ภาพใหญ่พัฒนาการธุรกิจค้าปลีกในสังคมไทยในช่วง 5-6 ทศวรรษ กับความเคลื่อนไหวของกลุ่มเซ็นทรัล สร้างมุมมองที่น่าสนใจ
(1)
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดศักราชการก่อตั้งกิจการต่างๆ มากมาย ในยุคเริ่มต้นยุคใหม่ของธุรกิจครอบครัว เป็นจุดตั้งต้นการสร้างอาณาจักรธุรกิจไทย เติบโตต่อเนื่องกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับธุรกิจร้านขายหนังสือต่างประเทศเล็กๆที่สี่พระยา เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนการกำเนิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในประเทศไทย ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในเวลาต่อมา
สังคมธุรกิจไทยกำลังขยายตัว ในช่วงหลังสงครามโลก ปรากฏกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เติบโตต่อเนื่องมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเปิดพรมแดนความรู้ใหม่(จากหนังสือต่างประเทศ)ของพวกเขา เชื่อมโยงวิถีชีวิตให้มีความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกมากขึ้น
“พวกเด็กสาวแต่งตัวประกวดประชันกันตามแฟชั่น สวมเสื้อสีสวยงดงามดังนางแบบที่ออกมาจากแคตตาล็อก แบบเสื้อสาวๆที่ล้ำหน้ากว่าคนอื่นๆ ก็ไล่แว่นกันแดดสีดำ สวมเสื้อไล่อาบน้ำสองท่อน ซึ่งทำให้เห็นเนื้อขาวผ่องตรงกลาง เป็นแฟชั่นใหม่ของเสื้ออาบน้ำที่ตกมาถึงเมืองไทย” หนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน” (2533) ของคุณหญิงมณี ศิริวรสาร เล่าประสบการณ์ที่หัวหินในปี 2490 (เรื่องเล่าที่สั่นสะเทือนสังคมชั้นสูง ของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมีชีวิตที่โลดโผน เป็นคนในตระกูลบุนนาค นักเรียนทุน ก.พ.เคยศึกษาที่ Oxford University ต่อมาแต่งงานกับพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตซึ่งถือโอรสบุญธรรมของรัชการที่ 7 ในเวลานั้นรัชการที่7 ประทับอยู่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เธอมีโอกาสตามเสด็จไปยังที่ต่าง ๆรวมทั้งเมืองตากอากาศสำคัญ ๆในยุโรป เธอมีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ผู้คนและสังคมในช่วงเวลานั้น)
นั่นคือภาพบางส่วนของวิถีชีวิตสมัยใหม่ สะท้อนความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออก กับพัฒนาการธุรกิจค้าปลีกไทย
ปี 2499 เตียง จิราธิวัฒน์ เริ่มต้นเปิดห้างเซ็นทรัลแห่งแรกที่วังบูรพา ซึ่งถือเป็นต้นแบบห้างสรรพสินค้า(Department store)ในไทย
(2)
อิทธิพลสหรัฐ มากับสงครามเวียดนาม (2507-2518) มิได้มีเฉพาะในเรื่องการเมืองและการทหาร หรือในรูปของการช่วยเหลือให้คำปรึกษาและการเงิน ในการปรับโครงสร้างสังคม และนโยบายเศรษฐกิจเท่านั้น ยังรวมถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ และวิถีชีวิตผู้คนด้วย
ธุรกิจสหรัฐขยายการลงทุน เข้ามาในประเทศไทย อย่างเป็นขบวน ส่วนหนึ่งเป็นกิจการเกี่ยวกับConsumer Product อิทธิพลจากโลกตะวันตกมีหลายมิติ กำลังลงลึกถึงวิถีชีวิต และรสนิยมของคนไทย เป็นกระบวนเชิงขยาย จากชนชั้นนำกลุ่มเล็ก ๆไปสู่ฐานที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางที่เติบโตในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว จากช่วงนั้น ฝั่งลึกในสังคมตลอดมา
ธุรกิจค้าปลีกในไทยเกิดขึ้นอย่างคึกคัก เปิดฉากด้วยการมาของโมเดลห้างสรรพสินค้าจากญี่ปุ่น—Daimaru (2507) ตามมาด้วยห้างสินค้าไทยไทยเป็นขบวนต่อเนือง — พาต้า (2518) ตั้งฮั้วเส็ง (2519) เมอร์รี่คิงส์ (2520) บางลำพู (2521) โรบินสัน และ แก้วฟ้า(2522)
ทั้งนี้ เซ็นทรัล แสดงบทบทนำในธุรกิจห้างสรรพสินค้าอย่างเด่นชัด ด้วยการเปิด เซ็นทรัล สีลม(2511)และเซ็นทรัล ชิดลม (2516)
(3)
การขยายอิทธิพลของวิถีชีวิตสมัยใหม่ก้าวไปอีกขึ้นในช่วงก่อนวิกฤติการณ์เศรษฐกิจครั้งใหญ่ปี2540 เครือข่ายการค้าสมัยใหม่เติบโตอย่างมากมาย จากการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง อัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไทย (GNP) ทะยานขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 13.2% (ปี2531) ดัชนีตลาดหุ้นไทยทะยานขึ้นทะลุ 1,000 จุดในปี2533 เป็นปีที่มีบริษัทจดทะเบียนถึง 214 บริษัท มูลค่าการซื้อขายต่อวันโดยเฉลี่ย 2,500 ล้านบาท จากนั้นในปี2536 ดัชนีตลาดหุ้นไทยพุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 1,500 จุด ในขณะที่มีบริษัทจดทะเบียนมากที่สุดถึง 347 บริษัท มูลค่าการซื้อขายต่อวันมากถึงประมาณ 9,000 ล้านบาท
ธุรกิจสื่อสารเป็นสัญลักษณ์ของสังคมยุคใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการตอบสนองตลาดระดับผู้บริโภคเติบโตอย่างมาก ขยายเครือข่ายกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะความพยามเชื่อมกรุงเทพฯเข้ากับหัวเมืองสำคัญ ขณะเดียวกันธุรกิจค้าปลีกขยายตัวอย่างมาก พร้อมทั้งพัฒนารูปแบบ และมีการแข่งขันมากขึ้น
ในขณะที่ห้างสรรพสินค้า(Department store) โดยห้างเซ็นทรัลเป็นผู้นำเปิดสาขามากขึ้นในกรุงเทพฯ ห้างจากญี่ปุ่นมาร่วมขบวนเพิ่มขึ้น—Sogo (2527) และ Isaeton (2532)
ธุรกิจค้าปลีกมีการพัฒนา ปรากฏรูปแบบหลากหลาย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นอย่างครึกโครมในโมเดลศูนย์การค้า(Shopping mall) เริ่มจากเซ็นทรัล ลาดพร้าว (2525) ตามมาด้วย เดอะมอลล์ รามคำแหง ( 2526) เสรีเซ็นเตอร์ และ ซีคอนสแควร์ ยึดชานเมืองฝั่งตะวันออก เปิดในปีเดียวกัน(2527) ขณะเดียวกันใจกลางกรุงเทพฯ อัมรินทร์พลาซ่า (2527) โครงการศูนย์การค้าและอาคารสำนักงานแห่งใหม่เปิดตัวขึ้น ริมถนนเพลินจิตร ฝั่งตรงข้ามเซ็นทรัลชิดลม รวมทั้ง ศูนย์การค้ามาบุญครอง(2528)
ในเชิงภูมิศาสตร์ เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกกำลังขยายตัว ครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพ โดยเฉพาะเริ่มขยายตัวอย่างจริงจังเข้ายึดพื้นที่ชานเมือง ขณะเดียวกันห้างเซ็นทรัล มีความพยายามอย่างแข็งขันเข้าสู่พื้นที่หัวเมือง กว่าจะฝ่าแรงต้านสำเร็จต้องใช้เวลาหลายปี เริ่มต้นด้วยการเปิดสาขาที่เชียงใหม่( 2535)
ในเวลาเดียวกันนั้น ได้ปรากฏโฉมคู่แข่งใหม่ที่น่าเกรงขาม เครือข่ายค้าปลีกระดับโลกเคลื่อนขนวนเข้ามาเมืองไทย เริ่มต้นโมเดล ค้าปลีกขนาดใหญ่จากยุโรปทีเรียกว่า Hypermarket เป็นครั้งแรก—Makro (2531) และ Carrefour (2539) พร้อมๆกับ รูปแบบขนาดเล็ก –ร้านสะดวกซื้อ(Convenience store) ที่เติบโตอย่างมากในญี่ปุ่น บุกเข้าเมืองไทย ทั้ง 7-Eleven (2531) และ Family Mart (2536)
นอกจากนี้รูปแบบค้าปลีกสมัยใหม่ยังขยายตัวไม่หยุดหย่อน ไปสู่สินค้าเฉพาะอย่าง ทดแทนร้านค้าแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะ กรณีการเกิดขึ้นของร้านค้าวัสดุก่อสร้าง — Home Pro (2538) เครือข่ายร้านหนังสือ–Nai-in (2537) และ Se-ed book center (2539)
กลุ่มเซ็นทรัลปรับตัวเข้าสู้กระแสใหม่ทันท่วงที สร้างเครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่เช่นเดียวกับ Makro และCarrefour ในนาม Big C (2536) ขณะเดียวกันสร้างเครือข่ายค้าปลีกสินค้าเฉพาะอย่าง ในปี 2539 —ร้านหนังสือ B2S และ เครื่องไฟฟ้า Power Buy
(4)
วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี2540 เป็นวิกฤติการณ์ที่รุนแรงที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย และส่งผลกระทบไปในระดับภูมิภาค ธุรกิจค้าปลีกต้องเผชิญปัญหาด้วยเช่นกัน แต่ดูเหมือนปรับตัวได้ค่อนข้างเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่น มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ และมีแผนการใหม่ๆเกิดขึ้นทั้งในช่วงก่อนหน้าและหลังวิกฤติการณ์
ในขณะที่ซีพีขายหุ้นสวนใหญ่ในกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ให้กับTesco แห่งอังกฤษ เปลี่ยนชื่อเป็น Tesco Lotus (2541) กลุ่มเซ็นทรัลเดินแผนเช่นเดียวกัน ขายหุ้นส่วนใหญ่ของ Big C ให้กับ Casino แห่งฝรั่งเศส เป็นการชั่วคราวในปี 2542
เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจีพยายามปรับโครงสร้างเครือข่ายจัดจำหน่ายสินค่าวัสดุก่อสร้างให้เป็นรูปแบบModern trade โดยใช้ชื่อ Cementhai Home mart (2541) กลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งมองเห็นโอกาสของเครือข่ายค้าปลีกสินค้าเฉพาะอย่างมาพักหนึ่ง ได้เปิดตัว Homework (2544)
การปรับตัวของธุรกิจค้าปลีกหนึ่งทศวรรษ หลังวิกฤติการณ์ ปี 2540 ดำเนินไปอย่างเข้มข้นและมีโมเดลหลากหลาย มีหลายกระแสเกิดขึ้นอย่างซับซ้อน ทั้งปรากฏโฉมหน้าผู้เล่นรายใหม่ที่น่าเกรงหลายรายขึ้นด้วย
หนึ่ง– ย่านศูนย์การค้าใหญ่ การเกิดขึ้นของสยามพารากอน (2548) เป็นการต่อยอดและผนึกกำลัง สร้างแรงดึงดูดครั้งใหญ่ เชื่อมโยงศูนย์การค้าในพื้นที่ต่อเนือง ทั้งศูนย์การค้าสยาม , สยามดิสคัฟเวรี่ รวมทั้งศูนย์การค้ามาบุญครอง ซึ่งเป็นพันธมิตร เป็นโมเดลการค้าปลีกแบบใหม่ที่มีพลัง เป็นย่านศูนย์การค้าใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯอย่างแท้จริง โดยอยู่ภายใต้การบริหารของกลุ่มธุรกิจเดิมที่ปรับโฉมใหม่–สยามพิวรรธน์
กลุ่มเซ็นทรัลที่มีเครือข่ายกระจายในบริเวณเดียวกัน ต้องต่อสู้แย่งชิงความเป็นผู้นำ การแข่งขันในโมเดลใหม่จึงดุเดือดขึ้น เมื่อกลุ่มเซ็นทรัล ปรับแผนเข้าสู่เกม ด้วยการเปิดตัว Central Embassy(2557) เพื่อเชื่อมโยงกับCentral World และ เซ็นทรัลชิดลม ที่อยู่ใกล้เคียง ปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นต่อเนื่องไปยังถนนสุขุมวิท โดยกลุ่มเดอะมอลล์– จากEmporium ( 2540 ) ผนึกกำลังกับ Emquartier (คาดว่าเปิดปลายปี 2557 ) และ Emsphere (แผนการเปิดปี 2559 )
สอง–สร้างเครือข่ายหัวเมืองอย่างจริงจัง ถือเป็นกระแสหลักโดยทั่วไป โดยเฉพาะธุรกิจที่มีเครือข่าย ที่สำคัญได้แก่ ธนาคาร และธุรกิจสื่อสาร รวมถึงธุรกิจค้าปลีก กลุ่มเซ็นทรัลมุ่งสู่หัวเมืองมานานพอสมควร ย่อมเห็นโอกาสที่กว้างขึ้น ศักราชของการสร้างเครือข่ายหัวเมือง จึงเริ่มขึ้นอย่างขนานใหญ่
รวมทั้งปรากฏการณ์อันเป็นละลอกคลื่น ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ อย่าง Tesco Lotus แผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่จนถึงระดับอำเภอ ขณะเดียวกัน หลังจาก BigC ของกลุ่มเซ็นทรัล ซื้อเครือข่าย Carrefour ในประเทศไทย (2553) ก็ประกาศแผนการใหญ่ในการเปิดสาขาในต่างจังหวัด
สาม—เครือข่ายค้าปลีกขนาดเล็ก (Convenience store) ขยายตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยเฉพาะเครือข่ายที่มีฐานจากญี่ปุ่น 11-Eleven ผู้มาก่อนขยายตัวเข้าสู่ระดับตำบล กลุ่มเซ็นทรัล ได้เข้าถือหุ้นใหญ่เครือข่าย Family Mart ในปี2555 ประกาศขยายสาขาอย่างเต็มกำลัง ในเวลาเดียวกัน กลุ่มสหพัฒน์ซุ่มเงียบข้ามไลน์ธุรกิจได้ร่วมมือกับ Lawson (2556)
สี่—จินตนาการใหม่ๆ ในรูปแบบธุรกิจหลากหลายอย่างนาทึ่ง
-–ธุรกิจค้าปลีกเชื่อมกับชุมชนกลางเมืองที่มีพื้นที่จำกัด ที่มีบุคลิกเมืองสมัยใหม่ หรือผนวกเข้ากับหมู่บ้านจัดสรรชั้นดี นำโดยกลุ่มเคอีแลนด์ และสยามฟิวเจอร์ เรียกโมเดลใหม่ว่า community mall หรือ lifestyle center
—ศูนย์การค้าที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น ที่เรียกกันว่า Super regional mall เริ่มต้นจากการเกิดขึ้นของ Mega Bangna ในปี 2555 (ร่วมทุนกับIKEA Sweden ) เซ็นทรัลก็ขยับตัวด้วย เริ่มโครงการ Central Westgate ที่บางใหญ่ (จะเปิดตัวในปี 2558)
— OUTLET ของกลุ่มธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่น โดยกลุ่ม Fly now และ Pena House ยึดพื้นที่ริมทางหลวงหลักสู่ภาคต่างๆ
(5)
และแล้วมาสูกระแสหลักล่าสุด ธุรกิจไทยเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือเออีซีซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2558
กลุ่มเซ็นทรัลแสดงบทบาทผู้นำในการสร้างเครือข่ายธุรกิจในระดับภูมิภาค หลังจากมีประสบการณ์จากการเปิดสาขาหังโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน มาตั้งแต่ปี2553 แผนการลงทุนเปิดเครือข่ายในอาเซียนจึงดำเนินไปอย่างจริงจังและคึกคัก เริ่มต้นที่เมืองหลักในเวียดนาม ทั้งฮานอย และ โฮจิมินท์ ไปสู่ อินโดนิเชียและประเทศอื่นๆต่อไป
เรื่องราวและบริบท อ้างอิงกับ ลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญๆข้างต้น จำเป็นต้องขยายความต่อไป