วิรัตน์ แสงทองคำ หาโรงเรียนให้ลูก

เขาใช้เวลา 5 ปีเต็มในการศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วโลก เพื่อหาโรงเรียนให้บุตรทั้งสอง บทเรียนและความรู้ของเขา สามารถเขียนหนังสือ “หาโรงเรียนให้ลูก” ได้เล่มหนึ่ง เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

นับเป็นหนังสือที่ทรงอิทธิพลต่อคนระดับกลางในสังคมขึ้นไปมากเล่มหนึ่ง แต่วันนี้เขาได้ปรับปรุงหนังสือเล่มนั้นใหม่ เรียกว่า Totally Revised เป็นผลมาจากที่เขามีประสบการณ์ครบถ้วนแล้ว วันนี้บุตรทั้งสองของเขาเข้าเรียนโรงเรียน ที่ค้นพบแล้ว

วิรัตน์ แสงทองคำไม่ยอมบอกชื่อโรงเรียน เพียงแต่เผยว่าบุตรคนโตอายุ13ปีเข้าโรงเรียนที่แปซิฟิกใต้ ส่วนคนเล็ก10ขวบเข้าโรงเรียนนานาชาติในบ้านเรา

 ดังนั้นหนังสือ”หาโรงเรียนให้ลูก”พิมพ์ครั้งล่าสุดจึงเป็นบทเรียนและคำแนะนำที่สมบูรณ์ ในตัวเอง

และนี่คือบทสนทนาระหว่าง “ผู้จัดการ” กับวิรัตน์ แสงทองคำ เกี่ยวกับหนังสือของเขา

—————————————————————————————————————

ผู้จัดการ ทำไมคนไทยต้องส่งลูกไปเรียนมัธยมศึกษาในต่างประเทศ

วิรัตน์  หนังสือเล่มนี้ตอบคำถามไว้หมดครับ คุณต้องซื้ออ่านแล้ว(หัวเราะ) แต่สิ่งที่ผมตอบไว้เบื้องต้นเป็นหลักคิด คือการศึกษาคนอื่น ศึกษาบทเรียนคนอื่นๆ การซื้อข้อมูลหรือความรู้จากคนอื่นๆ เป็นเรื่องสำคัญของยุคนี้ ความคิดที่ว่าเสียเงินตราต่างประเทศเพื่อเรียนเมืองนอกเป็นเรื่องไม่รักชาตินั้น เป็นความคิดที่ไม่เอาไหนเรื่องหนึ่ง เพราะคนไทยวันนี้จ่ายเงินในเรื่องที่ไม่จำเป็นมากมาย และที่สำคัญจ่ายเงินเพื่อความรู้ คำแนะนำ จากต่างประเทศ มากกว่าส่งลูกไปเรียน โดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว

ผู้จัดการ  หนังสือของคุณบอกว่า แนวโน้มคนเอเชียศึกษาในโรงเรียนมัธยมของโลกตะวันตกมากขึ้น

วิรัตน์  ถูกต้องครับ แต่จะพูดให้ถูก คนทั่วโลกศึกษาซึ่งกันและกันมากขึ้น ในโลกยุคนี้คุณอาจจะตกใจว่า โลกตะวันตกแอบศึกษาโลกตะวันออกมากกว่าที่เราคิด คำว่า Globalization เนื้อแท้หมายถึงการศึกษาซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกัน แชร์กัน ต่อสู้ แข่งขันกัน ยิ่งโลกเป็นเช่นนี้มากขึ้น การศึกษาซึ่งกันมีมากขึ้นด้วย นอกจากนี้การศึกษาเป็นเรื่องกว้างมาก แนวคิดที่ว่าการศึกษาเพื่อไต่ขึ้นยอดพีระมิดของสังคมไทยนั้นล้าสมัยไปแล้ว มันไม่มีพีระมิด มีแต่พื้นที่แห่งโอกาสที่กว้างขวางกว่าอดีต เพียงแต่คุณต้องเตรียมพร้อมที่จะคว้าโอกาสนั้น

ผู้จัดการ ระบบโรงเรียนมัธยมเมืองไทย ใช้ไม่ได้หรือ

วิรัตน์  หนังสือผมไม่ได้พูดอย่างนั้นเลย แต่ผมเองได้ยินคนอื่นพูดกันเยอะเหมือนกัน เรื่องที่ผมเสนอไม่ใช่แนวทางหลัก หากเป็นทางเลือกของคนที่มีโอกาส ความจริงทางเลือกมีมากกว่าหนังสือของผมอีก ผมเขียนในคำนำเลยว่า หนังสือเล่มนี้อาจจะจุดประกายให้ผู้อ่านแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่า มากกว่าที่เป็นอยู่ มากกว่าหนังสือหาโรงเรียนให้ลูกเขียนไว้

ผู้จัดการ  คุณใช้เวลาศึกษาตั้ง 5 ปี

วิรัตน์  ใช่ครับ

ผู้จัดการ  รู้สึกว่าใช้เวลานานมาก

วิรัตน์  ผมอยากจะเรียกว่าเป็นกระบวนการศึกษา กระบวนการเรียนรู้มากกว่า ความจริงคนเขียนหนังสือทั่วไป หาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องๆหนึ่งสัก6เดือนก็อาจจะเรียบเรียงหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งที่ทำๆกัน แต่ผมคิดว่าทางที่ดีต้องนำข้อมูลความรู้ที่ได้มาลองปฏิบัติดูด้วย ถึงจะถือว่าเป็นความรู้จริงๆ5ปี หมายถึงตั้งแต่เวลาการหาข้อมูล เดินทางไปตระเวนดูโรงเรียนจนถึงส่งลูกเข้าโรงเรียนได้จริง ยิ่งกว่านั้นผมอยากจะเรียนว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องความคิด เป็นเรื่องยุทธ์ศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องที่คิดกันง่ายๆ ความรู้ ความเข้าใจ ใช้เวลาตกผลึกพอสมควร

ผู้จัดการ  เล่มนี้เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนนานาชาติด้วย

วิรัตน์  ครับ เรื่องโรงเรียนนานาชาติเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก คุณเชื่อไหมว่า10 ปีมานี้ โรงเรียนนานาชาติในเมืองไทยเกิดขึ้นอย่างครึกโครมที่สุดในโลก มีโรงเรียนใหม่มากกว่า50แห่ง มีเครือข่ายโรงเรียนอังกฤษซึ่งไม่เคยเปิดสาขานอกประเทศมาก่อนถึง4แห่งมาเปิดที่เมืองไทย ทั้งๆที่ไม่ใช่อดีตเมืองขึ้น  เมืองไทยเป็นที่ที่มีความล้มเหลวในการเรียนภาษาอังกฤษมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ที่สำคัญในช่วง5 ปีมานี้โรงเรียนนานาชาติที่เกิดใหม่พัฒนาตัวเองสู่มาตรฐานโลกอย่างชัดเจน ผมเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ โรงเรียนนานาชาติจะเป็นธุรกิจใหม่ของไทย เช่น โรงพยาบาลที่มีลักษณะภูมิภาค อีกอย่างหนึ่งคนไทยกลุ่มบนได้ย้ายบุตรหลานของตนเองเข้าสู่ระบบ การศึกษาระบบนี้อย่างชัดเจนแล้ว ผมคิดว่านี่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการศึกษาไทย เมื่อคนมองเห็นแนวทางหลักมีปัญหา ทางเลือกใหม่ย่อมเกิดขึ้น นี่คือกฎธรรมดาๆ

ผู้จัดการ  การศึกษาของคุณเกี่ยวกับเรื่องนี้จบหรือยัง

วิรัตน์   ยังครับ ยังมีเรื่องใหม่ที่ได้รู้มากขึ้น รู้สึกสนุกมากขึ้น เลยได้คิดว่าผมคงจะต้องเขียนหนังสือชุดนี้เป็นซีรีส์อีกสัก 2-3 เล่ม ตั้งแต่เรื่องสนุกๆ เช่น สารคดีท่องเที่ยวไปเยี่ยมลูกตอนปิดเทอมกลางปี ไปจนถึงศึกษาการเรียนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยทั่วโลก ซึ่งมีเรื่องที่น่าสนใจอีกมาก ผมเริ่มศึกษาบ้างแล้ว มันมีอะไรมากกว่าคู่มือที่ส่วนใหญ่มาจากความคิดอเมริกัน

นิตยสารผู้จัดการ   เมษายน 2548

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: