เรื่องราวเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย มีภาพสองด้านที่ขัดแย้งกันพอสมควร มิติธุรกิจกับสังคม ตอนแรกจะมุ่งเน้นมุมมองเชิงธุรกิจ จากปรากฏการณ์อันน่าทึ่งของธุรกิจไทย ในความพยายามเสริมสร้างความสามารถระดับภูมิภาคอย่างเป็นกระบวนการ
นั่นคือเครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพ ถือกำเนิดมาจากโรงพยาบาลเอกชนธรรมดาเมื่อกว่า40 ปีที่แล้ว ถือเป็นส่วนหนึ่งของภาพธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่ค่อยๆเติบโตขึ้นสังคมไทย ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนในทั่วประเทศมีมากกว่า200 แห่ง โดยกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมด แต่มีเพียงไม่กี่แห่งที่มีแรงบันดาลใจและความสามารถในฐานะธุรกิจระดับภูมิภาค
โรงพยาบาลกรุงเทพเกิดขึ้นจากความร่วมมือของแพทย์ศิริราช ซึ่งมีนายแพทย์ปราเสริฐ ประสาททองโอสถ เป็นหัวเรือใหญ่ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด ที่สำคัญเขาเป็นนักธุรกิจเต็มตัว แม้ว่ามีภูมิหลังมาจากครอบครัวผลิตและจำหน่ายยาแผนโบราณ แต่ในฐานะคนรุ่นที่สอง และมีความเข้าใจเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงมีความคิดกว้างกว่านักธุรกิจไทยทั่วไปในรุ่นเดียวกัน
นายแพทย์ปราเสริฐ ประสาททองโอสถ ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจใช้ทักษะขั้นสูง ธุรกิจที่ปกติอยู่ภายใต้เงาของอำนาจรัฐ –นั่นคือสายการบิน สายการบินกรุงเทพ มีตำนานอันวกวน ก่อนจะมาเป็นสายการบินที่มีบุคลิกเฉพาะ และดูเหมือนมีทีทางและการดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมั่นคงพอสมควร ถือเป็นสายการบินเอกชนรายแรกที่บุกเบิกมาก่อนจะมีสายการบินของเอกชนตามมาอีกมาก
แต่นั่นก็คงไม่สำคัญเท่ากับ เป็นต้นแบบยุทธศาสตร์ธุรกิจระดับภูมิภาค เช่นเดียวกับธุรกิจโรงพยาบาล ดูแล้วธุรกิจโรงพยาบาลที่ตอนแรกๆเขาไม่ให้ความสนใจมากนัก แม้ดูมั่นคงและให้ผลตอบแทนดีกว่าสายการบิน
อย่างไรก็ตามโมเดลความสำเร็จของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน –โรงพยาบาลกรุงเทพไม่ใช่ต้นแบบ หากเป็นโรงพยาบาลคู่แข่ง ซึ่งเกิดขึ้นที่หลังเกือบ10 ปี แต่พัฒนาไปอย่างน่าสนใจ
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นธุรกิจของตระกูลโสภณพนิช ผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารอันดับหนึ่งของไทย ก่อตั้งขึ้นเมื้อปี 2518ในช่วงที่ธนาคารแห่งนี้กำลังผลัดรุ่น โดยมีบุตรชายของชิน โสภณพนิชคนหนึ่งดูแล—ชัย โสภณพนิช ในฐานะได้รับแบ่งมรดกดูแลธุรกิจประกันชีวิต อาจเป็นไปได้ว่ามีความเชื่อมโยงกัน แต่ด้วยมุมมองธุรกิจระดับโลก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงมีเป้าหมายไปไกลในตลาดต่างประเทศมาก่อนใคร ว่าไปแล้วโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้จุดประกาย “จุดแข็ง”ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยในระดับภูมิภาค
ความสำเร็จของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีสองด้านที่โรงพยาบาลกรุงเทพศึกษา หนึ่ง- การเข้าตลาดหุ้น เพื่อสามารถระดมทุนเพื่อสร้างสาธารณูปโภคตอบสนองการเติบโตได้อย่างดี โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เข้าตลาดหุ้นก่อนในปี 2532หลังจากนั้นอีก 2ปี โรงพยาบาลกรุงเทพ จึงดำเนินตาม สอง-การสร้างตลาดใหม่ ลูกค้าต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน และตะวันออกกลาง ทุกวันนี้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีความแข็งแกร่งในตลาดต่างประเทศมากกว่าโรงพยาบาลกรุงเทพ
บางคนมองว่า การแอบซื้อหุ้นประมาณ20% ในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ของนายแพทย์ปราเสริฐ ประสาททองโอสถ นั้นหากไม่มองไกลไปถึงความพยายามครอบงำกิจการ คงพยายามศึกษาบทเรียนความสำเร็จตรงจุดนี้ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
การขยับตัวครั้งใหญ่ในช่วง10 ปีมานี้ของโรงพยาบาลกรุงเทพ นับว่าสั่นคลอนโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อย่างมากที่เดียว
“ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ (โรงพยาบาลรักษาโรคมะเร็ง กรุงเทพ) รวมถึงศูนย์ให้บริการลูกค้าต่างประเทศ และมีการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการรักษาพยาบาลผ่านบริษัทในเครือต่างๆ เช่น กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท เป็นต้น”คำอรรถาธิบายของกิจการตลาดหุ้นในนามบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (จากข้อสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์)
จากข้อมูลผลประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลแห่งนี้เติบโตอย่างมากในช่วง 5-6 ปีมานี้ เป็นธุรกิจหนึ่งที่เติบโตมากกว่าธุรกิจทั่วไป ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นกว่าแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้น แต่อย่างไรก็ตามเป็นภาพสะท้อนทั้งอุตสาหกรรมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน นักวิเคราะห์ลงทุนมองว่ามีอนาคตที่ดี ในกรณีเครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพในฐานะเครือข่ายโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดระดับภูมิภาค มีการขยายสินทรัพย์อย่างมาก แม้รายได้ยังเติบโตไม่มากนัก เข้าใจว่า อีกสักรยะะหนึ่งเมื่อการบริหารจัดการเครือข่ายกระจัดกระจายให้มีระบบมากกว่านี้
หากพิจารณาเฉพาะโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์แล้ว แม้ว่ายอดขายจะน้อยกว่ากว่าเครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพประมาณเท่าตัว แต่ฐานะโรงพยาบาลเดี่ยว ย่อมถือว่าเป็นกิจการที่มีผลประกอบการที่ดี มีกำไรในสัดส่วนที่สูงกว่าเครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพ ทุกวันนี้ยังเป็นโมเดลที่เฝ้ามองของระดับอุตสาหกรรมอยู่
ยุทธศาสตร์ของเครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพ ด้วยการเข้าซื้อและควบรวมกิจการที่อยู่เดิมของโรงพยาบาลในกรุงเทพ เมืองท่องเที่ยว เมืองธุรกิจและหัวเมืองใหญ่(ไปพร้อมกับการระดมทุนสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาค) ถือเป็นเดินทางลัด เพื่อหวังผลให้เกิดขึ้นรอย่างรวดเร็ว ในสองมิติธุรกิจ
หนึ่ง-ราคาหุ้นของบริษัทแม่–กรุงเทพดุสิตเวชการ น่าสนใจมากขึ้น ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น ความน่าสนใจสามารถแปรเป็นการะดมทุนต่อยอดธุรกิจต่อเนื่อง ไม่เพียงการเข้าซื้อ ควบรวมขยายเครือข่าย ยังรวมถึงไปกระบวนการผนึกเครือข่ายให้เข้มแข็ง ดูเหมือนกำลังดำเนินอย่างเข้มข้น ไม่ว่าการซื่อระบบ เทคโนโลยีและระบบบริหารจากโลกตะวันตก ไปจนถึงเครื่องมือการแพทย์ ซึ่งถือเป็นสินค้าเทคโนโลยีทีต้องวิ่งตามอยู่เสมอ
สอง—มองโลกในแง่ดี เมื่อระบบเศรษฐกิจภูมิภาคหลอมรวมเข้าด้วยกันในปี2558 ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย ถือเป็นจุดแข็งที่สุด แขนงหนึ่งในบรรดาสินค้าของทั้งระบบ เป็นสินค้าที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับภูมิภาค เครือข่ายโรงพยาลกรงเทพ คงหวังว่าเมื่อถึงเวลานั้น ธุรกิจจะได้รับผลตอบแทนทั้งสองด้านอย่างดีทวีคูณ
คำถามก็คือ ระบบโรงพยาบาลในสังคมไทย ควรมอง และปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเต็มที่ ในฐานะเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบเท่านั้นหรือ
ข้อมูลจำเพาะบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(เครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพ)
ล้านบาท
ปี 2554 2553 2552 2551 2550 2549
สินทรัพย์ 58,792 32,197 30,359 27,931 26,232 24,934
รายได้ 37,752 24,350 22,175 21,610 18,833 15,918
กำไรสุทธิ 4,385 2,295 1,725 1,662 1,244 1,323
เหตุการณ์สำคัญ
2546
ลงทุนขยายเครือข่ายในภาคตะวันออก ถือเป็นย่านใหญ่อุตสาหกรรมของธุรกิจต่างชาติ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลครบทุกจังหวัด–ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
2547
ลงทุนขยายเครือข่ายในพื้นทีท่องเที่ยวสำคัญ-เกาะสมุย เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก เพียง50 เตียง
เข้าซื้อหุ้น19%ในบริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง
เข้าซื้อกิจการและเครือข่ายโรงพยาบาลสมิติเวช โดยสามารถครอบครองหุ้นเกือบทั้งหมด ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับเข้าซื้อกิจการ โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ จำกัด และโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต
2548
เข้าซื้อกิจการ โดยเข้าถือหุ้นเกือบทั้งหมดของโรงพยาบาลบีเอ็นเอช เมดิเคิล เซ็นเตอร์
2549
เปิด “โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล” ในพื้นที่เดิมของฐานใหญ่—โรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อบริการแก่ชาวต่างชาติโดยเฉพาะ ในลักษณะ One Stop Service พร้อมล่าม 26 ภาษา (Multi-lingual)
เข้าซื้อกิจการ โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ 300 เตียง ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นการขยายสู่หัวเมืองใหญ่ในภาคอีสานเป้นครั้งแรก
บุกเบิกโรงพยาบาลในประเทศตะวันออกกลาง–เข้าไปร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นในประเทศสหรัฐอาหรับอิมีเรทส์ จัดตั้งRoyal Bangkok Hospitalโดยถือหุ้น 30% โรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ที่เมืองอาบูดาบี
2550
ลงทุนสร้างโรงพยาบาล ที่หัวหิน สามารถเปิดดำเนินงานได้ในปี 2552
เปิดโรงพยาบาลในประเทศเพื่อนบ้าน—กัมพูชาในช่วงเดียวกันถึง2 แห่ง Angkor International Hospitalซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 50 เตียง ที่เสียมเรียบ โดยถือหุ้น 80%และRattanak Hospitalโรงพยาบาลขนาด 28 เตียง ที่พนมเปญ โดยถือหุ้นร้อยละ 70
เข้าถือหุ้นในโรงพยาบาลรามคำแหง เพิ่มจากเดิม19% เป็น 26.18%
2552
ขยายเครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
2553
เข้าถือหุ้น20% บริษัท โรงพยาบาลกรุงธน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และประกอบธุรกิจโรงพยาบาลขนาด 150 เตียง
ลงทุน734 ล้านบาท ซื้อกิจการบริษัท เอ เอ็น บี ลาบอราตอรี่ (อำนวยเภสัช) จำกัด เป็นผู้ผลิตน้ำเกลือรายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศ และเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยาและวัสดุภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยมียอดการส่งออกไปต่างประเทศ ประมาณ 20% จากยอดขายรวม
ดีลครั้งใหญ่—การร่วมกิจการกับเครือโรงพยาบาลพญาไทและเปาโลเมโมเรียล โดย เข้าซื้อและรับโอนกิจการทั้งหมด(จากผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่–วิชัย ทองแตง และครอบครัว) โดยใช้เงินลงทุนเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาท ทั้งนี้กลุ่มวิชัย ทองแตง กลับมาเข้าถือหุ้นเครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพ(บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ)ประมาณ12%