ความร่วมมือทางธุรกิจ ระหว่างสยามพิวรรษน์ กับเครือซีพี ในโครงการใหญ่นับหมื่นล้านบาท ได้จุดกระแสความสนใจหลายแง่มุม ในเชิงบริหารธุรกิจแล้ว ยุทธศาสตร์ของสยามพิวรรษน์ซึ่งผู้คนรับรู้อย่างจำกัด ย่อมได้ความรับสนใจเป็นพิเศษ
“สยามพิวรรธน์เจ้าของและผู้บริหารสยามพารากอนสยามเซ็นเตอร์และสยามดิสคัฟเวอรี่ร่วมกับแมกโนเลียควอลิตี้ดีเวล็อปเม้นต์คอร์ปอเรชั่นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์คุณภาพและบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์จำกัดกลุ่มบริษัทชั้นนำของประเทศไทย ประสานพลังรังสรรค์อภิมหาโครงการคุณภาพสุดหรูเลิศอลังการมูลค่า 35,000 ล้านบาทเพื่อถ่ายทอดความงดงามของแม่น้ำเจ้าพระยาแหล่งรวมอารยะธรรมไทยสู่ใจชาวไทยและชาวโลกพร้อมปั้นกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรเป็นแดนสวรรค์ระดับโลกที่คนทุกชาติอยากมาเยี่ยมยลที่สุด”ข่าวและภาพ อันตื้นเต้นและภาคภูมิสะท้อนจากเครือซีพี( ผ่านhttp://www.magnolia.co.th/th/news/news_detail.php?id=00000230 และ http://www.cpthailand.com/Default.aspx?tabid=129&articleType=ArticleView&articleId=623) ส่วนสยามพิวรรษน์(มองผ่านhttp://www.siampiwat.com ) คงบุคลิกเก็บตัว โดยไม่เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด
ภาพผู้มาร่วมงาน แสดงถึงความสำคัญในงานแถลงข่าวความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วยบุคคลสำคัญ– ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น และธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ประธานกรรมการบริษัทสยามพิวรรธน์ นอกนั้นยังปรากฏภาพอีกบางคนที่น่าสนใจ –พนัส สิมะเสถียร (ประธานกรรมการบริหาร สยามพิวรรธน์) และบันเทิง ตันติวิท (ประธานกลุ่มเอ็มบีเค ผู้ถือหุ้นสยามพิวรรธน์ประมาณ 30%) รวมทั้งศุภชัย เจียรวานนท์ (ประธานกรรมการบริหาร ทรูคอร์เปอเรชั่น) มาร่วมงานด้วย
เรื่องราวข้างต้นให้ภาพที่ชัดเจน ว่าด้วยบทบาทของความร่วมมือทางธุรกิจครั้งใหญ่ครั้งใหม่ และโดยเฉพาะบทบาทที่น่าสนใจของสยามพิวรร๋ษน์
หนึ่ง-สยามพิวรรษน์กำลังขยายเครือข่ายธุรกิจศูนย์การค้าในเมืองหลวงอย่างต่อเนื่อง เมื่อโครงการใหญ่ดังกล่าวเกิดขึ้น สยามพิวรรษน์จะกลายเป็นเครือข่ายธุรกิจศูนย์การค้ารายใหญ่ที่สุด
ถือเป็นภาพต่อเนื่องจากฐานเดิม จากศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรีในช่วงเกือบ40 ปีก่อนหน้านั้น หลังจากปรับโครงสร้างทางธุรกิจครั้งใหญ่เพียง 5ปีที่ผ่านมา ได้แสดงยุทธศาสตร์เชิงรุกครั้งสำคัญ เริ่มด้วยศูนย์การค้าสยามพารากอน (2548) และ เข้าซื้อกิจการเสรีเซ็นเตอร์ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพาราไดซ์พาร์ค (2553) และตามมาด้วยโครงการใหญ่ที่กำลังกล่าวถึง
สอง-สยามพิวรรษน์ ดำเนินธุรกิจโมเดลใหม่ ด้วยแนวทางชัดเจน สร้างพันธมิตรหลากหลายและกว้างขวาง ในเครือข่ายธุรกิจเกี่ยวกับศูนย์การค้าเป็นสำคัญ โดยถือโครงการสยามพารากอน เป็นโมเดลเริ่มต้น ด้วยความร่วมมือกับกลุ่มเดอะมอลล์
เดอะมอลล์ เป็นเจ้าของเครือข่ายธุรกิจห้างสรรพสินค้าค้า ดำเนินธุรกิจมาแล้วเกือบสามทศวรรษ มุ่งขยายเครือข่ายในเมืองหลวง มีสาขาทั้งสิ้น 9 แห่ง โดยมีเพียงแห่งเดียวอยู่ในหัวเมืองใหญ่–นครราชสีมา ที่สำคัญเป็นเจ้าของศูนย์การค่ากลางเมืองหลวงที่มีบุคลิก และทำเลใกล้เคียงกับสยามพารากอน—เอ็มโพเรียม (เปิดบริการ2548)
ต่อจากนั้น ตอกย้ำแนวทางเดิม ด้วยความร่วมมือกับกลุ่มเอ็มบีเค เข้าซื้อกิจการศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ กลุ่มเอ็มบีเค เจ้าของศูนย์การค้ามาบุญครอง ถือว่ามีความสัมพันธ์กับโครงสร้างผู้ถือหุ้นและผู้บริหารยุคใหม่ของสยามพิวรรษน์ ในฐานะเคยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเป็นเจ้าหนี้ศูนย์การค้ามาบุญครอง และเป็นผู้ดำเนินกระบวนการเปลี่ยนเจ้าของใหม่ จากเจ้าของเดิม—ศิริชัย บูลกุล มาเป็นกลุ่มปัจจุบันที่มีบันเทิง ตันติวิท เป็นหัวเรือใหญ่
ร่องรอยแนวคิดและโมเดลข้างต้น เชื่อว่ามาจากประสบการณ์ของกลุ่มผู้บริหารกลุ่มเดียวกัน ยุคการขยายเครือข่ายธุรกิจครั้งใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ในยุคธารินทร์ นิมมานเหมินทร์(ในฐานะผู้จัดการใหญ่ 2527-2535) และต่อเนื่อง (โอฬาร ไชยประวัติ 2535-2544) โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในความหมายกว้าง —ศูนย์การค้าและอาคารสูงร่วมทุนกับแลนด์แอนด์เฮาส์ ธุรกิจโรงแรมร่วมมือกับดุสิตธานี ธุรกิจก่อสร้างเข้าซื้อกิจการคริสเตียนนี่และนีลสัน
เชื่อว่าจากประสบการณ์เชิงลบจากครั้งนั้น มีอิทธิพลต่อยุทธศาสตร์ใหม่สยามพิวรรษน์ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเชิงรุก แต่ก็แสดงความระมัดระวังมากเช่นกัน เริ่มด้วยด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างโฟกัส แสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรอย่างหลากหลาย ภายใต้โครงการที่มีลักษณะจำกัด เจาะจง และชัดเจนมากขึ้น
สาม—แสวงหาพันธมิตรระดับกว้าง จากโครงสร้างผู้ถือหุ้นเดิมของสยามพิวรรษน์ ก่อนจะมาเปลี่ยนเชื่อเป็นสยามพิวรรษน์ ให้ภาพสังคมธุรกิจไทยในขณะนั้น
โครงสร้างผู้ถือหุ้นในยุคก่อตั้งประมาณ ปี2502 นอกจากสถาบันของรัฐ อันได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงานทรัพย์สินฯแล้ว องค์ประกอบที่เหลือ คือกลุ่มธุรกิจทรงอิทธิพลในเวลานั้น ทั้งปรากฏชื่อในนามบริษัทและบุคคลในตระกูลธุรกิจใหญ่ —ธนาคารกรุงเทพ (รวมทั้งตระกูล โสภณพานิช) ธนาคารกสิกรไทย (รวมทั้งตระกูลลำซ่ำ) และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี (รวมทั้งตระกูลภิรมย์ภักดี) ส่วนการเปลี่ยนแปลงล่าสุด หลังจากผ่านไปประมาณ 40 ปี สะท้อนความสัมพันธ์ในแนวคิดที่ต่อเนื่องจากนั้น
การเข้ามาถือหุ้นครั้งสำคัญของกลุ่มเอ็มบีเค ซึ่งมีรากเหง้าความสัมพันธ์ธุรกิจกับธนาคารไทยพาณิชย์ นอกจากมาจากกลุ่มธุรกิจที่มีประสบการณ์ในธุรกิจศูนย์การค้าและโรงแรมแล้ว ยังถือว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย ถือเป็นทางเลือกและโอกาสทางธุรกิจในยุคใหม่ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้กลุ่มตระกูลศรีวิกรม์ เจ้าของศูนย์การเกสร ศูนย์การค้าพรีเมี่ยมเก่าแก่กลางเมืองอีกแห่งหนึ่ง แม้ว่าจะเข้ามาถือหุ้นจำนวนไม่มาก ก็ถือเป็นความพยายามสร้างเครือข่ายธุรกิจประเภทเดียวกันในเชิงร่วมมือ มากกว่าการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม ยังเหลือคู่แข่งรายใหญ่ไว้อยู่ –กลุ่มเซ็นทรัล (เจ้าของศูนย์การค้าใหญ่กลางเมืองที่เผชิญกันโดยตรง ทั้งลักษณะและทำเล จากโครงการเก่า—เซ็นทรัลเวิรลด์ สู่โครงการใหม่—เซ็นทรัลแอมบาสซี กลายเป็นเรื่องน่าติดตามอย่างเร้าใจ ว่าจะเป็นยุทธสาสตร์ว่าด้วยร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน หรือ การผนึกพันธมิตรเพื่อการแข่งขันกับคู่แข่งรายสำคัญ
ความร่วมมือกับซีพี อาจถือว่ามีความหมายกว้างขึ้น ทั้งในฐานะผู้ร่วมทุนทางธุรกิจ ในโครงการใหญ่จำเป็นต้องลงทุนจำนวนมาก ในภาพรวมซีพีมีประสบการณ์กว้างขวาง รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในหลายมติ ทั้งขนาด โครงการ และทำเล ซีพีแป็นทั้งเครือข่ายธุรกิจใหญ่ ทรงอิทธิพลในปัจจุบัน และมีสายสมพันธ์ทางธุรกิจระดับภูมิภาค ย่อมถือเป็นทั้งพันธมิตรทางธุรกิจและทางสังคมในความหมายกว้างด้วย
สี่- บทบาทเกี่ยวกับ ฐานะของกรุงเทพฯ ผมค่อนข้างเชื่อว่า ความร่วมมือทางธุรกิจครั้งนี้ มีแรงบันดาลในทางสังคมพอสมควร ในความพยายามสร้างตำแหน่ง(Positioning) ของกรุงเทพฯให้โดดเด่นมากขึ้น ในฐานะเมืองหลวงที่มีบุคลิกเชื่อมโยงกับแม่น้ำ เป็นบุคลิกเมืองสำคัญระดับภูมิภาคทีมีวัฒนธรรม แรงบันดาลใจของความร่วมมือครั้งใหญ่ อาจเทียบเคียง กับความพยายามสร้างเมืองใหม่หรือCity regeneration ในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะอาจอ้างอิงกับกรณีสิงคโปร์ ในความพยายามปรับโฉมหน้าเมืองใหม่—กรณีMarinabay เพื่อสร้างแรงดึงดูดระดับภูมิภาค เมื่อระบบเศรษฐกิจอาเซียนหลอมรวมกันในปี2558
โดยเชื่อว่า เมื่อถึงวันนั้น กรุงเทพฯยังคงเข็มแข็งต่อไป