ขณะที่กรุงเทพฯเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง สร้างบุคลิกความเป็นศูนย์กลางการจับจ่ายใช้สอย(Shopping paradise) ฐานธุรกิจอันมั่นคงที่จับต้องได้ง่ายของผู้มีรากเหง้า ก็ดำเนินไปด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยม ความเติบโตทางธุรกิจจึงเป็นไปอย่างหยุดยั้ง แม้ผ่านช่วงวิกฤติการณ์ต่างๆ
ช่วงที่ 1 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อิทธิพลของห้างฝรั่งซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของยุคอาณานิคมถูกบั่นทอน พ่อค้าชาวจีนในไทยซึ่งมีประสบการณ์ความสัมพันธ์และความขัดแย้งกับอิทธิพลอาณานิคม ได้สะสมความรู้ทางธุรกิจ จึงพยายามเข้าสู่ช่องว่างแห่งโอกาส
นี่เตียง แซ่เจ็ง ต้นตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่งเครือเซ็นทรัล คือตัวอย่างหนึ่ง เขาเป็นผู้เบิกห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพ จากจุดเริ่มต้นธุรกิจขายหนังสือต่างประเทศ เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของการกำเนิดห้างเซ็นทรัล หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
การเปิดพรมแดนความรู้ต่างประเทศ ในช่วงสังคมธุรกิจไทยกำลังขยายตัวอย่างก้าวกระโดดหลังสงครามโลก และการเติบโตของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และปัญญาชนสยาม ต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้ร้านขายหนังสือต่างประเทศเป็นหลักของตระกูลจิราธิวัฒน์เกิดขึ้น จากช่องว่างธุรกิจเล็ก ๆ ตระกูลจิราธิวัฒน์ เริ่มขยายสินค้าไปสู่สินค้าต่างประเทศชนิดอื่น ๆมากขึ้น โอกาสอันกว้างใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงสงครามเกาหลี
ห้างเจ็งอันตง เกิดขึ้นในปี 2499 เป็นรูปแบบห้างสรรพสินค้าในย่านวังบูรพา ในยุคสร้างเมืองธุรกิจแห่งแรกๆในกรุงเทพฯ(โอสถ โกสิน นักกฎหมายและอดีตกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเป็นผู้บุกเบิก รื้อวังวังบูรพาภิรมย์เพื่อสร้างตึกแถวการค้า) เป็นภาพต่อเนื่องจากห้างเล็ก ๆ แถวสี่พระยา และตรอกโรงภาษีเก่าหน้าโรงเรียนอัสสัมชัญ ผ่านประสบการณ์พอสมควร จากความพยายามขยายสาขาที่เยาวราชและราชประสงค์ ซึ่งก้าวเร็วเกินไปจนต้องมาตั้งหลักใหม่ การเริ่มต้นที่ถนนสีลม ห้างเซ็นทรัลสีสมในปี 2511 เป็นช่วงต้นเข้าสู่ยุคสงครามเวียดนาม ซึ่งถือเป็นช่วงก้าวกระโดดของการพัฒนากรุงเทพฯอีกช่วงหนึ่ง
ช่วงที่2แรงกระตุ้นจากสงครามเวียดนาม (2507-2518)
2505 สยามสแควร์ พัฒนาขึ้นบนที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นภาพสะท้อนสถานการณ์ 2ด้าน
ด้านหนึ่ง-ได้รับอิทธิพลจากการเกิดขึ้นของโรงแรมใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ อันเป็นสัญลักษณ์เริ่มต้นอิทธิพลอเมริกัน ในตอนที่แล้วผมได้กล่าวถึงSiam InterContinental Hotel เริ่มก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2502-3 บนที่ดินของวังสระปทุม ตรงข้ามสยามสแควร์ “โรงแรมระดับ 5 ดาว ขนาด 400 ห้องในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ขณะนั้น InterContinentalอยู่ในเครือข่าย Pan American Airline สายการบินระดับโลกของอเมริกา”
สอง-โอกาสใหม่ของคนไทยเชื้อสายจีนอีกตระกูลหนึ่งซึ่งปักหลักในแผนดินไทยต้นรัชกาลที่ 6 ซู ถิง ฟาง ต้นตระกูลซอโสตถิกุล เริ่มต้นผลิตรองเท้านันยางประมาณปี 2496 และต่อมามีกิจการรับเหมาก่อสร้าง–บริษัท เซาท์อีสต์เอเชียก่อสร้าง (หรือซีคอน)ในระยะใกล้เคียงกับโอกาสเป็นเจ้าของโครงการพัฒนาสยามสแควร์ ศูนย์การค้าแห่งใหม่ รูปแบบไม่แตกต่างจากย่านวังบูรพา โอกาสใหม่เกิดขึ้นพร้อมๆกับเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง Siam Intercontinental Hotel แม้ว่าตระกูลซอโสตถิกุล ไม่ใช่เจ้าของธุรกิจใหญ่ แต้ก็ดำเนินไปตามจังหวะและโอกาส
สังคมไทยในเวลานั้นมีพัฒนานาการอย่างน่าสนใจ ผมเคยอรรถาธิบายไว้
“เหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญในประเทศไทย เมื่อ14ตุลาคม2516 และ6 ตุลาคม 2519 เป็นแรงปะทะสำคัญของสังคมไทยกับGlobalization ครั้งแรก พื้นฐานทางเศรษฐกิจและธุรกิจไทยเปลี่ยนโฉมหน้าไป และต่อเนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคที่กระจายวงออกไปเป็นละลอกคลื่น
เทคโนโลยี่ระดับโลกก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์ในปี2512 ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางโทรศัพท์มาถึงครัวเรือนประเทศไทย ที่มีสำคัญเป็นพิเศษ มีการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่สัมพันธ์กับชีวิตระดับบุคคล (individual) เกิดขึ้นครั้งใหญ่ ย่อมสร้างแรงผลักดันในเชิงธุรกิจให้แสวงหาตลาดที่กว้างขวางขึ้น
ประเทศไทยได้รับอิทธิพลโดยตรง ทางเศรษฐกิจเกิดการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคครั้งใหญ่ เน้นระหว่างเมืองกับหัวเมืองและชนบทบางพื้นที่ การลงทุนจากต่างประเทศ และการเติบโตของธุรกิจท้องถิ่น เปิดโอกาสเกิดกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้า เพื่อสนองพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่เริ่มเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง(Critical Mass) ใช้สินค้าเพื่อความสะดวกสบายแบบตะวันตกมากขึ้น กระแสการตื่นตัวรับสินค้าสมัยใหม่ กว้างขวางกลายเป็นการตลาดที่คุ้มต่อการลงทุน ผลักดันเกิดเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคใน เมืองหลวงและหัวเมืองต่างๆอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ดูเหมือนเป็นกระแสที่มาพร้อมกับการตื่นตัวทางการเมืองอย่างกว้างขวาง”
บทความชิ้นนี้ไม่ได้กล่าวถึงขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยซึ่งเติบโตมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกันนั้นโดยตรง ขบวนการต่อสู้กับอำนาจรัฐครั้งสำคัญครั้งนั้น ถือได้ว่าสั่นคลอนอำนาจของกรุงเทพฯครั้งรุนแรงที่สุดตั้งแต่สงครามโลกเป็นต้นมาก็ว่าได้ ท่ามกลางความหวาดวิตกแพร่กระจายจากชนบทถึงเมืองหลวง แต่กรุงเทพฯก็ยังพัฒนาไปสู่ทิศทางใหม่อย่างไม่ลดละ
2516 สยามเซ็นเตอร์-ศูนย์การค้าสมัยใหม่ แห่งแรกใจกลางเมืองหลวงเกิดขึ้นบนที่ดินของวังสระปทุม
2517 เซ็นทรัลสาขาชิดลม –ห้างสรรพสินค้าเรือธงของกลุ่มเซ็นทรัลเกิดขึ้น แม้เผชิญแรงต่อต้านสินค้าสินค้าญี่ปุ่นบ้าง แต่เติบโตได้อย่างน้าทึ่ง
ช่วงที่ 3 วิกฤติการณ์เศรษฐกิจ (1)
มาจากวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งแรกๆและตลาดหุ้นในช่วงเยาว์วัย รัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ (ต่อมาเป็นประธานองคมนตรี) พยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มกำลัง เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งหลายคนตีความว่าเป็นยุทธศาสตร์ความอยู่รอดของระบบธนาคารและธุรกิจใหญ่ ขณะที่ธุรกิจรายกลางรายย่อย โดยเฉพาะมาจากผู้ประกอบการรายใหม่ล้มเป็นละลอกคลื่น
ขณะที่ธุรกิจศูนย์การค้าพัฒนาขึ้น มีรูปแบบผสมสาน(mix used)มากขึ้น เริ่มต้นจากเซ็นทรัลลาดพร้าวชานเมือง สู่ใจกลางเมือง ปรากฏโฉมรายใหม่ แต่ก็คือกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมของสังคมธุรกิจไทย โดยเฉพาะกลุ่มวัธนเวคิน และว่องกุศลกิจ(2527 อัมรินทร์พลาซ่า ) และตระกูลบูลกุล(2528 MBK) ขณะที่เซ็นทรัลก็พยายามรักษาความเป็นผู้นำ(2532 ห้างสรรพสินค้าเซน)
ช่วงที่4 วิกฤติการณ์เศรษฐกิจครั้งใหญ่
วิกฤติการณ์เศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุด โดยไม่สามารถต้านแรงกดดันระบบการเงินโลกได้ ปรากฏการณ์หลอมละลายครั้งใหญ่ อย่างไม่เลือกรายเล็ก รายใหญ่ ผู้มาใหม่ หรือรากฐานเก่า โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอ้างอิงกับระบบการเงินและตลาดหุ้น ต่อมามีบทเรียนตกผลึก– ธุรกิจที่อ้างอิงกับสังคมสมัยใหม่ วิถีชีวิตสมัยใหม่ของผู้คนในสังคมเมือง ไม่ว่าจะเผชิญวิกฤติอย่างไร ก็ยังเดินหน้าต่อไป ธุรกิจเพื่อสร้างแหล่งจับจ่ายใช้สอยยังดำเนินไป โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจดั้งเดิม
2539 เพลินจิต เซ็นเตอร์ 2540โครงการเอราวัณ แบงค็อก ของเอราวัณกรุ๊ป , สยามดิสคัฟเวอรี่
ช่วงที่ 5 ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่
ถือเป็นปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองทีขยายวง ไม่เพียงรูปแบบ หากมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากครั้งแรกๆของสังคมไทย ความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่แบ่งเป็นฝักฝ่าย มีลักษณะร่วมกันอย่างน่าสนใจ คือพุ่งเป้าไปสู่ฐานอำนาจของเมืองหลวงในเชิงสัญลักษณ์ที่ขยายวง จากรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล สู่ท้องถนนที่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ นั่นคือย่านศูนย์การค้าใจกลางเมือง อาณาบริเวณการพัฒนา Shopping paradise ตามนิยามของบทความชุดนี้ คงไม่เป็นความบังเอิญ หากเป็นภาพสะท้อนที่จับต้องได้ว่าอาณาบริเวณนี้ คือพลังกรุงเทพฯสมัยใหม่
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวที่เข้มข้นและดุเดือดในบางช่วง แต่ไม่อาจสกัดกั้นพัฒนาการของกรุงเทพฯได้
2546 เกษรพลาซ่า 2548 สยามพารากอน 2556 สยามเซ็นเตอร์โฉมใหม่
ตอนต่อไป จะมองโครงสร้างความสัมพันธ์ของกลุ่มธุรกิจแกนกลาง Shopping paradise ให้ชัดเจนขึ้น