บทสรุป(1) เปิดกว้าง และผันแปร

บทความชุดใหญ่เดินทางมาถึงบทสุดท้ายแล้ว   นับเป็นงานเขียนต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาหนึ่งปีเต็มเลยที่เดียว  ความจำเป็นต้องมีบทสรุปอย่างกระชับ รวมทั้งเพิ่มเติมจุดเชื่อมต่อทางความคิด โดยเฉพาะขยายความบริบททางสังคมที่มีความสำคัญให้มีมิติมากขึ้น

 

ภาพต่อเนื่องจากมุมมองในระบบเศรษฐกิจจากบทความชุดใหญ่นี้   เชื่อและคิดว่าในช่วงที่ผ่านมาสามทศวรรษนั้น โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษสุดท้ายสังคมเศรษฐกิจไทย มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากที่สุดในหลายมิติ แม้ว่าผมเชื่อว่าปรากฏการณ์ทางการเมือง เป็นปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายนั้นด้วย” บริบททางการเมืองเป็นเรื่องที่บทความชุดนี้พาดพิงถึงน้อยมาก แต่ได้มีสรุปไว้บ้างเช่นกัน (โหมโรง  8 กรกฎาคม 2554  ถือเป็นบทความชิ้นแรกของชุดนี้) และหลังจากนั้นอีกประมาณ 7เดือนได้ขยายความเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่าเพียงพอแล้ว

 

  “บทเรียนในช่วงกว่าสองทศวรรษเป็นบทเรียนสำคัญมาก  ก่อนวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่มาถึง  เป็นช่วงผู้มีอิทธิพลดั้งเดิม มีความมั่นใจตนเองมากที่สุด มีความเชื่อมั่นว่า มีความสามารถควบคุมระบบและกลไกทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าปัจจุบันมากมายนัก  แต่จากปรากฏการณ์ท้าทายได้มาถึงอย่างไม่คาดฝัน และพวกเขาต้องประสบปัญหามากมายในเวลาต่อมา   ขณะเดียวกันกลุ่มอิทธิพลใหม่ที่อุบัติขึ้นอย่างน่าเกรงขามเป็นช่วงๆนั้น  ดูเหมือนว่าสามารถทนแรงเสียดทานได้มากกว่ายุคก่อนๆ แต่ทว่านับวันแรงตีโต้ก็รุนแรงมากขึ้นๆเป็นลำดับ   ภาพความไม่มั่นใจ ความกังวลกับอนาคตจึงปรากฏขึ้นกับทั้งสองฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น”  (จาก บทที่ควรสรุป  กุมภาพันธ์  2555)

ในบทความชิ้นเดียวกันนั้น ได้สรุปความคิดหนึ่งที่เป็นแกนของบทความชุดนี้ไว้อย่างรวบรัดและเป็นนามธรรมอย่างมากไว้ว่าโครงสร้างความสัมพันธ์กับเครือข่ายทุนนิยมระดับโลก สะท้อนผ่านตลาดหุ้นและระบบสถาบันการเงินไทยมีความสลับซับซ้อนมากกว่าในช่วงก่อนหน้าอย่างมาก”

เรื่องราวและพัฒนาการในบริบทนั้น  ควรอรรถาธิบายเพิ่มเติมอีกมาก  ทั้งลำดับเหตุการณ์ และบทบาทที่เหลื่อมและซ้อนกันระหว่าง”ระบบสถาบันการเงิน”ทั่วไป และ “ตลาดหุ้น” ด้วย

ข้อต่อสำคัญของเหตุการณ์คงต้องเท้าความไปไกลถึงยุคอานานิคม ซึ่งผมเคยสรุป แนวทาง และกุศโลบายของชนชั้นนำเพื่อความอยู่รอดในยุคอาณานิคมไว้บ้าง

1 เริ่มจากรัชการที่4  มีการเรียนภาษาอังกฤษอย่างขนานใหญ่ในราชสำนัก เพื่อใช้สื่อสารกับอาณานิคม รวมทั้งส่งคณะทูตไปเจรจาถึงยุโรป   2 รัชการที่5  เสด็จเยือนประเทศเมืองขึ้นของอาณานิคมหลายประเทศ  จนถึงเยือนประเทศเจ้าอาณานิยมในยุโรป  ถือเป็นการแสวงหาประสบการณ์โดยตรง  3  ส่งพระโอรส ข้าราชบริพาร และขุนนาง ไปเรียนรู้วิชาการจากยุโรป  4 ว่าจ้างที่ปรึกษาชาวต่างชาติ  ในที่สุดนำไปสู่การปรับระบบการบริหารรัฐไทย พัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัย ตามโมเดลตะวันตกเท่าที่ทำได้

ในยุคอิทธิพลของอาณานิคม การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นกระบวนการพัฒนาต่อเนื่องมาอย่างน้อย 3รัชกาล (รัชกาลที่4-5-6)  ภายใต้กระบวนการปรับตัวอันน่าทึ่ง  สาระและเหตุผล มาจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องลงทุนใช้เงินตราต่างประเทศ จำนวนมากในเวลาเดียวกันด้วย ความสัมพันธ์กับระบบสถาบันการเงินของอาณานิคม จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ ก่อนจะมาเป็นระบบทุนนิยมโลก

ผมไม้ได้ศึกษาความสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวในยุคนั้นโดยตรง  หากมีข้อมูลบางชิ้นสนับสนุนข้อสังเกตของตนเอง โดยเฉพาะการออกพันธบัตรครั้งสำคัญเกิดขึ้นปลายรัชการที่5(2448 -2452 ) เกือบ 10 ล้านปอนด์ จาก Federation of Malay Straits(เขตปกครองหนึ่ง ของสหราชอาณาจักรในมาเลเซีย) เป็นการกู้เงินครั้งใหญ่ เพื่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ซึ่งถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับโครงสร้างสังคมไทยในยุคนั้น(อ่านเพิ่มเติมจากEconomic Handbook of the Pacific Area     Edited by Frederick V. Field for the Institute of Pacific Relations , Foreword by Newton D. Baker Doubleday, Doran & Company  Inc. Garden City, New York 1934  )

จากการศึกษาประวัติศาสตร์การก่อตั้งธนาคารไทยแห่งแรก(ธนาคารไทยพาณิชย์ ) และโรงงานอุตสาหกรรมแห่งแรก(บริษัทปูนซิเมนต์ไทย) ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช  ให้ภาพความสัมพันธ์กับธนาคารอาณานิคมอย่างน่าตื่นเต้น

ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือสยามกัมมาจล(2449) ก่อตั้งและบริหารโดย Deutsch Asiatische Bankธนาคารเยอรมนี และ Den Danske Lnadmands Bankธนาคารเดนมาร์ก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับธุรกรรมกับต่างประเทศหรือระบบอาณานิคมซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ในเวลานั้น

ส่วนบริษัทปูนซิเมนต์ไทย( 2456) เกิดขึ้นได้ แม้เป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้กับระบบอานานิคม  แต่ต้องอาศัยกลไกระบบอาณานิคมอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าเครื่องจักร วัตถุดิบส่วนใหญ่ และการบริหาร ที่สำคัญภายใต้ความพึ่งพิงระบบอาณานิคม ต้องลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก โดยผ่านกลไกระบบธนาคารต่างประเทศ  แม้ว่าการจ่ายเงินครั้งแรกเพื่อซื้อเครื่องจักรได้ผ่าน Den Danske Lnadmands Bankธนาคารเดนมาร์ก    ซึ่งซื้อเครื่องจักรจากเดนมาร์กก็ตาม แต่ธนาคารที่มีบทบาทอย่างมาก ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง คือ HSBC –ธนาคารที่เกิดขึ้นภายใต้อาณานิคมอังกฤษ

ธนาคารเอชเอสบีซี เป็นธนาคารระดับโลกที่รับใช้สังคมไทยมาอย่างยาวนาน เป็นเวลากว่า 12 ทศวรรษ ธนาคารเอชเอสบีซีเริ่มเปิดทำการในประเทศไทย ครั้งแรก ในปีพุทธศักราช 2431 นับได้ว่าเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกใน ประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นผู้พิมพ์ธนบัตรออกใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในปี. 2432 รวมทั้งจัดหาเงินกู้จากต่างประเทศสำหรับรัฐบาลไทยเป็น ครั้งแรกเพื่อการสร้างทางรถไฟ และธนาคารยังได้มีบทบาทสำคัญในการวาง รากฐานด้านการเงินการธนาคารของไทย” (อ้างจากข้อมูลทางการของhttp://www.hsbc.co.th)

ที่สำคัญจากนั้น ความสามารถในการอยู่รอดและเติบโตในประวัติศาสตร์อันภาคภูมิของปูนซิเมนต์ไทย  ล้วนมีปัจจัยสำคัญ มาจากความสัมพันธ์กับระบบธนาคารระดับโลก (เมื่อมีโอกาสเขียนเรื่องเครื่อซิเมนต์ไทย 100 ปีที่กำลังจะมาถึง  จะขยายความเรื่องนี้ให้ชัดเจน)

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475และต่อเนื่องจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ว่าถือเป็นรุ่งอรุณของระบบธนาคารไทย แต่จำกัดตัวเอง เพื่อการสนับสนุนธุรกิจในครอบครัวหรือเครือข่ายของเจ้าของธนาคารเท่านั้น บทบาทที่เปิดกว้างขึ้นอย่างแท้จริง   มาจากความสัมพันธ์กับเงินทุนต่างประเทศมีระบบมากขึ้น เป็นความสัมพันธ์กับการลงทุนโดยตรงของบริษัทระดับโลก ทั้งตะวันตกและญี่ปุ่น โดยมีคนไทยกลุ่มหนึ่งที่แวดล้อมอำนาจรัฐในเวลานั้น ถือได้ว่าเคลื่อนตัวและขยายวงของจากราชสำนักพอสมควร คือกลุ่มอำนาจทางธุรกิจใหม่

แรงกระตุ้นครั้งใหญ่มาจากช่วงสงครามเวียดนาม แม้ว่าในช่วงแรกจำกัดวงอยู่กับกลุ่มธุรกิจที่ได้โอกาสและเติบโตในช่วงหลังสงคมโลกครั้งที่สอง  แต่ต่อมาประตูบานใหญ่เปิดกว้าง  เมื่อตลาดหุ้นไทยกำเนิดขึ้น และค่อยๆมีบทบาทมากขึ้น   เมื่อเข็าไปพิจารณาในสาระอย่างจริงจังแล้ว ความเคลื่อนไหวของเงินทุนในตลาดหุ้นไทย มีความเชื่อมโยงกับเงินลงทุนจากต่างประเทศอย่างมากเช่นกัน

นั่นคือสถานการณ์ใหม่ ที่มีความผันแปรและซับซ้อนอย่างมาก  จนถึงวิกฤติการณ์ในปี 2540 จังเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่ผมพยายามวาดภาพให้มีมิติมากขึ้นในบทความชุดใหญ่

–โครงสร้างตลาดทุนไทยมองผ่านผู้เล่นสำคัญ ปรากฏโฉมหน้าอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะเชื่อมโยงกับยุทธ์ศาสตร์และสถานการณ์ระดับโลก กับโอกาสที่เปิดกว้างจากเงินทุนจากสาธารณะชน โดยเฉพาะจากระบบตลาดทุนระดับโลก ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ (จากผู้เล่นสำคัญ(1) ธันวาคม 2554) ทั้งนี้เป็นสถานการณ์โหมโรงของบริบทใหม่ระดับภูมิภาค สร้างระบบเชื่อมโยงกับทางเศรษฐกิจอย่างแนบแน่นและจริงจังมากขึ้น –ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community)

แต่อีกด้านหนึ่งในสังคมธุรกิจไทย การก่อเกิดพลังใหม่ๆ  แม้ว่า “ผู้มาใหม่”รายใหญ่ๆได้ล้มพับไป ดูเหมือนซ้ำรอยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเมืองสองทศวรรษก่อนหน้า แต่ความจริงปรากฏการณ์ของ “ผู้มาใหม่”อย่างเงียบๆ เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ในระบบตลาดทุน เป็นโอกาสใหม่ของผู้คนในระบบ ในช่วงเวลาที่ค่อนข้างสับสน เป็นกลุ่มคนที่ซ่อนตัวและมีจำนวนมากขึ้นๆ และไม่ใช่เรื่องที่ฉาบฉวยอีกต่อไป (โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากโฉมหน้าผู้บุกรุก(4) นักลงทุน ธันวาคม 2554)

–ความเคลื่อนไหวของสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ไทย ภายหลังระบบที่ถูกปกป้องไว้สำหรับอิทธิพลเก่าถูกทำลาย โครงสร้างใหม่เปิดโอกาสอย่างกว้างขวาง ให้กับระดับธนาคารทั้งระดับโลกและ ระดับภูมิภาค เข้ามามีบทบาทอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ธนาคารไทย   เป็นช่วงต่อของสถานการณ์ใหม่ทั้งเศรษฐกิจระดับภูมิภาคกำลังหลอมรวม กับการเปิดทางให้ธนาคารในประเทศสามารถมีบริการครบวงจรมากขึ้น ภาพรวมธุรกิจธนาคารในประเทศ จึงมีความเคลื่อนไหว คึกคักและมีสีสันมากกว่ายุคใดๆ  ขณะเดียวกันเป็นธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงและเปราะบาง จากความมั่นคง สู่ความผันแปร เปลี่ยนจากสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์  เป็นที่ที่ผู้คนเข้าถึงและอยากให้ผู้คนเข้าถึงมากที่สุดในเวลานี้  (อ่านเครือข่ายแห่งเครือขาย  มกราคม 2555 )

แต่ภาพสะท้อนทางการเมืองมาจาก ภาพความไม่มั่นใจ ความกังวลกับอนาคตจึงปรากฏขึ้นกับทั้งสองฝ่าย”ที่กล่าวถึงในต้นนั้น ไม่เพียง “เป็นปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลง”มาจากระบบเศรษฐกิจเท่านั้น หากส่งผลต่อความเป็นไปของระบบเศรษฐกิจและธุรกิจด้วยในเวลาเดียวกัน

 

นั่นคือปรากฏการณ์  “หมกมุ่น”กับบาง “สถานการณ์”และ “ความเชื่อดั้งเดิม” ของสังคมไทย ด้วยปฏิกิริยา ที่เป็นแรงเฉื่อยต่อการปรับตัวตอบสนองการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระดับภูมิภาค

ระบบการเงินไทย  แม้เป็นกงจักรที่ต้องหมุนไปข็างหน้า  แต่ยังถือว่าดำเนินไปไปอย่างเชื่องช้าอย่างน่าเป็นห่วง ท่ามกลาง ความเคลื่อนไหวอันคึกคักของคู่แข่ง  ในสถานการณ์อันเร่งร็อนในภูมิภาคเวลานี้

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: