เมื่อสองตอนที่แล้ว(ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กับศตวรรษหัวหิน)ในข้อเขียนของผม ได้พาดพิงถึงการศึกษาของชนชั้นนำของเมืองไทย ทั้งในอดีตและเชื่อมโยงมาถึงปัจจุบัน ในเวลาเดียวกัน ได้ข่าวว่าต้นตุลาคมที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเก่าแก่และอนุรักษ์นิยมที่สุดของไทย ได้จัดให้มีการสนทนาเรื่องการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกกันขึ้นอย่างเป็นการเป็นงาน
ปรากฏการณ์บางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นดูเหมือนเป็นสัญญาณที่น่าสนใจ มุ่งไปสู่ทิศทางสำคัญ นั่นคือการประเมินตนเองอย่างเงียบๆ ของระบบการศึกษาไทย ผมพยายามจะคิด คาดหวังและตีความเช่นนั้น
การประเมินตนเองครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก มิใช่บทสนทว่าด้วยพัฒนาระบบการศึกษาไทยพื้นๆของบรรดาผู้เกี่ยวข้องระดับยุทธ์ศาสตร์ทั้งหลาย มักเริ่มต้นด้วยคาถาพื้นฐานเสมอ ประดุจคำสวดที่ขึ้นต้ด้วย”นะโม ตัสสะ.”อย่างไรเช่นนั้น สิ่งทีพยายามคิดและเชื่อนั้นว่าด้วยมาตรฐานการการศึกษา ด้วยความเชื่ออันหนักแน่นว่า มีเพียงมาตรฐานเดียว คือ มาตรฐานโลก ความสนใจเรื่องนี้กำลังเป็นภาพแห่งความพยายามที่เป็นจริงเป็นจังขึ้น อย่างน้อยก็เริ่มต้นที่ใดที่หนึ่ง
จุฬาฯ มิได้เป็นเพียงมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุด ยังมีความภูมิใจกับตัวเองมากที่สุดด้วย สถาบันแห่งนี้ มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการพัฒนาสังคมในยุคสมัยใหม่อย่างมาก ไมว่าการเริ่มต้นขึ้นในฐานะสถาบันพัฒนาข้าราชการในยุคWesternization of Siam จากนั้นก็เริ่มศึกษาด้านวิทยาศาสตร์(คณะวิศวกรรมศาสตร์)ในยุคเดียวกับการก่อสร้างอาคารที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองหลวง ใหม่(อ้างจากตอนที่แล้ว) แรงบันดาลใจในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย(โรงงานซิเมนต์) เพื่อป้อนการก่อสร้างสถานที่สำคัญของประเทศ และความพยามให้มีคุณภาพทัดเทียมกับซิเมนต์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังจากอธิการบดีคนใหม่ของจุฬาฯดำรงตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว ความสนใจในเรื่องที่ผมกำลังกล่าวมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังจากรับตำแหน่งนายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีคนที่16 เป็นคนพื้นเพจากต่างจังหวัด ประกาศเป้าหมายในการบริหารสถาบันการศึกษาที่อนุรักษ์นิยมที่สุด ด้วยความกล้าหาญและเป็นเป้าหมายรูปธรรมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ว่าจะพยายามให้จุฬาติดอันดับโลก 60 อันดับแรก สำหรับคนที่ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนือง(แน่นอนรวมทั้งผมด้วย)ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่น่าสนใจอย่างมาก แม้จะคิดว่า มิใช่เรื่องง่ายเลยในความพยายามบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เช่นนั้น
ล่าสุดไม่เพียงการสนทนาอภิปรายเรื่องการจัดอันดับเท่านั้น หากกลับไปพิจารณาหลักฐานสำคัญWebsite ของจุฬาฯเอง (www.chula.ac.th)หรือสารอธิการบดี (สิ่งเหล่านี้ เป็นการยืนยันความคิด ความตั้งมั่น ต่อสาธารณชนอย่างมีนัยยะสำคัญ)ก็กล่าวย้ำถึงเรื่องนี้อย่างภาคภูมิใจ เช่น“จุฬาฯ มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศไทย”และ“จุฬาฯของเราเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับโลก”(โดยอ้างการจัดอันดับของTHE/QS World University Rankings)
สิ่งที่น่าสนใจในอย่างมากจากนี้ไปคงมิใช่การติดตามว่าภายในช่วงเวลาการดำรงตำแหน่ง อธิการบดีซึ่งมาจากนายแพทย์คนที่สองจะทำตามที่ประกาศไว้ได้หรือไม่ สำหรับผมสาระอยู่ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยของไทย มีความเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ว่าด้วย มาตรฐานเดียวก็คือมาตรฐานระดับโลก
เท่าที่สังเกตจุฬาฯยึดการจัดอันดับของ THE/QS World University Rankings (www.topuniversities.com/worlduniversityrankings)จะด้วยจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวของไทยที่ติดอันดับและอยู่ในอันดับดีพอสมควร (ตามที่ใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์) ถือเป็นเรื่องน่ายินดีทั้งในแง่อันดับที่ได้มาและความเข้าใจ อย่างไรก็ตามสำหรับผมขอเสนอเพิ่มเติมให้จุฬาฯยึดการจัดอันดับของAcademic Ranking of World Universities (Shanghai Jiao Tong University) – http://ed.sjtu.edu.cn/ranking.htm ซึ่งผู้บริหาร มหาวิทยาลัยทั่วโลกให้ความสนใจเป็นพิเศษด้วย
ความแตกต่างระหว่างTHE/QS กับ Shanghai Jiao Tong University มีนัยยะสำคัญว่าด้วยวิธีการและแนวทางแล้ว ในความเห็นของผม ความสำคัญที่มากกว่านั้นคือความเชื่อมโยงถึงแรงบันดาลใจและเป็นภาพสะท้อนความสามารถของผู้บริหารมหาวิทยาลัย
นักศึกษาและฝ่ายบุคคลขององค์กรต่างๆดูจะสนใจ THE/QS พอสมควร ในฐานะให้ความสำคัญความเห็นของผู้ว่าจ้างงาน และชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่สะสมมานานค่อนข้างมาก โดยผ่านความคิดเห็นและความเชื่อของผู้คนในวงการเดียวกัน ในขณะที่ Shanghai Jiao Tong University ให้ความสำคัญในฐานะบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ว่าด้วยคุณภาพการศึกษา และวิจัยโดยตรง เป็นสำคัญ ผ่านผลงานที่จับต้องได้ ผลิตมาจากมหาวิทยาลัยเอง การจัดอันดับของมหาวิทยาลัยในเอเชียแห่งนี้ ดูเหมือนผู้บริหารมหาวิทยาลัยระดับโลก ให้ความสนใจอย่างมาก
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์ใด ย่อมสะท้อนมาตรฐานสำคัญของมหาวิทยาลัยทั่วโลก หากจุฬาฯ มีความพยายามเข้าสู่อันดับของ Shanghai Jiao Tong University ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีทั้งๆมีการจัดมาแล้ว 6 ปี ใน 500อันดับก็ตาม ก็คงต้องมียุทธ์ศาสตร์ แผนการอย่างเป็นจริงเป็นจังพอสมควร คงมิใช่แค่คำปราศรัย หรือบทสนทนาอย่างครืนเครงหรือเคร่งเครียดเท่านั้น
“ยุทธ์ศาสตร์ ศึกษาฝรั่ง สู้ฝรั่ง บทเรียนเมื่อ100ปีที่แล้ว ดำเนินมาจนถึงสังคมไทยได้ปรับโฉมหน้า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง(2475) และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (2488) ระบบอาณานิคมยุคใหม่ ที่มากับบริษัทระดับโลก ชนชั้นนำของไทยในยุคต่อมามีความหลากหลากมายขึ้น จาก สมาชิกราชวงศ์ สู่ขุนนางและพ่อค้าที่มีความใกล้ชิด พวกเขามีโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของตนเองอย่างกว้างขวาง แต่สิ่งที่สำคัญก็คือกลุ่มคนเหล่านี้มีความรู้แบบตะวันตกมากพอสมควร แนวทางการสร้างบุคคลกร เช่นที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากรัชสมัยรัชการที่ 5ก็ดำเนินต่อเนื่องมา แต่ด้วยวัถตุประสงค์ที่หลากหลาย และแตกต่างออกไปมากขึ้น
ยุทธ์ศาสตร์เบี่ยงเบน
สถานการณ์ของโลกเป็นแรงกดันอย่างสำคัญของความคิดทางยุทธ์ศาสตร์ พึงสังเกตว่าในยุคต่อมายุคสังคมไทยมีความกลมกลืนกับอิทธิพลในโลกมากขึ้น สังคมไทยดูเป็นส่วนหนึ่งของโลก ภัยคุกคามของระบบอาณานิคมไม่มีรูปร่างชัดเจน เช่นอดีต ในยุทธ์ศาสตร์เศรษฐกิจ การผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า การได้สนับสนุนทางการเงินจากตะวันตก ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น สร้างความมั่งคั่งแก่ผู้คนในเติบโตหลังสงครามโลกครั้งที่สองอย่างมากมาย ตลอดจนการการเมืองในระดับภูมิภาค ให้ความสำคัญกับการต้อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ ในแผ่นดินของไทยเอง ในยุคนี้ถือว่าเป็นที่สังคมไทยหมกหมุนกับตัวเอง และคิดว่าระบบการศึกษาแบบตะวันตกของตนเองใช้ได้ เป็นยุคที่เบี่ยงเบนจากยุทธ์ศาสตร์ระดับโลกไปพอสมควร
โมเดลการศึกษาจากนี้มาจึงเน้นเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มตนเอง ในประเทศ สร้างโอกาสมากขึ้นในประเทศตนเองเท่านั้น
แนวความคิดนี้ครอบงำระบบการให้ทุนการศึกษาของรัฐ พอๆกับความคิดและแนวทางการสร้างชนรุ่นหลังของผู้คนทั่วไปในสังคมไทยต่อเนืองยาวนานจากนั้นมา”(เนื้อหาบางส่วนในหนังสือ ” หาโรงเรียนให้ลูก” )
ปัจจุบันความรู้สึกถูก“คุกคาม”เช่นยุคอาณานิคมเป็นเรื่องที่จับต้องยากมาก แล้วแต่มุมมองหรือวิสัยทัศน์ในเชิงยุทธ์ศาสตร์ของผู้นำ เป็นเรื่องแนวความคิดระดับปัจเจก มิใช่ภาพที่ปรากฏอย่างเด่นชัดในอดีตเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว
สำหรับจุฬาฯเองโดยทั่วไปดูเหมือนไม่มีแรงกดดันใดๆในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง มีผู้ต้องการเข้าเรียนเป็นอันดับหนึ่งของเมืองไทย แม้จะปรากฏว่าหลักสูตรที่เรียกว่า International Programs มีปัญหาคุณสมบัติผู้เรียนอยู่บ้าง บางสาขามีผู้ต้องตามคุณสมบัติไม่มากพอ หลักสูตรที่กำลังเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดในมหาวิทยาลัยไทยขณะนี้ ดูเหมือนยังไม่มี่แนวทางที่ชัดเจนในความเชื่อมโยงกับยุทธ์ศาสตร์ของสังคม ในขณะที่เป้าหมายในเชิงธุรกิจการศึกษา มีผู้คนรู้สึกและจับต้องได้มากกว่า แต่ย่างไรก็ตามก็มิใช่แรงกดดัน
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่ายินดี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยมีแรงบันดาลใจสำคัญ มองการศึกษาเป็นยุทธ์ศาสตร์ระดับโลก ไม่ว่าจะมีการเฉลิมฉลอง110ปี (ถือเป็นเวลาที่ดูดีพอสมควร) ของสถาบันแห่งนี้ อย่างที่ทำๆกันหรือไม่ ผมถือว่านี่คือการจุดประกายครั้งใหม่สำหรับการก้าวไปสู่ศตวรรษหน้าของระบบการศึกษาไทย