ในฐานะคนกรุงเทพฯผู้ผ่านประสบการณ์ร่วมสมัย เผชิญวิกฤติการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ และต้องอพยพหนีภัยไปอยู่ต่างจังหวัดระยะหนึ่ง ขณะติดตามสถานการณ์ที่ค่อยๆคลีคลายไป จินตนาการว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯกับนอกกรุงเทพฯ บางภาพได้ปรากฏขึ้น อาจถือว่าพัฒนาจากความเข้าใจเดิมพอสมควร
ผมเองนั่นแหละเคยเสนอไว้ว่า“สังคมชนบทกำลังเปลี่ยนวิถีเป็นเมืองมากขึ้น พึงพิงเมืองมากขึ้น” (2552) ต่อมาได้ปรับความคิดพอสมควร
“ควรมีความหมายกว้างขึ้นด้วยว่า เรียนรู้เท่าทันเมือง และเกื้อกูลกันระว่างเมืองกับชนบทด้วย
โดยเฉพาะระบบโทรศัพท์ไร้สาย ในช่วงทศวรรษมานี้สร้างเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ชนบทมากที่สุด ปฏิกิริยาของชุมชนชนบทในการตอบสนองการสื่อสารไร้สายอย่างคึกคักนั้น เรา(รวมทั้งผมด้วย) เคยมองว่า เป็นพฤติกรรมตอบสนองแผนการตลาดสมัยใหม่มากเกินไป และบริโภคอย่างไม่จำเป็น อาจจะต้องปรับทัศนคติใหม่ คุณค่าของสื่อสาร สำหรับคนที่มีโอกาสน้อยกว่าชุมชนเมือง ย่อมมีคุณค่ามาก มากกว่ากระแสนิยม หากเป็นโอกาสในการเรียนรู้ เข้าถึงข้อมูล ถือเป็นพื้นฐานในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังปรากฏชิ้นส่วนย่อยที่เกิดขึ้นอีกหลายปรากฏการณ์ การศึกษาและการเรียนรู้ใหม่ๆเข้าถึงชนบทมากขึ้น ทั้งโดยตรงและความสามารถเข้าถึงชุมชนเมืองง่ายขึ้น เป็นชุมชนที่เคลื่อนย้าย อพยพตัวเองไปอย่างคล่องตัว แสวงหาโอกาสมากขึ้น ขณะเดียวเริ่มดึงดูดผู้คนเมืองมาสู่หัวเมืองและชนบทมากขึ้น กระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้และทักษะในหัวเมืองและชนบทมีมากขึ้น
จากวันนี้ พื้นที่ที่แบ่งแยกออกจากกันในทางภูมิศาสตร์ ได้กลายเป็นพื้นที่ทางความคิดยุทธ์ศาสตร์ที่หลอมเข้าด้วยกันแล้ว” บทขยายความและบทสรุปบางตอนจากเรื่อง “ทิศทางปี2553/4(4)สังคมหัวเมืองและชนบทซับซ้อนมากขึ้น” ธันวาคม 2553
จากนั้นมาเกือบหนึ่งปี ท่ามกลางวิกฤติการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ก็ท่วมทันไปด้วยเรื่องเล่า และบทสนทนา ด้วยความพยายามตีความภาพอันสลับซับซ้อน ได้เชื่อมภาพชิ้นเล็กๆ ให้กลายเป็นภาพใหญ่ แม้มิใช่เป็นความคิดรวบยอดใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการเรียนรู้ที่เชื่อว่าหลายคนยากจะยอมรับได้
ช่วงที่หนึ่ง
ในมุมมองหนึ่ง ผมคิดว่าความเชื่อมั่นของคนเมืองหลวง-กรุงเทพฯมีความเชื่อมโยงกับสิ่งบางอย่างเป็นพิเศษ
วิกฤติการณ์นำท่วมอย่างแท้จริงในสายตาของกรุงเทพฯ อาจถือว่าจุดเริ่มมาจากเหตุการณ์ที่อยุธยา—เมืองหลวงเก่าจมน้ำ ไปพร้อมๆกับวัดไชยวัฒนาราม จากนั้นหน้าจอทีวีทั้งหลาย(ฐานการผลิตรายการอยู่ที่กรุงเทพฯ)จึงปรับรายการให้เข้าสถานการณ์อย่างเต็มที่ ปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นและขยายวง เจ้าของรายการทีวีร่วมมือกับสปอนเซอร์ ทำงานประหนึ่งในฐานะEvent organizer อย่างผู้เชี่ยวชาญมองทะลุกลไกของเหตุการณ์ เรื่องราวน้ำท่วมเป็นเรื่องดราม่ามากขึ้น พอๆกับ “น้ำใจและความช่วยเหลือเอื้ออาทร”ที่สัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะจากบรรดาธุรกิจ(ส่วนใหญ่ผลิตสินค้าในตลาดฐานกว้าง)รวมทั้ง ดาราในสังกัด และผู้บริหารธุรกิจ ว่าไปแล้วหากว่ากันตามสถานการณ์ปกติ ถือว่าได้พลิกกลยุทธ์ทางธุรกิจครั้งสำคัญ จากการสื่อสารและโฆษณาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งแผนการตลาด จาก Above-the-Line สู่ Below-the-Line หรือBTL (คำหลังเป็นคำเฉพาะทางการตลาด ปัจจุบันนักการตลาดและนักโฆษณาสื่อสารเข้าใจกันได้ทันทีว่าหมายถึงเครื่องมือในการส่งเสริมการตลาด ที่มุ่งไปยังผู้กลุ่มเป้าหมายโดยไม่ผ่านสื่อโฆษณาโดยตรง)
การผนึกผสานระหว่างBranding (สร้างความเชื่อถือในยี่ห้อสินค้า รวมทั้งตัวบุคคล) กับ CSR (กิจกรรมทางสังคม) ผสมปนเปะกับสื่อและข้อมูลข่าวสาร บางครั้งไร้สติและทิศทาง แต่บทสรุปที่จับต้องได้ มักผ่านถุงยังชีพที่มียี่ห้อเด่นชัด คือคนกรุงเทพฯ (มักสะท้อนผ่านเจ้าของรายการทีวี และเจ้าของสินค้าซึ่งปกติต้องจ่ายค่าโฆษณาทางทีวีจำนวนมากอยู่แล้ว ขณะเดียวกันแทบไม่มีที่ว่างสำหรับความเคลื่อนไหวของชุมชนและปัจเจกในกระบวนการเกื้อกูลซึ่งเชื่อว่ามีอยู่อย่างคงเส้นคงวา) มีน้ำใจช่วยเหลือคนนอกกรุงเทพ (ต่อมาเป็นคนกรุงเทพฯรอบนอก)อย่างเต็มที่อย่างจริงใจ
ตรรกะสำคัญเริ่มต้นขึ้น—เราต้องให้ความสำคัญป้องกันกรุงเทพฯไว้ไม่ให้น้ำท่วม ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการบริหารต้องดำเนินต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนต่างชาติ เป็นตรรกะหนักแน่นยิ่งขึ้น และมีรายละเอียดบางประเด็นเพิ่มเติมด้วย — “คนกรุงเทพฯจะสามารถช่วยเหลือ เกื้อกูลคนนอกกรุงเทพฯผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้อย่างดี”
ปรากฏการณ์ดราม่าอื่นๆสะท้อนเรื่องราวหลากมิติของคนกรุงเทพฯ ผันเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ปะทุ ปะทะมากขึ้น
เมื่อน้ำทุ่งขยายตัวประชิดด้านบนพื้นที่กรุงเทพฯและค่อยๆแผ่ขยายตัวออกปิดล้อมทางทิศตะวันออก-ตก หลังจากเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมในเขตอยุธยาและปทุมธานีทุกแห่ง นับเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของคนกรุงเทพอย่างรุนแรง ผู้คนในสังคมสมัยใหม่ซึ่งดำเนินชีวิตมีความสัมพันธ์กับภาคธุรกิจมากเป็นพิเศษ
ปฏิกิริยาของคนกรุงเทพฯ สะท้อนในการจับจ่ายใช้สอยเพื่อกักตุนสินค้าครั้งใหญ่ สินค้าหลายชนิดขาดตลาดอย่างรวดเร็ว เป็นปรากฏการณ์ที่ผิดปกติ แผ่ขยายรวดเร็วและกว้างขวาง บางมิติเชื่อว่าเป็นภาพสะท้อนคนกรุงเทพฯมีความเชื่อมั่นตนเองลดลงอย่างมาก ประหนึ่งพวกเขาและเธอกำลังอยู่ดินแดนสุดท้ายที่เหลืออยู่ ไม่มีทางออก ไม่มีใครอื่นๆ(เหมือนที่พวกเขาได้ช่วยคนอื่น)จะสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลในยามวิกฤตที่กำลังมาเยือน
ช่วงที่สอง
เมื่อน้ำเข้าทะลักกรุงเทพฯด้านเหนือ มีแนวโน้มเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน มีสถานการณ์และพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนไปอีกระดับอย่างซับซ้อน
คนกรุงเทพฯผู้มีทางเลือกไม่ยอมไปอยู่ศูนย์พักพิงทีทางการจัดให้ ได้พาเหรดกันไปอยู่ตามที่พักตากอากาศโดยเฉพาะชายทะเลฝั่งตะวันออก ดูเหมือนได้สร้างภาระกับพื้นที่นั้นๆ แต่ความจริงอาจเป็นเพียงบางจุด
เวลาเดียวกันนั้น องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ได้ปรับตัวอย่างทันกาล ด้วยการย้ายฐานบัญชาการไปอยู่ต่างจังหวัดและสามารถดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ติดขัด ไมว่ากรณีซีพีออลล์( 7-Eleven) ย้ายศูนย์การบริหารโลจิสติกส์ไปชลบุรี กลุ่มปตท.ย้ายหน่วยงานสำคัญไประยองและชลบุรี เช่นเดียวกับธุรกิจระดับโลก เจ้าของสัมปทานแหล่งก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งต้องดำเนินธุรกิจ24 ชั่วโมง ภายใต้เครือข่ายทั่วโลก ก็ย้ายฐานไประยองเช่นกัน
ครอบครัวของผม ก็เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์อันซับซ้อนนั้น
ที่โรงแรมขนาดเล็กไม่หรูหรา และมีระยะห่างจากศูนย์กลางท่องเที่ยวยอดฮิต เช่นในหัวหิน พัทยาหรือภูเก็ต แต่ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นระบบมาตรฐานสนับสนุนการดำเนินชีวิตและการทำงานได้อย่างปกติ มีเครือข่ายอินเตอร์เน็ต มีWI-FI (บริการฟรีสำหรับผู้พักในราคาระดับพันบาท/คืน) งานเขียนหนังสืออย่างง่ายๆแบบผมดำเนินไป สามารถสนทนาผ่าน Skypeกับบุตรที่เรียนหนังสือในLondonและ Aucklandรวมทั้งเป็นทีทำงานในระบบซับซ้อน ไม่ว่าในฐานะเจ้าหน้าที่การเงินของธุรกิจระดับโลก ซึ่งจำเป็นต้องสื่อสารกับเครือข่ายในต่างประเทศแบบเวลาจริงด้วย
ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารของโลก มิได้หมายความถึงพื้นที่เขตน้ำท่วมในที่ราบลุ่มเจ้าพระยาเท่านั้น ยังรวมทีอื่นๆอีกกว้างใหญ่ไพศาล เราสามารถกินอาหารทะเลแบบหรูหราแต่ราคาถูก อาทิ ฉู่ฉี่กุ้งลายเสือ ซึ่งปกติในภัตตาคารหรูในกรุงเทพฯราคาถึง 2,000บาท แต่ที่ชายทะเลตะวันออกเพียง300 บาทเท่านั้น
เมื่อเดินทางออกห่างกรุงเทพฯมากขึ้น สองข้างทางจะปรากฏบ่อเลี้ยงปลา ทุ่งนาเขียวขจี ฯลฯ เป็นภาพปกติของสังคมเกษตรกรรมในที่ราบลุ่มในฐานะแหล่งผลิตอาหารอย่างคงเส้นคงวา ในขบวนการอพยพรอบท้ายๆ พบว่าการเตรียมพร้อมของต่างจังหวัดมีมากขึ้น สินค้าสำคัญหลายชนิดไม่สามารถผลิตพื้นที่น้ำท่วมรอบๆกรุงเทพฯ ไม่ควรมีปัญหาขาดแคลนอย่างหนัก หากไม่เกิดความตื่นตระหนกมากเกินไป การปรับตัวอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นจากนั้นไม่นาน ย้ายไปผลิต(เพิ่มเติมตามภาวะตลาดที่ผิดปกติ)ที่นิคมอุตสาหกรรมที่น้ำไม่ท่วมในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯมีนิคมอุตสาหกรรมที่น้ำไม่ท่วมอีกหลายสิบแห่ง ทั้งนี้ยังไม่รวมภาคการผลิตขนาดต่างๆที่ขยายตัวทั่วประเทศไปมากกว่าที่เราคิดไว้
ความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างกรุงเทพฯและนอกกรุงเทพฯเป็นระบบที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว เพียงเราไม่ได้มองเห็น ในฐานะคนกรุงเทพฯมักให้ความสำคัญกับสังคมสมัยใหม่ โดยมองจากศูนย์กลางของสังคมไทย อย่างไม่เชื่อมโยงกับพื้นที่เหลืออยู่อย่างที่ควรจะเป็น
ไม่เพียงเท่านั้น หากสังเกตอย่างละเอียดจะพบว่าข่าวแตกต่างที่ควรสนใจ ในบางช่อง บางเวลา สามารถเบียดเวลา ของกิจกรรมทางการตลาดในสถานการณ์น้ำท่วมของทีวีและสื่อกระแสหลักอื่นๆได้บ้าง
“จังหวัดน่าน ได้ระดมความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน ทั้งเงินและสิ่งของรวมทั้งครั้งนี้ ส่งไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม และยังรับบริจาคอยู่จนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลาย ทั้งนี้ในการผลิตข้าวหลามจะเป็นการผลิตข้าวหลามสูตรโบราณ มีส่วนผสมของข้าว ธัญพืช และเกลือ โดยไม่มีส่วนผสมของกะทิ ซึ่งจะทำให้สามารถเก็บข้าวหลามไว้ได้นาน โดยไม่กังวลว่าจะบูดเสีย โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน สำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน จะเป็นหน่วยงานคอยกำกับกระบวนการผลิต เพื่อให้สะอาด มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน จึงรับรองได้ว่าผู้บริโภคสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย นอกเหนือจากการส่งข้าวหลาม จำนวน 11,000 กระบอกแล้ว ยังได้จัดหาน้ำพริกสำเร็จรูป จำนวน 10,000 กระป๋อง ซึ่งเป็นสินค้าโอทอปของจังหวัดน่านจัดส่งไปพร้อมกับข้าวหลามในครั้งนี้ด้วย” ข่าวชิ้นนี้(6 พฤศจิกายน2554)มิได้เพียงแสดงถึงภาพใหญ่ความเชื่อมโยงอย่างเกื้อกูลระหว่างคนกรุงเทพฯกับนอกกรุงเทพฯเท่านั้น หากสะท้อนว่าคนนอกกรุงเทพฯยังพยายามเข้าใจวิถีชีวิต และตอบสนองรสนิยมคนกรุงเทพฯด้วย
รวมทั้งบทสนทนาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แม้ว่าส่วนใหญ่มักแสดงความหงุดหงิดและขัดแย้ง แต่ก็มีบางตอน เขาได้ยอมรับความจริงบางอย่าง “ขอขอบคุณ….ทุกจังหวัดในน้ำใจที่ดีงาม ซึ่ง กทม.จะจดจำตลอดไป”(ผมตั้งใจตัดคำว่า “ขอขอบคุณทางกระทรวงมหาดไทย”ในตอนต้นออกไป)
บทสนทนาข้างต้นมาจากเนื้อหาข่าวและเหตุการณ์สำคัญสะท้อนถึงความสัมพันธ์ในเชิงเกื้อกูลระหว่างกรุงเทพฯกับนอกกรุงเทพฯอย่างเป็นจริง(แม้จะผ่านการจัดตั้งของระบบราชการ) โดยมีการจับคู่เขตในกทม.กับจังหวัดสำคัญของประเทศที่ไม่ได้ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อ“ส่งอาหารสำเร็จหรือตั้งโรงครัวประกอบอาหารในกรุงเทพฯ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม” (จากข่าว “จับคู่ 18 จังหวัด-เขตกทม. ส่งอาหารช่วยผู้ประสบภัย” 5 พฤศจิกายน 2011)
ขอยกตัวอย่าง–คนเขตคลองสามวา(รวมทั้งผมด้วย)ที่บางสื่อคิดว่าเป็นพื้นที่นอกกรุงเทพฯ ทั้งคนกรุงเทพฯบางส่วนไม่ค่อยพอใจคนคลองสามวากลุ่มหนึ่งนักจากกรณีทำลายประตูน้ำ โดยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นต้นเหตุให้น้ำทะลักเข้าพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ คลองสามวา–เขตชายขอบของกทม.ได้จับคู่กับจังหวัดที่เป็นเป้าหมายยอดนิยมของการพักผ่อน หย่อนใจของคนกรุงเทพฯ—จังหวัดภูเก็ต
คนกรุงเทพฯไม่ควรเหมือนเดิม
มติชนสุดสัปดาห์ 18 พฤศจิกายน 2554
คนกรุงฯปลูกข้าวกินเองไม่เป็น ปลูกพืชผักกินเองไม่เป็น ควรที่จะเห็นใจและมีน้ำใจกับคนต่างจังหวัดที่อยู่รอบๆ ตัวให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเขาคือผู้ผลิตอาหารให้คนกรุงได้ดำรงชีวิตอยู่โดยอาศัยอาหารเป็นปัจจัย ครับท่านอาจารย์วิรัตน์