด้วยความร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล  ขณะที่รายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น— Lawson  ผนึกกำลังกับเครือสหพัฒน์ เตรียมบุกเข้ามาตลาดเมืองไทยย่างเต็มตัว  หลังจากที่สหพัฒน์พยายามดำเนินธุรกิจในทำนองเดียวกันด้วยตนเอง แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

ว่าไปแล้วธุรกิจร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven เป็นโมเดลธุรกิจไม่ได้เริ่มต้นที่ญี่ปุ่น แต่เป็นที่  Dallas, Texas สหรัฐอเมริกา     สำนักงานใหญ่ก็ยังคงอยู่ที่เดิม เมื่อเผชิญวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจจากตลาดหุ้นตกต่ำครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันว่า Black Monday ปี 2530  ผู้ถือลิขสิทธิ์ 7-Eleven จากญี่ปุ่นซึงดำเนินธุรกิจประสบคามสำเร็จอย่างดี ในฐานะมีสาขามากที่สุดในโลก (ปัจจุบันมีประมาณ20,000  ร้าน)ได้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน   7-Eleven สหรัฐฯ      และต่อมาปี2548    7-Eleven จึงกลายเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นไป   แต่ก็คงยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงรุกทั่วโลกไว้  ความสำเร็จของ 7-Eleven ในญี่ปุ่นเป็นตำนานไปแล้ว

ส่วนในเมืองไทย7-Eleven    ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม จากจุดเริ่มต้นเพียง 2 ทศวรรษ

“บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2531 เป็นบริษัทหลักในกลุ่มธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่ายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทเป็นผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven โดยได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Right) จาก 7-Eleven, Inc. ให้ประกอบธุรกิจภายใต้เครื่องหมายการค้า “7-Eleven” ในประเทศไทย ภายใต้สัญญา Area License Agreement

 ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2531 บริษัทมีสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า “7-Eleven” และเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ตลอดจนได้รับความช่วยเหลือทางด้านการฝึกอบรมและด้านเทคนิคความรู้เกี่ยวกับ การดำเนินธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อจาก 7-Eleven, Inc. ต่อมาในวันที่ 20 สิงหาคม 2546 7-Eleven, Inc. ได้เข้าทำสัญญาให้ความยินยอม ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างบริษัทและบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (“CPG”) กับ 7-Eleven, Inc. โดย 7-Eleven, Inc.ได้ตกลงให้ความยินยอมต่อการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน รวมถึงการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯโดยสัญญาให้ใช้สิทธิ เป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดอายุ”ข้อมูลของ ซีพี ออลล์  เองให้รายละเอียดไว้อย่างน่าสนใจ

ซีพีออลล์(CPAll) เป็นกิจการในตลาดหุ้น ได้แสดงผลประกอบการดีเยี่ยม เมื่อปีก่อน (2554) มียอดขายมากกว่า 150,000 ล้านบาท และกำไรมากกว่า 10,000ล้านบาท ในฐานะกลุ่มธุรกิจที่เติบโตที่สุด ในธุรกิจหลักหนึ่งในสามของเครือซีพี เวลาเดียวกันซีพีเองได้ปรับยุทธศาสตร์ ขายหุ้นกิจการค้าปลีกแบบ discount store—Tesco Lotus — ออกไปเกือบหมดสิ้น

“บริษัทได้ดำเนินธุรกิจร้าน “7-Eleven” ในประเทศ ไทยมายาวนานกว่า 23 ปี ด้วยเครือข่ายร้านสาขาในปัจจุบันกว่า 6,200 สาขา (ถือเป็นอันดับสามของโลก) ซึ่งถือว่าเป็นร้านสะดวกซื้อที่มีสาขามากเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย”บทสรุปอีกตอนหนึ่งของรายงานของผู้บริหารซีพีออลล์

Family Mart ก่อตั้งขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อปี2524 หลังจากการเกิดขึ้นและวางรากฐานอย่างมั่นคงในตลาดญี่ปุ่นของ 7-Eleven  และ Lawson และดูเหมือน Family Mart  จะดำเนินแผนการเชิงรุกต่างประเทศ เช่นเดียวกับ7-Eleven “บริษัท แฟมิลี่มาร์ท จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ได้กำหนดนโยบายในการขยายสาขาที่มีอยู่ทั่วโลกจาก 20,807 สาขา ณ ปัจจุบัน เพิ่มเป็น 20,934 สาขา   ณ สิ้นเดือน กรกฎาคม 2555 เ รามีจำนวนสาขาอยู่ทั้งสิ้น 735 สาขาในประเทศไทย”รายงานจากบริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ทซึ่งดูแลธุรกิจ Family Mart ในประเทศไทย

และล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว(กันยายน 2555)  มีรายงานข่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัล ผู้ดำเนินธุรกิจค่าปลีกรายใหญ่และหลากหลายรูปแบบที่สุดในประเทศไทย ได้เข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัทสยามแฟมิลิมาร์ท โดยประกาศแผนการขยายสาขาให้มากกว่า1, 500 สาขา ภายใน 5 ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 สาขา ภายในปี 2564

ส่วนLawson ให้ความสำคัญการขยายตัวในประเทศญี่ปุ่นมากเป็นพิเศษ ทั้งๆที่มีตำนานเริ่มต้นมาจากสหรัฐ เช่นเดียวกันกับ 7-Eleven   (แต่คนละเมือง– Akron, Ohio) ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยอยากเอ่ยถึง คงเนืองมาจากเรื่องราวอื้อฉาวในช่วงต้นๆ ก่อนจะมาเริ่มต้นดำเนินกิจการในญี่ปุ่นอย่างจริงจังในปี 2518 จากกิจการร่วมทุนระหว่างบริษัทอเมริกันกับญี่ปุ่น จนกลายเป็นของญี่ปุ่นทั้งหมด และจากนั้นไม่นานเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น—Mitsubishi Corporation ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่

พิจารณาข้อมูลอย่างเป็นทางการของ Lawsonเอง เครือข่ายส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในญี่ปุ่น และเริ่มธุรกิจอย่างจริงจังในจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นลำดับถัดไป โดยมีสาขาในญี่ปุ่นทั้งหมด 11,122 สาขา ในจีนมีมากกว่า350 สาขา (SHANGHAI 301 CHONGQING 54 DALIAN 10) อินโดนิเชีย 85 สาขา และฮาวายซึ่งถือว่าชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นอยู่มากพอสมควร อีกเพียง 2 สาขา

ล่าสุดได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

“ที่น่าจับตามองคือการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ของเครือสหพัฒน์ ที่เป็นผู้เล่นสุดเก๋าในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่เตรียมอวดโฉมร้าน “ลอว์สัน” ซึ่งร่วมทุนกับทางญี่ปุ่น ก่อตั้ง บริษัท สหลอว์สัน จำกัด มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท โดยเครือสหพัฒน์ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และลอว์สันถือหุ้น 49%

จากการเปิดเผยของ “บุญชัย โชควัฒนา” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เตรียมเปิดร้านสะดวกซื้อลอว์สัน ในเดือนกุมภาพันธ์ เบื้องต้นจะเปิดประมาณ 4-5 สาขา เน้นทำเลหลัก ๆ ใจกลางเมือง โดยเป็นการทดลองในช่วงต้น” ( อ้างจากข่าว “ค้าปลีกไซซ์เล็ก” ปะทุ สหพัฒน์ชนซีพี- “ลอว์สัน” อวดโฉม ก.พ.นี้”  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 23 มกราคม 2556)

นี่คือปรากฏการณ์ที่เข้มข้นมากขึ้น นอกจากเป็นสัญลักษณ์ การเข้ามาเมืองไทยรอบใหม่ของธุรกิจญี่ปุ่น จากโอกาสที่เปิดกว้าง จากการพัฒนาของความเป็นชุมชนเมือง ซึ่งเป็นปุ๋ยอันอุดมของร้านสะดวกซื้อ เป็นทีทราบกันดีว่า สาขาประมาณครึ่งของ 7-Eleven ก็ยังกระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯและชานเมือง   ในเวลาเดียวกัน กระแสการพุ่งไปหัวเมืองต่างจังหวัดจะรุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณ

“เครือข่ายการค้าปลีกขยายตัวทั่วประเทศ เป็นตัวเร่งที่สำคัญมาก ระบบการค้าดั้งเดิมของผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น เผชิญแรงกดดัน ในการปรับตัวอย่างรุนแรง   เครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่ เริ่มต้นปักหลัก จากเมืองหลวงในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู ราวปี 2531เป็นต้นมา  เพียง2 ทศวรรษจากนั้น เครือข่ายการค้าขนาดใหญ่มีมีความสัมพันธ์กับธุรกิจระดับโลก   โดยเฉพาะ Big C, Tesco Lotus ขยายตัวถึงระดับอำเภอ ขณะที่ 7-Eleven ขยายตัวถึงระดับตำบลสำคัญๆของประเทศ” ผมเคยพิเคราะห์ไว้เมื่อปลายปี 2553    (อ้างจากเรื่อง   ทิศทางปี2553/4 สังคมหัวเมืองและชนบทซับซ้อนมากขึ้น       ในหนังสือ “ยุทธศาสตร์เอาตัวรอดของกูรูธุรกิจ”สำหนักพิมพ์มติชน 2554   )

 

กระแสลมไม่ได้เปลี่ยนทิศทาง   แต่ยิ่งพัดแรงขึ้น

 

ประชาชาติธุรกิจวันที่  1 กุมภาพันธ์ 2555

 

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: