เดอะมอลล์

เดอะมอลล์ เคยมีคนเทียบเคียงว่าเป็นคู่แข่งรายสำคัญของเซ็นทรัล  แต่วันนี้ภาพนั้นดูเลือนไปมาก แต่เมื่อมองลงไปอย่างลึก เดอะมอลล์มีบางสิ่งบางอย่างที่มีบุคลิกเฉพาะ   โดยเฉพาะว่าด้วยกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความอยู่รอด และท้าทาย

ผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจเดอะมอลล์มีพื้นเพมาจากต่างจังหวัด มาจากแนวความคิดพื้นฐานของผม “จากโมเดล ธุรกิจนายหน้า หรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าหลัก ๆ คือที่มาของกลุ่มธุรกิจใหญ่ในหัวเมือง   โดยเฉพาะ เอเย่นต์ปูนซีเมนต์ เอเย่นต์สุรา และ รถยนต์ คงอยู่อย่างมันคงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากระบบนี้ ได้สร้างผู้ประกอบการจากหัวเมือง ให้สามารถสะสมทุน ก้าวมาเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ในเมืองหลวงได้ นี่คือปรากฏการณ์ในช่วงสงครามเวียดนาม   ยังปรากฏร่องรอยถึงปัจจุบัน ทั้งกลุ่มที่ยังอยู่และจากไปแล้ว ซึ่งรวม เดอะมอลล์ จากภาคกลางตอนบน เข้าไปด้วย”  

ว่าไปแล้วธุรกิจห้างสรรพสินค้าถือกำเนิดขึ้นในไทย   ก่อนหน้านั้นนานพอสมควร  จากจุดเริ่มต้น แม้จะเป็นห้างไดมารู(Daimaru) ของญี่ปุ่นในปี 2507 แต่ก็ถืออยู่ในช่วงสังคมไทยได้รับแรงกระตุ้นสำคัญ จากกระแสและอิทธิพลตะวันตก   จากนั้นตระกูลจิราธิวัฒน์ ในฐานะผู้นำธุรกิจในเวลาต่อมา จึงเริ่มต้นห้างเซ็นทรัลขึ้นอย่างเป็นทางการ ( ปี2511 เซ็นทรัล สีลม และปี2516 เซ็นทรัล ชิดลม) โดยพิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยสามารถทำธุรกิจใหม่ได้ไม่แพ้เจ้าตำรับต่างชาติ

ในช่วงเวลานั้นธุรกิจตะวันตกขยายตัวเข้ามาสังคมไทย โดยเฉพาะConsumer Product ซึ่งสะท้อนอิทธิพลกำลังลงลึกถึงวิถีชีวิต และรสนิยมของคนไทย ถือเป็นขยายอิทธิพลจากชนชั้นนำกลุ่มเล็ก ๆไปสู่ฐานที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางที่เติบโตในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวจากช่วงนั้น

จุดเริ่มต้นของเดอะมอลล์  อยู่ท่ามกลางมองโอกาสในเชิงบวก เพราะมีพาเหรดผู้ร่วมกระบวนการมากหน้าหลายตา ถือเป็นรายใหม่  ไม่มีประสบการณ์โดยตรง เช่นเดียวกัน(ปี 2518 พาต้า  2519 ตั้งฮั้วเส็ง  2520 เมอร์รี่คิงส์  2521 บางลำพู  2522 โบบินสัน, แก้วฟ้า) ซึ่งถือว่าเป็นบทเรียนที่มีค่าสำหรับการแสวงหาจุดเด่นของตนเองต่อไป เดอะมอลล์ เริ่มต้น ในศูนย์กลางการแข่งขัน(เดอะมอลล์ ราชดำริ 2524 ) ในที่สุดก็ต้องล่าถอย

เปิดพื้นที่ใหม่

การวิเคราะห์ทำเล เป็นเรื่องสำคัญของธุรกิจห้างสรรพสินค้า    นั่นคือการแสวงหาทำเลใหม่มีมีอนาคต   ในช่วงปี 2536-2537 ถือเป็นทศวรรษแห่งความสำเร็จ เดอะมอลล์ มาอยู่ในเส้นทางที่เหมาะสม ในฐานะผู้นำในการสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ชานเมือง ถือเป็นบทเรียนสำคัญของผู้มาทีหลัง และผู้ท้าทาย กับรายใหญ่ (เดอะมอลล์ สาขาที่ 2-3-4รามคำแหง –2526-2530 เดอะมอลล์ 6 งามวงศ์วาน– 2534 เดอะมอลล์ 7 บางแค และเดอะมอลล์ 8 บางกะปิ—2537)

ในเวลานั้นกรุงเทพฯ กำลังขยายชุมชนออกสู่ชานเมืองอย่างขนานใหญ่ ด้วยการโครงก่อสร้างบ้านจัดสรร   และระบบสาธารณูปโภค   เช่น ทางด่วน    แม้แต่รายใหญ่อย่างเซ็นทรัล  ผู้ยึดพื้นที่ด้านเหนือ—สาขาลาดพร้าว ก็เริ่มมองโอกาสชานเมืองมากขึ้น   รวมทั้งเข้าร่วมแชร์โอกาสในทำเลสำคัญที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในพื้นที่บุกเบิกของเดอะมอลล์—รามคำแหง ด้วย

ในช่วงเวลานั้น ความสามารถในการขยายสาขาและสร้างสาขาขนาดใหญ่ มีบริการต่างๆเสริมจากห้างสรรพสินค้า  กลายเป็นจุดเด่น และด้วยขนาดธุรกิจแล้ว ถือว่าเป็นช่วงเดียวเท่านั้น ที่เดอะมอลล์ได้รับการยอมรับว่าเป็นคู่แข่งรายสำคัญของเซ็นทรัล

แสวงหาพันธมิตร

เป็นช่วงที่น่าสนใจ ปรากฏทางแยก ระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล กับเดอะมอลล์อย่างชัดเจน

เซ็นทรัล มองโลกในแง่ดี  มองการขยายอิทธิพลของวิถีชีวิตสมัยใหม่ก้าวไปอีกขึ้นในช่วงก่อนและหลังวิกฤติการณ์เศรษฐกิจครั้งใหญ่ปี2540 เครือข่ายการค้าสมัยใหม่เติบโตอย่างมากมาย เคลื่อนย้ายจากเมืองสู่หัวเมืองมากขึ้น   สาขาลาดพร้าว กลายเป็นโมเดลสำคัญของเซ็นทรัล  ในความพยายาม สร่างโอกาสเพื่อขยายกิจการอย่างครอบคลุมทางภูมิมิศาสตร์  รอบด้านของโมเดลธุรกิจ   โดยเฉพาะการนำกิจการสำคัญ เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น  บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซาในปี2533    โดยเฉพาะบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา ซึ่งเป็นแกนในการลงทุนขนาดใหญ่ เข้าตลาดหุ้นในปี2538

ขณะนี้เดอะมอลล์  กลับแสดงให้เห็นข้อจำกัดบางประการ  ในการลงทุนที่ต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้น ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า  เป็นเพราะแรงบันดาลใจ หรือข้อจำกัดในการระดมทุน และทีมงานของธุรกิจครอบครัว แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีความพยายามแสวงหาโอกาสด้วยทางเลือกอื่นๆ  นั่นคือที่มาของโครงการที่แตกต่างออกไป จนไม่อาจใช้ชื่อเดอะมอลล์ได้

ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม–  ถือเป็นเส้นทางเข้าสู่ตลาดใหม่ในทางอ้อม และใช้เวลานานทีเดียว  –ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าใจกลางเมือง  เป็นตำแหน่งทางยุทธศาสตร์สำคัญในศูนย์กลางตลาดระดับบน   เป็นตลาดที่เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของความโดดเด่น ไม่ว่าตำแหน่งของธุรกิจ หรือภาพพจน์  ว่าไปแล้วเดอะมอลล์เคยอยู่ในบริเวณเดียวกันนี้ ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ  แต่แล้วก็ต้องถอยห่างออกไป  จนสามารถกลับมาตำแหน่งสำคัญนี้อีกครั้ง เมื่อเวลาล่วงเลยไปกว่า2 ทศวรรษ

ที่ไม่อาจใช้ชื่อหรือแบรนด์ เดอะมอลล์ได้  เชื่อว่าเป็นเพราะ หนึ่ง-เดอะมอลล์ เป็นสัญลักษณ์ของห้างสรรพสินค้าชานเมือง   สอง-เอ็มโพเรียมเป็นศูนย์การค้าของสินค้าหรู แบรนด์เน้มระดับโลก ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งอย่างชัดเจน    สาม-เป็นกิจการร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจที่มีพลังสังคมมากทีเดียว

กลุ่มซิตี้ เรียลตี้  โดยชาลี โสภณพนิช  บุตรชายของชาตรี โสภณพนิช แห่งเครือข่ายธนาคารกรุงเทพฯ ดำเนินธุรกิจทั้งหลักทรัพย์    และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างตั้งใจไม่ให้ครึกโครม แต่มีเครือข่ายกว้างขวางโดยใช้เวลาไม่นานนัก  ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  มีทั้ง อาคารสำนักงาน  เช่น สาธรซิตี้ ทาวเวอร์ คอนโดมีเนียม–ชาเทรียม คอนโดมิเนียม  โรแยลคลีฟ การ์เด้นคอนโดมิเนียม (พัทยา)   ฯลฯ โดยได้รวม เอ็มโพเรี่ยม ทาเวอร์เข้าไวด้วย

โมเดลการร่วมทุนระหว่างซีกเดอะมอลล์กับ ซีตี้เรียลตี   ว่ากันว่าอยู่ในสัดส่วน50/50 แต่บทบาทในการบริหารศูนย์การค้า กลุ่มเดอะมอลล์จะมีมากเป็นพิเศษในฐานะผู้เชี่ยวชาญ

เอ็มโพเรียม เผชิญบทพิสูจน์สำคัญและหนักหนาพอสมควร เปิดตัวในปี2540 แต่สามารถประสบความสำเร็จทางธุรกิจ     บทพิสูจน์นั้น ส่งผลดีอย่างมากมายในเวลาต่อมา เดอะมอลล์สามารถเข้าสู่โปรแกรมเดียวกัน ในโมเดลร่วมทุนที่ยิ่งใหญ่กว่า –สยามพารากอน ถือเป็นความสำเร็จที่ผู้บริหารเดอะมอลล์ภูมิใจกับความรู้สึก และPrestige บางอย่างเป็นพิเศษ

รายละเอียดของโครงการสยามพารากอนและเรื่องราวเกี่ยวเนื่อง คงต้องหาอ่านจากบทความชุดสำคัญ 2 ตอนก่อนหน้านี้ (สยามพิวรรธน์(1)

และสยามพิวรรธน์(2)  )

ความเชี่ยวชาญ

ว่ากันตามยุทธศาสตร์ธุรกิจ การร่วมทุนเพื่อแบ่งเบาภาระทางการลงทุนนั้น ถือเป็นแนวทางหนึ่ง แต่ถือว่าต้องมีองค์ประกอบสำคัญอื่นด้วย  ในโมเดลทั้งเอ็มโพเรียมและสยามพารากอน   มีบทสรุปหนึ่ง –เดอะมอลล์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญบริหารศูนย์การค้า

เมื่อมองในมุมนี้อย่างพินิจพิเคราะห์ โอกาสของเดอะมอลล์จึงมีมากขึ้น   มีความยืดหยุ่นในทางธุรกิจมากขึ้น

ล่าสุดผู้บริหารเดอะมอลล์ มองความเชี่ยวชาญเชื่อมโยงกับแบรนด์ลงลึกและย่อย ทั้งซูปเปอร์มาเก็ต –Gourmet Market, Home Fresh Mart และศูนย์อาหาร—Food Hall โดยนำโมเดลดารร่วมทุนมาใช้ประยุกต์กับโครงการขนาดเล็กลง แต่มีโอกาสมากขึ้น ตามแนวโน้มสังคมธุรกิจไทยกำลังค้นคิด และประดิษฐ์ศูนย์การค้าในรูปแบบต่างๆอย่างหลากหลายมากขึ้น

“เดอะมอลล์เตรียมขยายสาขาที่ 3 นอกพื้นที่เดอะมอลล์ โดยเปิดกูร์เมต์ มาร์เก็ตในศูนย์การค้าเดอะ พรอมานาด ย่านรามอินทรา ในเดือนพฤษภาคม หลังจากได้เปิดกูร์เมต์ มาร์เก็ตสาขาแรกที่เค วิลเลจ สุขุมวิท 26 และสาขาที่ 2 เทอร์มินอล 21 ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเดอะมอลล์ (อ้างจากประชาติธุรกิจออนไลน์ 27 เมษายน 2555)

เรื่องราว และบทเรียนเพื่อความอยู่รอด ของผู้ท้าทาย น่าสนใจเช่นกัน

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น