เครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพ(2)

ข้อตกลงทางธุรกิจเมื่อปลายปีที่แล้ว  ถือเป็นเรื่องใหญ่และฮือฮามากที่สุดสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย 

จากนั้นเครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพ  ไม่เพียงกลายเป็นเจ้าของเครือข่ายโรงพยาบาลใหญ่ที่สุด ประมาณ30 แห่ง ยังถือเป็นปรากฏการณ์ ที่ควรเฝ้ามองและวิเคราะห์วิจารณ์อย่างเข้มข้น และกว้างขวาง โดยเฉพาะก้าวพรมแดนจากธุรกิจสู่สังคมด้วย

 

กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ มีแรงบันดาลใจอย่างสูงในการขยายเครือข่ายโรงพยาบาล ด้วยการเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลทั้งในกรุงเทพฯ  เมืองท่องเที่ยว และหัวเมืองใหญ่มาตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา จนมีเครือข่ายประมาณ20 แห่ง ถือว่าใหญ่ที่สุดในในประเทศไทยแล้ว ได้สร้างความตกตะลึงอีกครั้ง ด้วยดีลทางธุรกิจครั้งสำคัญ การควบรวมกับเครือข่ายโรงพยาบาลพญาไทและเปาโล (มีโรงพยาบาล 8 แห่ง) เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2553

ภูมิภาค 

การขยับตัวครั้งใหญ่ของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ แสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยาน ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ  โดยมีเป้าหมายใหญ่ สร้างบริการครบวงจร ตอบสนองกลุ่มลูกค้าระดับบนในฐานลูกค้าทั้งภูมิภาค ด้วยการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก  ตามแนววิเคราะห์ธุรกิจที่ว่าโอกาสมาจากการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558

เครือข่ายใหญ่ของโรงพยาบาลกรุงเทพ มีการประเมินกันว่า เป็นภาพสะท้อนโมเดลธุรกิจของเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนในประเทศทุนนิยมเสรี  โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย  ขณะเดียวกันโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็งของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย ซึ่งเป็นธุรกิจไทยอย่างแท้จริง  พยายามก้าวไปอีกขั้น สร้างเครือข่ายในต่างประเทศ และมีเป้าหมายสร้างตลาดต่างประเทศ อย่างจริงจัง

ว่าไปแล้วยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ เป็นที่เข้าใจกันมาระยะหนึ่งแล้ว  สอดคล้องกับความพยายามของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ในการเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลในตลาดบน เช่น โรงพยาบาลสมิติเวช  และการเข้าไปลงทุนในประเทศตะวันออกกลาง หรือแม้กระทั่งในเมืองสำคัญของกัมพูชา แนวโน้ม มาจากบทวิเคราะห์ของนักลงทุนต่างชาติที่ประเมินว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยมีความสามารถในการแข่งขันอย่างมากในระดับภูมิภาค

ประสบการณ์ทางธุรกิจของโรงพยาบาลชั้นนำ เชื่อว่า ฐานลูกค้าแต่เดิมที่เป็นชาวต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลโดยรวม นับล้านคนนั้น จะขยายตัวอีกมาก พิจารณาเฉพาะโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์(ข้อมูลล่าสุด มีนาคม 2555)  ถือว่ามีฐานลูกค้าต่างชาติมากที่สุดอยู่แล้ว รายงานว่าในปีที่ผ่านมา (2554) มีคนไข้เข้ามาใช้บริการทั้งปีประมาณ1 ล้านคน โดยประมาณ40% เป็นคนต่างชาติ

สังคมไทย

แต่ปรากฏการณ์ควบรวมเชิงรุกครั้งล่าสุด ระหว่างเครือโรงพยาบาลกรุงเทพกับกลุ่มโรงพยาบาลระดับกลางๆ เชื่อว่ามียุทธศาสตร์ที่แตกต่างออกไป  ถือเป็นยุทธศาสตร์เดิมของการก่อเกิดธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในยุคแรกๆ แสวงหาโอกาสทางธุรกิจจากตลาดอีกระดับหนึ่งจากผู้มีรายได้เพิ่มขึ้น พอจะจ่ายเพื่อความสะดวกสบาย ไม่ต้องเข้าคิวรอนานกับระบบโรงพยาบาลของรัฐ   ถือเป็นเพียงบริการพื้นฐาน ไม่มีแรงจูงใจที่ว่าด้วยประสิทธิภาพหรือความพึงพอใจแต่ไหนแต่ไรมา(แต่วันนี้อาจไม่ใช่)

ตั้งแต่ช่วงการเกิดขึ้นของโรงพยาบาลเอกชนอย่างขนานใหญ่ ช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูราวปี 2530   กับสถานการณ์ในช่วงหลังวิกฤติการณ์ปี2540   ดูเหมือนมีความแตกต่างกันอย่างน่าสนใจ แทนที่ความล่มสลายทางเศรษฐกิจช่วงหนึ่ง จะบั่นทอนพัฒนาการกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่เติบโตขึ้น   แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นเสียทั้งหมด แนวโน้มของกลุ่มระดับกลางบางส่วนค่อยๆเลื่อนขึ้น  ทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑล และหัวเมือง ขณะที่กลุ่มระดับบนส่วนหนึ่งเลื่อนขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

การเติบโตของผู้คนระดับกลางในสังคมขยายตัว   ท่ามกลางบริการและสินค้าสมัยใหม่เติบโตขึ้น  หลากหลายมากขึ้น  มีหลายระดับมากขึ้น เป็นปรากฏการณ์อันน่าทึ่งและต่อเนื่อง แม้ว่าสังคมไทยจะเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรง

บริการทางการแพทย์ มีลักษณะพิเศษ และสำคัญที่น่าสนใจหลายปัจจัย หนึ่ง–ทำเล   การสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลที่กระจายไปตามชุมชนต่างๆของกรุงเทพ ย่อมเป็นจุดขายที่ดี   สอง—เช่นเดียวกับสังคมเมืองใหญ่ความสำคัญเรื่องแบรนด์สินค้า เครือข่ายโรงพยาบาลก็ไม่อาจหลีกพ้นจากวิถีชีวิตและความเชื่อเช่นนี้ได้ กรณีเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ อาจอรรถาธิบายในแนวทางนี้ ไม่ว่าเรืองการขยายเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่สำคัญของกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ และความยายามสร้างแบรนด์อย่างหลากหลาย

สาม—เช่นเดียวกันสังคมเมือง ต้องการบริการอย่างครอบคลุม และเชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์มากขึ้น การปรากฏขึ้นของโรงพยาบาลเอกชนที่มีบริหารครอบคลุมและครบวงจร ด้วยความสะดวกสบายและการปรับปรุงสถานที่บริการไม่เพียงเพิ่ออำนายความสะดวก ยังรวมไปถึงการออกแบบ ที่สอดคล้องกับรสนิยมคนเมือง เป็นที่ทราบกันว่าโรงพยาบาลชั้นนำบางแห่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่นเดี่ยวกับโรงแรมห้าดาว

ส่วนความวิตกกังวลกันว่า เมื่อเครือโรงพยาบาลกรุงเทพครอบงำเครือข่ายโรงพยาบาลไว้จำนวนมาก  ย่อมมีอำนาจในการกำหนดอัตราค่าบริการ เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป   ปัจจุบันบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าและบริการทีมิได้ควบคุมราคา  และปกติค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนก็อยู่ในอัตราค่อนข้างสูงอยู่แล้ว  อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างโรงพยาบาลเอกชนกับลูกค้ามีความซับซ้อนมากกว่านั้น   โดยมีระบบอื่นๆเกี่ยวข้องอีก ไม่ว่าระบบประกันชีวิต ระบบสวัสดิการของธุรกิจขนาดกลางและใหญ่  ระบบเหล่านี้ ถือเป็นฐานอีกชั้นของความเป็นไปของธุรกิจของโรงพยาบาลเอกชน

การปรากฏขึ้นของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นธุรกิจของรายใหญ่ ถือเป็นการปรับโครงสร้างบริการทางการแพทย์ของเอกชนด้วย   จากก่อนหน้านั้นไม่นาน ระบบคลินิกรายย่อยและโพลีคลินิก (ซึ่งมีความพยายามให้บริการทางการแพทย์อย่างหลากหลาย)  เกิดขึ้นในช่องว่างช่วงหนึ่ง แต่เมื่อเผชิญกับการแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ และความต้องการของคนเมืองเปลี่ยนไป  แพทย์ในฐานะผู้ประกอบการรายย่อย ต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น  การดำรงอยู่ของผู้ประกอบรายย่อยในเวลาต่อมา จึงจำเป็นต้องอ้างอิงกับระบบประกันสุขภาพ และโรงพยาบาลของรัฐ  ขณะที่แพทย์ในฐานะวิชาชีพจำนวนไม่น้อยถูกดูดเข้าโรงพยาบาลเอกชน

แพทย์ไทย

สิ่งสำคัญอันดับต้นๆของความสำเร็จของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน มาจากระบบการศึกษาแพทย์ไทยที่สร้างแพทย์ให้มีความรู้ความสามารถระดับโลก บทวิเคราะห์ที่ว่าด้วยความสามารถในการแข่งขันระดับภูมิภาคของธุรกิจโรงพยาบาลเอกกชนของไทย ย่อมมาจากปัจจัยสำคัญ—ความรู้ความสามารถของแพทย์ไทย

ถึงแม้ว่าการฝีกอบรมแพทย์ถือว่าเป็นระบบที่ดี   แพทย์รุ่นใหม่ต้องใช้ชีวิตและเรียนรู้การรักษาคนไข้ในชุมชนผู้ด้อยโอกาสในต่างจังหวัด สักระยะหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันแรงดึงดูดของเมืองย่อมมีมากกว่า เมื่อผ่านระยะหนึ่งแพทย์จำนวนมากจึงเคลื่อนย้ายเข้าสู่เมือง  หากมองในเชิงเศรษฐกิจ เป็นการแสวงหาโอกาสที่กว้างขึ้นของปัจเจก

โอกาสมีความสัมพันธ์กับความรู้และวิทยาการใหม่ ซึ่งมีความสัมพันธ์โรงเรียนแพทย์ ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ  บรรดาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์กระจุกตัวที่นี่  ยิ่งเมื่อสังคมพัฒนาขึ้นแรงบีบคั้นให้มีการเพิ่มการผลิตแพทย์มากขึ้น จำนวนแพทย์ที่มีมากขึ้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สอดลคล้องกับการพัฒนาของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

กรณีเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ  ล้วนมียุทธศาสตร์หนึ่งที่คล้ายๆกัน   เกิดขึ้นจากช่องว่างในกิจการของรัฐ ขณะเดียวกันพึ่งพาระบบของรัฐ  การพึงพาที่ว่านั้นมิได้มีความหมายเชิงลบอย่างเดียว หากใช้ศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของกลไกหรือระบบของรัฐด้วย

เช่นเดียวกับโอกาสของวิชาชีพแพทย์ไทยในกรุงเทพฯหรือเมืองใหญ่   ปกติพวกเขาและเธอมักใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ   ด้วยการสร้างธุรกิจส่วนตัว ในรูปคลินิกเป็นรายได้เสริมอยู่แล้ว  การเกิดขึ้นของโรงพยาบาลเอกชน เปิดโอกาสที่กว้างขวางขึ้น  แพทย์เหล่านั้นแทนที่เผชิญความเสี่ยงของธุรกิจคลีนิคด้วยตนเอง  การเข้าไปอยู่ในเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนในเวลาที่เหมาะสมหรือเวลาที่จัดการให้เหมาะสมกับบทบาทประจำของระบบราชการ แสวงหาโอกาสที่ไม่เพียงมีความเสี่ยงน้อย กลับมีโอกาสในการแสวงหารายได้มากขึ้น

ระบบนี้สมควรวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้นหรือไม่  เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถือโอกาสนี้จุดประเด็นไว้บ้างเท่าที่ทำได้

ระบบทำงานในเวลานอกราชการของแพทย์เกิดขึ้นมานานแล้ว การเบียดบังเวลาราชการ หรือการบั่นทอนระบบบริการสาธารณสุขของประชาชนทั่วไปมักขึ้นกับ ระดับบุคคลและองค์กรมากกว่าตัวระบบเอง  เพราะแต่ไหนแต่ไรมา แพทย์ส่วนใหญ่ก็ต้องทำงาน แสวงหารายได้เพิ่มเติมอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันเชื่อว่าปริมาณแพทย์ในปัจจุบันมีมากพอสมควร และไม่เชื่อว่าระบบโรงพยาบาลเอชนจะดูดซับพลังงานส่วนใหญ่  หากเป็นพียงบุคคลที่มีคุณภาพส่วนหนึ่งเท่านั้น

ระบบนี้จะทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวโดยกว้างๆ โดยมิได้เจาะจงวิพากษ์วิจารณ์ระบบอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่นระบบประกันสุขภาพแห่งชาติที่กล่าวกันว่ามีความขัดแย้ง มีปัญหามากพอสมควร  สังคมไทยต้องการการผลิตแพทย์ใหม่จำนวนมากขึ้น ต้องการมีโควตาสำหรับการสร้างบุคลากรทางการแพทย์เพื่อชุมชนชนบทมากขึ้น

เชื่อว่าพลังนี้จะหล่อลื่นระบบบริการสาธารณะสุขของรัฐดีขึ้น เช่นเดียวกับสนับสนุนธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยให้บรรลุแรงบันดาลในฐานะธุรกิจที่โดดเด่นระดับภูมิภาค

 

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: