ภาพใหญ่ธุรกิจค้าปลีก ความเคลื่อนไหวอันคึกคัก สร้างแรงกระเพื่อมสังคมธุรกิจไทยมากที่สุด มักมาจากผู้เล่น(Player) ยักษ์ใหญ่
(1)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครือข่ายค้าปลีกที่มีฐานมาจาก Hypermarket ได้สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมหลายมิติ เมื่อCasino Groupแห่งฝรั่งเศสประกาศขายกิจการ Big C เครือข่ายค้าปลีกอันดับสองของไทย รวมทั้งเครือข่ายมากกว่า 30 สาขาในเวียดนาม ก็จะสร้างปฏิกริยาที่น่าสนใจอยางต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแวดวงสังคมธุรกิจไทย
เชือกันว่าจะกลายเป็นปรากฎการณ์อันคึกคักอีกครั้งหนึ่ง มาจากความเคลือนไหวของธุรกิจใหญ่ ดังที่เคย “ปะทะ” กันอย่างครึกโครมมาแล้ว ในกรณี Carrefour เมื่อไม่ถึง 5 ปีที่ผ่านมา
“กลุ่มคาสิโน ได้แจ้งว่า มีผู้แสดงความสนใจจะซื้อหุ้นของบริษัทบิ๊กซี จากกลุ่มคาสิโน และกลุ่มคาสิโนกำลังพิจารณาว่าจะขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทฯ หรือไม่ อย่างไรก็ตาม บิ๊กซี ยังไม่ได้รับข้อมูลในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติมแต่อย่างใด” บริษัทบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)ได้ชี้แจงกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างระมัดระวัง (ชี้แจงข่าวเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นของบริษัท—18 มกราคม 2559)
ในความเป็นจริงแล้วCasino Group หรือ groupe-casino แถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจนมากพอสมควรแล้ว (ผ่าน http://www.groupe-casino.fr/en/category/the-group/news/)
—15 ธันวาคม 2558 Casino Group ดำเนินแผนปรับโครงสร้างการเงินให้เข้มแข็งขึ้น โดยมีแผนเกี่ยวกับทรัพย์สินในประเทศไทย โคลัมเบีย รวมทั้งจะขายกิจการมิใช่ธุรกิจหลัก(non-core assets )ในเวียดนาม ( จากข่าว http://www.groupe-casino.fr/— Casino Group decides to strengthen its financial flexibility with a deleveraging plan above €2bn in 2016 )
—14 มกราคม 2559 “ในกระบวนการต่อเนื่องการขายกิจการในเวียดนาม กลุ่ม บริษัท คาสิโน ปรากฏว่า มีผู้สนใจกิจการบิ๊กซีในประเทศไทย ทางกลุ่มจะดำเนินการไปสู่การขายสินทรัพยังกล่าว โดยจะดำเนินการอย่างดีที่สุด เพื่อผลประโยชน์ของบริษัท และผู้ถือหุ้น” (จากข่าว http://www.groupe-casino.fr/— Steps towards the disposal of Big C Thailand) ข่าวสำคัญชิ้นข้างต้น เชื่อว่าเป็นที่มาของคำชี้แจงของ Big C ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯอย่างเป็นทางการ ในฐานะกิจการที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย
อีกข่าวหนึ่งที่น่าสนใจของ Casino Group ต่อเนื่องกัน นำเสนอในเวลาต่อมา (15 มกราคม 2559) สะท้อนสาระ เป็นแรงกดดันที่สำคัญมากๆ เมื่อ Standard & Poorบริษัทจัดอันดับเครดิตระดับโลก ประเมินฐานะทางการเงินCasino Group ล่าสุด โดยได้ปรับลดความเชื่อถือลง จากระดับBBB- เป็น CreditWatch Negative ทั้งนี้อ้างว่า เกี่ยวข้องอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยเฉพาะในประเทศบราซิล Casino Groupมีครือข่ายค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดอเมริกันใต้ โดยเฉพาะในบราซิลและโคลัมเบีย
Groupe-Casino เครือข่ายค้าปลีกฝรั่งเศส ก่อตั้งมากว่า 150 ปี เริ่มจากกิจการร้านขายของชำ เข้าสู่โมเดลHypermarket เมื่อปี2513 จากนั้นมีการปรับตัวทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว ตามหลัง Carrefour (Carrefour แห่งฝรั่งเศส ก่อตั้งขึ้นในปี2501 เป็นผู้บุกเบิกโมเดล Hypermarket เมื่อปี2506 เริ่มด้วยจากธุรกิจSupermarket) อย่างกระชั้นชิด ในฐานะคู่แข่งรายสำคัญ กับความพยายามขยายเครือข่าย Hypermarket ทั้งในยุโรป และนอกยุโรป Groupe-Casino มีเครือข่ายรูปแบบและแบรนด์หลากหลาย ที่สำคัญเป็นเจ้าของแบรนด์เก่าแก่ของยุโรป อาทิ Monoprix, Casino Supermarchés และ Géant Casino
ขณะที่แบรนด์ Big C แท้จริงแล้ว เป็นแบรนด์ใหม่ มีลักษณะท้องถิ่นมากๆ เกิดขึ้นที่เมืองไทยโดยกลุ่มเซ็นทรัลเมือประมาณ 2 ทศรรษมานี้ ต่อมาแบรนด์ Big C ขยายเครือข่ายไปยังเวียดนามและลาว
ในภาพใหญ่ Hypermarketในสังคมไทย เป็นแกนกลางธุรกิจค้าปลีก ในฐานะธุรกิจใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจ มีห่วงโซ่เชื่อมโยงธุรกิจที่เกี่ยวข้องและต้อเนื่องอย่างกว้างขวาง ด้วยเครือข่ายในรูปแบบหลากหลาย (ทั้ง Hypermarket, SupermarketและConvenience store ) และครอบคลุมมากที่สุด(มีเครือข่ายทั่วประเทศรวมกันมากที่สุด Hypermarket เกือบ400 สาขา Supermarket มากว่า 200สาขา และ Convenience store มากถึงประมาณ 10,000 สาขา –อ้างจาก ลมหายใจค้าปลีก/เครือข่ายระดับโลก(2) ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 25 กันยายน 2558 ) สามารถเข้าถึงตลาดหรือผู้บริโภคอย่างกว้างขวางและลงลึกมากที่สุด
ในแง่ธุรกิจเป็นแรงปะทะ จากการแข่งขันกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ในสังคมไทย ดังรายงานประจำปี 2557บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) นำเสนอภาพรวมไว้ “การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกยังคงทวีความรุนแรงโดยเฉพาะการเติบโตของร้านค้าขนาดเล็ก ผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกของไทยมีจำนวน 3 รายคือ บิ๊กซี, เทสโก้โลตัส และซีพีออลล์/แมคโคร ซึ่งทุกรายล้วนแล้วแต่มีรูปแบบร้านค้าที่หลากหลายและมีเครือข่ายทั่ว ภูมิภาค”
ในช่วง2 ทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่เครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่ เคลื่อนไหวกันอย่างคึกกคัก ในการขยายเครือข่ายในสังคมไทยอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ก็มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจกันอย่างผันผวนตลอดมาเช่นกัน (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบ–พัฒนาการเครือข่าย Hypermarket ในสังคมไทย)
เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในปี2554 เมื่อ Carrefour ประกาศขายกิจการในเมืองไทย ปรากฏว่า กลุ่มธุรกิจใหญ่ไทยเสนอแข่งขันกันเพื่อเข้าซื้อกิจการอย่างคึกคัก ทั้งเครือข่ายค้าปลีกยักษ์ใหญ่เดิม ทั้งกลุ่มเซ็นทรัลและซีพี ทั้งกลุ่มที่พยายามเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะ ปตท. และทีซีซี
คราวนี้จะเป็นดีลที่ใหญ่กว่ามาก—หนึ่ง-เครือข่ายและขนาดธุรกิจ Big C ใหญ่กว่ากรณี Carrefour สอง–อาจเป็นดีล รวมทั้งไทย-เวียดนาม-ลาว กับภาพ AEC และสาม–โมเดลธุรกิจค้าปลีก ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีความหลากหลายและ ยืดหยุ่น
แรง ปะทะ จะรุนแรงกว่าเดิม อย่างไม่มิพักสงสัย
——————————————————
พัฒนาการเครือข่าย Hypermarket ในสังคมไทย
ปี 2531
เครือข่ายค้าปลีกระดับโลก โมเดลค้าปลีกขนาดใหญ่จากยุโรปทีเรียกว่า Hypermarket โดยซีพีร่วมมือกับ SHV Holdings แห่งเนเธอร์แลนด์ เปิดMakro ครั้งแรกในเมืองไทย
ปี 2537
—Makro ภายใต้การบริหารบริษัทร่วมทุน–สยามแมคโคร เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
—ซีพี เริ่มต้นธุรกิจค้าปลีกแบบ Hypermarket ของตนเองขึ้น–โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์
—กลุ่มเซ็นทรัลเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกโมเดล Hypermarket เปิด Big C สาขาแรก ที่ถนนแจ้งวัฒนะ
ปี2538
บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์เข้าตลาดหุ้น
ปี 2539
กลุ่มเซ็นทรัลร่วมทุนกับ Carrefour SA ธุรกิจค้าปลีกระดับโลกแห่งฝรั่งเศสอีกราย เปิดตัว Carrefour
ปี 2541
–โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ขายกิจการให้กับ Tesco ผู้นำค้าปลีกระดับโลกแห่งสหราชอาณาจักร
–เซ็นทรัลยุติการร่วมทุน ตัดสินใจขายหุ้นคืนให้ Carrefour
ปื 2542
Casino Group แห่งฝรั่งเศส เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน Big C กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ปี2554
Big C ซื้อกิจการ Carrefour ในประเทศไทย
ปี 2556
กลุ่มซีพีซื้อกิจการ Makro ในประเทศไทย
———————-
พิมพ์ครั้งแรก….ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 มกราคม 2559
(2)
ความเคลื่อนไหวอันคึกคัก กรณีซื้อเครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่ – Big C อาจขยายวงออกสู่ระดับภูมิภาคด้วย
เนื่องด้วยเชือว่า กรณี Big C จะกลายเป็นดีลใหญที่สุด ในวงการค้าปลีกทั้งไทยและระดับภูมิภาคในช่วงเวลาจากนี้ไป ทั้งนี้เป็นความคาดหมายของ Groupe Casino แห่งฝรั่งเศสเองด้วย
ในเอกสารนำเสนอต่อนักลงทุน(Investor Presentation – January 2016) เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา (หากสนใจรายละเอียดโปรดติดตาม –http://www.groupe-casino.fr/fr/wp-content/uploads/sites/5/2014/11/Investor-presentation-January-2016-2016-01-18.pdf-) Groupe Casino ตั้งใจกล่าวถึง Big C ประเทศไทยไว้อย่างสำคัญพอสมควร
ประเด็นแรก—Groupe Casino มอง Big Cในประเทศไทย ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจอยู่ในภาพใหญ่ ด้วยมีแผนการพัฒนากิจการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
จากแถลงข่าวเมื่อ15 ธันวาคม 2558 Groupe Casino ประกาศดำเนินแผนปรับโครงสร้างการเงินให้เข้มแข็งขึ้น โดยมีแผนจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินในประเทศไทย โคลัมเบีย รวมทั้งขายกิจการที่มิใช่ธุรกิจหลัก (non-core assets) ในเวียดนาม ทั้งนี้ได้กล่าวถึงBig Cในไทยอย่างเจาะจงว่า มีทรัพย์สินสำคัญเป็นพื้นที่ให้เช่ามากถึง 800,000 ตารางเมตร
ในวันเดียวกันนั้น Big C ประเทศไทยได้ทำหนังสือชี้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขยายความแผนการทางธุรกิจใหม่สอดคล้องกันกับ Groupe Casino ไว้อย่างน่าสนใจ
“ในปี 2559 บริษัทยังเน้นการขยายสาขา โดยมีแผนเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้นจำนวน 6 สาขา บิ๊กซีมาร์เก็ตจำนวน 3 สาขา และร้านมินิบิ๊กซีจำนวน 75 สาขา และแผนการปรับปรุงพื้นที่เช่าและพื้นที่ขายของไฮเปอร์มาร์เก็ตให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 จำนวน 7 สาขา” บางส่วนบางตอนของจดหมาย กล่าวถึงแผนการขยายเครือข่ายสาขาไว้ ดูจะเป็นแผนเชิงรุกมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้า
ขณะเดียวกันได้ขยายความ จากแถลงการณ์ของ Groupe Casinoในฝรั่งเศสให้มีความชัดเจนมากขึ้น และดูเหมือนจะได้รับการตอบรับเชิงบวกจากนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย
“แผนธุรกิจของบริษัทสำหรับปี 2559 ยังรวมถึงทางเลือกวิธีการระดมเงินสดจากทรัพย์สินของบริษัท อันได้แก่การจัดตั้งกองทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust หรือ REIT) โดยยังคงรวมผลการดำเนินงานทั้งหมดของทรัพย์สินดังกล่าวมารวมกับผลประกอบการโดยรวมของบริษัท ในการนี้คาดว่าทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่จะใช้ในการะดมเงินสดจะเป็นทรัพย์สินประเภทศูนย์การค้า ที่บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารศูนย์การค้าทั้งหมด 174สาขา มีพื้นที่ให้เช่าทั้งหมดประมาณ 800,000 ตารางเมตร โดยตั้งอยู่ในพื้นที่หลักทั่วประเทศ โครงการพิจารณาจัดตั้งREIT ดังกล่าวจะส่งเสริมและรองรับการพัฒนาการขยายธุรกิจของบริษัท ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท” ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันมาก่อนหน้าแล้ว Big Cได้ปรับแผนธุรกิจ ปรับปรุงเครือข่ายสาขาใหม่ ให้มีพื้นที่ให้เช่าเพิ่มมากขึ้นมากขึ้น เนื่องจากมองว่าให้ผลตอบแทนดีกว่าการขายสินค้าของตนเอง
ประเด็นที่สอง—หลังจากมีผู้เสนอตัวขอซื้อกิจการ Big Cในประเทศไทยอย่างคึกคัก Groupe Casino ตัดสินใจเริ่มกระบวนการเจรจาซื้อขายกิจการอย่างจริงจัง ในเอกสารนำเสนอต่อนักลงทุน (Investor Presentation – January 2016) มองว่าการขายกิจการในประเทศไทย จะแก้ปัญหาโครงสร้างทางการเงินของ Groupe Casinoโดยรวมได้อย่างดี และคาดหวังว่าจะเป็นดีลได้ราคาดี โดยอ้างอิงดีลที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม
ภาพดังกล่าวย่อมเชื่อมโยงไปสู่ปรากฎกาiณ์ ซึ่งผมเคยเสนอไว้(พลวัตรธุรกิจค้าปลีกในสังคมไทยมีสีสันมากขึ้น มาจากการซื้อและควบรวมกิจการ(Merger and acquisitionหรือ M&A ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2558) ภาพนั้นไม่เพียงปรากกการร์ต่อเนื่อง หากได้ขยายจากระบบเศรษฐกิจไทย สู่ AEC แล้ว
—ปลายปี2553 Groupe Casino ซื้อเครือข่าย Carrefourในประเทศไทย (มีสาขาทั้งสิ้นจำนวน 42 แห่ง) ด้วยมูลค่า 868 ล้านยูโร (เทียบอัตราแลกเปลี่ยน 1ยูโรเท่ากับประมาณ41บาทในขณะนั้น คิดเป็นเงินมากกว่า35,000ล้านบาท) ขณะที่ยอดขาย Carrefour ทั้งปี(ในช่วงนั้น)อยู่ที่ 723 ล้านยูโร
—ปี2556 ซีพีออลล์(ธุรกิจในเครือซีพี)ซื้อเครือข่าย Makroในประเทศไทย (มีสาขารวมทั้งสิ้น 64 แห่ง และร้านจำหน่ายอาหารแช่แข็งขนาดเล็ก “สยามโฟรเซ่น” อีก 5 แห่ง) ด้วยมูลค่าประมาณ 188,880 ล้านบาท ขณะที่ยอดขาย Makro ทั้งปี(ในช่วงนั้น) ประมาณ 120,000ล้านบาท
—ปี2559 ดีลเพิ่งจบไปเมื่อไม่ถึงเดือนมานี้ (อ้างจาก METRO GROUP completes sale of METRO Cash & Carry Vietnam to TCC, 7 January 2016—http://www.metrogroup.de/en/)
TCC Land International Pte. Ltd. (เข้าใจว่าเป็นบริษัทจดทะเบียนในสิงคโปร์) ถือเป็นเครือข่ายของกลุ่มทีซีซี(ผมชอบเรียกว่า“ไทยเจริญ”) ซื้อ METRO Cash & Carry Vietnam(มีสาขาค้าส่งแบบบริการตนเองที่เรียกว่า Cash & Carry ทั้งสิ้น 19สาขา) ด้วยมูลค่า 655 ล้านยูโร(เทียบอัตราแลกเปลี่ยน 1ยูโรเท่ากับ39บาทในปัจจุบัน คิดเป็นเงินมากกว่า25,500ล้านบาท)ขณะที่ยอดขาย METRO Cash & Carry Vietnam ทั้งปี(งบการเงินปี 2014/15)อยู่ที่ 507 ล้านยูโร
METRO GROUP ธุรกิจค้าปลีกระดับโลกของเยอรมนี มีเครือข่ายมากกว่า 2,000แห่ง ใน 30 ประเทศทั่วโลก เข้าสู่ตลาดเวียดนามในปี2545 ซึ่งถือว่าไม่ประสบผลสำเร็จทางธุรกิจเท่าที่ควร( Groupe Casino ใช้คำว่า “loss-making Metro Vietnam” ใน Investor Presentation – January 2016 )
ความจริงดีลดังกล่าวได้ตกลงเบื้องต้น ถึงขั้นแถลงข่าวกันมาแล้ว ตั้งแต่สิงหาคมปี 2557แล้ว แต่ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 กลุ่มทีซีซีได้ขอเปลี่ยนผู้ซื้อ จากเบอร์ลี่ ยุคเกอร์(Berli Jucker Public Company Limited หรือBJC ) เป็น TCC Land International ทำให้การลงนามสัญญาเป็นทางการล่าช้าออกไปพอสมควร
เมื่อเปรียบเทียบดีลข้างต้น ทั้งในแง่เครือข่ายธุรกิจ (Big C มีสาขาในไทย 122 แห่งซึ่งอาจรวมในเวียดนามอีก 22 แห่ง )และผลประกอบการ(โปรดพิจารณา Big C (ไทย)ข้อมูลทางการเงิน ประกอบ ) กล่าวได้ว่าBig C จะเป็นดีลที่ใหญ่กว่า หากพิจารณารวมไปถึงแรงบันดาลใจทางธุรกิจของผู้ซื้อด้วยแล้ว แค่เฉพาะผู้เล่นรายใหญ่ในไทยที่มองเห็นๆกันอยู่
เรื่องราวยิ่งน่าติดตามมากขึ้นไปอีก
————————————————-
Big C (ไทย)ข้อมูลทางการเงิน
(ล้านบาท)
ปี 2553 2554 2555 2556 2557
สินทรัพย์ 39,673 90,726 94,163 97,164 102,778
รายได้ 70,236 113,641 123,733 130,971 135,395
กำไร 2,887 5,242 6,074 6,976 7,235
ข้อมูล รวบรวม และประมวล มาจาก ข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ และรายงานประจำปี บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์(มหาชน)
——————–
พิมพ์ครั้งแรก …ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559