กรุงเทพฯสมัยใหม่(3) แม่เหล็ก

paragonศูนย์กลางแหล่งจับจ่ายใช้สอย หรือที่เรียกว่า Shopping paradise   ได้สถาปนาตนเองขึ้นอย่างมั่นคง กลายเป็นจุดอ้างอิง และแกนของพลังทางธุรกิจใหม่ที่น่าติดตาม

 

ผมกล้าฟันธงไปเลยว่า ศูนย์กลางที่ว่าอยู่ที่สยามพารากอน   ในฐานะใจกลางของแม่เหล็กที่มีพลัง  เมื่อผนึกผสานกับกับสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัพเวอรี่ จึงอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญ  ขณะที่ฝั่งตรงข้ามถนน—สยามสแควร์   และ เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ เป็นดาวบริวารวงใน

การเปิดตัวของสยามพารากอนในช่วงปี 2548   ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ

หลังจากการพักฟื้นครั้งใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย ที่เพิ่งผ่านวิกฤติการณ์ (ตั้งแต่ปี 2540)   และการสร้างระบบขนส่งมวลชนครั้งแรกของกรุงเทพฯ—รถไฟฟ้าบีทีเอส (2542) โดยมีสถานที่ถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางของระบบอยู่ที่ศูนย์การค้าสยาม

ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น กลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้เรือธง- เซ็นทรัลชิดลม ถือว่ามีแรงดูดมากกว่าในย่านนั้นมาตั้งแต่เริ่มต้น  โดยที่อยู่ห่างกันเพียงประมาณ 2 กิโลเมตร จากข้อมูลในตอนต้นๆของข้อเขียนชุดนี้ เซ็นทรัลชิดลม (2517) กับสยามเซ็นเตอร์ (2516) เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน ขณะที่สยามเซ็นเตอร์เป็นเพียงส่วนต่อขยายของสยามสแควร์ เพื่อเข้าถึงตลาดวัยรุ่น ประกอบด้วยผู้ค้าท้องถิ่นรายเล็กๆ ขณะที่เซ็นทรัลชิดลม เป็นผู้นำกระแส ด้วยการนำเข้าสินค้าต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายอย่างเป็นกระบวน สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่มีอิทธิพลของกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับกระแสอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในยุคสงครามเวียดนามมาอีกทอดหนึ่ง

แม้ว่ากลุ่มเซ็นทรัลจะมีเซ็นทรัลเวิลร์ด เปิดตัวขึ้นในช่วงใกล้เคียงกับสยามพารากอน   แต่ดูเหมือนได้กลายเป็นเพียงดาวกระจายรอบๆ ศูนย์กลางเท่านั้น   ทั้งนี้อาจมาจากกลุ่มเซ็นอยู่ในทำเลที่ไม่ใช่ตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ที่ดี

การปรากฏตัวของสยามพารากอนไม่เพียงได้สถาปนาศูนย์กลางอำนาจธุรกิจใหม่ของกรุงเทพ ยังปรากฏโฉมหน้าเครือข่ายธุรกิจใหม่ –สยามพิวรรธน์   แม้ว่าเคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้วติดต่อกันถึง 2 ตอน (สยามพิวรรธน์(1) เมษายน 2555)   แต่จำเป็นต้องพิจารณาเพิ่มเติมในบางแง่มุม

หนึ่ง-มีภาพที่แน่ชัดว่า สยามพิวรรธน์มีความเกี่ยวข้องกับสำนักทรัพย์สินฯและธนาคารไทยพาณิชย์  แม้ว่าโครงสร้างการถือหุ้นไม่ได้แสดงอย่างชัดเจนถึงความเกี่ยวข้องโดยตรง  แต่ในกระบวนการปรับโครงสร้างธุรกิจไม่ว่าช่วงเวลาและบุคคลสำคัญ  มีความเกี่ยวเนื่องอย่างน่าสนใจ

“ถือเป็นช่วงมีความสัมพันธ์กับการปรับโครงสร้างธุรกิจเกี่ยวข้องกับสำนักงานทรัพย์สินฯ ในขณะที่ยศ เอื้อชูเกียรติ อดีตผู้จัดการใหญ่ธนาคารเอเชีย (เพื่อนสนิทของดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ) มาเป็นประธานกรรมการบริษัทสยามพิวรรธน์ช่วงสั้นๆ   ถือว่าอยู่ในช่วงเดียวที่เข้ามาเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัททุนลดาวัลย์  และประธานกรรมการบริษัทวังสินทรัพย์ (ทั้งสองบริษัทถือเป็นกิจการในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจเต็มรูปแบบ)”  ผมเคยกล่าวไว้ในบทความที่อ้างอิงถึง –ขอเพิ่มเติมอีกนิดว่า ยศ เอื้อชูเกียรติ ปัจจุบันเป็นกรรมการของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย และที่ปรึกษาการเงินและการลงทุนสำนักงานทรัพย์สินฯอยู่ด้วย

ต่อมา(ปี2546)  ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์  เข้ามาเป็นประธานกรรมการสยามพิวรรธน์แทนยศ เอื้อชูเกียรติ    ธารินทร์ คืออดีตผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ผู้สร้างตำนานไว้มากมาย  เขาเงียบหายไประยะหนึ่ง หลังจากพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของพรรคประชาธิปัตย์  แต่เป็นที่รู้กันว่ามีบทบาทสำคัญในฐานะรองประธานมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดามาตั้งแต่ปี 2531   และแล้วธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ก็กลับมาอีกครั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย  จากนั้นไม่นาน มีบทบาทสำคัญการสร้างเครือข่ายธุรกิจใหม่—สยามพิวรรธน์ ในช่วงก่อนการเปิดสยามพารากอนไม่ถึง2 ปี

“สยามพารากอนเปิดให้บริการครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2548 ทั้งนี้ “สยามพารากอน” เกิดจากการ ร่วมทุนของสองบริษัทผู้พัฒนาและบริหารโครงการธุรกิจศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้า ได้แก่ “บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด” และ “บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด”ซึ่งได้ร่วมกันจัดตั้ง “บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด”และ “บริษัท สยามพารากอน รีเทล จำกัด” เพื่อให้เป็นโครงการแห่งความภูมิใจของคนไทย มีความสง่างาม (http://www.siamparagon.co.th ) ข้อมูลนี้ถือว่ายอมรับฐานะสยามพิวรรธน์ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า นอกจากถือหุ้นใหญ่ที่สุดในสยามพารากอนแล้ว ยังเป็นเจ้าของโครงการต่อเนื่องก่อนหน้านั้น ทั้งสยามเซ็นเตอร์และสยามดิสคัฟเวอรี่   โดยชฎา วัฒนศิริธรรม เป็นประธานกรรมการสยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์

ชฎา วัฒนศิริธรรม  อดีตผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงเป็นกรรมการอยู่  เธอเคยมีบทบาทสำคัญในยุคใหม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เริ่มต้นในยุคธารินทร์ นิมมานเหมินทร์

สอง-การเกิดขึ้นของสยามพิวรรธน์ ถือเป็นยุทธศาสตร์ของการก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ซึงว่าไปแล้วเป็นประสบการณ์ต่อเนืองของทีมบริหารชุดเดียวกับกรณีสยามสินธร ซึ่งมีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว  สยามสินธรเกิดขึ้นในปี 2530 ยุคธารินทร์ นิมมานเหมินทร์เป็นผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ด้วยความร่วมมือกับสำนักงานทรัพย์สินฯ  เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มตัว โดยอ้างอิงกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นก่อนหน้า(ช่วงปี2523-2535)–โครงการอาคารสินธร ที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นสัญลักษณ์กลไกสำคัญของระบบธุรกิจยุคใหม่  จากนั้นจึงคิดการใหญ่ สยามสินธรเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ เริ่มต้นจาก กลุ่มคริสเตี่ยนี่ และนีลเส็น    จนถึงร่วมทุนกับดุสิตธานีเข้าซื้อเครือข่ายโรงแรมระดับโลก– Kempinski      ต่อมาเมื่อเผชิญปัญหาในช่วงวิกฤติการณ์ สยามสินธรมีปัญหามากมาย แต่ก็ยังอยู่รอดได้ เชื่อกันว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับแก่ปัญหาความอยู่รอดของธนาคารไทยพาณิชย์ในช่วงท้ายๆของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลบังของธารินทร์  นิมมานเหมินทร์  จากนั้นมีการปรับตัวพอสมควร   โดยเฉพาะการขายกิจการคริสเตี่ยนี่ และนีลเส็น ออกไป ส่วนเครือโรงแรม Kempinski เมื่อดุสิตธานีถอนตัว  ในที่สุดก็เข้ามาอยู่ในเครือข่ายธุรกิจของทุนลดาวัลย์ แม้แต่website ทางการของ Kempinski ก็ระบุว่าเป็นกิจการของสำนักงานทรัพย์สินฯ  ที่ปรึกษาคนสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกัน—ดร.วิชิต สุรพงษชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์

Kempinski ก็คือโรงแรมที่เข้ามาแทนที่ InterContinental Hotelใกล้ ๆสยามพารากอน ศูนย์กลาง shopping paradise ของไทย

สาม-จากบทเรียนเดิม สยามพิวรรธน์ได้พัฒนายุทธศาสตร์ธุรกิจใหม่อย่างน่าทึ่ง ภาพความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาและจากนี้ ย่อมสะท้อนความเป็นไปบางมิติของกรุงเทพฯ

–เป็นแกนของความร่วมมือจากกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมขยายสู่กลุ่มใหม่ จากโครงสร้างผู้ถือหุ้นยุคก่อตั้งราวปี2502 จากธนาคารกรุงเทพ (รวมทั้งตระกูล โสภณพานิช) ธนาคารกสิกรไทย (รวมทั้งตระกูลลำซ่ำ) และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี (รวมทั้งตระกูลภิรมย์ภักดี)    สู่กลุ่มใหม่–กลุ่มธนชาต(เอ็มบีเค)  และกลุ่มตระกูลศรีวิกรม์(เกษรพลาซ่า)

—หากเจาะจงไปในธุรกิจเดียวกันหรือข้างเคียง  มีการร่วมมือกันหลายระดับ กลุ่มเอ็มบีเค  และกลุ่มตระกูลศรีวิกรม์ ซึ่งอยู่ในโครงสร้างผู้ถือหุ้น ก็มีกลุ่มอื่นในรูปของการร่วมทุน– โดยเฉพาะเดอะมอลล์ กรุ๊ป  และกลุ่มซีพี

–โดยภาพรวมมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับความเป็นเจ้าของที่ดินใจกลางกรุงเทพฯ  จากวังสระปทุม  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และสำนักงานทรัพย์สินฯ  ถือว่ามีความสัมพันธ์อย่างแน่นเฟ้น ไม่ว่ากรณีเซ็นทรัลเวิรล์ด ดูบางมิติเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจ  ด้วยโครงสร้างความสัมพันธ์เกี่ยวที่ดิน กลับกลายเป็นเครือข่ายโดยอ้อม   รวมถึงโครงการใหม่บนที่ดินเดิมของโรงเรียนเตรียมทหาร

–โมเมนตัมความเคลื่อนไหวใหม่จะเกี่ยวข้องกับไลฟสไตล์ใหม่ของกรุงเทพฯในหลายมิติ

ขอขยายความเพิ่มเติมในตอนต่อไป

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: