แท้จริงศูนย์กลางแห่งใหม่สะท้อนบุคลิกสำคัญของกรุงเทพฯยุคใหม่ มาจากความพยายามสืบทอดกระบวนการสร้างคุณค่าความมั่งคั่ง ความมั่นคง ของพลังดั้งเดิมที่มีรากเหง้าเดียวกัน
“–โดยภาพรวมมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับความเป็นเจ้าของที่ดินใจกลางกรุงเทพฯ จากวังสระปทุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานทรัพย์สินฯ ถือว่ามีความสัมพันธ์อย่างแน่นเฟ้น ……”
ประเด็นสำคัญที่ตั้งขึ้นในตอนที่แล้ว(กรุงเทพฯสมัยใหม่(3) แม่เหล็ก ) ควรขยายความให้ชัดขึ้น
เริ่มต้นอาจเป็นเรื่องบังเอิญในยุคสงครามเวียดนาม พื้นที่เป้าหมายกำหนดโดย PAM AM จากการก่อตั้งโรงแรมทันสมัยแห่งยุค– InterContinental Hotel เป็นจุดเริ่มต้นของผนึกพลังผืนที่ดินใจกลางกรุงเทพฯ อย่างมีความสำคัญกว้างขวางขึ้น จากประสบการณ์ทั้งวิกฤติและโอกาสในช่วง 4-5ทศวรรษ มิติหนึ่งเป็นการผนึกและการเชื่อมต่อของที่ดินแปลงใจกลาง Shopping paradise ในฐานะพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯยุคใหม่ อีกมิติเป็นกระบวนการสืบทอด การสร้างคุณค่า ของความมั่งคั่ง มั่นคงของระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินรากเหง้าเดียวกัน กลายเป็นที่ดินแปลงใหญ่ที่สุดที่เชื่อมต่อกันอย่างแนบแน่น ควรมีความหมายทางยุทธ์ศาสตร์มากกว่าธุรกิจ
“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจะพระราชทานที่ดินบริเวณถนนปทุมวันหรือถนนพระรามที่ 1 ให้เป็นสถานที่สร้างวังของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ พระราชโอรสซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่เนื่องจากในขณะนั้นพระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา จึงยังไม่มีการสร้างพระตำหนักขึ้นตราบกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานสิทธิ์ในที่ดินให้เป็นของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ในเวลาต่อมา”
“สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ได้ประทับอยู่พระตำหนักนี้จนสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2472 อย่างไรก็ตาม วังสระปทุมยังคงใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเรื่อยมาจนกระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2538 หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจนถึงปัจจุบัน” http://th.wikipedia.org ( อ้างมาจาก ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 67 และหน้า 166 อีกทอดหนึ่ง) เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าบางเรื่องราวของกรุงรัตนโกสินทร์ ควรอ้างอิงเป้นความรู้ทางวิชาการ
“วังสระปทุมตั้งอยู่บริเวณเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยอาณาเขตทางด้านทิศเหนือติดคลองแสนแสบ ทิศตะวันออกติดคลองอรชรริมวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ทิศใต้ติดถนนพระรามที่ 1 และทิศตะวันตกติดถนนพญาไท ปัจจุบัน พื้นที่ของวังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกเป็นพื้นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ให้เช่าทำศูนย์การค้าห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เช่น สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน” (http://th.wikipedia.org ) อีกตอนของเรื่องเชื่อมโยงถึงปัจจุบันอย่างน่าสนใจ
หากขยายภาพพื้นที่เฉพาะ Shopping paradise ให้กว้างใหญ่กว้างใหญ่ขึ้น ย่อมผนึกรวมพื้นที่ทั้งสยามสแควร์และ MBK Centerเข้าไปด้วย
“ที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น มีพื้นที่ขนาด 1,153 ไร่ ซึ่งได้จัดแบ่งตามผังแม่บทได้เป็น 3 ส่วน คือ พื้นที่เขตการศึกษาประมาณ 50 % พื้นที่สำหรับส่วนราชการยืมหรือเช่าใช้ ประมาณ 20 % และพื้นที่เขตพาณิชย์ประมาณ 30 % ซึ่งการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว เป็นไปตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าการที่มหาวิทยาลัยจะสามารถดำเนินพันธกิจหลักได้นั้น จำเป็นต้องมีทรัพยากรเกื้อหนุนเพิ่มเติมจากงบประมาณแผ่นดิน ใน พ.ศ. 2482 จึงได้มี พรบ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”คำชี้แจงอย่างเป็นทางการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อกรณีความขัดแย้งกับวิทยาลัยอุเทนถวาย ( ข้อเท็จจริงกรณีที่ดินจุฬาฯ 14 มีนาคม 2556 —http://www.cicc.chula.ac.th/th/news-event/316-news-20130314-2-thai.html ) เป็นข้อมูลที่ควรอ้างอิงและขยายความให้มากขึ้น
เมื่อพิจารณาเอกสารแนบขยายความ(ข้อความเน้น) พบว่าเป็นการโอนที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เทียบเคียงกับข้อมูลประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้น( 2481-2485 ) จอมพลป. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและกลาโหมในเวลาเดียวกัน รวมทั้งเป็นอธิการบดีจุฬาฯ ซึ่งเป็นช่วงที่ดำรงตำแหน่งติดต่อกันยาวนานในช่วงแรก( 2479 – 2487)
ข้อมูลอีกเรื่องที่ควรเชื่อมต่อ –สำนักงานทรัพย์สินฯก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2479 ถือได้ว่าเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร (2475) ในกระบวนการปรับโครงสร้างพระคลังข้างที่เดิม ช่วงเวลานั้นสำนักงานทรัพย์สินฯมีบทบาทต่อนโยบายเศรษฐกิจหลายประการ ภายใต้การกำกับโดยรัฐมนตรีคลังของคณะราษฎร ผู้อำนวยการทรัพย์สินฯในเวลานั้น ก็ถือว่าเป็นคนของคณะราษฎร อย่างไรก็ตามความผันแปรครั้งประวัติศาสตร์ของสำนักงานทรัพย์สินฯในช่วงนั้น กลับเป็นผลที่ดีอันมั่นคงยั่งยืนต่อจุฬาฯ
จุฬาฯเป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวที่มีที่ดินใจกลางกรุงเทพฯ และมีมากพอที่สามารถสร้างและใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ถึง 30% หรือ 374 ไร่ (อ้างจากhttp://www.property.chula.ac.th ) พื้นที่สำคัญเชื่อมต่อกับ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน คือสยามสแวคร์ และ MBK Center ซึ่งมีพัฒนาการเชิงพาณิชย์ที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจ
MBKCenter เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนแปลงการบริหารทรัพย์สินจุฬาฯ เปิดพื้นที่ให้เอกชนเพื่อสร้างศูนย์การค้า เป็นช่วงเดี่ยวกันตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา—สำนักงานจัดการทรัพย์สิน (ปี 2514)
โครงการศูนย์การค้ามาบุญครอง(ชื่อเดิม) ศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งแรกในกรุงเทพฯ ดำเนินการโดย ศิริชัย บูลกุล แต่ด้วยไม่เป็นตามแผนการ ต้องชะลอไปช่วงหนึ่ง กว่าจะเริ่มก่อสร้าง สังคมธุรกิจไทยต้องเผชิญกับการปรับตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจ โครงการลงทุนจำนวนมากด้วยเงินกู้ทั้งในและต่างประเทศ ประมาณ3000 ล้านบาท เป็นเหตุให้มาบุญครองต้องดิ้นรนอยู่เกือบสิบปี ในที่สุด เจ้าหนี้เข้ายึดกิจการส่วนใหญ่ไปราวปี2530-2
ศูนย์การค้ามาบุญครองปัจจุบันตกอยู่ในการบริหารโดยกลุ่มธนชาต โดย บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด(มหาชน) ถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญที่เข้าไปถือหุ้นในสยามพิวรรธน์ ถึงประมาณ 30%
ส่วนสยามสแควร์ เป็นตำนานศูนย์การค้าแห่งแรก –ศูนย์การค้าแนวราบ เปิดโล่งขนาดใหญ่ใจกลางเมืองแห่งเดียว เริ่มต้นในปี 2505 จากผู้ประกอบการท้องถิ่นรายย่อย “ย้ายมาจากย่านธุรกิจอื่น เช่น วังบูรพา สุรวงค์ สีลม” “ปี 2527 ได้มีการรื้อโรงโบว์ลิ่งออก แล้วสร้างเป็นอาคารขนาดใหญ่ซึ่งปัจจุบันก็คือ โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์” ทั้งนี้ยอมรับด้วยว่ามีปัญหาการพัฒนา “ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป….. แต่อย่างไรก็ตามการปรับปรุงดังกล่าวยังขาดภาพรวมการพัฒนา” (ข้อความที่อ้างมา ตัดตอนมาจาก http://www.property.chula.ac.th )
จากแรงกดดันของการพัฒนาในอย่างโดดเด่นของพื้นที่ฝั่งตรงข้าม การพัฒนาอย่างขาดภาพรวมของสยามสแควร์จึงดำเนินไปอย่างแข็งขันมากขึ้นในปัจจุบัน อาทิ โครงการอาคารสยามกิตติ์ @ สยามสแควร์ และ SIAM SQUARE ONE (กำลังก่อสร้าง)
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในไม่ช้าพลังของ Shopping paradise ต่างๆที่อ้างอิงถึง จะผนึกอย่างเป็นระบบและแผนการในภาพใหญ่มากขึ้น มีพลังมากขึ้น
โมเดลธุรกิจควรสะท้อนพัฒนาการ อย่างเด่นชัด สู่ธุรกิจที่มีมิติละเมียดเชื่อมโยงคุณค่าทางสังคม ในฐานะภาพเชิงอุดมคติของผู้มีรากเหง้าในกรุงเทพฯ