Cambodia Connection

โดยปกติความสัมพันธ์ระหว่าง“เพื่อนบ้าน”มักมีลักษณะละเอียดอ่อนและซับซ้อน (Complicate Relationship) ภาพใหญ่ของ “ความสัมพันธ์” จึงควรเป็นสิ่งอ้างอิงกับการพิจารณาปฏิกิริยาอันอ่อนไหวในมิติใดมิติหนึ่งเป็นการเฉพาะ

เรื่องราวของไทย- กัมพูชา มีหลายมิติ  มิติหนึ่งของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ควรมองผ่านเครือข่ายการลงทุนของไทย แม้ว่ามิใช่ “ข้อมูลใหม่” เป็นที่เปิดเผยกันมาแล้วเป็นส่วนใหญ่    แต่พยายามให้ภาพความเคลื่อนไหว อาจจะน่าสนใจขึ้นบ้างในสถานการณ์ปัจจุบัน  มีบางประเด็นที่ผมไม่ได้ให้ความสำคัญ แม้เป็นเรื่องน่าสนใจพอสมควรก็ตาม

ไม่ว่าความพยายามคาดการณ์ในมิติต่างๆ เกี่ยวกับชาวกัมพูชาจำนวนมากเข้ามาทำงานในภาคแรงงานต่างๆ ในประเทศไทย  ซึ่งบางส่วนทำงานในโครงการก่อสร้างบ้านจัดสรรหลังบ้านผมเอง

หรือกับตัวเลขการค้าที่น่าสนใจชุดหนึ่ง กระทรวงพาณิชย์(สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ 29 กรกฎาคม 2553) ระบุว่าครึ่งปีแรกของปี 2553 สินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นสินค้าชนิดที่มีการซื้อขายระหว่างกัน โดยไทยส่งออกไปยังกัมพูชา เป็นสินค้าอันดับ 5   มูลค่าประมาณ 40  ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะทีเดียวก็เป็นสินค้านำเข้าอันดับหนึ่งจากกัมพูชา มีมูลค่าเพียง 12 ล้านเหรียญสหรัฐ

ข้อมูลชุดนี้มีความสัมพันธ์กันหรือไม่อย่างไรไม่แน่ชัด  กับการกล่าวหาของNGOอเมริกันเชื้อสายกัมพูชาคนหนึ่งที่ว่า พ่อค้าไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กมาจากชิ้นส่วนวัตถุระเบิดสงครามในพื้นที่กัมพูชา ขณะที่อาชีพการเก็บกู้อย่างเสี่ยงภัยของคนกัมพูชายังดำเนินไปอย่างน่าเป็นห่วง

หรือเกี่ยวกับเรื่องที่อ้างมาจากบทความของBBC วิจารณ์ทางการกัมพูชา กรณีให้กองทัพขับไล่เกษตรกรออกจากพื้นที่การเกษตรของตนเอง เพื่อให้นักลงทุนไทยเข้าไปใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ปลูกอ้อย (Has Cambodia become a country for sale?  Jan.13.2011 )

จุดเริ่มต้น—ธนาคารไทยในกัมพูชา

จากจุดเริ่มต้น“เปลี่ยนจากสนามรบให้เป็นสนามการค้า” นโยบายรัฐบาล ยุคพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี (2531-4) เป็นภาพสะท้อน ความเชื่อมั่นว่าภูมิภาคนี้ไม่เป็นไปตามทฤษฏีโดนมิโน ในขณะที่สงครามในกัมพูชาก็ค่อยๆยุติลง

สัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่เริ่มต้นในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ ตลาดหุ้น และ อสังหาริมทรัพย์ กระแสบูมที่ดินเกิดขึ้นในย่านสำคัญทั่วประเทศ   รวมทั้งความพยายามครั้งใหญ่ของกลุ่มธุรกิจไทย เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ในกรณีกัมพูชา ธุรกิจแรกๆที่เข้าไปก็คือ ธนาคารพาณิชย์ไทย

ทั้งนี้สอดคล้ององกับยุทธ์ศาสตร์ขั้นที่ 1 ตามแนวทางที่ผมกล่าวไว้ในบทความเกี่ยวกับยุทธ์ศาสตร์การลงทุนในประทศไทยของจีนแผ่นดินใหญ่ (เรื่อง  China Connection ) เครือข่ายบริการธนาคารของจีนในประเทศไทย จะช่วยสนับสนุนโดยตรงให้การขยายธุรกิจจีนในประเทศไทยดำเนินอย่างมีประสิทธิภาพ

“ในจำนวนธนาคารทั้ง 27 แห่ง มีธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง (The Big Four) ที่ได้รับการประเมินว่ามีความน่าเชื่อถือและมั่นคง และมีส่วนแบ่งการตลาดในด้านเงินฝาก ร้อยละ 70 ของเงินฝากทั้งหมดในระบบ และมีส่วนแบ่งการตลาดในสินเชื่อ ร้อยละ 73 ของสินเชื่อทั้งหมดในระบบ ธนาคาร 4 แห่งนี้ ได้แก่ ธนาคาร Acleda, ANZ Royal Bank, Cambodian Public Bank และ Canadia Bank   โดยธนาคาร Acleda เป็นธนาคารเดียวที่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมทุกเมืองและจังหวัด ส่วนธนาคารอื่น ๆ มักจะตั้งสาขาในจังหวัดใหญ่ ๆ 5 จังหวัด ส่วนธนาคาร ANZ Royal Bank เป็นธนาคารแรกที่นำตู้เอทีเอ็มมาใช้ในกัมพูชา ในปัจจุบันธนาคาร ANZ Royal Bank ในกัมพูชามี 19 สาขา และมีการดำเนินงานที่ใหญ่ที่สุดนอกประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์”ส่วนหนึ่งของรายการธนาคารแห่่งประเทศไทย ว่าด้วยระบบสถาบันการเงินในกัมพูชาระบุไว้อย่าสนใจ  ในบรรดาธนาคารสำคัญในกัมพูชา 4 แห่งนั้น มีธนาคารเครือข่ายเพื่อนบ้านเพียงแห่งเดียว –Cambodian Public Bank เป็นเครือข่ายธนาคารจากมาเลเซีย ที่สำคัญไม่มีธนาคารจากประเทศไทยเลย

อย่างไรก็ตาม ธนาคารไทยถือเป็นธนาคารแห่งแรกๆที่ตั้งใจเข้าเปิดบริการในประเทศกัมพูชาตั้งแต่ควันไฟสงครามยังไม่ทันจางเสียทีเดียว   แสดงถึงความเชื่อมั่นใจภูมิภาค ด้วยความเข้าใจสถานการณ์อย่างลึกซึ้ง ในฐานะเพื่อนบ้าน   นั่นคือธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย  โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นใหญ่  ธนาคารทีมีความพยายามมีบทบาทในภูมิภาคอินโดจีนเป็นพิเศษ เป็นธนาคารไทยแห่งเดียวก็ว่าได้ ดำเนินกิจการอย่างเอาการเอางานทั้งในประเทศลาว เวียดนามและกัมพูชา

ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์   มีสถานะเป็นธนาคารในเครือข่ายธนาคารไทยพาณิชย์ในต่างประเทศ  ก่อตั้งในปี 2534 โดยสาขาพนมเปญ ถือเป็นสำนักงานใหญ่   และมีสาขาในเมืองสำคัญอีก 3 แห่งที่ พระตะบอง เสียมเรียบ และสีหนุวิลล์

 ภูมิภาคแห่งการท่องเที่ยวโลก

จากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ไทยระบุว่า นักธุรกิจไทยลงทุนธุรกิจโรงแรมมากที่สุดในกัมพูชา ในช่วง 15ปีมานี้

“โรงแรมจำนวน 8 แห่ง คือ Inter Continental (ในนามบริษัท Regency) โรงแรม Royal Angkor ใน จ. เสียมราฐ (ของกลุ่มบริษัทไทยนครพัฒนา) โรงแรม Imperial Angkor Palace ใน  เสียมราฐ (ของกลุ่มบริษัท TCC) โรงแรม Phokeethra Resort & Spa (Cambodia) ในกรุงพนมเปญ (ของกลุ่มบริษัทไทยนครพัฒนา สร้างแทนโรงแรม Royal Phnom Penh ซึงถูกเผาในเหตุการณ์จลาจลเมือ 29 มกราคม 2546) โรงแรมของบริษัท V&V ของกลุ่มบริษัทไทยนครพัฒนา เพื่อสร้างโรงแรมและสนามกอล์ฟในกรุงพนมเปญ โรงแรมในอำเภอปอยเปต จ. บันเตียเมียนจัย ได้แก่โรงแรม Poi Pet International Club โรงแรม Star Vegas Resort & Club โรงแรม Angkor Plaza”

รายงานสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศฯ ณ  กรุงพนมเปญ มกราคม 2553 ฉบับนี้ หนังสือพิมพ์ธุรกิจบางฉบับได้ตีพิมพ์มาแล้วในปีเดียวกัน รวมทั้งใช้อ้างอิงในบทความของสำนักงานส่งเสริมการลงทุนห(บีโอไอ)ของไทยด้วย      กลุ่มธุรกิจสำคัญที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ กลุ่มไทยนครพัฒนา เจ้าของอุตสาหกรรมยา โดยเฉพาะยาแก้ปวด–ทิฟฟี่ และกลุ่มไทยเจริญหรือทีซีซี ของเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งมีการลงทุนในกิจการอื่นๆอีกในกัมพูชา   อย่างไรก็ตามข้อมูลบางอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วพอสมควร

กลุ่มไทยเจริญ หรือTCC Group โดยTCC Land ดำเนินกิจการโรงแรมห้าดาวในกัมพูชา ปัจจุบัน –Le Meridian Angkor ,Siem Reap ด้วยสถาปัตยกรรมเขมรประยุกต์มีทั้งหมดกว่า 400 ห้อง  ส่วน Phokeethra Group ของบริษัทไทยนครพัฒนา ซึ่งมีโรงแรมที่ร่วมมือกับ Sofitel   อีกแห่งในกระบี่  ก็มี  Sofitel Angkor Phokeethra Golf and Spa Resort,Siem Reap  ซึ่งมีสนามกอล์ฟ  18  หลุม เพิ่งเริ่มต้นจัดการแข่งขันรายการระดับ Asian tour– Johnnie Walker Cambodian Open  โดย ธงชัย ใจดี เป็นแชมป์ครีั้งแรกเมื่อปลายปี2553

ในฐานะพื่อนบ้าน นักลงทุนไทยมองโอกาสทางธุรกิจ จากภาพการผนวกกันระหว่างแหล่งท่องเที่ยวของไทยกับกัมพูชา  กลายเป็นเป้าหมายการเดินทางที่่าสนใจมากขึ้นของท่องเที่ยวระดับโลก

ความเชื่อมโยงในเรื่องท่องเที่ยว มีบางโมเดลที่แตกต่างออกไป  กรณีกลุ่มธุรกิจของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้ดำเนินนกิจการสายการบิน บางกอกแอร์เวย์ และเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ถือเป็นกลุ่มธุรกิจไทยแรกๆที่เป็นเจ้าของเส้นทางบินตรงจากกรุงเทพ มายังกรุงพนมเปญและเสียมเรียบ  ทั้งนี้ได้เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลแห่งแรกของไทยในต่างประเทศ –Royal Angkor International Hospital( 2540 ) ตั้งห่างจากสนามบินเสียบเรียบ ซึ่งเป็นแหล่งทองเที่ยวสำคัญเพียงประมาณ2 กิโลเมตร

พื้นที่ใหม่ของอุตสาหกรรมการเกษตร

เป็นที่คาดกันได้เลยว่ากลุ่มการเกษตรขนาดใหญ่ของไทย 2 รายสำคัญ ต้องมีพื้นที่กัมพูชาด้วย ทั้ง ซีพี และไทยเจริญ

กลุ่มไทยเจริญ โดยกลุ่มพรรณธิอร กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรที่จัดกลุ่มใหม่ โดยบุตรชายคนเล็กบริหารงานนั้น  โครงการใหญ่ในกัมพูชาที่น่าสนใจรวมอยู่ด้วย  โดยดำเนินการจริงจังมาตั้งแต่ปี 2549 ในสองโครงการ นั่นคือโครงการต่อเนื่องของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ตั้งแต่การปลูกปาล์มในพื้นที่กว้างใหญ่ จนถึงก่อตั้งโรงงงานสกัดน้ำมันปาล์มแห่งแรกในกัมพูชา   โครงการที่สอง—ท่าเรือแห่งแรกที่เป็นของเอกชนที่เกาะกงด้วย ทั้งสองโครงการอยู่ในพื้นที่ประมาณ 150,000 ไร่

ซีพีก็เคลื่อนไหวคึกคักเช่นเดียวกัน  ขณะที่ปัญหาชายแดนถูกจุดขึ้น ความวิตกกังวลปกคลุมและขยายวง  จากชายแดนไทย-ก้มพูชา จนถึงข้างทำเนียบรัฐบาลนั้น   เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ในฐานะกิจการในตลาดหุ้นไทยได้แจ้ง (เมื่อ 26 มกราคม2553) ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้เข้าลงทุนใน C.P.Cambodia Company Limited (CPC) จำนวน 25% ของหุ้นที่ออกและชำระแล้ว โดยราคาเสนอขายหุ้นละ 11,030 เหรียญสหรัฐ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 16,269,250 เหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 500 ล้านบาท

“C.P.Cambodia Company Limited ดำเนินธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ เลี้ยงสัตว์ และผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์เพื่อจำหน่ายในประเทศกัมพูชา   เนื่องจากธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมในประเทศกัมพูชามีศักยภาพในการขยายตัวอีกมาก และ CPC เป็นบริษัทที่ได้วางรากฐานของธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมในกัมพูชาได้ระยะหนึ่งแล้วและมีความพร้อมที่จะรองรับการเจริญเติบโตของธุรกิจดังกล่าวต่อไปในอนาคต”

ทั้งนี้อาจกล่าวรวมถึงกลุ่มธุรกิจน้ำตาล ถือเป็นภาพต่อจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรมด้วย

กิจการในกลุ่มบริษัทน้ำตาลขอนแก่นหรือเคเอสแอล มีแผนเปิดโรงงานผลิตน้ำตาล ถือได้ว่าเป็นโรงงานน้ำตาลแห่งแรกของประเทศกัมพูชา  ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการร่วมทุน(ไทย กัมพูชา และไต้หวัน)ในโครงการเพาะปลูกอ้อยและก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ที่จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา  โดยได้รับสัมปทานพื้นที่เพาะปลูกจ ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมสองอำเภอของจังหวัดเกาะกง เนื้อที่รวมกันมากว่าหนึ่งแสนไร่  การดำเนินงาน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ทั้งดำเนินการเพาะปลูกอ้อย และธุรกิจโรงงานน้ำตาล–ท่าเรือขนส่งสินค้า ซึ่งมีกำลังหีบอ้อย 700,000 ตันอ้อยต่อปี

ขณะที่กลุ่มน้ำตาลมิตรผลพยายามเชื่อมโรงงานน้ำตาลในอุดรมีชัยของกัมพูชา  ซึ่งถือเป็นแดนต่อแดน  เข้ากับเครือข่ายโรงงานน้ำตาลภาคอีสานของไทย ตั้งอยู่ใน ชัยภูมิ ขอนแก่น และกาฬสินธุ  และโรงงานน้ำตาล ที่แขวงสุวันเขต ประเทศลาว

อุตสาหกรรมพื้นฐานอันมันคง

โครงการอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ  ได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อระดับโลกและผู้นำกัมพูชาเอง นั่นคือโครงการโรงงานซีเมนต์แห่งแรกในกัมพูชา

Kampot Cement เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างเครือซิเมนต์ไทย(เอสซีจี) กับ กิจการวิศวกรรมและก่อสร้างของกัมพูชา  ตั้งโรงงานซีเมนต์ในกัมปต เมืองเก่าที่สวยงามแห่งหนึ่ง ไกลจากเมืองหลวงกรุงพนมเปญไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 150 กิโลเมตร

ในวันพิธีเริ่มต้นการก่อสร้าง(เมื่อ 26 มกราคม 2549)   ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เดินทางไปเป็นประธานในพิธี รายงานของสำนักข่าวของจีนระบุไว้ (อ้างจาก Xinhua: Cambodia starts building largest cement factory January 26, 2006)

ตามแผนการในตอนนั้น โรงงานแห่งนี้จะผลิตซีเมนต์ได้ปีละ 9 แสนตัน ในขณะที่นำเข้าปีละประมาณ 1.5 ล้านตัน   การเปิดดำเนินการของโรงงานแห่งนี้มุ่งจำหน่ายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าปูนซีเมนต์จากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นแนวคิดคลาสสิค เช่นเดียวกันการก่อสร้างโรงงานซีเมนต์แห่งแรกในประเทศไทยเมื่อเกือบศตวรรษที่แล้ว

ซึ่งก็เป็นไปตามแผน 2ปีต่อมา ในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ (14 มกราคม 2551) สำนักข่าว Reutersรายงานเช่นเดียวกันว่าในวันสำคัญนั้น นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ได้เดินทางมาเป็นประธาน โดยกล่าวว่ากัมพูชาต้องนำเข้าปูนซีเมนต์ในตอนนั้นเพิ่มถึง 2-5 ล้านตันต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการทีขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ตามแผนการโรงงานแห่งนี้จะสามารถผลิตได้จำนวน 960,000ตันต่อปีภายในปีนั้น และมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตเป็นเท่าตัวในปีถัดๆไป (Reuters: Cambodia opens first big cement plant 13 Jan 2008)

กัมปต จุดยุทธ์ศาสตร์ที่เอสซีจีปักหลัก ถือว่าเป็นทำเลที่น่าสนใจ นอกจากเป็นเมืองขนาดเล็กที่สวยงาม ใกล้ทะเล ใกล้ทั้งชายแดนเวียดนามและอ่าวไทย ที่สำคัญเป็นเส้นทางเชื่อมไม่ไกลเมืองท่า –สีหนุวิลล์   ถือเป็นเมือตากอากาศที่มีชายหาดสวยงามติดอ่าวไทย และเป็นที่ตั้งสาขาธนาคารของกัมพูชาพาณิชย์ด้วย

เครือข่ายธนาคารไทยพาณิชย์ กับเอสซีจี ไม่เพียงเป็นกิจการที่มีความใกล้ชิด ในฐานะมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายเดียวกัน บทบาทสำคัญในการบริการการเงินของธนาคารตามแนวคิดที่อ้างถึงตอนต้นๆของบทความ  สำหรับโรงงานซีเมนต์รวมทั้งการขยายการลงทุน สู่กิจการผลิตสินค้าใกล้เคียงของเอสซีจี ถือเป็นยุทธ์ศาสตร์ร่วมกัน

“โรงงานผลิตซีเมนต์ผสมสำเร็จรูป (Mixed Cement Plant) โรงงานผลิตซีเมนต์บล็อก CPAC Monier การปลูกยูคาลิปตัสเพื่อทำกระดาษในนามบริษัทCPAC Agro Industry และบริษัท CPAC Monier เพื่อผลิตกระเบื้องมุงหลังคา” รายงานของทางการที่อ้างแล้วข้างต้นระบุถึงแผนการลงทุนในภาพใหญ่ขึ้น มุ่งมั่นมากขึ้นของเอสซีจี ย่อมเชื่อมโยงถึงการขยายตัวในธุรกิจของธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ด้วย

ชื่อ Kampot Cement  มาจากความจงใจครั้งแรกๆ มีขึ้นในช่วงเวลาของความขัดแย้งในบริเวณชายแดนระหว่างสองประเทศปะทุขึ้น โดยพยายามไม่ให้เชื่อมโยงโดยตรงมายังเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี แต่ทุกวันนี้Kampot Cement ถือเป็นโครงการลงทุนต่างประเทศที่สำคัญของธุรกิจซีเมนต์ของเอสซีจี จึงมีรายงานปรากฏในรายงานประจำปีในฐานะบริษัทมหาชนเสมอมา

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาในยุคปัจจุบัน มีความหมายมากกว่าเดิม กว้างกว่าเดิม โดยได้ข้ามผ่านเรื่องบางเรื่องไปไกลแล้ว

 บทความนี้ ได้ปรับปรุงจากครั้งแรกเมื่อต่้นปี2554

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: